ยาพราโซซิน (Prazosin)

ยาพราโซซินถูกบรรจุไว้ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ใช้รักษาภาวะต่อมลูกหมากโตเป็นหลัก ใช้คุมความดันโลหิตสูงเป็นรอง หากผู้ป่วยมีทั้งสองภาวะยาพราโซซินก็เป็นยาที่เหมาะที่จะใช้เสริมร่วมกับยาลดความดันโลหิตกลุ่มอื่น ๆ

ผลข้างเคียงที่สำคัญของยาพราโซซินคือความดันต่ำเวลาเปลี่ยนท่า (postural hypotension) ซึ่งเป็นผลจากการที่มันขยายหลอดเลือดส่วนปลาย

ที่มาและการออกฤทธิ์:

ยาพราโซซินเป็น selective α1 blocker ออกฤทธิ์ยังยั้งการหดตัวของกล้ามเนื้อเรียบที่ผนังหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำ รวมทั้งกระเพาะปัสสาวะ ทำให้กล้ามเนื้อเหล่านี้คลายตัว ความดันโลหิตจึงลดลง และกระเพาะปัสสาวะรับน้ำปัสสาวะได้มากขึ้น ยายังยับยั้งตัวรับ α1 ที่สมอง จึงมีผู้ใช้บำบัดอาการของโรคจิตประสาทชนิด Post traumatic stress disorder ด้วย

การที่ยาไม่ได้ยับยั้งตัวรับ α2 ทำให้ negative feedback ของ Norepinephrine ยังทำงานอยู่ จึงไม่เกิด reflex tachycardia ที่หัวใจ จากการศึกษาไม่พบว่ายากดการบีบตัวหรือการเต้นของหัวใจ ยาไม่เพิ่มระดับ renin ในเลือด และไม่มีผลกับเลือดที่เข้า-ออกไต

ยาพราโซซินดูดซึมจากทางเดินอาหารเข้ากระแสเลือดได้ประมาณ 60% เริ่มเห็นฤทธิ์ลดความดันโลหิตใน 2 ชั่วโมงหลังกิน ยาจับกับโปรตีนในเลือดถึงร้อยละ 97 จึงทำให้ยาออกฤทธิ์ได้นานขึ้น (10-14 ชั่วโมง) เมื่อเทียบกับระยะครึ่งชีวิตเพียง 2-3 ชั่วโมง ยาพราโซซินถูกกำจัดที่ตับเป็นหลัก แล้วจะถูกขับออกทางน้ำดีปนมากับอุจจาระ

การใช้ยาที่เหมาะสม

ยาพราโซซินไม่มีรูปฉีด ยาเม็ดมีขนาด 1 และ 2 มิลลิกรัม

  1. ใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง
  2. ยากลุ่มนี้ไม่เป็นยาตัวแรกในการเริ่มรักษาตามแนวทางมาตรฐาน JNC-7 แต่เหมาะกับชายสูงอายุที่มีภาวะต่อมลูกหมากโตด้วย การใช้ยาพราโซซินเพื่อรักษาโรคความดันโลหิตสูงตามหลักคือ รับประทานครั้งละ 1-3 มิลลิกรัม วันละ 2-3 ครั้ง เพราะยามีฤทธิ์ไม่ตลอด 24 ชั่วโมง ผลข้างเคียงที่พบบ่อยคืออาการวูบเมื่อลุกขึ้น แต่พอรับประทานนานไปอาการเหล่านี้จะลดน้อยลง

    ขนาดยาในเด็กคือ 0.05-0.1 mg/kg/day แบ่งให้ทุก 8 ชั่วโมง สูงสุดไม่เกิน 20 mg/day ในเด็กมักทนอาการวูบเมื่อเปลี่ยนท่าได้ดีกว่าผู้ใหญ่

  3. ใช้บรรเทาอาการปัสสาวะลำบาก/บ่อย จากภาวะต่อมลูกหมากโต
  4. ขนาดยาพราโซซินที่ใช้ในกรณีนี้คือ รับประทานครั้งละ 0.5-2 มิลลิกรัม ทุก 12 ชั่วโมง ผู้ที่ไม่มีภาวะความดันโลหิตสูงต้องระวังความดันต่ำมากหลังกินยาใหม่ ๆ

