ยาโพรพราโนลอล (Propranolol)
ความก้าวหน้าและก้าวไกลของการแพทย์สาขาโรคหัวใจ (cardiology) ในปัจจุบัน มาจากการวางรากฐานด้านแนวคิดและการสร้างนวัตกรรมรักษา ของเหล่าผู้ที่มีศาสตร์เกินกว่าความรู้ในยุคสมัยของพวกท่าน หนึ่งในนั้นคือ Professor Sir James W. Black นายแพทย์ชาวสก็อต ผู้ซึ่งปฏิวัติแนวทางการรักษาโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960s
ย้อนไปในปีค.ศ. 1948 เมื่อท่านได้อ่านรายงานการศึกษาเรื่องความแตกต่างในการตอบสนองของหัวใจต่อตัวรับ adrenergic 2 ชนิด ซึ่งถูกปฏิเสธการตีพิมพ์ในชั้นต้น ท่านก็เริ่มมองเห็นแนวทางการจัดการกับโรคหัวใจ จากเดิมที่มุ่งเน้นยาขยายหลอดเลือด มาเป็นการใช้ยาที่ลดการทำงานของหัวใจแทน ท่านใช้เวลาถึง 17 ปีในการศึกษาเรื่องตัวรับของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย และประดิษฐ์ยาโพรพราโนลอลซึ่งเป็นสารแอนติบอดีต่อตัวรับเบตา และเป็นยาต้นแบบของกลุ่มยาต้านตัวรับเบตา (รวมทั้งกลุ่มยาที่จัดการกับตัวรับอื่น ๆ ในร่างกาย) หลังจากที่โพรพราโนลอลออกสู่ตลาดในปีค.ศ. 1965 ก็พบว่ายาช่วยลดอัตราตายจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดลงได้อย่างมีนัยสำคัญ [2] ถือเป็นหนึ่งผลงานที่สำคัญที่สุดด้านการแพทย์และเภสัชกรรมของศตวรรษที่ 20
นอกจากนั้นนายแพทย์แบล็คยังได้คิดค้นยา Cimetidine ซึ่งเป็นสารแอนติบอดีต่อตัวรับ Histamine2 ในกระเพาะ เพื่อยับยั้งการสร้างกรดและรักษาแผลในกระเพาะ ท่านได้รับรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาและการแพทย์ในปีค.ศ. 1988 อันเป็นเครื่องจารึกความอัจฉริยะและเชิดชูผลงานอันเป็นประโยชน์สูงสุดต่อวงการแพทย์จวบจนถึงปัจจุบัน
การทำงานของตัวรับ adrenergic
ระบบประสาทอัตโนมัติแบ่งเป็นซิมพาเธทิก (sympathetic) และพาราซิมพาเธทิก (parasympathetic) ปลายประสาทซิมพาเธทิกหลั่งสารสื่อประสาทที่สำคัญเรียกว่า norepinephrine (N.E.) ไปจับกับตัวรับ adrenergic ชนิดอัลฟา (α) และเบตา (β) ตามอวัยวะต่าง ๆ เพื่อให้อวัยวะนั้น ๆ ทำงาน (ตัวรับ α2 บางส่วนอยู่ที่ปลายประสาทคอยเป็น negative feedback เมื่อ norepinephrine หลั่งออกมาเพียงพอแล้ว) ผลการกระตุ้นตัวรับ adrenergic ชนิดต่าง ๆ ที่อวัยวะปลายทางจะเป็นดังตารางข้างล่าง
อวัยวะ | α1 | α2 | β1 | β2 | β3 |
หัวใจ | - | - | เต้นเร็วขึ้น, บีบตัวแรงขึ้น | - | - |
หลอดเลือด | หดตัว | หดตัว | - | ขยายตัว | - |
