ยาเมธิลโดปา (Methyldopa)

ยาเมธิลโดปาถูกจัดไว้ในบัญชียาหลักแห่งชาติเพื่อใช้รักษาภาวะความดันโลหิตสูงในหญิงมีครรภ์ เพราะยาไม่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ตลอดระยะเวลาเกือบ 60 ปีที่ยานี้ถูกใช้มา แต่ความดันโลหิตสูงในกรณีอื่นไม่แนะนำให้เลือกใช้เป็นยาตัวแรก เพราะไม่มีหลักฐานสนับสนุนว่าจะช่วยป้องกันโรคแทรกซ้อนต่อระบบหลอดเลือดหัวใจและสมองดังเช่นยาใหม่กลุ่มอื่น ๆ อีกทั้งยาเมธิลโดปาก็มีผลข้างเคียงที่ทำให้ง่วงซึม ขาดสมาธิ และในระยะยาวเมื่อหยุดยาก็อาจเกิด rebound hypertension ได้

ที่มาและการออกฤทธิ์:

ยาเมธิลโดปามีโครงสร้างคล้ายคลึงกับ L-dopa เมื่อเข้าไปในร่างกายจะถูกเปลี่ยนเป็น alpha-methyldopamine และ alpha-methylnorepinephrine ได้ (คล้ายกับการเปลี่ยน L-dopa เป็น dopamine และ norepinephrine ในภาวะปกติ) เชื่อว่า alpha-methyldopamine หรือ alpha-methylnorepinephrine มีฤทธิ์กระตุ้นตัวรับ α2 ในระบบประสาทส่วนกลาง จึงมีผลลดการหลั่งสารสื่อประสาทซิมพาเธทิก ทําให้ความดันในหลอดเลือดส่วนปลายลดลง และในระยะยาวจะลดอัตราการเต้นของหัวใจลงด้วย (ยาไม่มีผลต่อหัวใจโดยตรงเหมือนยาต้านตัวรับเบตาหรือยาปิดกั้นช่องแคลเซียม)

ยาเมธิลโดปาถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดเพียงร้อยละ 25 มีระยะครึ่งชีวิตประมาณ 2 ชั่วโมง ยาถูกขจัดเป็นสองช่วง ช่วงแรกถูกเมตาบอไลต์ให้เป็นสารออกฤทธิ์ คือ alpha-methyldopamine และ alpha-methylnorepinephrine ช่วงที่สองยาเมธิลโดปาจึงถูกขจัดออกทางไต แต่เนื่องจากเมตาบอไลต์ของยายังมีฤทธิ์ต่อไปได้อีก จึงแนะนําให้รับประทานยาเพียงวันละ 2 ครั้ง ผู้ป่วยไตวายต้องลดขนาดยาลงมิฉะนั้นจะเกิดพิษจากยา

ยาเมธิลโดปาผ่านรกและน้ำนมได้ แต่นอกจากทำให้ความดันโลหิตของทารกต่ำลงเล็กน้อย ยาไม่มีผลอื่นใดต่อทารกอีก

การใช้ยาที่เหมาะสม

  1. ใช้รักษาภาวะความดันโลหิตสูงในหญิงมีครรภ์ (Gestational hypertension, pre-eclampsia)
  2. ยาเมธิลโดปาเป็นยาตัวแรกที่แนะนำให้ใช้ในหญิงมีครรภ์ทั้งผู้ที่มีความดันโลหิตสูงอยู่ก่อน หรือเกิดมีความดันสูงผิดปกติในระหว่างตั้งครรภ์ โดยรับประทานขนาด 250 mg วันละ 2-3 ครั้ง ในสองวันแรก จากนั้นสามารถลดเหลือวันละ 1-2 ครั้งได้ตามความเหมาะสม ปรับขนาดยาได้ทุก 2 วัน ไม่ควรเกิน 3000 mg/วัน

    ในภาวะความดันสูงวิกฤตสามารถฉีดเข้าหลอดเลือดดำได้ในขนาด 5-10 mg/kg ทุก 6 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 3000 mg/วัน

  3. ใช้รักษาความดันโลหิตสูงในทารกแรกเกิด
  4. ยาลดความดันส่วนใหญ่ยังไม่มีการศึกษาในเด็กเล็ก แต่เมธิลโดปาสามารถให้ได้ตั้งแต่เด็กแรกเกิดหากมีความดันโลหิตสูง โดยให้ได้ทั้งแบบกินหรือฉีดในขนาด 2.5-5 mg/kg ทุก 8 ชั่วโมงในสองวันแรก จากนั้นลดเหลือวันละ 2 ครั้ง

  5. ใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูงในผู้ใหญ่ทั่วไป
  6. ยาเมธิลโดปาจะใช้เสริมในกรณีที่ยากลุ่มอื่นไม่สามารถลดความดันได้ตามเป้าเท่านั้น เนื่องจากยาเข้าไปออกฤทธิ์ที่ระบบประสาทส่วนกลาง จึงมีผลข้างเคียงต่อจิตประสาทด้วย ขนาดยาในกรณีนี้คือ 250 mg วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น ในผู้สูงอายุให้ใช้ขนาด 125 mg วันละ 2 ครั้ง ผู้ป่วยโรคตับและไตควรเลี่ยงยาตัวนี้

