ยาฟินาสเตอไรด์ (Finasteride, Proscar®, Propecia®)

ฟินาสเตอไรด์เป็นยาสังเคราะห์ในกลุ่มยับยั้งเอนไซม์ 5-alpha reductase (5-AR, 5α-R) 5-AR ทำหน้าที่เปลี่ยนฮอร์โมน Testosterone เป็น Dihydrotestosterone (DHT) หรือที่เรารู้จักกันในชื่อฮอร์โมนแอนโดรเจน ซึ่งแอนโดรเจนนี้จะไปกระตุ้นให้เซลล์ต่อมลูกหมากแบ่งตัวเพิ่มขึ้น ยาที่ยับยั้งเอนไซม์ 5-AR จึงควบคุมไม่เกิดแอนโดรเจนมากเกินไป จึงไม่ทำให้ต่อมลูกหมากโตขึ้น เมื่อใช้เป็นเวลานานจะช่วยลดขนาดของต่อมลูกหมากลง ยาฟินาสเตอไรด์จัดอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติของไทย

ที่มาและการออกฤทธิ์:

วงการแพทย์ทราบมานานแล้วว่า 5-AR เป็นหนึ่งในเอนไซม์ที่สร้างสเตียรอยด์และฮอร์โมนเพศจากโคเลสเตอรอล แต่ความสำคัญของเอนไซม์นี้เพิ่งจะกระจ่างชัดเมื่อปี ค.ศ. 1974 เพราะมีเด็กชายชาวโดมินิกัน รีพับลิก อายุ 12 ปี คนหนึ่งมีอวัยวะเพศกำกวม (ภายนอกดูเป็นหญิง แต่มีองคชาติขนาดเล็ก และมีลูกอัณฑะหลบเข้าไปอยู่ในช่องท้อง) เด็กคนนี้ได้รับการตรวจพบว่าขาดเอนไซม์ 5-AR ตั้งแต่เกิด และยิ่งติดตามไปก็พบว่าชายผู้นี้มีต่อมลูกหมากขนาดเล็กแม้จะอายุมากขึ้น นี่เองที่ทำให้เราเกิดแนวคิดในการรักษาโรคต่อมลูกหมากโต

ปัจจุบันเราพบว่า Androgen มีฤทธิ์มากกว่า Testosterone โดยจะสร้างให้มีลักษณะเพศชาย ทั้งขนาดของอวัยวะเพศ ลักษณะของผิวพรรณ ขน และเส้นผม

เอนไซม์ 5-AR ในปัจจุบันก็พบว่ามี 3 ชนิด กระจายอยู่ตามอวัยวะต่าง ๆ

  • 5-AR type 1 มีมากที่หนังศีรษะ แอนโดรเจนที่เกิดขึ้นในบริเวณนี้จะทำให้เส้นผมบางลง หลุดร่วงง่าย
  • 5-AR type 2 มีมากในต่อมลูกหมากและอวัยวะเพศ แอนโดรเจนที่เกิดขึ้นในบริเวณนี้จะทำให้เซลล์ของอวัยวะเพศ รวมทั้งต่อมลูกหมากแบ่งตัวมากขึ้น
  • 5-AR type 3 มีมากที่สมอง แอนโดรเจนที่เกิดขึ้นในบริเวณนี้จะทำให้ระบบประสาทตื่นตัว เพิ่มการรับรู้ เพิ่มความสามารถในการพูด เพิ่มพื้นที่ในการจดจำ

ยาฟินาสเตอไรด์เป็นผงผลึกสีขาว ไม่ละลายในน้ำ แต่ละลายได้ดีในแอลกอฮอล์และคลอโรฟอร์ม ออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ 5-AR type 2 เป็นหลัก ยับยั้ง 5-AR type 3 และ type 1 ไม่มาก แต่ก็เพียงพอที่จะรักษาอาการผมร่วงจากแอนโดรเจน ยาดูดซึมได้ประมาณ 63% โดยอาหารไม่มีผลต่อการดูดซึม ยาทำให้ระดับแอนโดรเจนในเลือดลดลงถึง 65% ใน 24 ชั่วโมง ฟินาสเตอไรด์ผ่าน blood-briain barrier ได้ แต่ไม่ปรากฏใน CSF ยาจับกับโปรตีนในเลือดถึงร้อยละ 90 ส่วนใหญ่ถูกกำจัดที่ตับโดยเอนไซม์ CYP3A4 แล้วถูกขับออกทางปัสสาวะ 39%, ทางอุจจาระ 57% มีค่าครึ่งชีวิตนาน 6 ชั่วโมง ในผู้สูงอายุจะมีค่าครึ่งชีวิตนาน 8 ชั่วโมง ไม่จำเป็นต้องปรับขนาดยาในผู้ป่วยที่ไตบกพร่องหรือในผู้สูงอายุ แต่ควรระวังการใช้ยาในผู้ที่ตับบกพร่อง

การใช้ยาที่เหมาะสม

  1. ใช้รักษาโรคต่อมลูกหมากโต (Benign prostatic hyperplasia)
  2. ก่อนเริ่มการรักษาด้วยยาฟินาสเตอไรด์ในโรคต่อมลูกหมากโต ควรมีการตรวจให้แน่ใจว่าไม่ได้เป็นโรคทางเดินปัสสาวะอื่น ๆ รวมทั้งไม่ใช่มะเร็งต่อมลูกหมาก และไม่ควรใช้ยานี้รักษาภาวะทางเดินปัสสาวะอุดตัน เพราะกว่ายาจะลดขนาดของต่อมลูกหมากใช้เวลานาน 3-6 เดือน (ภาวะทางเดินปัสสาวะอุดตันรักษาด้วยการใส่สายสวนปัสสาวะ และใช้ยาในกลุ่มปิดตัวรับอัลฟา-1)

