ยาไซโลโดซิน (Silodosin, Urief®, Rapaflo®)

ไซโลโดซินเป็นยาปิดตัวรับอัลฟา-1 ที่พัฒนามาให้ออกฤทธิ์จำเพาะต่อตัวรับอัลฟา-1a ที่ต่อมลูกหมากและท่อปัสสาวะมากขึ้น จึงใช้รักษาภาวะต่อมลูกหมากโตเป็นหลัก แต่ก็ยังมีฤทธิ์ขยายหลอดเลือดและลดความดันโลหิตเหมือนยารุ่นพี่ ไซโลโดซินไม่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติของไทย

ที่มาและการออกฤทธิ์:

ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา กลุ่มยาปิดตัวรับอัลฟาได้พัฒนามาอย่างรวดเร็ว จาก non-selective α blockers มาเป็น selective α1 blockers และ selective α1a blockers เพราะตัวรับ α1 ที่ทางเดินปัสสาวะส่วนล่างเป็น α1a subtype เป็นส่วนใหญ่ ยากลุ่มหลังสุดนี้จึงช่วยคลายกล้ามเนื้อบริเวณต่อมลูกหมาก ท่อปัสสาวะ และกระเพาะปัสสาวะส่วนล่าง ทำให้ลดอาการเบาขัดจากภาวะต่อมลูกหมากโตได้ดี ส่วนฤทธิ์ลดความดันโลหิตไม่รุนแรงเท่ายากลุ่มแรก ๆ จึงนิยมใช้เป็นยารักษาโรคต่อมลูกหมากโตที่ยังไม่ต้องผ่าตัดหรือยังผ่าตัดไม่ได้ หนึ่งในยากลุ่มหลังนี้คือ ยาไซโลโดซิน

ไซโลโดซินได้รับการพัฒนามาให้ออกฤทธิ์นานในรูปดั้งเดิม จึงสามารถบดได้ในผู้ป่วยที่กลืนยากหรือใส่สายป้อนอาหาร ยาดูดซึมได้ประมาณร้อยละ 32 อาหารไม่มีผลต่อการดูดซึม กว่าร้อยละ 91 ของยาจับกับโปรตีนในเลือด 6.6 ยาถูกเมตาบอไลต์ที่ตับ แล้วขับออกทางอุจจาระร้อยละ 55 ที่เหลือถูกขับออกทางปัสสาวะ จึงห้ามใช้ในผู้ป่วยโรคตับและไตพร่อง ยามีค่าครึ่งชีวิตนาน 11 ชั่วโมง จึงสามารถรับประทานได้วันละ 1-2 ครั้ง

การใช้ยาที่เหมาะสม

ยาไซโดโลซินอยู่ในรูปเม็ดเคลือบ (Urief) หรือแคปซูล (Rapaflo) ซึ่งสามารถบดหรือแกะแคปซูลออกได้

  1. ใช้บรรเทาอาการเบาขัดจากภาวะต่อมลูกหมากโต
  2. ขนาดยาที่ใช้คือ 4 mg รับประทานวันละ 2 ครั้ง หลังอาหารเช้า-เย็น ในรายที่มีไตเสื่อมหรือตับพร่องเล็กน้อยอาจเร่มที่ 2 mg/ครั้ง ก่อน ถ้าไม่มีความดันต่ำขณะเปลี่ยนอิริยาบถ ค่อยเพิ่มเป็น 4 mg วันละ 2 ครั้ง

ข้อห้ามใช้

ห้ามใช้ยาไซโลโดซินในผู้ป่วยต่อไปนี้

  • ไตวายระยะที่ 4 เป็นต้นไป (CrCl < 30 ml/min)
  • ตับพร่องตั้งแต่ Child-Pugh score ≥ 10
  • ใช้ยาเหล่านี้ร่วมด้วย: Ketoconazole, Clarithromycin, Itraconazole, Ritonavir เพราะจะทำให้ระดับยาไซโลโดซินสูงขึ้นในเลือด
  • ผู้ที่แพ้ยาไซโลโดซิน หรือส่วนประกอบใด ๆ ของยานี้ (ส่วนประกอบอื่นซึ่งไม่ใช่ตัวยาสำคัญ ได้แก่ Hydroxypropylcellulose, Corn starch, Magnesium stearate, Talc, D-mannitol, Hypromellose, Titanium oxide, Camauba wax)