ผลข้างเคียง พิษของยา และข้อควรระวัง

ผลข้างเคียงที่พบบ่อยได้แก่ อาการง่วงซึมซึ่งมักพบในช่วงแรกของการใช้ยา ส่วนในระยะยาวอาจพบอาการเพลีย, ขาดสมาธิ, ฝันร้าย, ซึมเศร้า และวิงเวียน อาจพบการเคลื่อนไหวผิดปกติ (extrapyramidal movement) และน้ำนมไหลได้ ซึ่งทั้งสองประการหลังนี้เกิดจากยาไปรบกวนระบบ dopamine ในสมอง ในเพศชายจะลดความต้องการทางเพศลง หรืออาจทำให้อวัยวะเพศชายไม่แข็งตัว ในเพศหญิงอาจทำให้รอบเดือนหายไป

นอกจากนี้ยายังอาจทําให้เกิด positive Coombs test (ซึ่งพบได้ 10-20% ของผู้ป่วยที่ได้รับการรักษานานเกิน 12 เดือน) รวมถึงเกิดตับอักเสบและไข้จากยา (drug fever) ได้ อาการข้างเคียงเหล่านี้มักหายได้เองเมื่อหยุดใช้ยา

การมีภาวะ positive Coombs test อยู่ก่อนไม่ได้เป็นข้อห้ามในการใช้ยาเมธิลโดปา แต่ควรตรวจ CBC และ direct Coombs test ก่อนเริ่มยาและตรวจติดตามทุก 6 เดือน หากมีภาวะซีดลงร่วมกับ positive Coombs test ในระหว่างการใช้ยาให้คิดถึงภาวะเม็ดเลือดแดงแตก (Hemolytic anemia) ก่อน และควรเปลี่ยนไปใช้ยาตัวอื่น แต่หากมีแต่ positive Coombs test โดยที่ยังไม่ซีดลง สามารถใช้เมธิลโดปาต่อไปได้ เพียงควรลดขนาดลง โดยทั่วไปขนาดยาที่น้อยกว่า 1000 mg/วัน มักไม่ก่อให้เกิดภาวะเม็ดเลือดแดงแตก

ภาวะไข้จากยาเมธิลโดปาถ้าจะเกิดมักเกิดภายใน 3 สัปดาห์หลังเริ่มใช้ยา ตรวจเลือดจะพบ eosinophilia, เอ็นไซม์ตับและ alkaline phosphatase สูงขึ้น เมื่อหยุดยาไข้ก็จะลงเอง

ภาวะตับอักเสบจากยาเมธิลโดปาพบได้ภายใน 3 เดือนแรกที่เริ่มใช้ยา เริ่มจากมีอาการตัวเหลืองตาเหลือง เบื่ออาหาร เลือดแข็งตัวช้า (prolonged prothrombin time) อาการจะค่อย ๆ หายไปเมื่อหยุดใช้ยา มีน้อยรายที่จะกลายเป็นตับวาย

การหยุดยาเมธิลโดปาอย่างกะทันหันความดันอาจพุ่งสูงขึ้นได้ แต่ไม่รุนแรงเท่าการหยุดยาคลอนิดีน ทางที่ดีควรลดยาเหลือวันละครั้ง และวันเว้นวัน ก่อนที่จะหยุดยา ในขณะเดียวกันก็ให้ทดแทนยาลดความดันขนานอื่นไปพร้อมกันด้วย

ไม่ควรใช้ยาเมธิลโดปาในผู้ป่วยที่สงสัยภาวะความดันโลหิตสูงจาก Pheochromocytoma เพราะยาทำให้การตรวจหาระดับของ Catecholamines ในเลือดและในปัสสาวะผิดไป และยังทำให้การทดสอบ Histamine test ผิดไปอีกด้วย ทำให้การวินิจฉัยโรคและการติดตามการรักษาโรคไม่แม่นยำ

ปฏิกิริยาระหว่างยา

การใช้ยาเมธิลโดปาร่วมกับยาลิเธียมจะทำให้ระดับยาลิเธียมสูงขึ้นจนอาจเป็นพิษได้

ยา Ferrous sulfate หรือ Ferrous gluconate ลดการดูดซึมของยาเมธิลโดปา จึงไม่ควรรับประทานพร้อมกัน

ห้ามใช้ยาเมธิลโดปาร่วมกับยาต้านซึมเศร้ากลุ่ม MAOI เช่น Phenelzine, Tranylcypromine, Isocarboxazid, Moclobemide เพราะเมธิลโดปาอาจทำให้เกิดการหลั่งสาร Catecholamines ที่สะสมไว้ออกมาทีละมาก ๆ จนเกิดภาวะความดันสูงขึ้น ซึ่งกลุ่มยา MAOI ก็มีผลข้างเคียงที่ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นอยู่แล้ว เมื่อให้ร่วมกันจึงอาจเกิดภาวะความดันสูงวิกฤต (Hypertensive crisis) จนเสียชีวิตได้

บรรณานุกรม

  1. Myhre E, Rugstad HE, Hansen T. 1982. "Clinical pharmacokinetics of methyldopa." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Clin Pharmacokinet. 1982 May-Jun;7(3):221-33. (15 เมษายน 2561).
  2. "Methyldopa Rx." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา DrugLib.com. (15 เมษายน 2561).
  3. ศุภนิมิต ทีฆชุณหเถียร. "Sympatholytic Drugs." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. (25 มีนาคม 2561).