ยาซัลฟินไพราโซน (Sulfinpyrazone)
ซัลฟินไพราโซนเป็นยาเพิ่มการขับกรดยูริกทิ้งทางปัสสาวะที่ออกฤทธิ์เหมือนยาโปรเบนีสิด แต่มีฤทธิ์ต้านการเกาะตัวกันของเกล็ดเลือดด้วย ปัจจุบันลดความนิยมลงมากเพราะยาเพิ่มโอกาสเกิดนิ่วชนิดยูเรตที่ไต และเสริมฤทธิ์กับยาต้านเกล็ดเลือดตัวอื่นทำให้มีเลือดออกง่ายขึ้น โรงพยาบาลบางแห่งไม่ได้นำยานี้เข้าในโรงพยาบาลแล้ว
ที่มาและการออกฤทธิ์:
ยาซัลฟินไพราโซนเป็นอนุพันธ์ของยา Phenylbutazone จึงมีฤทธิ์ต้านเกล็ดเลือดด้วย แต่ฤทธิ์นี้ไม่ได้เอามาใช้ เพราะมียาต้านเกล็ดเลือดตัวที่ปลอดภัยกว่า ตรงกันข้าม ฤทธิ์นี้กลับเป็นผลข้างเคียงที่ควรระวังเมื่อต้องใช้ยานี้ร่วมกับยาต้านเกล็ดเลือดหรือยาต้านการแข็งตัวของเลือดตัวอื่น
ยาซัลฟินไพราโซนมีโครงสร้างที่ต่างไปจากยากลุ่มซัลฟา ดังนั้นผู้ที่แพ้ยากลุ่มซัลฟาจึงไม่แพ้ยาซัลฟินไพราโซน แต่ปัจจุบันพบว่ายาซัลฟินไพราโซนไปเสริมฤทธิ์ของยากลุ่มซัลฟา เช่น ซัลฟาไดอะซีน ซัลฟิซ็อกซาโซล ยาลดน้ำตาลกลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย รวมทั้งอินซูลินด้วย ดังนั้นจึงควรระวังภาวะน้ำตาลต่ำหากจำเป็นต้องใช้ร่วมกัน
ซัลฟินไพราโซนลดกรดยูริกในเลือดโดยยับยั้ง Urate transporter-1 (URAT1) ทำให้กรดยูริกที่กรองผ่านไตไม่ถูกดูดซึมกลับ จึงเพิ่มการขับกรดยูริกทิ้งทางปัสสาวะ ยาไม่ได้ยับยั้ง Organic anion transporter-1 และ -3 (OAT1, OAT3) ที่ท่อไตส่วนต้น จึงไม่ได้ยับยั้งการขับสารที่มีประจุลบ ซึ่งได้แก่ยาต้านจุลชีพหลายตัว จึงไม่เกิดการคั่งของยาเหล่านั้นเมื่อใช้ร่วมกัน ตรงกันข้าม ยาที่ยับยั้ง OAT1, OAT3 (ดูรูป) เช่น แอสไพริน จะทำให้กรดยูริกไม่ถูกขับออกมาจากท่อไตส่วนต้น ฤทธิ์ของยาขับกรดยูริกที่ท่อไตส่วนปลายทุกตัวจึงลดลง ฉะนั้นจึงไม่ควรใช้ยากลุ่มนี้ร่วมกับยาแอสไพริน
ยาซัลฟินไพราโซนดูดซึมได้ดี ได้ระดับสูงสุดในเลือด 3 ชั่วโมงหลังรับประทาน มีค่าครึ่งชีวิตประมาณ 4-6 ชั่วโมง ยาจับกับพลาสมาโปรตีนกว่าร้อยละ 98 จึงสามารถเพิ่มระดับยาของยาที่จับกับพลาสมาโปรตีนสูงเช่นเดียวกัน ยาถูกเมตาบอไลต์ที่ตับ ขับออกที่ไต
การใช้ยาที่เหมาะสม
- ใช้รักษาโรคเกาต์เรื้อรังไตยังไม่เสื่อมมาก
