ยาพาราเซตามอล (Paracetamol)
ยาพาราเซตามอล หรืออะเซตามีโนเฟน (Acetaminophen) ถ้าเรียกตามแบบอเมริกัน เป็นยาที่คนไทยเรารู้จักกันดี เพราะออกโฆษณาทางทีวีอยู่บ่อยครั้ง ชื่อเต็มคือ N-acetyl-para-acetylaminophenol เป็นยาแก้ปวดและลดไข้ที่ไม่มีฤทธิ์ช่วยต้านการอักเสบ จัดเป็นยาสามัญประจำบ้านที่ค่อนข้างปลอดภัยหากไม่รับประทานเกินขนาด
ที่มาและการออกฤทธิ์:
ยาพาราเซตามอลสังเคราะห์มาจากสารตั้งต้นคือ phenol แล้วมาเติมไนโตรเจน แล้วผ่านการ reduce อีกครั้งจนได้เป็นยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ cyclooxygenase ที่ก่อให้เกิดสาร prostaglandin E2 ซึ่งเป็นสารเคมีตัวสำคัญที่ทำให้เกิดไข้และความรู้สึกปวด
ยาพาราเซตามอลยังยับยั้งการสร้าง Substance P สารเคมีที่กระตุ้นอาการปวด และเมตะบอไลต์ของยาก็ช่วยเพิ่มสารจำพวก cannabinoids ในร่างกาย ซึ่งจะไปเพิ่มระดับของ Serotonin สารเคมีที่ลดไข้และอาการเจ็บปวด ทำให้ยาสามารถบรรเทาอาการปวดพื้นฐานได้ระดับหนึ่ง (ดูรูปกลไกการเกิดความปวดได้ ที่นี่)
ยาพาราเซตามอลถูกร่างกายกำจัดที่ตับ แต่เมตะบอไลต์ของมันตัวหนึ่งที่ชื่อ NAPQI มีพิษต่อตับ โดยจะไปทำลายเนื้อเยื่อตับเกิดเป็นตับอักเสบ ยิ่งผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำยิ่งจะมีแนวโน้มจะเป็นเร็วและเป็นมากขึ้น โดยอาจถึงขั้นตับวายเฉียบพลัน
การใช้ยาที่เหมาะสม
- ใช้เพื่อลดไข้
เนื่องจากยาไม่มีฤทธิ์ระคายกระเพาะเหมือนยาตัวอื่นในกลุ่มที่ไม่เสพติด จึงเหมาะที่จะใช้เป็นยาลดไข้เป็นอย่างยิ่ง เพราะสามารถรับประทานเวลาใดก็ได้ ไม่ต้องมีอาหารรองท้องก่อนเสมอ อย่างไรก็ตาม ควรรีบหาสาเหตุของไข้พร้อมกันไปด้วยในระหว่างที่เริ่มใช้ยา ขนาดยาที่ใช้ในการลดไข้คือ
- ในผู้ใหญ่: รับประทาน 1 เม็ด (500 มิลลิกรัม) เวลามีไข้ ซ้ำได้ทุก 4-6 ชั่วโมงถ้ายังมีไข้อยู่ ขนาดยาสูงสุดต่อวันไม่ควรเกิน 2,600 มิลลิกรัม (5 เม็ด)
- ในเด็ก: ให้ขนาด 10-15 mg/kg ทางปากหรือเหน็บก้นเมื่อมีไข้ ซ้ำได้ทุก 4-6 ชั่วโมงถ้ายังมีไข้อยู่ (ในเด็กทารกที่อายุน้อยกว่า 1 เดือน ควรให้ห่างทุก 6-8 ชั่วโมง) ในหนึ่งวันไม่ควรให้เกิน 5 ครั้ง
ฤทธิ์ลดไข้ของยาพาราเซตามอลมีเพดานการออกฤทธิ์ คือแม้เพิ่มขนาดยาก็ไม่สามารถจะลดไข้ได้มากขึ้นหรือยาวนานขึ้น แต่กลับจะมีพิษต่อตับมากขึ้น โรคบางโรคอาจมีลักษณะ "ไข้ลอย" คือ ไข้สูงตลอด ไม่ลดด้วยยาลดไข้ชนิดใด เช่น โรคไข้เลือดออก ไข้จากการติดเชื้อที่รุนแรง ไข้จากโรคทางสมอง ไข้จากการแพ้ยา ฯลฯ ในกรณีเช่นนี้ควรใช้การเช็ดตัวเป็นวิธีหลักในการลดไข้ แทนที่จะตะบันให้ยาลดไข้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อทราบสาเหตุและรักษาที่สาเหตุได้แล้วไข้จึงจะลงเอง
- ใช้เพื่อบรรเทาอาการปวด
