ยาโปรเบนีสิด (Probenecid)

โปรเบนีสิดเป็นยาที่เพิ่มการขับกรดยูริกทิ้งทางปัสสาวะ ปัจจุบันลดความนิยมลงมากเพราะยาเพิ่มโอกาสเกิดนิ่วชนิดยูเรตที่ไต และมีผลเพิ่มระดับยาในเลือดหลายตัวที่ใช้ร่วมกัน โรงพยาบาลหลายแห่งไม่ได้นำยานี้เข้าในโรงพยาบาลแล้ว

ที่มาและการออกฤทธิ์:

โปรเบนีสิดเป็นยาที่มีกำเนิดในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหายาที่ลดการขับเพนิซิลลินทิ้ง ระดับยาเพนิซิลลินจะได้คงอยู่ในเลือดนานขึ้นโดยไม่ต้องให้ซ้ำ เพราะมีความขาดแคลนยาในช่วงสงคราม แต่หลังจากนั้นพบว่ายาโปรเบนีสิดเพิ่มการขับกรดยูริกทิ้งทางปัสสาวะด้วย จึงได้รับอนุมัติให้ใช้รักษาโรคเกาต์ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1951

ต่อมาเราพบความจริงว่า ยาโปรเบนีสิดลดกรดยูริกในเลือดได้น้อยกว่ายาอัลโลพูรินอล นั่นก็เป็นเพราะกลไลการออกฤทธิ์ที่แท้จริงของโปรเบนีสิดคือ ยายับยั้ง Organic anion transporter-1 และ -3 (OAT1, OAT3) ที่ท่อไตส่วนต้น จึงทำให้สารที่มีประจุลบไม่ถูกขับออก ซึ่งได้แก่ยาต้านจุลชีพหลายตัว รวมทั้งกรดยูริกด้วย ขณะเดียวกันยาก็ยับยั้ง Urate transporter-1 (URAT1) ทำให้กรดยูริกส่วนที่ผ่านออกมาได้ไม่ถูกดูดซึมกลับ ดังนั้น มันจึงขับกรดยูริกออกได้เฉพาะส่วนที่หลุด OAT มาได้เท่านั้น และยิ่งใช้ไปนานขึ้นก็ยิ่งพบอุบัติการณ์ของนิ่วชนิดยูเรตที่ไต, อุบัติการณ์ของยาที่ใช้ร่วมกันเกินขนาด, อุบัติการณ์ของการแพ้ยา เพราะยาเป็นอนุพันธ์ของกลุ่มยาซัลฟา จึงทำให้ยาโปรเบนีสิดเสื่อมความนิยมลงไปอย่างรวดเร็ว

ยาโปรเบนีสิดละลายได้ดีในไขมัน จึงดูดซึมได้ดีเมื่อรับประทานพร้อมอาหาร ได้ระดับสูงสุดในเลือดภายใน 4 ชั่วโมงหลังรับประทาน ยาจับกับพลาสมาโปรตีนกว่าร้อยละ 85 จึงสามารถเพิ่มระดับยาของยาที่จับกับพลาสมาโปรตีนสูงเช่นเดียวกัน ยาถูกเมตาบอไลต์ที่ตับ ขับออกที่ท่อไตส่วนต้น แล้วถูกดูดซึมกลับเข้ามาใหม่ที่ท่อไตส่วนปลาย ยาจึงมีฤทธิ์อยู่ได้ค่อนข้างนาน ค่าครึ่งชีวิตเพิ่มขึ้นตามขนาดยา ตั้งแต่ 4-12 ชั่วโมง

การใช้ยาที่เหมาะสม

  1. ใช้รักษาโรคเกาต์เรื้อรัง
  2. ปัจจุบันยากลุ่มนี้ (ทุกตัว) จะพิจารณาให้ในผู้ป่วยเหล่านี้

    • ผู้ป่วยที่มีการขับกรดยูริกทางปัสสาวะน้อยกว่า 800 mg/วัน โดยต้องเก็บปัสสาวะ 24 ชั่วโมง แล้วนำมาวัดระดับกรดยูริกก่อน
    • ผู้ที่มีข้อห้ามในการใช้ยาอัลโลพูรินอล หรือแพ้ยาอัลโลพูรินอล
    • ผู้ที่ใช้ยาอัลโลพูรินอลลดกรดยูริกในขนาดเต็มที่แล้วยังไม่ได้ผล (กรณีนี้มักใช้โปรเบนีสิดเป็นยาเสริม)

