กลุ่มยาอินซูลิน (Insulin)

อินซูลินเป็นฮอร์โมนสำคัญในการควบคุมสมดุลกลูโคสในร่างกาย ถูกสร้างขึ้นจากเบตาเซลล์ของตับอ่อนในลักษณะของสายโปรตีนเส้นเดียวก่อนเรียกว่า Preproinsulin จากนั้นจะถูกตัดส่วน Signal Sequence ทิ้ง ม้วนหาง A Chain และ B Chain มาต่อขนานกันเป็น Proinsulin สุดท้ายจึงตัดสายตรงกลางทิ้ง ได้เป็นฮอร์โมนอินซูลินที่พร้อมทำงาน ส่วนสายตรงกลางที่ทิ้งไปนี้เรียกว่า C peptide จะถูกร่างกายย่อยสลายในภายหลัง

ในภาวะ Hyperinsulinism (น้ำตาลต่ำจากอินซูลินในเลือดสูง) C peptide จะเป็นตัวบ่งว่าอินซูลินที่สูงนั้นเป็นอินซูลินที่ร่างกายสร้างขึ้นเอง ไม่ใช่เป็นจากยาอินซูลินที่ฉีดเข้าไป เพราะขบวนการผลิตยาอินซูลินโดยพันธุวิศวกรรม (genetic engineering) นั้น จะไม่มี C peptide ดังรูปข้างล่าง

ยาอินซูลินจัดเป็นยาที่จำเป็นมากในผู้ป่วยที่ตับอ่อนไม่สามารถสร้างฮอร์โมนอินซูลินได้เพียงพอ

ชนิดของยาอินซูลิน

ยาอินซูลินเริ่มใช้รักษาโรคเบาหวานในเด็กตั้งแต่ปีค.ศ. 1925 สองปีหลังจากทีมผู้ริเริ่มได้รับรางวัลโนเบลจากการสกัดฮอร์โมนจากตับอ่อนของสุนัขมาใช้กับเด็กชายที่เป็นเบาหวานจนฟื้นจากสภาพโคม่า การผลิตยาอินซูลินในช่วงแรกยังเป็นการสกัดจากตับอ่อนของสัตว์ที่ตายแล้ว จนถึงทศวรรษที่ 1980s จึงสามารถสังเคราะห์ขึ้นเองจากยีนที่สร้างอินซูลินในมนุษย์

เนื่องจากสายโปรตีนของอินซูลินจะถูกย่อยทำลายเมื่อรับประทานเข้าไป ยาอินซูลินจึงต้องอยู่ในรูปอื่น ในปัจจุบันมีรูปฉีด และรูปสูดเข้าทางเดินหายใจ ยาอินซูลินรูปฉีดเป็นรูปแบบที่มีพัฒนาการมายาวนาน ค่อนข้างปลอดภัยสำหรับผู้ป่วยทุกกลุ่ม อีกทั้งมีการดัดแปลงโมเลกุลที่ปลายสายให้มีระยะการออกฤทธิ์สั้นหรือยาวขึ้น เพื่อใช้ได้ใกล้เคียงธรรมชาติมากยิ่งขึ้น เนื่องจากธรรมชาติของการหลั่งอินซูลินในร่างกายคนเรามีแบบ basal (คือหลั่งในปริมาณน้อยออกมาตลอดเวลา) และแบบ prandial หรือ bolus (คือหลั่งเป็นครั้งเวลาที่รับประทานอาหาร) ชนิดของยาอินซูลินจึงอาจแบ่งตามระยะเวลาการออกฤทธิ์ได้เป็น 4 กลุ่ม ดังนี้

  1. อินซูลินที่ออกฤทธิ์เร็ว (Fast-acting insulin)
  2. เป็นอินซูลินที่ดูดซึมเร็ว จึงออกฤทธิ์เร็ว แต่อยู่ได้ไม่นาน เทียบได้กับ prandial insulin กลุ่มนี้ยังแบ่งเป็น