หลอดลม | ตีบ | - | - | ขยาย | - |
กระเพาะและลำไส้ | คลายตัว | คลายตัว | - | คลายตัว | - |
หูรูดของทางเดินอาหาร | หดตัว | - | - | - | - |
กระเพาะปัสสาวะ | - | - | - | คลายตัว | - |
หูรูดของกระเพาะปัสสาวะ | หดตัว | - | - | - | - |
มดลูก | หดตัว | - | - | คลายตัว | - |
ท่อนำอสุจิ | หดตัว | - | - | คลายตัว | - |
ม่านตา | หดเล็ก | - | - | - | - |
กล้ามเนื้อปรับเล็นส์ตา | - | - | - | คลายตัว, เล็นส์แบน เหมาะสำหรับการมองไกล | - |
ตับ | สลายไกลโคเจน | - | - | สลายไกลโคเจน | - |
เนื้อเยื่อไขมัน | - | - | - | - | สลายไขมัน, เพิ่มอุณหภูมิร่างกาย |
ตับอ่อน | - | ลดการสร้างอินสุลิน | - | - | - |
ต่อมน้ำลาย | หลั่งน้ำและโพแทสเซียมเพิ่มขึ้น | - | หลั่งน้ำย่อย amylase | - | - |
เซลล์แมสท์ (mast cell) | - | - | - | ลดการหลั่งสาร histamine | - |
ปลายประสาท | - | ลดการหลั่งสาร adrenergic และ cholinergic | - | เพิ่มการหลั่งสาร adrenergic | - |
ยาปิดตัวรับ adrenergic ก็จะทำให้อวัยวะต่าง ๆ ในตารางข้างบนทำงานในทิศทางตรงกันข้าม ในหน้านี้เราจะเน้นฤทธิ์ของยาโพรพราโนลอลที่ตัวรับเบตาเป็นหลัก
ที่มาและการออกฤทธิ์:
ก่อนหน้าที่ยาโพรพราโนลอลจะสำเร็จ นายแพทย์แบล็คได้ลองผลิตยาชื่อ Pronethalol แต่ไม่มีโอกาสได้ทดลองในคนเพราะก่อให้เกิดมะเร็งในหนูทดลอง ท่านคิดว่ามาจาก naphthalene epoxide หลังยาถูกเมตาบอไลต์ แต่พอเปลี่ยนสูตรเพียงเล็กน้อยก็ได้ยาโพรพราโนลอลที่ค่อนข้างปลอดภัย
ยาโพรพราโนลอลออกฤทธิ์ไม่จำเพาะกับอวัยวะใดอวัยวะหนึ่ง โดยยับยั้งตัวรับ β1 ที่หัวใจ ไต และตับอ่อน ทำให้หัวใจเต้นช้าลง บีบตัวเบาลง ไตหลั่งเรนินลดลง และตับอ่อนหลั่งอินซูลินลดลง นอกจากนั้นยังยับยั้งตัวรับ β2 ที่หลอดลม และตับ จึงอาจทำให้หลอดลมตีบ (เกิดอาการหอบในผู้ป่วยบางราย) และยับยั้งการสลายไกลโคเจนในตับ
ยาละลายได้ดีในไขมัน จึงเข้าสมองได้ และเชื่อว่ายาน่าจะยับยั้งตัวรับซีโรโทนินด้วย จึงป้องกันการกำเริบของไมเกรนได้ ยายังมี membrane stabilizing activity (คือปิดช่องโซเดียมที่หัวใจ สมอง และกล้ามเนื้อ) ทำให้การนำไฟฟ้าที่หัวใจ สมอง และกล้ามเนื้อลดลง จึงคุมการเต้นผิดจังหวะของหัวใจ การสั่นของกล้ามเนื้อ และอาการตื่นเต้น กลัว ประหม่า ในนักดนตรี/นักแสดง/นักพูด เมื่อจะขึ้นเวทีได้ [3] (แต่การใช้ยาในกรณีหลังสุดนี้ยังไม่ได้รับอนุมัติจากอ.ย.)
