กลุ่มกรดไขมันโอเมกา-3 (Omega-3 fatty acids)

กรดไขมันคือสารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่ต่อกันเป็นโซ่ยาว และมีหมู่ -COOH (carboxylic group) อยู่ที่ปลายข้างหนึ่งของโมเลกุล การนับตำแหน่งคาร์บอนจะนับจากคาร์บอนในหมู่ -COOH เป็น C1 ตัวถัดไปเป็น C2, 3, 4, ตามลำดับ ส่วนคาร์บอนตัวแรกที่ถัดจากหมู่ -COOH จะเรียกตามอักษรกรีกว่า อัลฟา (α) และนับต่อไปเป็นเบตา (β), แกมมา (γ) ... จนถึงตัวสุดท้ายคือโอเมกา (ω) ความจริงอักษรกรีกมี 24 ตัว ตัวที่ 24 ถึงจะมีชื่อว่าโอเมกา แต่ในกรณีกรดไขมันจะเรียกตัวสุดท้ายว่าโอเมกาหมดไม่ว่าสายนั้นจะมีคาร์บอนยาวกี่ตัวก็ตาม ส่วนการนับตำแหน่งของพันธะคู่จะนับจากตัวสุดท้ายเข้ามา กรดไขมันโอเมกา-3 คือกรดไขมันที่มีพันธะคู่ตำแหน่งแรกอยู่ที่คาร์บอนตัวที่ 3 นับจากคาร์บอนตัวท้ายสุด กรดไขมันโอเมกา-6 คือกรดไขมันที่มีพันธะคู่ตำแหน่งแรกอยู่ที่คาร์บอนตัวที่ 6 นับจากคาร์บอนตัวท้ายสุด เป็นต้น

กรดไขมันสายยาว ๆ อาจเขียนเป็นรหัสตัวเลขได้ดังรูป ตัวเลข 18:4 คือ จำนวนคาร์บอนทั้งหมด:จำนวนพันธะคู่ ส่วน n-3 หรือบางแห่งเขียนเป็น ω-3 คือ ตำแหน่งของพันธะคู่ที่พบครั้งแรก รูปข้างบนคือกรดไขมันสเตียริโดนิก

กรดไขมันอิ่มตัว (saturated fatty acid) คือ กรดไขมันที่มีแต่พันธะเดี่ยว (single bond) ในสายคาร์บอนที่ต่อกัน จึงช่วยเพิ่มความแข็งแรง (rigidity) ให้กับเซลล์ ไขมันชนิดนี้มักเป็นของแข็งหรือกึ่งเหลวกึ่งแข็งที่อุณหภูมิห้อง พบในเนื้อสัตว์ หนังสัตว์ ไข่แดง เนย นม น้ำมันหมู น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว ถ้ารับประทานเข้าไปมากแล้วไม่ถูกใช้เป็นพลังงานก็มีแนวโน้มจะตกตะกอนในหลอดเลือด เกิดความเสี่ยงที่หลอดเลือดจะอุดตัน

กรดไขมันไม่อิ่มตัว (unsaturated fatty acid) คือกรดไขมันที่มีทั้งพันธะเดี่ยวและพันธะคู่ (double bond) ในสายคาร์บอนที่ต่อกัน จึงช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับเซลล์ ไขมันชนิดนี้มักเป็นของเหลวที่อุณหภูมิห้อง แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ

  1. กรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว (monounsaturated fatty acid, MUFAs) จะมีพันธะคู่เพียงตำแหน่งเดียวในสาย ตัวอย่างเช่น กรดไขมันโอเลอิก (oleic acid) พบในน้ำมันมะกอก (olive oil) กรดไขมันประเภทนี้ช่วยลดระดับ LDL cholesterol ในเลือดได้ แต่ยังไม่พบประโยชน์ทางการแพทย์อย่างอื่น
  2. กรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน (polyunsaturated fatty acid, PUFAs) จะมีพันธะคู่หลายตำแหน่ง ตำแหน่งแรกของพันธะคู่จะช่วยบอกถึงประโยชน์ของมันดังรูปข้างล่าง