    • กลุ่มที่ออกฤทธิ์เร็วมาก (Rapid-acting insulin) ได้แก่ Insulin lispro, Insulin aspart, Insulin glulisine พวกนี้จะออกฤทธิ์ภายใน 10-20 นาทีหลังฉีดเข้าใต้ผิวหนัง จึงแนะนำให้ฉีดทันทีที่เริ่มรับประทานอาหาร ยามีฤทธิ์นานเพียง 3-5 ชั่วโมง
    • กลุ่มที่ออกฤทธิ์ปกติ (Regular insulin) เป็นอินซูลินที่ยังไม่มีการดัดแปลงโครงสร้างใด ๆ เรียกกันทั่วไปว่า RI ได้แก่ Humulin-R®, Novolin® สามารถฉีดเข้าใต้ผิวหนังหรือเข้าทางหลอดเลือดดำก็ได้ ถ้าฉีดเข้าทางผิวหนังจะเริ่มออกฤทธิ์ภายใน 30-60 นาทีหลังฉีด จึงแนะนำให้ฉีดก่อนเริ่มรับประทานอาหารประมาณครึ่งชั่วโมง ยามีฤทธิ์นานเพียง 6-8 ชั่วโมง
    • กลุ่มอินซูลินสูดเข้าทางเดินหายใจ (Inhaled insulin) เป็นอินซูลินที่ใช้สูดเข้าทางปากคล้ายยาแก้หอบหืดแบบสูด ยาออกฤทธิ์เร็วเหมือน Lispro และอยู่ได้นานพอ ๆ กับ RI แต่ยาอินซูลินชนิดสูดยังไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ในเด็กและหญิงมีครรภ์ เพราะยังไม่มีการศึกษาถึงความปลอดภัยในระยะยาว พบว่ายาอินซูลินชนิดสูดสามารถดูดซึมได้เร็วขึ้นและมากขึ้นในคนที่สูบบุหรี่ จึงไม่แนะนำให้ใช้ในคนกลุ่มนี้ด้วย เพราะประมาณยาที่เข้าร่างกายได้ยาก และเนื่องจากยาระคายทางเดินหายใจ จึงไม่แนะนำให้ใช้ในผู้ป่วยโรคหอบหืด (Asthma) และถุงลมโป่งพอง (COPD) หากต้องการใช้ควรมีการตรวจสมรรถภาพการทำงานของปอดก่อนใช้ยาและติดตามทุก 6 เดือน โดยถ้ามีค่า FEV1 ต่ำกว่าร้อยละ 70 ก็ไม่ควรใช้ นอกจากนั้นอินซูลินชนิดสูดยังไม่สามารถปรับขนาดยาได้ละเอียดเหมือนแบบฉีด
  3. อินซูลินที่ออกฤทธิ์ปานกลาง (Intermediate-acting insulin)
  4. เป็นอินซูลินที่สามารถฉีดวันละครั้ง หากฉีดตอนเช้าสามารถคุมน้ำตาลได้ตลอดวัน หากฉีดก่อนนอนสามารถคุมน้ำตาลได้ตลอดคืน จัดเป็น basal insulin อย่างหนึ่ง กลุ่มนี้ยังแบ่งเป็น

    • กลุ่มที่ไม่ได้ผสมอินซูลินที่ออกฤทธิ์เร็ว (Neutral Protamine Hagedorn หรือ NPH) ได้แก่ Humulin-N®, Novolin-N®, Gensulin-N® พวกนี้ต้องรอ 1-2 ชั่วโมงหลังฉีดเข้าใต้ผิวหนังจึงจะเริ่มออกฤทธิ์ ฤทธิ์สูงสุดที่ 4-6 ชั่วโมง แล้วฤทธิ์จะลดลงไปเรื่อย ๆ แต่ยังอยู่ได้นานถึง 12 ชั่วโมง
    • กลุ่มที่ผสมอินซูลินที่ออกฤทธิ์เร็ว (Pre-mixed insulin) ในอัตราส่วนต่าง ๆ กัน ยาจะอยู่ในรูปสารละลายแขนตะกอนสีขางขุ่น ต้องเขย่าขวดก่อนใช้ ได้แก่
      - Humalog mix 25® ประกอบด้วย insulin lispro 25% + insulin lispro protamine suspension 75%
      - Mixtard 30 HM®, Gensulin M 30®, Humulin 70/30® ประกอบด้วย RI 30% + NPH 70%
      ยาจะเริ่มออกฤทธิ์ภายใน 30 นาทีหลังฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ฤทธิ์สูงสุดที่ 4-8 ชั่วโมง แล้วฤทธิ์จะลดลงไปเรื่อย ๆ แต่ยังอยู่ได้นานถึง 10-16 ชั่วโมง
  5. อินซูลินที่ออกฤทธิ์นาน (Long-acting insulin)
  6. เป็นอินซูลินที่ดูดซึมช้า ไม่มีพีค ฤทธิ์จะคงที่ไปตลอด 20-30 ชั่วโมง มักใช้เป็น basal insulin โดยฉีดเข้าใต้ผิวหนังวันละ 1-2 ครั้ง ไม่แนะนำให้ฉีดเข้ากล้ามหรือหลอดเลือดดำ