    และไม่ควรใช้ยากลุ่มนี้ (ทุกตัว) ในผู้ป่วยที่มีปริมาณกรดยูริกในปัสสาวะมากกว่า 1000 mg/วัน เพราะจะเสี่ยงต่อการเกิดนิ่วในทางเดินปัสสาวะ รวมทั้งไม่ควรใช้ในผู้ที่มีนิ่วหรือเคยมีนิ่วในทางเดินปัสสาวะด้วย

    ให้เริ่มขนาด 250 mg วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 1 สัปดาห์ หากไม่แพ้ยาให้เพิ่มเป็น 500 mg วันละ 2 ครั้ง ติดตามระดับกรดยูริกในเลือดอีก 2-4 สัปดาห์ ก่อนปรับเพิ่มทีละ 250 mg จนกว่าระดับกรดยูริกจะเหลือ < 6 mg% หรือ < 5 mg% ในรายที่มีก้อนโทไฟแล้ว ขนาดสูงสุดไม่ควรเกิน 2000 mg/วัน

  3. ใช้เพิ่มระดับยาเพนิซิลลิน
  4. โดยให้ร่วมกับยาเพนิซิลลิน ในขนาด 500 mg วันละ 4 เวลา และหยุดเมื่อหยุดยาเพนิซิลลิน

    ในเด็กอายุ > 2 ปี ให้ขนาด 25-40 mg/kg/วัน สูงสุดไม่เกินวันละ 2000 mg โดยแบ่งให้วันละ 2-4 ครั้ง ตามการให้ยาเพนิซิลลิน

  5. ใช้รักษาโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบ (PID) หรือหนองใน (Gonorrhea)
  6. โดยรับประทานโปรเบนีสิดขนาด 1 กรัม พร้อมกับฉีด Cefoxitin 2 กรัม เข้ากล้าม ครั้งเดียว

ข้อห้ามใช้

ห้ามใช้ยาโปรเบนีสิดในผู้ป่วยต่อไปนี้

  • ผู้ที่มีไตวาย (ClCr < 30 ml/min)
  • เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี
  • ผู้ที่มีประวัติแพ้ยาซัลฟา หรือเคยแพ้ยาโปรเบนีสิดมาก่อน
  • ผู้ที่มี G6PD deficiency

ผลข้างเคียง พิษของยา และข้อควรระวัง

ผลข้างเคียงของยาโปรเบนีสิดที่พบบ่อยคือ อาการปวดเกาต์กำเริบ เนื่องจากมีการเคลื่อนที่ของผลึกยูเรตจากในข้อออกมาในเลือดเมื่อระดับกรดยูริกในเลือดลดต่ำลง แต่จะเป็นในช่วงแรก ๆ ของการใช้ยา เมื่อระดับกรดยูริกทั้งในข้อและในเลือดได้สมดุลกันดีแล้ว อาการเกาต์กำเริบจะลดลง ผลข้างเคียงอื่นที่พบได้แก่ ปัสสาวะบ่อย เกิดนิ่วในทางเดินปัสสาวะ คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ เจ็บเหงือก หน้าแดง ผมร่วง โลหิตจาง

ปฏิกิริยาระหว่างยา

ยาโปรเบนีสิดจัดเป็นยาที่มีปฏิกิริยาระหว่างยาค่อนข้างมาก ควรระวังเมื่อใช้ร่วมกับยาเหล่านี้

  • PAS, Rifampicin, Dapsone, Acyclovir, Gangciclovir, Zidovudine, Penicillin, Meropenem, Zalcitabine, Methotrexate, Lorazepam, Thiopental, Captopril, Diflunisal, Indomethacin, Naproxen, Ketoprofen, Ketorolac, Meclofenamate, ยารักษาเบาหวานกลุ่ม sulfonylurea ทั้งหมด เพราะโปรเบนีสิดลดการขับยาเหล่านี้ออกทางไต ทำให้ฤทธิ์ของยาเหล่านี้สูงขึ้น
  • Aspirin เพราะจะเพิ่มฤทธิ์ของโปรเบนีสิด
  • Nitrofurantoin, ยากลุ่ม Quinolones, D-Penicillamine เพราะโปรเบนีสิดจะลดระดับยาเหล่านี้ในทางเดินปัสสาวะ อาจทำให้การรักษาโรคทางเดินปัสสาวะไม่ได้ผล

บรรณานุกรม

  1. Gary O. Rankin. 2007. "Probenecid." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา ELSEVIER. (5 กุมภาพันธ์ 2565).
  2. "probenecid (Rx)." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Medscape. (5 กุมภาพันธ์ 2565).
  3. "แนวทางเวชปฏิบัติการดูแลรักษาโรคเกาต์ พ.ศ. 2555." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา สมาคมรูมาติสซั่มแห่งประเทศไทย. (13 มกราคม 2565).