    ขนาดยาที่ใช้คือ 4 mg/วัน รับประทานวันละครั้ง ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ ในช่วงแรกอาจใช้ร่วมกับยาในกลุ่มปิดตัวรับอัลฟา-1 เพราะจะช่วยให้อาการปัสสาวะลำบากและปัสสาวะบ่อยดีเร็วขึ้น หลังจากที่ขนาดของต่อมลูกหมากลดลง อาการปัสสาวะลำบากก็จะลดลงไปเอง ถึงตอนนั้นอาจหยุดยาในกลุ่มปิดตัวรับอัลฟา-1 ได้

    การใช้ฟินาสเตอไรด์จะทำให้ระดับ PSA ลดลงประมาณ 50% ในผู้ป่วยโรคต่อมลูกหมากโต หรือแม้แต่ผู้ที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก การลดลงของค่า PSA ประมาณ 50% ภายใน 6 เดือนของการรักษาเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของการรักษา หลังจากนั้นค่อยปรับค่า PSA baseline เป็นค่าใหม่ที่ลดลง และตรวจติดตามค่า PSA ต่อเป็นระยะ ๆ ในระหว่างที่ยังใช้ยาอยู่

    ฟินาสเตอไรด์ไม่รบกวนค่า PSA อิสระ ถ้าใช้เปอร์เซนต์ PSA อิสระ เป็นตัวช่วยตรวจสอบมะเร็งต่อมลูกหมากก็ไม่ต้องปรับ baseline ใหม่

  3. ใช้รักษาภาวะผมร่วงหรือผมบางที่เกิดจากฮอร์โมนเพศชาย (Androgenic alopecia)
  4. ภาวะผมร่วงหรือหัวล้านจากแอนโดรเจนมีลักษณะจำเพาะ คือ เป็นกรรมพันธุ์ในเพศชาย ศีรษะจะล้านจากหน้าผากเถิกขึ้นไปถึงกลางกระหม่อม เหลือผมสองข้างเหนือใบหู พบว่าหนังศีรษะที่ล้านจะยังมี hair follicle เล็ก ๆ อยู่ แต่จะมีปริมาณแอนโดรเจนสูงกว่าหนังศีรษะที่มีผมธรรมดา การใช้ฟินาสเตอไรด์จะลดระดับแอนโดรเจนในเลือดและในหนังศีรษะของผู้ชายกลุ่มนี้ ทำให้มีเส้นผมงอกใหม่บนหนังศีรษะที่ล้านได้

    ขนาดยาที่ใช้คือ 1 mg/วัน รับประทานวันละครั้ง ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ ประเมินผลการรักษาหลังรับประทานติดต่อกันอย่างน้อย 3 เดือน หากรับประทานต่อเนื่องแล้วหยุดยาจะทำให้ผมกลับมาร่วงใหม่ภายใน 12 เดือน

ยาฟินาสเตอไรด์ห้ามใช้ในผู้หญิงและเด็ก โดยเฉพาะในสตรีมีครรภ์หรืออาจกำลังตั้งครรภ์ เพราะจะทำให้ทารกเพศชายในครรภ์มีอวัยวะเพศภายนอกที่ผิดปกติได้ ตัวยาฟินาสเตอไรด์อาจดูดซึมผ่านทางผิวหนัง สตรีมีครรภ์จึงไม่ควรแม้แต่จะสัมผัสกับเม็ดยาที่บิ่นหรือแตก

ผลข้างเคียง พิษของยา และข้อควรระวัง

ผลข้างเคียงที่พบบ่อย คือ ความไร้สมรรถภาพทางเพศ ความรู้สึกทางเพศลดลง และปริมาตรน้ำอสุจิที่ขับออกมาลดลง

ผลข้างเคียงอื่น ๆ ได้แก่ อาการซึมเศร้า ปวดบริเวณลูกอัณฑะ เป็นหมัน เต้านมใหญ่ขึ้น เจ็บเต้านม มีของเหลวไหลออกมาจากหัวนม มีเนื้องอกที่เต้านม

อาการแพ้ยาฟินาสเตอไรด์ ได้แก่ ลมพิษ ผื่นคัน ริมฝีปากบวม หน้าบวม

ปฏิกิริยาระหว่างยา

ไม่พบว่ามีปฏิกิริยากับยาอื่นอย่างมีนัยสำคัญ

บรรณานุกรม

  1. Leonard S Marks. 2004. "5α-Reductase: History and Clinical Importance." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Rev Urol. 2004;6(Suppl 9):S11–S21. (13 พฤศจิกายน 2564).
  2. Faris Azzouni, et al. 2012. "The 5 Alpha-Reductase Isozyme Family: A Review of Basic Biology and Their Role in Human Diseases." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Adv Urol. 2012: 530121. (13 พฤศจิกายน 2564).
  3. "Finasteride." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Wikipedia. (13 พฤศจิกายน 2564).
  4. "Finasteride." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา DRUGBANK. (13 พฤศจิกายน 2564).
  5. "finasteride (Rx)." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Medscape. (14 พฤศจิกายน 2564).