    ยาอินซูลินกลุ่มนี้ได้แก่ Insulin detemir, Insulin glargine

  7. อินซูลินที่ออกฤทธิ์มาก (Ultra-long-acting insulin)
  8. เป็นอินซูลินที่ออกฤทธิ์นานถึง 42 ชั่วโมง สามารถฉีดได้วันละครั้ง ยาเริ่มออกฤทธิ์ในเวลา 30-90 นาทีเหมือน Insulin detemir และ Insulin glargine และไม่มีพีคเหมือนกัน จัดเป็น basal insulin รุ่นใหม่ที่เพิ่งออกมาไม่กี่ปีนี้ ยังมีตัวเดียวคือ Insulin degludec ยาฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ไม่แนะนำให้ฉีดเข้ากล้ามหรือหลอดเลือดดำ

เภสัชวิทยาของยาอินซูลิน

ยาอินซูลินชนิดฉีดมีคุณสมบัติดังนี้

  • Regular insulin เป็นสารละลายใส สามารถฉีดได้ทั้งเข้าใต้ผิวหนัง เข้าหลอดเลือดดำ และเข้ากล้าม
  • Insulin aspart, lispro, glulisine ก็อยู่ในรูปสารละลายใส แต่ตั้งใจผลิตมาให้ฉีดเข้าใต้ผิวหนังเท่านั้น การฉีดเข้าหลอดเลือดดำจะทำให้ยาออกฤทธิ์ช้าลงเหมือน Regular insulin
  • NPH เป็นสารละลายแขวนตะกอน ห้ามฉีดเข้าหลอดเลือดดำ
  • Insulin glargine เป็นสารละลายใส แต่เป็นกรด (pH 4.0) ไม่สามารถผสมร่วมกับอินซูลินชนิดอื่น และให้ฉีดเข้าใต้ผิวหนังเท่านั้น
  • Insulin detemir เป็นสารละลายใส โครงสร้างโมเลกุลมีสายของกรดไขมันมาต่อท้ายด้วย ไม่สามารถผสมร่วมกับอินซูลินชนิดอื่น และให้ฉีดเข้าใต้ผิวหนังเท่านั้น
  • Insulin degludec เป็นสารละลายใส มีโครงสร้างโมเลกุลใหญ่ จับอัลบูมินได้ดี ไม่สามารถผสมร่วมกับอินซูลินชนิดอื่น และให้ฉีดเข้าใต้ผิวหนังเท่านั้น
  • Inhaled insulin (Afrezza®) เป็นผง บรรจุในอุปกรณ์สูด มีตัวกรองขนาดยาเรียกว่า cartridge ขนาด 4,8 และ 12 ยูนิตติดมาด้วย วิธีใช้ดูได้ ที่นี่

ยาอินซูลินเมื่อฉีดเข้าใต้ผิวหนังจะถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดโดยตรง ความเร็วในการดูดซึมขึ้นกับปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้