ยาโพรพราโนลอลแบบรับประทานดูดซึมได้ 100% แต่มีระยะเวลาการออกฤทธิ์สั้นเพียง 4-6 ชั่วโมง จึงต้องให้ยาวันละ 3-4 ครั้งในช่วงแรก หลังดูดซึมจะถูกตับเปลี่ยนยาไปเป็น 4-hydroxypropranolol (first-pass metabolism) ซึ่งมีระยะครึ่งชีวิตที่ยาวขึ้น อีกทั้งยาจับกับพลาสมาโปรตีนถึง 90% เมื่อใช้ไปนาน ๆ จึงอาจลดจากกินวันละ 3-4 ครั้ง เป็น 2-3 ครั้งได้ ยาโพรพราโนลอลแบบฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำออกฤทธิ์ภายใน 2 นาที จะใช้เฉพาะกรณีรักษาหัวใจเต้นรัวที่รุนแรงเท่านั้น
การใช้ยาที่เหมาะสม
ยาโพรพราโนลอลอยู่ในบัญชียาจำเป็นของระบบสาธารณสุขทั่วโลก ในต่างประเทศมีการผลิตยาโพรพราโนลอลที่ออกฤทธิ์ได้นานขึ้น (Extended-Release Capsule) เพื่อความสะดวกในการรับประทานวันละครั้งในโรคความดันโลหิตสูง แต่ในประเทศไทยยังไม่มีชนิด Extended-Release (มีแต่ยาปิดตัวรับเบตารุ่นถัดมาที่รับประทานเพียงวันละครั้ง) ดังนั้นยาโพรพราโนลอลในประเทศไทยจึงเหมาะที่จะใช้กับโรคหรือภาวะที่มีอาการเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ (เช่น 2 ภาวะแรกข้างล่างนี้) หรือในภาวะเรื้อรังที่แพทย์เห็นว่าต้องการขนาดยาปิดตัวรับเบตาเพียงเล็กน้อย
- ใช้บรรเทาอาการสั่น (มือสั่น/ใจสั่น)
ผู้ป่วยที่มีอาการมือสั่นหรือใจสั่นจากการตื่นเวที, ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ, พิษสุรา, หรือหาสาเหตุไม่ได้ อาจใช้ยาโพรพราโนลอลขนาด 10 mg รับประทานวันละ 2-3 ครั้ง ระหว่างที่รอตรวจหาสาเหตุหรือรักษาต้นเหตุ เมื่อโรคต้นเหตุแก้ไขได้แล้วก็ค่อย ๆ ลดขนาด และหยุดยาในที่สุด
- ใช้ป้องกันการกำเริบของโรคไมเกรนที่เป็นบ่อยหรือรุนแรง
ยาป้องกันโรคไมเกรนมีหลายตัว แต่ที่สามารถใช้ในเด็กได้มีแต่ยาโพรพราโนลอลชนิดเดียว ขนาดที่ใช้คือ 160-240 mg/วัน ในผู้ใหญ่ (ในเด็กที่น้ำหนักต่ำกว่า 40 kg ใช้ 80-160 mg/วัน) และควรเริ่มที่ขนาดครึ่งหนึ่งก่อน เพราะยาอาจทำให้ความดันลดลงมาก
- ใช้รักษาภาวะตับแข็งที่มีท้องมาน (น้ำในท้อง) แล้ว
ยาจะช่วยลดแรงดันเลือดในหลอดเลือดดำพอร์ทัล และยับยั้งการหลั่งเรนิน ซึ่งจะช่วยลดการเกิดน้ำในช่องท้องและลดความเสี่ยงของการมีเลือดออกในทางเดินอาหาร [4], [5]
- ใช้รักษาภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ (Cardiac tachyarrhythmias)
ยารักษาภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะมีหลายกลุ่ม ขึ้นกับชนิดของการเต้นผิดจังหวะ ยาโพรพราโนลอลจะเหมาะในกรณีที่เป็น Ventricular arrhythmia และ Atrial fibrillation นอกจากนั้นยังใช้ควบคุมการเต้นของหัวใจในภาวะไทรอยด์เป็นพิษ รวมทั้งก่อนผ่าตัดเนื้องอกของต่อมหมวกไตชนิด Pheochromocytoma
- ใช้รักษาโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (Acute myocardial infarction) ที่มีหัวใจเต้นเร็ว
การควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจในช่วงแรกของภาวะนี้ถือเป็นหัวใจสำคัญของการรักษา ยาที่เหมาะสมควรจะลดการเต้นของหัวใจมากกว่าลดความดันโลหิต และไม่ควรมีฤทธิ์ยาว เพราะเมื่อปัญหาหลอดเลือดได้รับการแก้ไข การเต้นของหัวใจก็จะดีขึ้นเอง แพทย์บางท่านเลือกใช้โพรพราโนลอลขนาด 20-40 mg วันละ 4 ครั้ง ช่วง 2-3 วันแรก ก่อนที่จะปรับเป็นยาตัวอื่นหรือกลุ่มอื่นที่ออกฤทธิ์นานขึ้น
