ยาไฮดราลาซีน (Hydralazine)
ยาไฮดราลาซีนถูกจัดไว้ในบัญชียาหลักแห่งชาติเพื่อใช้รักษาภาวะความดันโลหิตสูงในหญิงมีครรภ์ เพราะยาไม่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ แต่ความดันโลหิตสูงในกรณีอื่นไม่แนะนำให้เลือกใช้เป็นยาตัวแรก เพราะไม่มีหลักฐานสนับสนุนว่าจะช่วยป้องกันโรคแทรกซ้อนต่อระบบหลอดเลือดหัวใจและสมองดังเช่นยาใหม่กลุ่มอื่น ๆ อีกทั้งยาไฮดราลาซีนมีฤทธิ์สั้น ต้องรับประทานวันละ 3-4 ครั้ง และยายังทำให้ใจสั่นหากไม่ได้ใช้ร่วมกับยาที่ยับยั้งการทำงานของหัวใจ
ที่มาและการออกฤทธิ์:
ยาไฮดราลาซีนเป็นยาลดความดันชนิดกินตัวแรกของโลก ผลิตขึ้นโดยบริษัทซิบา (Ciba) ในปี ค.ศ. 1950 ซึ่งเดิมบริษัทตั้งใจจะผลิตเป็นยารักษามาลาเรีย
กลไกการขยายหลอดเลือดแดงฝอยมากกว่าหลอดเลือดดำฝอยของยาไฮดราลาซีนยังไม่กระจ่างชัด แต่เชื่อว่าเป็นการยับยั้งแคลเซียมเข้าเซลล์กล้ามเนื้อเรียบของผนังหลอดเลือดแดงฝอยผ่านทาง cyclic AMP ยาไม่มีผลกับหัวใจโดยตรง แต่ baroreceptor reflex ของร่างกายที่ตอบสนองต่อภาวะความดันโลหิตต่ำต่างหากที่ไปกระตุ้นให้หัวใจเต้นเร็วและแรงขึ้น จึงเพิ่มปริมาณเลือดไปเลี้ยงไต สมอง ทางเดินอาหาร รวมทั้งหลอดเลือดโคโรนารีแดงของหัวใจด้วย
Baroreceptor reflex ที่เกิดขึ้นจะไปเพิ่มการหลั่งเรนินจากไตด้วย จึงเข้าระบบเรนิน-แองจิโอเทนซิน-อัลโดสเตอโรน Angiotensin II มีหน้าที่ทำให้หลอดเลือดหดตัว และฮอร์โมน Aldosterone มีหน้าที่ดูดโซเดียมและน้ำจากท่อไตกลับเข้าร่างกาย ในระยะยาวฤทธิ์ลดความดันของยาไฮดราลาซีนจะลดลง และร่างกายจะบวมน้ำขึ้นถ้าไม่มียาขับปัสสาวะให้ร่วมกันไปด้วย
ยาไฮดราลาซีนดูดซึมเข้ากระแสเลือดได้เกือบหมดภายในเวลาไม่ถึงชั่วโมง แต่จะผ่าน first-pass metabolism ที่ตับได้สารที่ไม่มีฤทธิ์อย่างรวดเร็วเช่นกัน เหลือยาที่ออกฤทธิ์ได้เพียง 10-30% ยาจับกับพลาสมาโปรตีนร้อยละ 87 ยารูปอิสระจะรวมกับ aldehydes, ketones, pyruvic acid กลายเป็นสารประกอบ Hydrazones ซึ่งมีฤทธิ์เทียบเท่า Hydralazine
หลังรับประทานยาเข้าไปจะเห็นฤทธิ์ลดความดันโลหิตได้ภายใน 20-30 นาที ระยะครึ่งชีวิตของยาค่อนข้างแตกต่างกันในแต่ละคน แล้วแต่ว่าเป็น slow หรือ rapid acetylator โดยทั่วไปประมาณ 2-8 ชั่วโมง ยาหมดฤทธิ์ในเวลา 3-8 ชั่วโมง จึงต้องรับประทานวันละ 4 ครั้ง
ยาฉีดจะไม่ผ่าน first-pass metabolism ที่ตับ จึงออกฤทธิ์ได้ทันที แต่มีฤทธิ์อยู่ได้เพียง 1-4 ชั่วโมง เมตาบอไลต์ของยาถูกกำจัดออกทางปัสสาวะ ผู้ป่วยโรคไตวายยาจะมีฤทธิ์ได้นานขึ้น อาจให้กินเพียงวันละ 3 เวลา
ยาไฮดราลาซีนผ่านรกและน้ำนมได้ แต่นอกจากทำให้ความดันโลหิตของทารกต่ำลงยังไม่มีรายงานว่ายามีผลต่อทารกตลอดระยะเวลาการใช้ยามาเกือบ 70 ปี อย่างไรก็ตาม แพทย์แนะนำให้ใช้ยาเมธิลโดปาในรูปกินสำหรับหญิงมีครรภ์ที่ความดันโลหิตสูงทั่วไป และใช้ยาไฮดราลาซีนชนิดฉีดสำหรับหญิงมีครรภ์ที่ความดันสูงขั้นวิกฤต