  5. ใช้ในโรคเรย์โนด์ (Raynaud's disease)
  6. ยาพราโซซินสามารถขยายหลอดเลือดแดงส่วนปลายและลดภาวะหนังแข็ง ซึ่งเป็นผลจากการขาดเลือดเรื้อรังได้ ขนาดยาที่ใช้คือ 0.5-1 mg วันละครั้ง ก่อนนอน

  7. ใช้ในภาวะ Post Traumatic Stress Disorder (PTSD) ที่รุนแรง
  8. ในช่วงทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 21 มีแพทย์หลายท่านได้ทำการศึกษาการใช้ Prazocin ขนาด 1-2 mg ก่อนนอน ในภาวะที่ผู้ป่วยได้รับความกระทบกระเทือนใจอย่างรุนแรง พบว่าสามารถบรรเทาอาการกระสับกระส่าย นอนไม่หลับ และฝันร้ายได้ [1], [2], [3] แต่ในปัจจุบันมีกลุ่มยากดจิตประสาทที่ค่อนข้างปลอดภัยกว่ายา Prazocin แพทย์จึงลดการใช้ยาในกรณีนี้ลง

ผลข้างเคียง พิษของยา และข้อควรระวัง

ผลข้างเคียงที่พบบ่อยที่สุดคือ ความดันโลหิตต่ำขณะเปลี่ยนท่า (orthostatic/postural hypotension) มักเป็นกับการใช้ยาช่วงแรก ผู้ป่วยอาจมีอาการวิงเวียน หน้ามืดเป็นลม แนะนำนอนลงเมื่อมีอาการเวียนศีรษะ อ่อนล้า หรือเหงื่อแตก และให้นอนนิ่ง ๆ ต่อไปจนกว่าอาการเหล่านี้จะหายไป

การใช้ยาพราโซซินร่วมกับยาในกลุ่ม Phosphodiesterase-5 inhibitor (PDE5I) เช่น ไวอะกร้า (Sildenafil, Viagra®) อาจเสริมภาวะความดันเลือดต่ำของยาทั้งสอง จึงควรเริ่มใช้ PDE5I ในขนาดต่ำสุดเมื่อใช้ยาพราโซซินเป็นประจำ

ยากลุ่ม Selective α1-blockers อาจทำให้ม่านตาและอวัยวะเพศชายผิดปกติแตกต่างกันในแต่ละคน ที่มีรายงานคือ ภาวะม่านตาอ่อนขณะผ่าตัดตา (Intraoperative Floppy Iris Syndrome, IFIS) แต่ไม่จำเป็นต้องหยุดยากลุ่มนี้ก่อนผ่าตัดตา, ภาวะอวัยวะเพศชายแข็งตัวเป็นเวลานานหลายชั่วโมงติดต่อกัน (Priapism) หรือภาวะอวัยวะเพศไม่แข็งตัว หรือแข็งแต่หลั่งอสุจิกลับเข้ากระเพาะปัสสาวะแทน (retrograde ejaculation)

ผลข้างเคียงอื่น ๆ ที่พบได้ คือ อาการบวม มีไข้ ออกผื่น คัดจมูก ปวดท้อง ท้องเสีย อาเจียน (เพราะยาทำให้กล้ามเนื้อเรียบของทางเดินอาหารหดตัว) ตับอ่อนอักเสบ ปัสสาวะไม่ออก (เพราะกระเพาะปัสสาวะคลายตัวมากเกินไป)

บรรณานุกรม

  1. Peskind, et al. 2003. "Prazosin reduces trauma-related nightmares in older men with chronic posttraumatic stress disorder." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Journal of Geriatric Psychiatry and Neurology. 2003 Sep;16(3):165–171. (10 กุมภาพันธ์ 2561).
  2. Taylor, et al. 2002. "The alpha1-adrenergic antagonist prazosin improves sleep and nightmares in civilian trauma posttraumatic stress disorder." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Journal of Clinical Psychopharmacology. 2002 Feb;22(1):82-5. (10 กุมภาพันธ์ 2561).
  3. Raskind, et al. 2007. "A Parallel Group Placebo Controlled Study of Prazosin for Trauma Nightmares and Sleep Disturbance in Combat Veterans with Post-Traumatic Stress Disorder." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Biological Psychiatry. 2007 Apr;61(8): 928–934. (10 กุมภาพันธ์ 2561).