กลุ่มยาไฟเบรต (Fibrates)

กลุ่มยาไฟเบรตมีประสิทธิภาพในการลดไตรกลีเซอไรด์ในเลือดเป็นหลัก จึงเป็นยากลุ่มแรกที่แนะนำในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่สองที่มีไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงมาก (> 500 mg%) เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดตับอ่อนอักเสบ รวมทั้งผู้ป่วยเบาหวานที่มีไตรกลีเซอไรด์สูงระดับ 200-499 mg% ร่วมกับมี HDL ในเลือดต่ำ ที่ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม (ลดเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ เบียร์ ลดอาหารหวาน ออกกำลังกาย และงดสูบบุหรี่)

ที่มาและการออกฤทธิ์:

โครงสร้างของกลุ่มยาไฟเบรตมีพื้นฐานมาจากโครงสร้างของสาร phenylethyl acetic acid ซึ่งเดิมผู้ผลิตตั้งใจจะผลิตเป็นยาฆ่าแมลง แต่ในปีค.ศ. 1953 พบว่าเกษตรกรที่ได้รับสารเคมีนี้มีระดับไขมันในเลือดลดลง บริษัทจึงหันมาดัดแปลงโครงสร้างเป็นยาลดไขมันในคนแทน แม้ขณะนั้นจะยังไม่ทราบกลไกการลดไขมันของยา แต่ Clofibrate ซึ่งเป็นยาตัวแรกของกลุ่มนี้ก็ได้รับอนุมัติให้ใช้ในคนได้ในปีค.ศ. 1962 จากนั้น Fenofibrate และ Gemfibrozil ก็ออกตามมาในเวลาไม่นานนัก จนมาถึงปีค.ศ. 1984 องค์การอนามัยโลกได้รายงานการศึกษาเปรียบเทียบผลต่างระหว่างกลุ่มที่ใช้ Clofibrate กับยาหลอกในการลดอัตราตายจากโรคหัวใจ ซึ่งการศึกษาต้องหยุดลงก่อนเวลาเพราะพบว่ากลุ่มที่ใช้ยา Clofibrate เพื่อป้องกันโรคหัวใจมีอัตราตายจากโรคที่ไม่ใช่หัวใจสูงกว่ากลุ่มที่ใช้ยาหลอก2 ความนิยมในการใช้ยากลุ่มนี้จึงลดลง และตัว Clofibrate เองก็เลิกผลิตไป

ความก้าวหน้าด้านพันธุวิศวกรรมตั้งแต่ปีค.ศ. 1980 ทำให้เราทราบเรื่องราวของยีนและการแสดงออกของยีนมากขึ้น มีตัวรับในนิวเคลียสที่สามารถเปลี่ยนการแสดงออกของยีนได้ชนิดหนึ่งเรียกว่า peroxisome proliferator-activated receptor (PPAR) ตัวรับ PPAR-α ที่ตับเมื่อถูกกระตุ้นจะเพิ่มการถอดรหัสของยีน Apo AI, Apo AII, ABCA1 ทำให้ตับปล่อย HDL ออกมาในเลือดมากขึ้น และลดการถอดรหัสของยีน Apo CIII ทำให้ตับเปลี่ยน VLDL ใน triglyceride เป็น LDL มากขึ้น ผลคือไตรกลีเซอไรด์ในเลือดลดลง

กลุ่มยาไฟเบรตออกฤทธิ์กระตุ้น PPAR-α จึงทำให้เกิดผลต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้น ยายังกระตุ้นให้เซลล์ตับดึงกรดไขมัน (free fatty acid, FFA) เข้ามาเปลี่ยนเป็น Acetyl CoA มากขึ้น และสลายโดยขบวนการ β-oxidation pathways แทนที่จะสร้างเป็นไตรกลีเซอไรด์และ VLDL ยาชุดหลัง ๆ เช่น Ciprofibrate และ Bezafibrate มีประสิทธิภาพในการสลาย LDL ได้เร็วขึ้น ทำให้ LDL ไม่เพิ่มขึ้นเหมือนยาชุดแรก ๆ

กลุ่มยาไฟเบรตดูดซึมได้ดีเมื่อกินพร้อมอาหาร ร้อยละ 95 จับกับโปรตีนในเลือด ยาถูกขับทิ้งในรูป glucuronide ทางไต การใช้ยาในผู้ป่วยโรคไตจะทำให้ยาไม่ถูกกำจัดทิ้งและเกิดพิษจากยาได้