การใช้ยาที่เหมาะสม
- ใช้รักษาภาวะความดันโลหิตสูงวิกฤต
ผู้ป่วยทั่วไป: ใช้ขนาด 20-40 mg ฉีดเข้าหลอดเลือดดำ หรือเข้ากล้าม ให้ซ้ำได้ตามระดับความดันโลหิต
หญิงมีครรภ์: ใช้ขนาด 5-10 mg ฉีดเข้าหลอดเลือดดำ หรือเข้ากล้าม จากนั้นให้ฉีดอีก 5-10 mg ทุก 20-30 นาที ตามระดับความดันโลหิต หรืออาจให้หยอดเข้าหลอดเลือดดำในอัตรา 0.5-10 mg/hr
ในเด็กอายุ 3 เดือน - 1 ปี: ใช้ขนาด 0.1-0.5 mg/kd/dose ฉีดเข้าหลอดเลือดดำ ทุก 6-8 ชั่วโมง โดยปรับตามความดันโลหิต
ในเด็กอายุ >1 ปี: ใช้ขนาด 0.1-0.2 mg/kg/dose ฉีดเข้าหลอดเลือดดำหรือเข้ากล้าม ทุก 4-6 ชั่วโมง ไม่เกิน 20 mg/dose และขนาดสะสมไม่เกิน 9 mg/kg
- ใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูงเรื้อรัง
ยาไฮดราลาซีนสามารถเสริมยาอื่นได้ทุกกลุ่ม แต่กลุ่มที่เหมาะที่สุดคือกลุ่มยาขับปัสสาวะและกลุ่มยาปิดตัวรับเบตา ขนาดที่ใช้คือ รับประทานครั้งละ 25-50 mg วันละ 3-4 ครั้ง (สูงสุดไม่เกิน 300 mg/วัน)
ในเด็กใช้ขนาด 0.75-1 mg/kg/day แบ่งกินวันละ 2-4 ครั้ง ปรับขนาดได้ทุก 3-4 สัปดาห์ สูงสุดไม่เกินวันละ 200 mg
ผลข้างเคียง พิษของยา และข้อควรระวัง
ผลข้างเคียงที่พบบ่อยที่สุดคืออาการใจสั่น ซึ่งเกิดจาก Baroreceptor reflex มากกว่าจากยาโดยตรง ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเรื้อรังอาจมีอาการกำเริบถ้าไม่มียาลดความดันกลุ่มที่ลดการทำงานของหัวใจให้ร่วมไปด้วย
ผลข้างเคียงที่พบบ่อยถัดมาคืออาการปวดศีรษะ โดยเฉพาะผู้ที่ใช้ขนาด > 50 mg/ครั้ง อาการปวดศีรษะนี้อธิบายไม่ได้ว่าเกิดจากการขยายหลอดเลือดที่สมอง เพราะยา Minoxidil ซึ่งขยายหลอดเลือดแดงเหมือนกันกลับไม่พบผลข้างเคียงนี้
ผู้ป่วยที่ใช้ยาไฮดราลาซีนในระยะยาวร้อยละ 15-20 อาจมี positive ANA titer ได้ โดยเฉพาะผู้ที่ใช้ขนาด > 300 mg/วัน แต่มีน้อยมากที่จะแสดงอาการถึงขั้น lupus syndrome และถ้าแสดงก็จะไม่มีอาการทางไต (เป็นลักษณะจำเพาะของ lupus syndrome จากยาไฮดราลาซีน)
ผลข้างเคียงในระยะยาวอีกข้อหนึ่งคือทำให้ร่างกายบวมน้ำ เนื่องจากยากระตุ้นระบบเรนิน-แองจิโอเทนซิน-อัลโดสเตอโรน แต่อาการบวมจะไม่เกิดถ้าใช้คู่ไปกับยาขับปัสสาวะ
ปฏิกิริยาระหว่างยา
ยาขยายหลอดเลือดกลุ่มย่อยเดียวกันไม่ควรให้ร่วมกัน ยาไฮดราลาซีนไม่ควรให้ร่วมกับยา Diazoxide และยากลุ่ม MAOIs
บรรณานุกรม
- "Hydralazine." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา DRUGBANK. (29 เมษายน 2561).
- "Hydralazine." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Wikipedia. (29 เมษายน 2561).
- "Hydralazine (Rx)." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Medscape. (30 เมษายน 2561).
- William A. Pettinger. 1988. "Side Effects of Vasodilator Therapy." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Hypertension. 1988;11:II34. (30 เมษายน 2561).