ยามานิดิพีน (Manidipine)
ยามานิดิพีนเป็นยาปิดกั้นช่องแคลเซียมสายพันธุ์เอเชีย ผลิตจากบริษัททาเคดาของประเทศญี่ปุ่น ภายใต้ชื่อการค้า Madiplot® ยาไม่เป็นที่รู้จักมากนักในยุโรปและอเมริกา แต่ในประเทศไทยจัดว่าเป็นยาที่ใช้กันค่อนข้างแพร่หลาย ยามีประสิทธิภาพในการลดความดันโลหิตไม่ต่างจากยาแอมโลดิพีน แต่มีผลข้างเคียงน้อยกว่า ทั้งเรื่องขาบวมในผู้สูงอายุ [1] การมีอัลบูมินออกมาในปัสสาวะ [2] และอุบัติการณ์ของผลข้างเคียงทั่วไป เช่น ปวดศีรษะ หน้าแดง [3]
ยามานิดิพีนมีระยะครึ่งชีวิตสั้นกว่ายาแอมโลดิพีน แต่หลุดออกจากตัวรับแคลเซียมได้ช้ากว่า จึงออกฤทธิ์ได้เร็วกว่า ขณะเดียวกันก็สามารถควบคุมความดันเลือดได้นาน 24 ชั่วโมงโดยให้เพียงวันละครั้งเหมือนแอมโลดิพีน ยาอยู่ในบัญชี ข ของบัญชียาหลักแห่งชาติของไทย แพทย์สามารถสั่งให้ได้ในผู้ป่วยที่ทนต่อผลข้างเคียงของยาแอมโลดิพีนไม่ได้
ที่มาและการออกฤทธิ์:
ยามานิดิพีนออกฤทธิ์ปิดกั้นช่องแคลเซียมทั้งที่ชนิด L และ T (ต่างจากยาแอมโลดิพีนที่ปิดกั้นแต่ช่องแคลเซียมชนิด L) ช่องแคลเซียมชนิด T พบได้ที่หัวใจบริเวณ SA และ AV nodes และพบที่หลอดเลือดแดงขาเข้าและขาออกของไต (afferent & efferent renal arterioles) ยาจึงลดอัตราการเต้นของหัวใจและทำให้หลอดเลือดที่ไตขยายตัว เลือดเข้าและออกไตได้สะดวกขึ้น ความดันหลอดเลือดฝอยในไต (glomerular capillary pressure) จึงลดลง [2] การสูญเสียอัลบูบินออกจากไตก็ลดลง ยาจึงใช้ได้ดีในผู้ป่วยโรคไต ส่วนช่องแคลเซียมชนิด L พบที่เซลล์กล้ามเนื้อเรียบของหลอดเลือดแดงส่วนปลายและหลอดเลือดแดงโคโรนารีที่เลี้ยงหัวใจ ทำให้หลอดเลือดเหล่านี้คลายตัว จึงสามารถลดความดันโลหิตและบรรเทาอาการแน่นอกขณะออกแรงในผู้ป่วยที่มีหลอดเลือดแดงโคโรนารีตีบได้
ยามานิดิพีนดูุดซึมในทางเดินอาหารได้น้อยกว่ายาแอมโลดิพีน ขนาดยาที่ใช้จึงสูงกว่า เริ่มออกฤทธิ์ลดความดันโลหิตหลังรับประทานเข้าไปเพียง 15-45 นาที ระดับยาในเลือดเริ่มคงที่หลังรับประทานติดต่อกันเพียง 2-3 วัน ดังนั้นการปรับขนาดยาจึงทำได้เร็วกว่ายาแอมโลดิพีน ร้อยละ 99 ของยามานิดิพีนจับกับโปรตีนในเลือด ยาถูกเมตาบอไลต์ที่ตับ 2/3 ถูกขับออกทางอุจจาระ อีก 1/3 ถูกขับออกทางไต ดังนั้นควรระวังยาอาจเกินขนาดในผู้ป่วยโรคตับและโรคไต
การใช้ยาที่เหมาะสม
- ใช้ลดความดันโลหิตในโรคความดันโลหิตสูงในผู้ใหญ่
ขนาดยามานิดิพีนที่ใช้ในผู้ใหญ่คือ 5-20 mg วันละครั้ง ปรับขนาดยาครั้งละ 5 mg ได้ทุก 3 วัน ผู้สูงอายุควรเริ่มที่ 5 mg ส่วนผู้ใหญ่วัย 20-60 ปีที่ความดันค่อนข้างสูงอาจเริ่มที่ 10 mg ได้เลย
การรับประทานยามานิดิพีนอย่างต่อเนื่องแล้วบังเอิญขาดยาหรือหยุดยาทันทีอาจทำให้ความดันโลหิตพุ่งสูงขึ้น ดังนั้นต้องไม่ลืมทานยา หรือถ้าจำเป็นต้องเปลี่ยน ควรค่อย ๆ ลดขนาดยาลงพร้อมกับค่อย ๆ เริ่มกินยาตัวใหม่
