กลุ่มยาสลายลิ่มเลือด (Fibrinolytics or Thrombolytics)

ตามธรรมชาติ เมื่อร่างกายสร้างก้อนเลือดมาอุดหลอดเลือดที่ฉีกขาดแล้ว จะมีขบวนการสลายก้อนเลือดเหล่านั้นเอง ขบวนการสลายลิ่มเลือดหรือก้อนเลือดเรียกว่า Fibrinolysis (หรือ Thrombolysis) โดยเริ่มจาก tissue plasminogen activator (t-PA) ที่สร้างจากผนังหลอดเลือด รวมทั้ง urokinase plasminogen activator (u-PA) ที่สร้างจากไต จะไปกระตุ้น plasminogen ให้เป็น plasmin จากนั้นพลาสมินจะย่อยสลาย fibrin clot ให้เป็น fibrinogen degradation products (FDPs) แต่บางครั้งลิ่มเลือดที่เกิดขึ้นไปอุดหลอดเลือดขนาดเล็กแต่สำคัญ เช่น หลอดเลือดหัวใจหรือหลอดเลือดสมอง ขบวนการสลายลิ่มเลือดเกิดขึ้นไม่ทัน การแพทย์จึงผลิตยาสลายลิ่มเลือด ซึ่งเป็นยาฉีด และมีอันตรายมาก มาใช้ในสถานการณ์คับขันที่ผู้ป่วยต้องยอมรับความเสี่ยงได้ (หากยอมรับไม่ได้แพทย์จะไม่ฉีดให้)

กลุ่มยาสลายลิ่มเลือดแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ

  1. กลุ่ม Tissue plasminogen activators ได้แก่ Alteplase, Retaplase, Tenecteplase ยาเหล่านี้สร้างจากเทคนิค recombinant DNA ออกฤทธิ์คล้าย t-PA ในร่างกายคนเรา คือ จะกระตุ้น plasminogen ได้ดี เมื่อทั้งคู่จับอยู่กับ fibrin clot จึงจํากัดฤทธิ์ของ plasmin อยู่ที่บริเวณที่มีการเกิด clot เท่านั้น ไม่สลาย fibrinogen ในกระแสเลือดเหมือนอย่างอีก 2 กลุ่มข้างล่าง โอกาสเกิดเลือดออกผิดปกติจึงน้อยกว่า
  2. ยากลุ่มนี้มักใช้ใน acute myocardial infarction, cerebrovascular thrombotic stroke, life-threatening pulmonary embolism, acute limb ischemia และ deep vein thrombosis ที่ไม่ได้ผลดีจากการใช้เฮพารินอย่างเดียว ยา Alteplase อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติของไทยในบัญชี ง. คือต้องมีแพทย์เฉพาะทางเป็นผู้สั่งใช้ภายใต้มาตรการกำกับของโรงพยาบาล

  3. กลุ่ม Streptokinase และ Anistreplase เป็นสารที่ผลิตจากแบคทีเรียกลุ่มสเตร็ปโตค็อกคัส มีฤทธิ์กระตุ้น plasminogen ให้เป็น plasmin ได้ ยามีราคาไม่แพงนัก จึงอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติของไทย มีข้อบ่งใช้เหมือนยากลุ่มแรก Streptokinase อาจทำให้เกิดอาการแพ้ เช่น มีไข้ ได้ เพราะไม่ใช่สารประกอบของมนุษย์โดยตรง
  4. กลุ่ม Urokinase plasminogen activators ได้แก่ Urokinase, Prourokinase มีที่ใช้น้อยเพราะราคาแพงและผลข้างเคียงมาก แต่อาจใช้ในกรณี life-threatening pulmonary embolism ยาตัวนี้ไม่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติของไทย

ข้อห้ามในการใช้ยาสลายลิ่มเลือด

เนื่องจากยาอันตรายมาก เราจึงไม่ลงในรายละเอียดของขนาดยาและวิธีใช้ยาแต่ละตัว แต่จำเป็นต้องกล่าวถึงข้อห้ามในการใช้ยาเพื่อให้ผู้ป่วยตระหนักว่า ไม่ใช่การเจ็บป่วยทุกครั้งจะมียารักษาได้

ข้อห้ามเด็ดขาด

  • เพิ่งมีเลือดออกในกะโหลกศีรษะมาไม่นาน (3-6 เดือน)
  • เพิ่งมีสมองขาดเลือด หรือมีหลอดเลือดสมองอุดตันมาไม่ถึง 3 เดือน
  • เพิ่งมีการบาดเจ็บที่ศีรษะหรือใบหน้าชนิดรุนแรง มาไม่ถึง 3 เดือน
  • เพิ่งได้รับการผ่าตัดสมองหรือกระดูกสันหลังมาไม่นาน (3-6 เดือน)
  • เพิ่งได้รับยาสลายลิ่มเลือดชนิด Streptokinase มาไม่ถึง 6 เดือน
  • มีหลอดเลือดในสมองผิดปกติ เช่น AVM
  • มีเนื้องอกในกะโหลกศีรษะ
  • สงสัย aortic dissection
  • กำลังมีเลือดออกผิดปกติ (ยกเว้นระดู)
  • ความดันโลหิตสูงที่ยังควบคุมไม่ได้

ข้อห้ามไม่เด็ดขาด (อาจใช้ได้ถ้าจำเป็นจริง ๆ)

  • เคยมีประวัติความดันโลหิตสูงมาก
  • ความดันโลหิตค่าบน > 180 mmHg หรือค่าล่าง > 110 mmHg
  • ได้รับการปั๊มหัวใจมาเกิน 10 นาที
  • เพิ่งได้รับการผ่าตัดใหญ่ เช่น ผ่าท้อง ผ่าเข่า มาไม่ถึง 3 สัปดาห์
  • มีประวัติเป็นอัมพาตจากเส้นเลือดสมองตีบ
  • เป็นโรคสมองเสื่อม
  • เพิ่งมีเลือดออกผิดปกติมาไม่ถึง 3 สัปดาห์
  • เจาะเลือดแล้วเลือดยังซึมไหลอยู่นาน กดแล้ว 5 นาทียังไม่หยุดไหล
  • มีครรภ์
  • มีแผลในกระเพาะ
  • ตรวจค่าการแข็งตัวของเลือด พบ PT > 15 sec หรือ INR > 1.7

ผู้ป่วยกลุ่มที่เข้ารับการรักษาด้วยยาสลายลิ่มเลือดจะต้องอยู่ในหอผู้ป่วยหนักเพื่อสังเกตอาการผิดปกติอย่างน้อย 2 วัน หากมีเลือดออกผิดปกติอาจใช้ยาต้านการสลายลิ่มเลือด (antifibrinolytics) เช่น tranexamic acid, aminocaproic acid รวมทั้ง vitamin K และ FFP แก้

บรรณานุกรม

  1. Muhammad U. Baig & Jeffrey Bodle. 2021. "Thrombolytic Therapy." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา StatPearls. (18 ตุลาคม 2564).
  2. Wanda L Rivera-Bou. 2021. "Thrombolytic Therapy." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Medscape. (18 ตุลาคม 2564).
  3. "THROMBOLYTICS." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา adph.org. (18 ตุลาคม 2564).