ยากลุ่มกาบาเพนตินอยด์ (Gabapentinoids)
ยากลุ่มนี้ใช้ได้ผลดีกับอาการปวดที่เกิดจากเส้นประสาท (Neuropathic pain) เช่น โรคปวดเส้นประสาทใบหน้า (Trigeminal neuralgia), โรคปวดเส้นประสาทหลังเป็นงูสวัด (Postherpetic neuralgia), โรคปวดเส้นประสาทคอ (Cervical radiculopathy), อาการปวดจากการบาดเจ็บที่ไขสันหลัง, โรคปวดเส้นประสาทจากเบาหวาน, โรคปวดเส้นประสาทขณะเดิน (Neuropathic claudication), อาการปวดจากมะเร็งลุกลามเข้าเส้นประสาท, และกลุ่มอาการปวดประสาทจากสมองส่วนธาลามัส (Thalamic pain syndrome) เป็นต้น ปัจจุบันยากลุ่มนี้มี 2 ตัว คือ กาบาเพนติน (Gabapentin หรือ Neurontin®) และพรีกาบาลิน (Pregabalin หรือ Lyrica®)
ปัจจุบันมีการใช้พรีกาบาลินรักษากลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อ เอ็น และเนื้อเยื่ออ่อน (Fibromyalgia) และเริ่มนิยมใช้กาบาเพนตินในระหว่างการผ่าตัดเพื่อลดอาการปวดหลังผ่าตัดและลดการใช้ยากลุ่มโอปิออยด์ซึ่งเสพติดได้และมีอันตรายกว่าหลังผ่าตัดลง
ที่มาและการออกฤทธิ์:
ยากลุ่มกาบาเพนตินอยด์ถูกสังเคราะห์ให้มีโครงสร้างคล้ายสารสื่อประสาทของสมองมนุษย์ที่เรียกว่า GABA (gamma-Aminobutyric acid) ซึ่งลดความตื่นตัวของเซลล์ประสาททั้งในสมองและส่วนที่ได้รับบาดเจ็บ โดยเข้าไปรบกวนการแลกเปลี่ยนแคลเซียมที่เซลล์ประสาทก่อนประสาน (Presynaptic neuron) ทำให้สามารถบรรเทาความรู้สึกปวดและลดอาการชักได้ ซึ่งยากลุ่มนี้ก็ใช้เสริมยากันชักเพื่อรักษาโรคลมชักด้วย
ข้อแตกต่างระหว่างกาบาเพนตินกับพรีกาบาลินคือ ยากาบาเพนตินถูกดูดซึมได้จำกัดที่ลำไส้เล็กส่วนดูโอดินั่ม เมื่อการดูดซึมอิ่มตัวจะไม่สามารถดูดซึมได้อีก ดังนั้นการเพิ่มขนาดยาจึงไม่เพิ่มฤทธิ์ (รวมทั้งไม่เพิ่มผลข้างเคียง) แต่ยาพรีกาบาลินถูกดูดซึมตลอดความยาวของลำไส้เล็กและไม่มีจุดอิ่มตัว ดังนั้นการเพิ่มขนาดยาจึงสามารถเพิ่มประสิทธิภาพ (รวมทั้งเพิ่มผลข้างเคียงด้วย)
การใช้ยาที่เหมาะสม
- ใช้รักษาอาการปวดจากเส้นประสาท อาการปวดที่เกิดจากเส้นประสาทต่างจากอาการปวดโดยทั่วไปคือมันไม่ได้เกิดจากการบาดเจ็บของอวัยวะรับความรู้สึกใด ๆ แต่เกิดจากพยาธิสภาพที่ตัวระบบประสาทเอง ลักษณะอาการปวดจะเป็นแบบแสบร้อน หรือเหมือนมีเข็มเล็ก ๆ ทิ่มแทงตลอดเวลา หรือเหมือนโดนไฟฟ้าช็อตเป็นครั้ง ๆ และยิ่งเวลามีอะไรมาสัมผัส เช่น ลมพัด มือลูบ จะยิ่งเจ็บปวด อาการปวดชนิดนี้มักเป็นเรื้อรัง รักษายาก ไม่ค่อยตอบสนองต่อยาแก้ปวดกลุ่มเอ็นเสดและกลุ่มโอปิออยด์ (ไม่ต้องพูดถึงยาพาราเซตามอล)
ยาที่ใช้รักษาอาการปวดประเภทนี้จึงเป็นสูตรผสมระหว่างยาต้านซึมเศร้ากับยากลุ่มกาบาเพนตินอยด์ ในกรณีของโรคปวดเส้นประสาทใบหน้า (Trigeminal neuralgia) จะมียากันชัก Carbamazepine ร่วมด้วย หากยังไม่ได้ผลจะเพิ่มยาชาแบบทาเข้ามาก่อน และสุดท้ายถึงจะเพิ่มยากลุ่มโอปิออยด์เข้ามาในสูตรด้วย (แต่การใช้ระยะยาวก็เสี่ยงต่อการติดยาและทนยา)