ที่มาและการออกฤทธิ์:

α-linolenic acid (18:3, n-3; ALA) เป็นกรดไขมันจำเป็น (essential fatty acid) ที่ร่างกายต้องใช้แต่สร้างเองไม่ได้ ต้องได้รับจากอาหารเท่านั้น ส่วนตัวอื่นร่างกายสามารถสร้างได้จาก ALA โอเมกา-3 ที่สำคัญสำหรับร่างกายคนเราอีก 2 ตัวคือ docosahexaenoic acid (22:6, n-3; DHA) และ eicosapentaenoic acid (20:5, n-3; EPA) แม้จะสร้างได้แต่บริษัทยาก็มักเอา DHA และ EPA มารวมกันอยู่ในรูปอาหารเสริมที่เรียกว่าน้ำมันปลา (fish oil)

กรดไขมันโอเมกา-3 ลดการสร้างไตรกลีเซอไรด์โดยยับยั้งการแสดงออกของยีนและเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับเมตาบอลิซึมของไขมัน คล้ายกลุ่มยาไฟเบรตแต่อ่อนกว่า ขณะเดียวกันก็ลดการอักเสบ ช่วยขยายหลอดเลือดทำให้ความดันโลหิตลดลง ลดการเกาะกลุ่มกันของเกร็ดเลือด เพิ่มความยืดหยุ่นของเม็ดเลือดแดง เพิ่มการทำงานของไมโตคอนเดรียทำให้หัวใจได้รับออกซิเจนมากขึ้น และลดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ

ยังไม่มีรายงานการศึกษาข้อมูลทางจลนศาสตร์ของยากลุ่มนี้

การใช้ยาที่เหมาะสม

  1. ใช้ลดระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือด (กรณีที่สูงไม่เกิน 500 mg%)
  2. ขนาดยาที่ใช้คือ EPA+DHA ± ALA 2-4 กรัม/วัน

  3. ใช้บำรุงหัวใจในผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด
  4. ขนาดยาที่ใช้คือ EPA+DHA ± ALA 1 กรัม/วัน

  5. ใช้เสริมอาหารในผู้ที่กำลังเจริญเติบโต
  6. ขนาดยาที่ใช้ในเด็กคือ EPA+DHA 50-100 mg/วัน
    ส่วนในหญิงมีครรภ์และช่วงให้นมบุตรใช้ขนาด DHA 200 mg/วัน

** ส่วนใหญ่ในน้ำมันปลาตามท้องตลาดจะมี EPA+DHA ± ALA รวมกันไม่ถึง 50% ของน้ำหนักเม็ด

ผลข้างเคียง พิษของยา และข้อควรระวัง

ยากลุ่มนี้ไม่ถือเป็นอาหารเสริมที่ปลอดภัยเสียทีเดียว เพราะยาทำให้การแข็งตัวของเลือดใช้เวลานานขึ้น ลดระดับ fibrinogen ในเลือด เพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะเลือดออกโดยเฉพาะผู้ที่รับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือดร่วมด้วย

ยาเพิ่มระดับเอนไซม์ตับเล็กน้อย ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่ม นอกจากนั้นอาจทำให้ท้องอืด อาหารไม่ย่อย หรือมีท้องเสีย

ผู้ที่จะผ่าตัดหรือกำลังจะคลอดบุตรควรหยุดยาล่วงหน้าประมาณ 10 วัน ผู้ที่แพ้อาหารทะเลอาจแพ้น้ำมันปลาด้วย

ปฏิกิริยาระหว่างยา

การใช้ยา Warfarin ร่วมกับยากลุ่มโอเมกา-3 อาจทำให้เลือดออกง่ายขึ้น ควรติดตามค่า INR และปรับขนาดยา Warfarin ใหม่

บรรณานุกรม

  1. "Omega-3 Fatty Acids." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา NIH. (30 กันยายน 2561).
  2. "Omega-3 for Children and Pregnant Women." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Healthline. (30 กันยายน 2561).
  3. Kathleen Richardson. 2009. "Omega-3 Fatty Acid Recommendations ." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา WRHA. (30 กันยายน 2561).