ฤทธิ์แก้ปวดของยาพาราเซตามอลอ่อนกว่ายาแก้ปวดทุกตัว โดยมันสามารถบรรเทาอาการปวดที่ไม่รุนแรงเท่านั้น เช่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดจากข้อเสื่อม ซึ่งความจริงอาการเหล่านี้เมื่อได้พักก็จะดีขึ้นอยู่แล้ว อาการปวดที่รุนแรง เช่น ปวดจากแผลผ่าตัดใหญ่ ปวดจากมะเร็ง ปวดจากการอักเสบ หรือแม้กระทั่งปวดไมเกรน ยาพาราเซตามอลเพียงขนานเดียวไม่สามารถรักษาได้แม้จะใช้ขนาดสูงเพียงใดก็ตาม
ขนาดยาที่ใช้บรรเทาอาการปวดเบื้องต้นในผู้ใหญ่คือ รับประทานครั้งละ 1-2 เม็ด ทุก 4-6 ชั่วโมง แต่ในหนึ่งวันไม่ควรเกิน 5 เม็ด และไม่ควรรับประทานติดต่อกันนานเกิน 5 วัน ยิ่งในผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำไม่ควรรับประทานเกินวันละ 4 เม็ด (2,000 มิลลิกรัม)
ขนาดยาที่ใช้บรรเทาอาการปวดในเด็กจะใช้ขนาดเดียวกับที่ใช้ลดไข้ ปกติอาการปวดในเด็กมักมีสาเหตุเฉพาะโรค ไม่ได้ปวดจากกล้ามเนื้อหรือความเสื่อมเหมือนในผู้ใหญ่ ควรที่จะรักษาที่สาเหตุจะเหมาะสมกว่า
ผลข้างเคียง พิษของยา และข้อควรระวัง
นอกจากพิษต่อตับแล้ว ยาพาราเซตามอลไม่ค่อยพบผลข้างเคียงที่รุนแรง อาการแพ้ยาเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หน้าบวม แน่นอก หายใจติดขัด หรือหายใจลำบาก ก็พบน้อย ถ้าเกิดก็มักจะเกิดภายใน 10-20 นาทีหลังกินยา ถ้ามีอาการเหล่านี้ควรกลับไปพบแพทย์พร้อมกับยาที่เหลือทั้งหมด
พิษต่อตับของยาพาราเซตามอลมักเกิดประมาณวันที่ 3-7 หลังทานยาเป็นประจำ โดยจะมีอาการคลื่นไส้อาเจียนมาก เบื่ออาหาร ปวดท้องบริเวณชายโครงขวา ต่อมาจะเริ่มมีตาเหลือง ปัสสาวะสีเข้ม อุจจาระสีซีด ถ้ามีอาการเหล่านี้ต้องหยุดยาทันที หากเป็นมากอาจซึมถึงขั้นไม่รู้สึกตัว
ยาบางชนิดอาจทำให้พิษต่อตับของยาพาราเซตามอลเพิ่มขึ้นเช่น ยา Rifampin ที่ใช้รักษาวัณโรค, ยารักษาโรคลมชักแทบทุกตัว เช่น Phenytoin Carbamazepine และ Phenobarbital ขณะเดียวกันยาพาราเซตามอลก็อาจไปเพิ่มฤทธิ์ของยาบางชนิดที่ใช้ร่วมกัน เช่น ยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด Warfarin ทำให้เลือดออกได้ง่ายขึ้น ผู้ที่ต้องใช้ยาเหล่านี้รักษาโรคที่เป็นอยู่เดิมต้องคอยระวังเมื่อจะรับประทานยาพาราเซตามอลเพื่อลดไข้หรือแก้ปวดเพิ่ม
หลายบริษัทยาผลิตยาผสมระหว่างยาพาราเซตามอลกับยาตัวอื่นเพื่อความสะดวกในการใช้ เช่น ผสมกับยาลดน้ำมูกเพื่อรักษาหวัด ผสมกับยาโคดิอีนหรือยาทรามาดอลเพื่อให้แก้ปวดได้ดีขึ้น เป็นต้น ยาผสมมักมีปริมาณของยาแต่ละตัวน้อยกว่าปริมาณยาที่ใช้เดี่ยว ๆ เพราะยาแต่ละตัวเสริมฤทธิ์กันอยู่แล้ว ยาผสมพาราฯ ไม่ควรใช้ร่วมกับยาพาราฯ ชนิดเดี่ยว เพราะขนาดยาอาจจะเกินไป ในการใช้ยาทุกครั้งควรอ่านส่วนประกอบและปริมาณของยาในหนึ่งหน่วยที่รับประทานบนบรรจุภัณฑ์ทุกครั้ง และจะปลอดภัยยิ่งขึ้นถ้าอ่านฉลากยาทั้งหมดก่อนใช้