- ใช้รักษาโรคหลอดเลือดหัวใจที่มีอาการแน่นอกเรื้อรัง (ร่วมกับยาอื่น)
ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจที่เหมาะที่จะใช้ยานี้คือ ผู้ที่มีภาวะแน่นอกเรื้อรังที่เอกซเรย์หลอดเลือดหัวใจแล้วยังไม่จำเป็นต้องรักษาด้วยวิธีผ่าตัดหรือขยายหลอดเลือด (chronic stable angina), และผู้ที่มีอาการเจ็บอกจากหลอดเลือดหัวใจหดตัวเป็นพัก ๆ (vasospastic angina)
ขนาดยาโพรพราโนลอลที่ใช้ในภาวะเหล่านี้คือ 80-160 mg แต่ในประเทศไทยแพทย์นิยมใช้กลุ่มยาปิดช่องแคลเซียมรักษา chronic stable angina มากกว่ากลุ่มยาปิดตัวรับเบตา
- ใช้รักษาโรค Hypertrophic Subaortic stenosis
โรคนี้มักเป็นในเด็กวัยรุ่น มีอาการคล้าย angina ในผู้ใหญ่ เกิดจากผนังหัวใจห้องล่างซ้ายหนาตัวบริเวณทางออก ทำให้หัวใจรับเลือดและฉีดเลือดออกไปได้ไม่พอเวลาที่เด็กออกกำลัง การรักษาจริง ๆ คือการผ่าตัด แต่ในรายที่ยังไม่เหมาะที่จะผ่าก็อาจใช้ยาโพรพราโนลอลช่วยไปก่อน ขนาดที่ใช้คือ 80-160 mg/วัน
- ใช้ลดความดันโลหิตในโรคความดันโลหิตสูงในผู้ใหญ่
ในต่างประเทศจะมีโพรพราโนลอลแบบ Extended-Release Capsule ขนาด 60, 80, 120, และ 160 mg สำหรับรับประทานวันละครั้ง โดยทั่วไปจะเริ่มที่ขนาด 80 mg ในผู้ใหญ่ และจะคุมความดันได้ที่ขนาด 120-160 mg/วัน
ในประเทศไทยยังไม่มีบริษัทใดผลิตหรือนำเข้าชนิด Extended-Release Capsule นี้ จึงไม่นิยมใช้ชนิดธรรมดารักษาโรคความดันโลหิตสูง เพราะต้องรับประทานวันละ 2-3 ครั้ง และสมาคมแพทย์โรคหัวใจไม่แนะนำให้ใช้ยากลุ่มปิดตัวรับเบตาเป็นยาขนานแรกในการรักษาโรคความดันโลหิตสูง เพราะยากลุ่มอื่นมีประสิทธิผลดีกว่า
ผลข้างเคียง พิษของยา และข้อควรระวัง
การวิจัยพิสูจน์ประสิทธิภาพยา แต่กาลเวลาพิสูจน์ความปลอดภัยของยา ยาที่ถูกใช้มากว่าครึ่งศตวรรษโดยยังไม่สูญหายไปไหนแสดงว่าตลอดเวลาที่ผ่านมายังไม่มีผลข้างเคียงที่รุนแรงจนถูกตัดออกจากบัญชียาจำเป็น ผลข้างเคียงของโพรพราโนลอลที่สำคัญเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว เพราะยาออกฤทธิ์ปิดตัวรับ β2 ที่หลอดลมด้วย จึงอาจทำให้มีอาการหอบ/ไอในผู้ที่เสี่ยงต่อภาวะนี้ เช่น คนที่เป็นโรคหอบหืด ถุงลมโป่งพอง มีภาวะหัวใจโต หรือมีหัวใจล้มเหลวเรื้อรัง และเนื่องจากยายับยั้งตัวรับ β1 ที่หัวใจ จึงอาจทำให้มีชีพจรเต้นช้าและความดันต่ำด้วยหากนำมาใช้ในกรณีอื่น จึงมีข้อห้ามใช้ยาในรายที่มี sinus bradycardia, heart block ตั้งแต่ระดับที่สองขึ้นไป และในรายที่ความดันโลหิตต่ำมาก นอกจากนั้นยาโพรพราโนลอลผ่านเข้าสมองได้ จึงอาจทำให้วิงเวียน ง่วงนอน ฝันร้าย อ่อนล้า กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง เห็นภาพผิดปกติ หรือหลง ๆ ลืม ๆ
การใช้ยากลุ่มปิดตัวรับเบตาที่ไม่จำเพาะจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดขึ้น ๆ ลง ๆ (โดยเฉพาะเมื่อใช้ร่วมกับยาขับปัสสาวะ Thiazide) ดังนั้นผู้ป่วยเบาหวานที่คุมน้ำตาลยากอยู่แล้วจึงไม่ควรใช้ยากลุ่มนี้