  • ตำแหน่ง: ที่หน้าท้องจะเร็วกว่าที่ต้นขา เพราะมีเลือดมาเลี้ยงมากกว่า ฉีดเข้าผิวหนังที่นูนแข็ง (ไม่ค่อยมีเลือดมาเลี้ยง) จะดูดซึมได้ช้า
  • การเคลื่อนไหว: ถ้ามีการนวดคลึงหรือขยับขาออกกำลังตรงที่ฉีด จะทำให้ยาดูดซึมเร็วขึ้น
  • อุณหภูมิ: ความร้อน (อาบน้ำอุ่น อบซาวน่า) จะทำให้ยาดูดซึมเร็วขึ้น ความเย็นจะทำให้ยาดูดซึมช้าลง
  • ขนาดยา: ขนาดสูงดูดซึมช้ากว่า

เมื่อฉีดยาเข้าใต้ผิวหนัง ยาจะค่อย ๆ ดูดซึมเข้าไปในกระแสเลือดทีละน้อย จึงไม่ค่อยจับกับอัลบูมินในเลือด (ยกเว้น Insulin detemir ที่จับกับอัลบูมินร้อยละ 98) เมื่อยาจับตัวรับอินซูลินที่ผิวเซลล์จะเกิดการส่งสัญญาณภายในเซลล์นำไปสู่ขบวนการเจริญเติบโต มีการเคลื่อนที่ของ glucose transporter (GLUT) มาที่ผิวเซลล์ เพื่อรับกลูโคสในเลือดเข้าไปเป็นพลังงาน ในเซลล์ไขมันจะมีการเพิ่มการสร้างเนื่อเยื่อไขมัน ในเซลล์กล้ามเนื้อจะเพิ่มการสร้างโปรตีนและไกลโคเจน ในเซลล์ตับก็จะสร้างไกลโคเจนเป็นแหล่งพลังงานสะสมในยามที่เราอดอาหาร เมื่อมีไกลโคเจนมากพอแล้วกลูโคสที่เหลือจะถูกตับเปลี่ยนเป็นกรดไขมันอิสระ ไลโปโปรตีน และไตรกลีเซอไรด์ คล้ายในเซลล์ไขมัน แต่เก็บไว้ที่ตับเอง ทำให้เนื้อเยื่อไขมันที่ตับเพิ่มขึ้น

อินซูลินยังมีฤทธิ์ปกป้องเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจจากภาวะเครียดออกซิเดชัน (oxidative stress) ลดโอกาสเกิดภาวะหัวใจวาย และมีส่วนช่วยเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหัวใจ (cardiac remodeling) หลังเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย

ที่หลอดเลือดอินซูลินจะเพิ่มการสร้างไนตริกออกไซด์ ซึ่งมีคุณสมบัติขยายหลอดเลือด ต้านการอักเสบ ยับยั้งภาวะเครียดออกซิเดชัน ยับยั้งการเกาะกลุ่มของเกร็ดเลือด ทำให้ลดการเกิดหลอดเลือดอุดตัน

อินซูลินยังหยุดการสลายกล้ามเนื้อและไขมันมาเป็นพลังงานแทนกลูโคส ซึ่งขบวนการนี้ทำให้เกิดกรดคีโตนที่เป็นพิษต่อร่างกาย

ยาอินซูลินในกระแสเลือดถูกกำจัดที่ไต 60% ที่ตับ 40% (ถ้าเป็นอินซูลินธรรมชาติสัดส่วนนี้จะตรงกันข้าม เพราะฮอร์โมนถูกหลั่งเข้ามาใน portal vein ต้องผ่านตับก่อน เลยถูกทำลายไปมากหน่อย ที่เหลืออีก 40% ค่อยถูกสลายทางไต) เมื่อไตเป็นอวัยวะหลักในการกำจัดยา ผู้ป่วยไตวายจึงต้องลดขนาดยาอินซูลินลง มิฉะนั้นจะเกิดภาวะน้ำตาลต่ำง่าย และเป้าหมายในการคุมน้ำตาลในผู้ป่วยเหล่านี้จะใช้ที่ HbA1C < 8.0% ไม่ใช่ 7.0% เหมือนผู้ป่วยทั่วไป