ยังไม่มีการศึกษาการใช้ยามานิดิพีนในเด็ก ห้ามใช้ยานี้ในหญิงตั้งครรภ์ (เพราะจะทำให้ระยะการตั้งครรภ์ยืดยาวออกไป) และไม่ควรใช้ในหญิงช่วงที่ให้นมบุตร เพราะยาถูกขับออกทางน้ำนมด้วย อาจทำให้ทารกความดันต่ำลง
- ใช้รักษาโรคหลอดเลือดหัวใจที่มีอาการแน่นอกเรื้อรัง (ร่วมกับยาอื่น)
ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจที่เหมาะที่จะใช้ยานี้คือ ผู้ที่มีภาวะแน่นอกเรื้อรังที่เอกซเรย์หลอดเลือดหัวใจแล้วยังไม่จำเป็นต้องรักษาด้วยวิธีผ่าตัดหรือขยายหลอดเลือด (chronic stable angina), และผู้ที่มีอาการเจ็บอกจากหลอดเลือดหัวใจหดตัวเป็นพัก ๆ (vasospastic angina)
ขนาดยามานิดิพีนที่ใช้ในภาวะเหล่านี้คือ 10-20 mg วันละครั้ง
** ผู้ป่วยโรคตับควรใช้ไม่เกินวันละ 10 mg
ผลข้างเคียง พิษของยา และข้อควรระวัง
- ผลข้างเคียงที่พบได้ 1-10% ได้แก่อาการปวดศีรษะ วิงเวียน หน้าแดง ใจสั่น และอาการบวม
- ผลข้างเคียงที่พบได้ 0.1-1% ได้แก่ อาการอ่อนล้า หัวใจเต้นเร็ว เหนื่อย คลื่นไส้อาเจียน ท้องผูก ปากแห้ง ผื่นผิวหนัง คัน เอ็นไซม์ตับเพิ่มสูงขึ้น และ/หรือ การทำงานของไตทรุดลง เม็ดเลือดขาวต่ำ
- ผลข้างเคียงที่พบได้ < 0.01-0.1% ได้แก่ อาการง่วงซึม แน่นหน้าอก ปวดท้อง
- และผลข้างเคียงที่พบได้น้อยกว่า 0.01% ได้แก่ อาการเหงือกบวม การเคลื่อนไหวผิดปกติ
จะเห็นได้ว่าอุบัติการของผลข้างเคียงของยามานิดิพีนพบน้อยกว่าแอมโลดิพีนประมาณ 10 เท่า
ปฏิกิริยาระหว่างยา
เนื่องจากยาถูกสลายที่ตับด้วยเอ็นไซม์ cytochrome จึงมีปฏิกิริยากับยาหลายตัวที่ใช้ร่วมกัน โดย...
- ระดับยามานิดิพีนในเลือดจะลดลงเมื่อใช้ร่วมกับยา Rifampicin, Carbamazepine, Phenytoin
- ระดับยามานิดิพีนในเลือดจะเพิ่มขึ้นเมื่อใช้ร่วมกับยา Cimetidine, Erythromycin
บรรณานุกรม
- Payeras AC, et al. 2007. "Antihypertensive efficacy and safety of manidipine versus amlodipine in elderly subjects with isolated systolic hypertension: MAISH study." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Clin Drug Investig. 2007;27(9):623-32. (2 กันยายน 2560).
- Christian Ott, et al. 2012. "Effects of manidipine vs. amlodipine on intrarenal haemodynamics in patients with arterial hypertension." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา British Journal of Clinical Pharmacology (2 กันยายน 2560).
- Florent F Richy and Stephane Laurent. 2011. "Efficacy and safety profiles of manidipine compared with amlodipine: A meta-analysis of head-to-head trials." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Blood Press. 2011 Feb; 20(1): 54–59. (2 กันยายน 2560).