ฤทธิ์ยาไฟเบรตที่ไปเพิ่มความเข้มข้นของโคเลสเตอรอลในน้ำดีและรบกวนการทำงานของตับ จึงอาจเกิดนิ่วในถุงน้ำดีและพบเอนไซม์ตับสูงขึ้นได้ จึงไม่ควรใช้ในผู้ป่วยโรคตับหรือผู้ที่มีนิ่วในถุงน้ำดีอยู่ก่อน ส่วนผู้ที่ยังไม่มีนิ่วเมื่อใช้ยาไปนาน ๆ มีอาการปวดท้องซ้ำ ๆ หลังรับประทานอาหารมื้อใหญ่ ก็ควรคิดถึงนิ่วในถุงน้ำดีด้วย

การใช้ยาที่เหมาะสม

จากการศึกษาจนถึงปัจจุบัน กลุ่มยาไฟเบรตยังไม่ลดอัตราตายของโรคหัวใจและหลอดเลือด แต่ลดความเสี่ยงของการเกิดตับอ่อนอักเสบและภาวะเบาหวานขึ้นจอตาในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่สองที่มีไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง ดังนั้นการใช้ยากลุ่มนี้จึงเหมาะกับผู้ป่วยเบาหวานเป็นหลัก รวมทั้งใช้รักษาผู้ป่วยโรคพันธุกรรมที่มี VLDL หรือไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง (Hyperlipoproteinemia type 2b และ type 4)

ขนาดและการใช้ยาแต่ละตัว คือ

  • Fenofibrate   145-300 mg วันละครั้งพร้อมอาหาร (ในเด็กใช้ขนาด 5 mg/kg/วัน)
  • Gemfibrozil   600 mg วันละ 2 ครั้ง หรือ 900 mg วันละครั้ง ก่อนอาหารประมาณ ½ ชั่วโมง (ห้ามใช้ในเด็ก)
  • Bezafibrate   200 mg วันละ 2-3 ครั้ง พร้อมอาหาร (ยังไม่มีข้อมูลการใช้ยาในเด็ก)
  • Ciprofibrate   100-200 mg วันละครั้ง ก่อนหรือพร้อมอาหาร (ยังไม่มีข้อมูลการใช้ยาในเด็ก)

ผลข้างเคียง พิษของยา และข้อควรระวัง

ผลข้างเคียงที่สำคัญของกลุ่มยาไฟเบรตจะคล้ายกับกลุ่มสแตตินคือทำให้ปวดกล้ามเนื้อและเอนไซม์ตับสูงขึ้น นอกจากนั้นอาจรบกวนระบบทางเดินอาหาร ทำให้คลื่นไส้อาเจียน ท้องอืด ท้องเสีย และอาจทำให้เกิดนิ่วในถุงน้ำดี

ยากลุ่มนี้มีผลลดระดับ Plasminogen activator inhibitor-I (PAI-1) และลดการแสดงออกของ Factor VII จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเลือดออกเมื่อให้ร่วมกับยา Warfarin

ยากลุ่มนี้ห้ามใช้ในผู้ป่วยโรคตับ โรคไต โรคท่อน้ำดี หญิงมีครรภ์ และหญิงที่ให้นมบุตร

ปฏิกิริยาระหว่างยา

การใช้ยา Warfarin ร่วมกับยากลุ่มไฟเบรตอาจทำให้เลือดออกง่ายขึ้น เพราะไฟเบรตจะไปแย่งจับอัลบูมินในเลือด ทำให้ระดับของ Warfarin ในเลือดสูงขึ้น อีกทั้งไฟเบรตลดระดับของ PAI-1 และการแสดงออกของ Factor VII ดังกล่าว

การใช้ยากลุ่มสแตตินร่วมกับยากลุ่มไฟเบรต โดยเฉพาะตัว Gemfibrosil จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดพิษต่อตับและกล้ามเนื้อมากขึ้น

การใช้ยา Cyclosporin ร่วมกับ Fenofibrate จะทำให้ระดับของ Cyclosporin ในเลือดลดลงเพราะถูกกำจัดทิ้งเร็วขึ้น

บรรณานุกรม

  1. Kate E Shipman, et. al. 2016. "Use of fibrates in the metabolic syndrome: A review." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา World J Diabetes. 2016 Mar 10; 7(5): 74–88. (3 กันยายน 2561).
  2. "WHO cooperative trial on primary prevention of ischaemic heart disease with clofibrate to lower serum cholesterol: final mortality follow-up. Report of the Committee of Principal Investigators." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Lancet. 1984;2:600–604. (3 กันยายน 2561).
  3. Bart Staels, et. al. 1998. "Mechanism of Action of Fibrates on Lipid and Lipoprotein Metabolism ." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Circulation. 1998;98:2088-2093. (4 กันยายน 2561).