ขวดยาอินซูลินต้องเก็บไว้ในตู้เย็นอุณหภูมิ 2-8°C ถ้าทิ้งไว้ที่อุณหภูมิ 30°C ไม่นานยาจะเสื่อมสภาพ ขวดยาที่เปิดใช้แล้วควรใช้ให้หมดใน 2 สัปดาห์ ยาในรูปแบบปากกาสามารถอยู่ได้ที่อุณหภูมิ 15-30°C เป็นเวลา 28 วัน Insulin detemir สามารถอยู่ได้ที่อุณหภูมิห้องเป็นเวลา 42 วัน

การใช้ยาที่เหมาะสม

  1. ใช้รักษาโรคเบาหวานชนิดที่หนึ่ง (มักเป็นตั้งแต่เด็ก)
  2. ขนาดยาอินซูลินที่ต้องการในผู้ป่วยกลุ่มนี้จะประมาณ 0.4-0.6 ยูนิต/kg/day (โดยควบคุมอาหารร่วมไปด้วยเสมอ) ชนิดของยาอาจใช้เป็น Pre-mixed insulin แบ่งฉีดก่อนอาหารเช้า 2/3 และก่อนอาหารเย็น 1/3

    ผู้ที่มีปัญหาค่าใช้จ่ายอาจแบ่งขนาดยาทั้งวันออกเป็น 4 ส่วน แล้วฉีด Regular insulin 1/4 ส่วน ก่อนอาหารทุกมื้อ + ฉีด NPH อีก 1/4 ส่วนก่อนนอน คือให้มีทั้ง prandial และ basal insulin เหมือนอย่างธรรมชาติ

    เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดก่อนอาหาร < 100 mg% ให้ลดขนาดยามื้อนั้นลง 1-2 ยูนิต เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดก่อนอาหาร > 180 mg% ให้เพิ่มขนาดยามื้อนั้นขึ้น 1-2 ยูนิต รวมขนาดยาทั้งวันเป็นขนาดยาที่เหมาะสมสำหรับตัวท่านเอง (ซึ่งจะแตกต่างกันตามรสนิยมการกินอาหารของแต่ละคน) ทำเช่นนี้หลาย ๆ วันจนได้ขนาดยาต่อวันค่อนข้างคงที่ แล้วใช้ค่านั้นเป็นตัวตั้ง หารด้วยจำนวนครั้งที่ฉีดตามสัดส่วนข้างต้น ต่อไปการเจาะเลือดเช็คก็ไม่จำเป็นต้องทำบ่อยครั้งนัก

    ส่วนการทดสอบว่าเด็กควบคุมอาหารดีหรือไม่ให้ดูที่ค่าน้ำตาลสะสม (HbA1C) ซึ่งควรจะต่ำกว่า 7.0% ถ้าเกินนี้ควรปรับเมนูอาหารให้เด็ก

  3. ใช้รักษาโรคเบาหวานชนิดที่สอง ที่มีปัญหาดังนี้
    • มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงมาก
    • กรณีนี้อาจฉีดยาอินซูลินเป็นครั้ง ๆ โดยยา 1 ยูนิต สามารถลดน้ำตาลในเลือดได้ประมาณ 50 mg% แต่ถ้าน้ำตาลในเลือดสูงเกิน 500 mg% หรือมีเลือดเป็นกรดจากคีโตน (Diabetic ketoacidosis) ควรผสมยาในน้ำเกลือแล้วหยดเข้าหลอดเลือดดำช้า ๆ ในอัตรา 1-2 ยูนิต/ชั่วโมง (เพราะภาวะที่น้ำตาลในเลือดสูงมากผู้ป่วยจะขาดน้ำด้วย และเมื่อน้ำตาลลง โพแทสเซียมที่เคลื่อนเข้าเซลล์ตามกลูโคสเข้าไปจะทำให้โพแทสเซียมในเลือดลดลงด้วย) ผู้ป่วยควรนอนรักษาในโรงพยาบาล

