ยาเฟนตานิล (Fentanyl)

ยาเฟนตานิลเป็นยากลุ่มโอปิออยด์ที่ถูกสังเคราะห์ขึ้นให้มีความแรงในการระงับปวดประมาณ 100 เท่าของมอร์ฟีน ยามีคุณสมบัติละลายในไขมันได้ดี จึงออกฤทธิ์ได้เร็วภายในเวลาเพียง 1-2 นาที แต่ระยะเวลาการออกฤทธิ์ค่อนข้างสั้น ประมาณ 20-30 นาที

ยาเฟนตานิลมีทั้งรูปแบบฉีด กิน อม แผ่นฟิล์มละลายในปาก แผ่นแปะที่ผิวหนัง และยาพ่นจมูก จัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 2 มีข้อบ่งใช้ภายใต้ความควบคุมของแพทย์เช่นเดียวกับยามอร์ฟีน

ที่มาและการออกฤทธิ์:

บริษัทยาพัฒนายาเฟนตานิลจากโครงสร้างทางเคมีของยาเพธิดีน (Pethidine [INN] หรือ Meperidine [USAN]) ซึ่งก็ปรับโครงสร้างมาจากมอร์ฟีนทอดหนึ่งแล้ว เส้นสีแดงคือโครงสร้างหลักของยากลุ่มโอปิออยด์

เฟนตานิลออกฤทธิ์โดยจับกับ Mu (μ) receptors ที่สมองและไขสันหลังเป็นหลัก จึงมีผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดน้อยกว่ามอร์ฟีน แต่ก็อาจเกิดอาการหน้าแดง แน่นหน้าอก อ่อนเพลียจนรู้สึกเหมือนจะเป็นลม ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นผิดจังหวะ และอาจพบภาวะหัวใจเต้นช้าลงจากการกระตุ้นที่ vagus nerve ยามีฤทธิ์กดการหายใจ และจะเสริมฤทธิ์กับยาอื่นที่กดการหายใจเช่นกัน

ยาทุกรูปแบบออกฤทธิ์ได้เร็วภายในเวลาไม่กี่นาที และหมดฤทธิ์ภายในเวลา 1 ชั่วโมง ยกเว้นรูปแผ่นแปะที่ผิวหนัง หลังแปะแผ่นยา ยาจะถูกดูดซึมผ่านผิวหนังช้า ๆ ระยะแรกยาจะกระจายไปยังชั้นไขมันและกล้ามเนื้อลาย แล้วจึงปลดปล่อยเข้าสู่กระแสเลือด เห็นฤทธิ์ระงับปวดที่เวลาประมาณ 12-24 ชั่วโมงหลังปิดแผ่นยา จากนั้นจะออกฤทธิ์ต่อเนื่องนานประมาณ 72 ชั่วโมง ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแผ่นใหม่ทุกวัน

การใช้ยาที่เหมาะสม

  1. ใช้ในการผ่าตัดหรือการทำหัตถการทางการแพทย์ที่กินเวลาค่อนข้างสั้น
  2. กรณีนี้แพทย์และวิสัญญีแพทย์จะเป็นผู้พิจารณา

  3. ใช้บรรเทาอาการปวดเรื้อรังจากมะเร็งหรือพยาธิสภาพที่ระบบประสาท
  4. ในกรณีนี้แนะนำให้ใช้รูปแผ่นแปะผิวหนัง ซึ่งมีการปลดปล่อยยาหลายขนาดความเร็วตั้งแต่ 12, 25, 50, 75, และ 100 ไมโครกรัม/ชั่วโมง ขนาดการใช้ขึ้นอยู่กับระดับความปวดของผู้ป่วยแต่ละคน การใช้ยาในระยะเริ่มต้นควรพิจารณาจากชนิดและขนาดของยากลุ่มโอปิออยด์ที่เคยได้รับ ระดับความทนได้ของผู้ป่วยต่อผลข้างเคียงของยา รวมทั้งสภาพของผู้ป่วย ณ ขณะนั้น ในรายที่ไม่เคยเลยใช้ควรเริ่มที่ขนาดต่ำสุดก่อน

    รูปข้างต้นแสดงขนาดของเฟนตานิลชนิดแผ่นแปะ (fentanyl patch) ที่ควรใช้ เมื่อเทียบกับปริมาณยา Morphine ที่ผู้ป่วยเคยได้รับ

  5. ใช้เพื่อให้คนไข้สงบและควบคุมการหายใจด้วยเครื่อง
  6. ในกรณีที่การหายใจล้มเหลวและคนไข้ต้านเครื่องช่วยหายใจ แพทย์อาจพิจารณาให้ยาเฟนตานิลร่วมกับยานอนหลับเพื่อให้เครื่องทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ขนาดยาที่ใช้คือ 1-2 mcg/kg/hour หรือ 25-200 mcg/hour IV drip continuously