การใช้กาบาเพนตินหรือพรีกาบาลินต้องค่อย ๆ เพิ่มขนาดยา (titrate dose) เพราะผลข้างเคียงที่ทำให้เวียนศีรษะพบบ่อย และขนาดยาที่เริ่มคุมอาการปวดได้ก็แตกต่างกันไปในแต่ละคน บางคนใช้เพียงเล็กน้อยก็สามารถระงับปวดได้ ไม่จำเป็นต้องใช้เต็มขนาด
การเพิ่มขนาดยาของกาบาเพนตินในผู้ใหญ่ตามที่บริษัทยาแนะนำจะเป็นดังนี้
- วันแรก: รับประทานขนาด 300 มิลลิกรัม พร้อมอาหารเย็น
- วันที่สอง: รับประทานขนาด 300 มิลลิกรัม พร้อมอาหารเช้า และอาหารเย็น (รวม 600 มิลลิกรัม/วัน)
- วันที่ 3-6: รับประทานขนาด 300 มิลลิกรัม พร้อมอาหารเช้า กลางวัน และเย็น (รวม 900 มิลลิกรัม/วัน)
- จากนั้นค่อย ๆ เพิ่มอีกทีละ 300 มิลลิกรัมทุก 4 วัน เช่น วันที่ 7-10 รับประทานวันละ 1,200 มิลลิกรัม, วันที่ 11-14 รับประทานวันละ 1,500 มิลลิกรัม, ... โดยอาจแบ่งให้วันละ 3-4 ครั้ง แต่เต็มที่ในไซต์คนไทยไม่ควรเกินวันละ 2,400 มิลลิกรัม
การเพิ่มขนาดยาของพรีกาบาลินในผู้ใหญ่ตามที่บริษัทยาแนะนำจะเป็นดังนี้
- วันแรก: รับประทานขนาด 25 มิลลิกรัม พร้อมอาหารเช้าและเย็น
- วันที่สอง: รับประทานขนาด 50 มิลลิกรัม พร้อมอาหารเช้าและเย็น
- วันที่ 3-4: รับประทานขนาด 75 มิลลิกรัม พร้อมอาหารเช้าและเย็น (รวม 150 มิลลิกรัม/วัน)
- จากนั้นค่อย ๆ เพิ่มอีกทีละ 25-50 มิลลิกรัมทุก 2 วัน แต่เต็มที่ในไซต์คนไทยไม่ควรเกินวันละ 450 มิลลิกรัม
การจะเลิกกินยากลุ่มนี้ก็เช่นกัน ต้องค่อย ๆ ลดปริมาณลงจนหมดใน 1 สัปดาห์ หากหยุดยาทันทีอาจมีอาการปวดกำเริบขึ้นมาใหม่ การใช้ยากลุ่มนี้ในเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ควรให้กุมารแพทย์เป็นผู้สั่ง
- ใช้ระงับอาการชัก สำหรับการชักแบบบางส่วน (partial seizure) ยากลุ่มนี้สามารถใช้เป็นตัวหลักตัวเดียวในการรักษาได้เลย แต่หากเป็นการชักแบบทั้งตัวและหมดสติ (generalized tonic-clonic seizure) ควรใช้เป็นยาเสริมร่วมกับยากันชักโดยทั่วไป ส่วนการชักแบบแอบซองส์ (absence seizure) ยาจะไม่มีผล
- ใช้ระหว่างการผ่าตัด กรณีนี้วิสัญญีแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาให้ การให้กาบาเพนตินในระหว่างการผ่าตัดพบว่าสามารถลดการใช้ยาแก้ปวดกลุ่มโอปิออยด์หลังผ่าตัดลงได้
- รักษากลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อ เอ็น และเนื้อเยื่ออ่อน (Fibromyalgia) เฉพาะยาพรีกาบาลินเท่านั้นที่มีข้อบ่งใช้สำหรับกลุ่มอาการนี้ โดยมักใช้ร่วมกับยาแก้ปวด ยาต้านซึมเศร้า การออกกำลังกาย การฝังเข็ม การนวดกล้ามเนื้อ และการรักษาทางเลือกอื่น ๆ
ผลข้างเคียง พิษของยา และข้อควรระวัง
อันที่จริงยากลุ่มกาบาเพนตินอยด์นี้ค่อนข้างจะปลอดภัย ยกเว้นอาการข้างเคียงที่พบบ่อยในช่วงเริ่มใช้ยา ซึ่งได้แก่อาการง่วงนอน เวียนศีรษะหรือปวดศีรษะ ตาพร่ามัว และขาบวม บางรายมีอาการสับสน เดินเซ ประสาทหลอน แต่ส่วนใหญ่เมื่อเริ่มต้นด้วยขนาดน้อย ๆ และหยุดเพิ่มขนาดเมื่อระงับอาการปวดได้แล้วมักไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องผลข้างเคียง
ในขนาดสูงยามีพิษต่อตับและไต ในผู้ป่วยที่มีโรคตับหรือไตอยู่แล้วควรระวังการใช้ยากลุ่มนี้ เพราะอาจเกิดตัวเหลือง ตับอักเสบ หรือไตวายได้แม้จะใช้ยาในขนาดปกติ