ยาโปรบูคอล (Probucol)

โปรบูคอลเป็นยาลดโคเลสเตอรอลอีกตัวหนึ่งที่ไม่เป็นที่นิยมนัก ยาลดทั้ง HDL และ LDL แต่ลด HDL มากกว่า ทำให้อัตราส่วนของ LDL/HDL เพิ่มขึ้น ร่วมกับการมีผลข้างเคียงเรื่องเสี่ยงต่อหัวใจเต้นผิดจังหวะ ในประเทศไทยยังไม่มีรายงานการเกิดผลข้างเคียงและไม่ได้ห้ามจำหน่าย แต่โรงเรียนแพทย์หลายแห่งก็ไม่ได้สั่งเข้า การใช้ยาตัวนี้จึงลดลงมาก

ที่มาและการออกฤทธิ์:

ยาโปรบูคอลเป็นยาที่แปลก และเป็นตัวอย่างหนึ่งของ "ความนิยมนำทางการตัดสินใจ" โปรบูคอลได้รับอนุมัติจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาในปีค.ศ. 1977 ซึ่งเป็นยุคเฟื่องของการรักษาและป้องกันโรคหัวใจขาดเลือด ยาผ่านการอนุมัติทั้งที่ยังไม่ทราบกลไกการออกฤทธิ์แน่ชัด ทราบเพียงแต่ผลของยาทำให้โคเลสเตอรอล LDL และ HDL ในเลือดลดลง

มีผู้พยายามอธิบายกลไกการออกฤทธิ์ของสารต้านอนุมูลอิสระในโปรบูคอลไว้ 2 รูปแบบคือ A. ระงับขบวนการออกซิไดซ์ LDL ซึ่ง OxLDL นี่เองที่เป็นตัวเรียกเม็ดเลือดขาวและแมคโครฟาจมารวมตัว แล้วสะสมในผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดแข็งตัว หรือ B. ยับยั้งขบวนการอักเสบที่ผนังหลอดเลือด จึงลดการหนาตัวของผนังหลอดเลือดในระยะยาว แต่ยังไม่มีคำอธิบายว่าทำไมยาถึงลดโคเลสเตอรอลในเลือด

ในช่วงนั้นก็เริ่มมีความตื่นตัวเรื่องภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะในระหว่างที่หัวใจขาดเลือด และพบว่าภาวะ QT-interval ยาวสามารถเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นรัวผิดจังหวะขึ้นเมื่อใดก็ได้ โชคร้ายที่มีผู้รายงานภาวะ QT-interval ยาวขึ้นจากยาโปรบูคอลลงในวารสารทางการแพทย์ยักษ์ใหญ่ในปีค.ศ. 1981[1] และตั้งแต่นั้นก็มีรายงานตามมาอีกหลายฉบับ แม้ผู้ป่วยเหล่านั้นจะยังไม่เกิดภาวะหัวใจเต้นรัว (เพราะรีบหยุดยาก่อน) และมีการศึกษาต่อมาว่ายาโปรบูคอลสามารถลด Xanthoma ที่ผิวหนังและที่เส้นเอ็นได้เมื่อใช้ติดต่อกันเกิน 2 ปี แต่ FDA ของอเมริกาก็มีหนังสือเตือนถึงบริษัทผู้ผลิตให้คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ใช้เป็นหลัก ประกอบกับแพทย์ไม่อยากเสี่ยงกับผลข้างเคียงเรื่องหัวใจ ความนิยมใช้ยาตัวนี้จึงลดลงไปเรื่อย ๆ จนบริษัทเลิกวางจำหน่ายในสหรัฐไปตั้งแต่ปีค.ศ. 1995 แต่ยายังมีใช้ในอีกหลายประเทศรวมทั้งในยุโรป

ยาโปรบูคอลดูดซึมจากทางเดินอาหารได้น้อย กว่าจะออกฤทธิ์ใช้เวลานานเป็นเดือน ระดับยาในเลือดจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้น และคงที่ในเวลา 3-4 เดือน เมื่อหยุดยา ระดับยาก็ยังคงอยู่ต่อไปอีกนานกว่า 6 เดือน โดยยาจะถูกขับออกอย่างช้า ๆ ทางอุจจาระ เมตาบอลิซึมของยายังไม่ทราบแน่ชัด ทราบแต่ว่ายาสะสมอยู่ในเนื้อเยื่อไขมัน

การใช้ยาที่เหมาะสม

ยาโปรบูคอลควรใช้เป็นทางเลือกหลัง ๆ ในผู้ที่ไม่สามารถใช้ยากลุ่มอื่นได้ และผู้ป่วยควรรับความเสี่ยงเรื่องที่ HDL จะลดลงและอาจมีภาวะหัวใจเต้นรัวผิดจังหวะเกิดขึ้น

ขนาดยาคือ 250-1000 mg/วัน แบ่งให้วันละ 1-4 ครั้ง

ยังไม่มีข้อมูลความปลอดภัยของยานี้ในเด็ก ผู้สูงอายุ หญิงมีครรภ์ และหญิงที่ให้นมบุตร

ผลข้างเคียง พิษของยา และข้อควรระวัง

ผลข้างเคียงที่สำคัญของยาโปรบูคอลคือทำให้ QT interval ยาวขึ้น หากมีความเสี่ยงอื่นร่วม เช่น ภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ ภาวะแมกนีเซียมในเลือดต่ำ หรือมีการใช้ยาที่กดการเต้นของหัวใจดังจะกล่าวในหัวข้อต่อไป ก็จะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจเต้นรัวจากการลัดวงจรได้ง่ายขึ้น ภาวะหัวใจเต้นรัวดังกล่าวสามารถเกิดปุบปับและเสียชีวิตกระทันหันได้

ผลข้างเคียงอื่นพบได้น้อย ได้แก่ การเกิดนิ่วในถุงน้ำดี การมีเม็ดเลือดขาวชนิดอีโอสิโนฟิลสูงขึ้น และในขนาดสูงอาจมีพิษต่อตับ

ปฏิกิริยาระหว่างยา

ไม่ควรใช้ยาโปรบูคอลร่วมกับยา Amiodarone, Bretylium, Disopyramide, Encainide, Flecainide, Lidocaine, Mexiletine, Moricizine, Procainamide, Propafenone, Quinidine, Sotalol, Tocainide, Digoxin, กลุ่มยาต้านตัวรับเบตา, ยาต้านซึมเศร้ากลุ่ม Tricyclic และ Phenothiazines เพราะจะเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจเต้นรัวผิดจังหวะ

การใช้ร่วมกับยา Chenodiol หรือ Ursodiol จะยิ่งลดการดูดซึมของยาโปรบูคอล แม้จะรับประทานต่างเวลากัน

บรรณานุกรม

  1. Ludwig Klein. 1981. "QT-Interval Prolongation Produced by Probucol." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Arch Intern Med. 1981;141(8):1102-1103. (26 กันยายน 2561).
  2. Yamashita S, et. al. 2009. "Where are we with probucol: a new life for an old drug?" [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Atherosclerosis. 2009 Nov;207(1):16-23. (26 กันยายน 2561).
  3. Daniel Steinberg. 2007. "The search for cholesterol-lowering drugs." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา The Cholesterol Wars. (26 กันยายน 2561).
  4. "Probucol (Systemic) ." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Drugs.com. (26 กันยายน 2561).