ผลข้างเคียง พิษของยา และข้อควรระวัง

ผลข้างเคียงที่พบบ่อยที่สุดคือ ความดันโลหิตต่ำขณะเปลี่ยนอิริยาบถ (orthostatic/postural hypotension) มักเป็นกับการใช้ยาช่วงแรก โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่ใช้ยาลดความดันโลหิตอยู่แล้ว ผู้ป่วยอาจมีอาการวิงเวียน เหนื่อยล้า เหงื่อออก หรือหน้ามืดเป็นลมได้ ถ้าเกิดอาการดังกล่าวควรให้ผู้ป่วยนอนราบจนกว่าอาการทั้งหมดจะบรรเทาลง โดยปกติอาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นชั่วคราวในช่วงแรกของการรักษา และไม่เป็นเหตุให้ต้องหยุดการรักษา ที่สำคัญหลังรับประทานยานี้ประมาณ 2-3 ชั่วโมงไม่ควรขับขี่ยานยนต์หรือทำงานกับเครื่องจักร

ยากลุ่ม Selective α1-blockers พบการเกิดภาวะม่านตาอ่อนขณะผ่าตัดตา (Intraoperative Floppy Iris Syndrome, IFIS) จักษุแพทย์ควรต้องทราบก่อนผ่าตัดว่าผู้ป่วยใช้ยากลุ่มนี้อยู่ เพื่อเตรียมเทคนิคการผ่าที่อาจต้องทำเป็นพิเศษ

ผลข้างเคียงอื่น ๆ ที่พบได้ คือ อาการหย่อนสมรรถนะทางพศ กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ กระหายน้ำ มวนท้อง ท้องเสีย อาเจียน มีรสขมในปาก กระเพาะอาหารอักเสบ ภาวะที่องคชาติแข็งตัวนานและปวด (priapism) ภาวะหลั่งอสุจิกลับขึ้นกระเพาะปัสสาวะ (retrograde ejaculation) ตับอักเสบ น้ำดีคั่ง เลือดกำเดาไหล เกล็ดเลือดต่ำ โลหิตจาง เม็ดเลือดขาวลดหรือเพิ่ม หัวใจเต้นผิดจังหวะ ค่าบียูเอ็นและครีเอตินีในเลือดเพิ่มขึ้น น้ำตาลและโคเลสเตอรอลในเลือดเพิ่มขึ้น โพแทสเซียมและกรดยูริกในเลือดเพิ่มขึ้น ค่า PSA เพิ่มขึ้น

อาการแพ้ยาไซโลโดซิน ได้แก่ ลมพิษ ผื่นคัน ใบหน้ามีอาการบวม หายใจลำบาก ผิวหนังลอกแบบ Steven-Johnson syndrome

ปฏิกิริยาระหว่างยา

การใช้ยาไซโดโลซินร่วมกับยากลุ่ม PDE5I (เช่น Sildenafil) ซึ่งมีฤทธิ์ขยายหลอดเลือด อาจทำให้ความดันโลหิตต่ำมากจนหน้ามืด หมดสติ จึงควรระมัดระวัง หากไม่จำเป็นไม่ควรใช้ร่วมกัน

บรรณานุกรม

  1. Herbert Lepor. 2006. "The Evolution of Alpha-Blockers for the Treatment of Benign Prostatic Hyperplasia." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Rev Urol. 2006;8(Suppl 4):S3–S9. (31 ตุลาคม 2564).
  2. Herbert Lepor. 2007. "Alpha-Blockers for the Treatment of Benign Prostatic Hyperplasia." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Rev Urol. 2007;9(4):181-190. (7 พฤศจิกายน 2564).
  3. "RAPAFLO®." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา FDA. (12 พฤศจิกายน 2564).
  4. "Silodosin." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Wikipedia. (12 พฤศจิกายน 2564).
  5. "Alpha-1 blocker." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Wikipedia. (7 พฤศจิกายน 2564).