ผลข้างเคียง พิษของยา และข้อควรระวัง

ยาเฟนตานิลมีผลข้างเคียงเช่นเดียวกับมอร์ฟีน คือ ง่วงซึม คลื่นไส้อาเจียน ไม่สบายท้อง ปัสสาวะคั่ง ความดันโลหิตต่ำ ประสาทหลอน ในขนาดสูงจะกดการหายใจ ทำให้หายใจช้าลง หัวใจเต้นช้า ปลุกไม่ตื่นร่วมกับรูม่านตาเล็กลง

หากใช้ติดต่อกันนานไม่ควรหยุดยาทันที เพราะจะเกิดอาการขาดยา ควรปรึกษาแพทย์เพื่อปรับขนาดลงช้า ๆ ก่อนหยุดใช้

ปฏิกิริยาระหว่างยา

ระวังการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาหากให้ยาเฟนตานิลร่วมกับ ...

  1. แอลกอฮอล์หรือยาที่มีฤทธิ์กดประสาท เช่น ยากันชัก ยานอนหลับ ยาคลายเครียด ยาต้านซึมเศร้า ยาทางจิตเวช และยาแก้หวัดชนิดที่ทำให้ง่วง เพราะจะเสริมฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลางและกดการหายใจมากขึ้น
  2. ยาที่กระตุ้นเอ็นไซม์ CYP3A4 เช่น Carbamazepine, Phenytoin, Rifampin, Dexamethasone ยาเหล่านี้จะทำให้ร่างกายทำลายยาเฟนตานิลเร็วขึ้น ฤทธิ์แก้ปวดจะลดลง
  3. ยาที่ยับยั้งเอ็นไซม์ CYP3A4 ได้แก่ ยาฆ่าเชื้อรากลุ่ม Azoles (Ketoconazole, iItraconazole), ยาปฏิชีวนะกลุ่ม Macrolides (Erythromycin, Clarithromycin), ยารักษาโรคเอดส์กลุ่ม Protease inhibitors (Nelfinavir, Ritonavir) เพราะยาเหล่านี้จะทำให้ร่างกายทำลายยาเฟนตานิล ฤทธิ์ของเฟนตานิลจึงนานขึ้น
  4. ยากลุ่ม Anticholinergics หรือยาอื่นที่ออกฤทธิ์ anticholinergic เช่น Belladonna, Scopolamine, Disopyramide, Orphenadrine เนื่องจากอาการข้างเคียงของยาเฟนตานิลจะเพิ่มขึ้น เกิดอาการท้องผูกรุนแรงขึ้น ลำไส้ไม่ทำงาน และปัสสาวะไม่ออกได้
  5. ยาแก้ท้องเสียและยาในกลุ่ม Antiperistaltics เช่น Diphenoxylate+Atropine, Loperamide, Opium tincture เพราะถ้าให้ร่วมกับเฟนตานิลเป็นเวลานานในขนาดสูงจะทำให้อาการข้างเคียงของเฟนตานิลเพิ่มขึ้น เกิดอาการท้องผูกรุนแรง และกดระบบประสาทส่วนกลางเพิ่มขึ้น
  6. ยาแก้ปวดตัวอื่นในกลุ่มโอปิออยด์ เพราะอาจส่งผลให้กดระบบประสาทส่วนกลางเพิ่มขึ้น กดการหายใจ และความดันเลือดลดต่ำลงได้
  7. ยาแก้ปวดในกลุ่ม Mixed agonist-antagonist opioids เช่น Pentazocine, Nalbuphine เนื่องจากยากลุ่มนี้จะต้านฤทธิ์แก้ปวดของเฟนตานิล
  8. ยาลดความดันเลือดกลุ่มยาขับปัสสาวะ เนื่องจากเฟนตานิลทำให้ความดันเลือดลดลงอยู่แล้ว การให้ร่วมกันอาจทำให้ความดันโลหิตต่ำเกินไป
  9. ยาลดความดันเลือดกลุ่ม Beta-adrenergic blocking agents เพราะอาจทำให้เกิดหัวใจเต้นช้าเกินไปได้
  10. ยากลุ่ม Monoamine oxidase inhibitors (MAOIs) เพราะจะทำให้เกิด serotonin syndrome
  11. ยากลุ่ม Sedating antihistamines เช่น hydroxyzine เพราะจะทำให้ฤทธิ์ของเฟนตานิลแรงขึ้น
  12. Prokinetic drugs เช่น Metoclopramide เพราะเฟนตานิลต้านฤทธิ์ของยากลุ่มนี้ในการกระตุ้นการเคลื่อนไหวของลำไส้ ทำให้การใช้ยาไม่ได้ผล