กลุ่มยาเมกลิทิไนด์ (Meglitinides)

เมกลิทิไนด์เป็นส่วนหนึ่งของยา Glibenclamide เมื่อตัดส่วนซัลโฟนิลออกไป พบว่าส่วนนี้ก็มีฤทธิ์กระตุ้นเบตาเซลล์ให้สร้างอินซูลินเช่นเดียวกัน จึงมีการพัฒนายาจากส่วนนี้ เรียกว่า Meglitinide analogs ซึ่งปัจจุบันมี 3 ตัว คือ Nateglinide, Repaglinide, และ Mitiglinide ยากลุ่มนี้จึงมีบางท่านเรียกว่ากลุ่ม Non-sulfonylureas บางท่านก็เรียกง่าย ๆ ว่ากลุ่ม "glinides"

ยากลุ่มนี้ใช้รักษาเบาหวานชนิดที่สองเท่านั้น มักใช้แทนยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรียในผู้ป่วยที่มีเวลารับประทานอาหารไม่แน่นอน เพราะยามีฤทธิ์สั้นกว่าซัลโฟนิลยูเรีย โอกาสเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำจึงน้อยกว่า สามารถกินก่อนอาหารแต่ละมื้อได้ ราคายากลุ่มนี้จะแพงกว่ากลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย เพราะยังไม่มีตัวใดพ้นสิทธิบัตร

ที่มาและการออกฤทธิ์:

ยากลุ่มเมกลิทิไนด์ออกฤทธิ์เหมือนกลุ่มซัลโฟนิลยูเรียเกือบทุกอย่าง คือ ปิดช่องโพแทสเซียมไม่ให้โพแทสเซียมออกจากเบตาเซลล์ เกิด depolarization เปิดช่องแคลเซียมให้แคลเซียมนอกเซลล์ไหลเข้ามาไปกระตุ้นให้ถุงอินซูลินเคลื่อนไปเชื่อมกับผนังเซลล์ แล้วปลดปล่อยอินซูลินออกมาในจังหวะแรก ยามีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย แต่จะออกฤทธิ์เร็วกว่า สามารถรับประทานก่อนอาหารได้ 10-15 นาที และหมดฤทธิ์ใน 3-4 ชั่วโมง

ยากลุ่มนี้ดูดซึมได้ดีเมื่อท้องว่าง อาหารมีผลลดการดูดซึมของยา จึงไม่ควรทานยาพร้อมหรือหลังอาหาร ยาจับกับโปรตีนในเลือดกว่าร้อยละ 90 ถูกทำลายโดยเอนไซม์ตับแล้วขับออกทางไตเป็นส่วนใหญ่ ยกเว้นยา Repaglinide ที่ถูกขับออกทางอุจจาระเป็นส่วนใหญ่ จึงสามารถใช้ได้ในผู้ป่วยที่ไตเสื่อม ยา Repaglinide เป็นตัวเดียวในกลุ่มนี้ที่มีจำหน่ายในประเทศไทย

ยา Nateglinide มีฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งฮอร์โมนกลูคากอนด้วย แต่ผลการลดน้ำตาลในเลือดไม่ต่างจากยาตัวอื่น

ยา Mitiglinide มีฤทธิ์ยับยั้งการอักเสบและการเกิด oxidative stress ด้วย ซึ่งเชื่อว่าอาจมีประโยชน์ในการป้องกันภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดในระยะยาว

ยากลุ่มเมกลิทิไนด์ลดน้ำตาลในเลือดหลังอาหารได้ดีกว่ากลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย มีอุบัติการณ์ของการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำน้อยกว่า ไม่มีรายงานของการไม่ตอบสนองต่อยาในบางรายเหมือนกลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย และยังสามารถใช้ได้ในผู้ที่แพ้ยาซัลฟา

การใช้ยาที่เหมาะสม

ยากลุ่มนี้ใช้คุมน้ำตาลในเลือดในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่สองเท่านั้น โดยสามารถใช้เป็นยาเดี่ยวหรือใช้ร่วมกับยากลุ่ม Thiazolidinediones, DPP-4 inhibitors, Metformin, หรือ α-glucosidase inhibitors แต่ไม่ควรใช้ร่วมกับกลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย เพราะออกฤทธิ์เหมือนกัน

เนื่องจากยาออกฤทธิ์เร็วแต่สั้น จึงควรรับประทานก่อนอาหารทุกมื้อ ขนาดยา Nateglinide 180-360 mg/วัน, Repaglinide 1.5-16 mg/วัน, Mitiglinide 15-60 mg/วัน

ผลข้างเคียง พิษของยา และข้อควรระวัง

เนื่องจากยาทุกตัวถูกทำลายด้วยเอนไซม์ตับ จึงต้องลดขนาดลง (หรือไม่ควรใช้เลย) ในผู้ป่วยโรคตับ โดยเฉพาะ Repaglinide ห้ามใช้ร่วมกับยาลดไขมันกลุ่ม Gemfibrosil เพราะยาทั้งสองตัวถูกทำลายด้วยเอนไซม์ตับตัวเดียวกัน

กลุ่มยาเมกลิทิไนด์ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับกลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย แต่ขึ้นน้อยกว่า

ปฏิกิริยาระหว่างยา

  1. กลุ่มยาที่เพิ่มฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดของเมกลิทิไนด์
    • ยาที่ไปแย่งเมกลิทิไนด์จับโปรตีนในเลือด ทำให้เมกลิทิไนด์อยู่ในรูปอิสระมากขึ้น และออกฤทธิ์เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยาแอสไพริน, ยาซัลฟาทุกชนิด, ยา Warfarin, Chloramphenicol
    • ยาที่ไปลดการทำลายเมกลิทิไนด์ที่ตับ เช่น Warfarin, MAOIs, Phenylbutazone, Chloramphenicol
    • ยาที่ไปเสริมฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด เช่น เครื่องดื่มพวกแอลกอฮอล์, ยาแอสไพริน, ยากลุ่ม MAOIs
  2. กลุ่มยาที่ลดประสิทธิภาพการลดน้ำตาลในเลือดของเมกลิทิไนด์
    • ยาที่มีฤทธิ์เพิ่มน้ำตาลในเลือด ได้แก่ กลุ่มยาสเตียรอยด์, ยาขับปัสสาวะกลุ่มไทอะไซด์, กลุ่มยาที่กระตุ้นระบบซิมพาเธทิก
    • ยาที่เพิ่มการทำลายเมกลิทิไนด์ที่ตับ ได้แก่ ยาหรือสารที่เป็น CYP450 inducers เช่น เนื้อย่าง ผักบร็อกโคลี ถั่วลันเตา บุหรี่ ยา Omeprazole, Phenytoin, Carbamazepine, Phenobarbital, Phenytoin, Rifampicin, Aspirin, Haloperidol, Steroids เป็นต้น

บรรณานุกรม

  1. Anne Dornhorst. 2001. "Insulinotropic meglitinide analogues." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Lancet 2001 Nov 17;358(9294):1709-1716. (5 มิถุนายน 2561).