    • ใช้ยาเม็ด 2-3 ขนานในขนาดสูงสุดแล้วยังคุมน้ำตาลในเลือดไม่ได้
    • กรณีนี้หากใช้อินซูลินร่วมกับยาลดน้ำตาลในเลือดชนิดกินควรเริ่มเป็น basal insulin ขนาด 0.2 ยูนิต/kg ฉีดวันละครั้งก่อนนอน ปรับขนาดยาตามระดับน้ำตาลในเลือดตอนเช้า (FPG) ทุก 2-3 วัน โดย
      - ถ้า FPG > 180 mg% ให้เพิ่ม 4 ยูนิต
      - ถ้า FPG อยู่ในช่วง 140-180 mg% ให้เพิ่ม 2 ยูนิต
      - ถ้า FPG อยู่ในช่วง 110-139 mg% ให้เพิ่ม 1 ยูนิต
      - ถ้า FPG < 70 mg% ให้ลด 1-2 ยูนิต หรือลดยากินมื้อเย็นลง

      หากจะเปลี่ยนมาใช้อินซูลินอย่างเดียวให้ใช้วิธีเดียวกับการรักษาเบาหวานชนิดที่หนึ่ง

    • ป่วยขั้นรุนแรง เช่น ติดเชื้อรุนแรง อุบัติเหตุรุนแรง อยู่ระหว่างก่อนและหลังการผ่าตัดที่ยังต้องอดอาหาร
    • กรณีเหล่านี้จะใช้ยาอินซูลินแทนยากินชั่วในระหว่างที่นอนรักษาในโรงพยาบาล เมื่อภาวะเหล่านั้นหายไปก็สามารถกลับไปใช้ยากินเหมือนเดิม

    • มีความผิดปกติของตับและไตที่เสี่ยงต่อการใช้ยาเบาหวานชนิดกิน
    • ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะกำจัดอินซูลินออกจากร่างกายได้ช้า จึงควรให้ยาเพียงวันละครั้งก่อนอาหารเช้า โดยอาจใช้เป็น Pre-mixed insulin หรือ NPH ขนาด 0.2-0.4 ยูนิต/kg/day เป้าหมายอยู่ที่ FPG < 180 mg% และการไม่เกิดภาวะน้ำตาลต่ำ

  4. ใช้รักษาโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์
  5. หญิงมีครรภ์ที่มีน้ำตาลในเลือดสูงจะทำให้ทารกในครรภ์ได้รับกลูโคสเข้าไปมาก ตัวจะโตกว่าเด็กธรรมดา อาจทำให้ผ่านช่องเชิงกรานของแม่ออกมาไม่ได้ และหลังคลอดมักมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เพราะตับอ่อนของเด็กยังคุ้นกับการที่ต้องผลิตอินซูลินมากเหมือนตอนอยู่ในครรภ์

    ยาเบาหวานชนิดกินไม่มีตัวใดรับรองความปลอดภัยของทารกในครรภ์ มีแต่ยาอินซูลินเท่านั้นที่ปลอดภัยและออกฤทธิ์คล้ายธรรมชาติมากที่สุด ความต้องการยาอินซูลินจะเพิ่มขึ้นตามอายุครรภ์ที่มากขึ้น โดย
    - ไตรมาสแรก ใช้ประมาณ 0.7-0.8 ยูนิต/กก./วัน
    - ไตรมาสที่สอง ใช้ประมาณ 0.8-1.0 ยูนิต/กก./วัน
    - ไตรมาสที่สาม ใช้ประมาณ 0.9-1.2 ยูนิต/กก./วัน
    โดยอาจฉีด Regular insulin วันละ 4 ครั้ง (ก่อนอาหาร 3 มื้อและก่อนนอน) ในขนาด 2/7 : 2/7 : 2/7 : 1/7 ตามลำดับ หรือจะฉีดเป็น Pre-mixed insulin วันละ 2 ครั้งก่อนอาหารเช้าและเย็น ในขนาด 2/3 : 1/3 ตามลำดับ

    และควรตรวจติดตามระดับน้ำตาลในเลือดอย่างน้อย 4 ครั้ง/วัน เป้าหมายการควบคุมน้ำตาลในเลือดในหญิงมีครรภ์จะค่อนข้างเข้มงวด คือ