ข้อควรระวังอีกอย่างคือการใช้ยากลุ่มนี้ในหญิงตั้งครรภ์และหญิงที่ให้นมบุตร เพราะยากลุ่มปิดตัวรับเบตาในขนาดสูงจะขัดขวางการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ อาจทำให้น้ำตาลในเลือดต่ำและจังหวะการเต้นของหัวใจช้าลงในทารกแรกเกิด และยาถูกขับออกทางน้ำนมได้เล็กน้อย จึงอาจทำให้ทารกมีชีพจรเต้นช้าหรือความดันโลหิตต่ำลงได้
สิ่งที่ต้องไม่ลืมคือ ยากลุ่มนี้หากรับประทานไปนาน ๆ (เกิน 3 เดือน) ไม่ควรหยุดใช้ยาอย่างกะทันหัน เพราะอาจทำให้ระบบซิมพาเธทิกที่ถูกกดไว้นานกลับมาทำงานอย่างเต็มที่จนผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยโรคหัวใจ การจะหยุดยาต้องลดจำนวนครั้ง/วันลงจาก 3 → 2 → 1 ก่อนที่จะหยุด โดยใช้เวลาลดช่วงละ 1 สัปดาห์
ส่วนอาการแพ้ยาที่รุนแรงสำหรับโพรพราโนลอลพบได้น้อย
ปฏิกิริยาระหว่างยา
เนื่องจากยาถูกสลายที่ตับด้วยเอ็นไซม์ cytochrome จึงมีปฏิกิริยากับยาหลายตัวที่ใช้ร่วมกัน โดย...
- ระดับยาโพรพราโนลอลในเลือดจะลดลงเมื่อใช้ร่วมกับยา Carbamazepine, Cholestyramine, Colestipol, Phenobarbital, Phenytoin, และ Rifampicin นอกจากนั้นในผู้ที่ดื่มสุราหรือสูบบุหรี่จะกระตุ้นการทำงานของตับ ทำให้ระดับยาโพรพราโนลอลในเลือดไม่ถึงตามเป้าหมาย
- ระดับยาโพรพราโนลอลในเลือดจะเพิ่มขึ้นเมื่อใช้ร่วมกับยา Amiodarone, Chlorpromazine, Cimetidine, Ciprofloxacin, Delavudin, Erythromycin, Fluoxetine, Fluvoxamine, Imipramine, Isoniazid, Paroxetine, Quinidine, Ritonavir, Rizatriptan, Teniposide, Theophylline, Tolbutamide, Zileuton, และ Zolmitriptan
- ระดับของยาต่อไปนี้จะลดลงเมื่อใช้ร่วมกับโพรพราโนลอล: Lovastatin, Pravastatin, Theophylline
- ระดับของยาต่อไปนี้จะเพิ่มขึ้นเมื่อใช้ร่วมกับโพรพราโนลอล: Diazepam, Propafenone, Lidocaine, Rizatriptan, Thioridazine, Warfarin, Zolmitriptan, และกลุ่มยาปิดกั้นช่องแคลเซียมทุกตัวยกเว้น Verapamil
บรรณานุกรม
- M P Stapleton. 1997. "Sir James Black and propranolol: The role of the basic sciences in the history of cardiovascular pharmacology." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Tex Heart Inst J. 1997; 24(4): 336–342. (4 ตุลาคม 2560).
- Warren SG, et al. 1976. "Long-term propranolol therapy for angina pectoris." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Am J Cardiol. 1976 Mar 4;37(3):420-6. (8 ตุลาคม 2560).
- Lockwook Alan H. 1989. "Medical Problems of Musicians." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา N Engl J Med 1989; 320:221-227. (9 ตุลาคม 2560).
- Rector WG Jr, Reynolds TB. 1984. "Propranolol in the treatment of cirrhotic ascites." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Arch Intern Med. 1984 Sep;144(9):1761-3. (28 กันยายน 2560).
- Valerio Giannelli, et al. 1984. "Beta-blockers in liver cirrhosis." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Ann Gastroenterol. 2014; 27(1): 20–26. (28 กันยายน 2560).
- "Propranolol." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Drugs.com (13 ธันวาคม 2560).