    หลังคลอดไม่จำเป็นต้องฉีดอินซูลินอีก เพราะเมื่อฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนลดระดับลง น้ำตาลในเลือดจะลดลงเอง ยกเว้นผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวานตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ กรณีนั้นให้กลับไปใช้ยารักษาตามเดิม

  6. ใช้รักษาโรคเบาหวานจากตับอ่อนถูกทำลาย เช่น ตับอ่อนอักเสบ ถูกตัดตับอ่อน
  7. ในภาวะเหล่านี้ผู้ป่วยมักมีข้อจำกัดในการรับประทานอาหาร หากรับประทานไม่ได้เลยยาจะให้ในรูปผสมกับน้ำเกลือที่มีกลูโคส หากพอจะรับประทานเองได้ ก็จะใช้ Regular insulin หรือ Pre-mixed insulin ฉีดเข้าใต้ผิวหนังก่อนอาหาร 2-3 มื้อ เป้าหมายของการควบคุมน้ำตาลจะไม่เคร่งครัดเหมือนผู้ป่วยเบาหวานกลุ่มอื่น ๆ ยาอินซูลินอาจใช้ชั่วคราวหรือตลอดไปแล้วแต่โรคสามารถรักษาให้หายได้หรือไม่

ผลข้างเคียง พิษของยา และข้อควรระวัง

หากได้รับยาอินซูลินมากเกินไปจะทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ซึ่งพบบ่อยในคนสูงอายุ ผู้ป่วยโรคตับ/โรคไต อาการคือ ใจสั่น มึนงง ตาพร่า เหงื่อออก ซึมลง และหมดสติ อาการมักเกิดในวันที่รับประทานอาหารได้น้อย หรือเลยเวลาอาหารแล้วยังไม่ได้รับประทาน หรือออกกำลังมากกว่าทุกวัน ส่วนใหญ่ผู้ป่วยเบาหวานจะเคยมีประสบการณ์เช่นนี้มาก่อน เมื่อเริ่มมีอาการให้อมลูกอม 1 เม็ด แล้วไปหาอาหารรับประทานทันที

การฉีดยาอินซูลินซ้ำตรงตำแหน่งเดิมบ่อย ๆ อาจทำให้เนื้อเยื่อไขมันใต้ผิวหนังบริเวณนั้นฝ่อ (lipoatrophy) หรือนูนขึ้น (lipohypertrophy) ทำให้การดูดซึมของยาล่าช้าลง ดังนั้นจึงควรย้ายตำแหน่งที่ฉีดไปเรื่อย ๆ ไม่ให้ซ้ำที่กันใน 1 สัปดาห์

ผลข้างเคียงของอินซูลินที่สำคัญอีกอย่างคือทำให้เกิดภาวะบวมน้ำ ซึ่งจะเห็นชัดในผู้ป่วยที่ใช้ยากินกลุ่ม Thiazolidinediones ร่วมด้วย หรือในผู้ป่วยที่มีภาวะบวมน้ำอยู่แล้ว เช่น โรคหัวใจ โรคไต โรคตับ ภาวะเหล่านี้หากไม่จำเป็นก็ควรเลี่ยงยาอินซูลิน (หรือหยุด Thiazolidinediones) แต่หากจำเป็นต้องใช้ยาอินซูลินควรระวังปริมาณน้ำเข้า-ออก/วันของร่างกายด้วย

บรรณานุกรม

  1. Thomas Donner. 2015. "Insulin - Pharmacology, Therapeutic Regimens And Principles Of Intensive Insulin Therapy." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา NCBI (16 พฤษภาคม 2561).
  2. Shashank R. Joshi, et al. 2007. "Insulin - History, Biochemistry, Physiology and Pharmacology." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา japi.org (16 พฤษภาคม 2561).
  3. "The Discovery of Insulin." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Nobleprize.org (16 พฤษภาคม 2561).
  4. "Types of Insulin." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา UCSF (16 พฤษภาคม 2561).
  5. David K. Turok, et al. 2003. "Management of Gestational Diabetes Mellitus." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Am Fam Physician. 2003 Nov 1;68(9):1767-1773. (17 พฤษภาคม 2561).