ปัจจุบันยากลุ่มนี้ (ทุกตัว) จะพิจารณาให้ในผู้ป่วยเหล่านี้
- ผู้ป่วยที่มีการขับกรดยูริกทางปัสสาวะน้อยกว่า 800 mg/วัน โดยต้องเก็บปัสสาวะ 24 ชั่วโมง แล้วนำมาวัดระดับกรดยูริกก่อน
- ผู้ที่มีข้อห้ามในการใช้ยาอัลโลพูรินอล หรือแพ้ยาอัลโลพูรินอล
- ผู้ที่ใช้ยาอัลโลพูรินอลลดกรดยูริกในขนาดเต็มที่แล้วยังไม่ได้ผล (กรณีนี้มักใช้ซัลฟินไพราโซนเป็นยาเสริม)
และไม่ควรใช้ยากลุ่มนี้ (ทุกตัว) ในผู้ป่วยที่มีปริมาณกรดยูริกในปัสสาวะมากกว่า 1000 mg/วัน เพราะจะเสี่ยงต่อการเกิดนิ่วในทางเดินปัสสาวะ รวมทั้งไม่ควรใช้ในผู้ที่มีนิ่วหรือเคยมีนิ่วในทางเดินปัสสาวะด้วย
ให้เริ่มขนาด 200-400 mg/วัน โดยแบ่งให้วันละ 2 ครั้ง รับประทานพร้อมอาหารหรือนม ปรับขนาดยาทุก 1 สัปดาห์ โดยเพิ่มได้ถึง 800 mg/วัน จนกว่าระดับกรดยูริกจะเหลือ < 6 mg% หรือ < 5 mg% ในรายที่มีก้อนโทไฟแล้ว เมื่อระดับกรดยูริกควบคุมได้แล้วจึงค่อย ๆ ลดยาลงจนเหลือขนาด maintenance เพียง 200 mg/วัน
ในช่วงแรกที่ใช้ยาควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 2 ลิตร และอาจใช้สารที่ช่วยให้ปัสสาวะเป็นด่าง เช่น potassium citrate หรือ sodium bicarbonate เพื่อป้องกันการตกตะกอนเป็นนิ่วของยูเรต
ข้อห้ามใช้
ห้ามใช้ยาซัลฟินไพราโซนในผู้ป่วยต่อไปนี้
- ผู้ที่มีไตวาย (ClCr < 30 ml/min)
- เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี, หญิงมีครรภ์, หญิงที่ให้นมบุตร
- ผู้ที่มีแผลในทางเดินอาหาร หรือมีทางเดินอาหารอักเสบมาก่อน
- ผู้ที่มีภาวะเลือดผิดปกติ
ผลข้างเคียง พิษของยา และข้อควรระวัง
ผลข้างเคียงของยาซัลฟินไพราโซนที่พบบ่อยคือ อาการปวดเกาต์กำเริบ เนื่องจากมีการเคลื่อนที่ของผลึกยูเรตจากในข้อออกมาในเลือดเมื่อระดับกรดยูริกในเลือดลดต่ำลง แต่จะเป็นในช่วงแรก ๆ ของการใช้ยา เมื่อระดับกรดยูริกทั้งในข้อและในเลือดได้สมดุลกันดีแล้ว อาการเกาต์กำเริบจะลดลง ผลข้างเคียงอื่นที่พบได้แก่ ผื่น โลหิตจาง เม็ดเลือดขาวลดลง เกล็ดเลือดลดลง เลือดออกง่าย
หากได้ยาเกินขนาดจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ปวดท้อง กล้ามเนื้อทำงานไม่ประสานกัน ตัวเหลือง หายใจลำบาก สับสน ชัก โคม่า ถ้ารับประทานเข้าไปเป็นจำนวนมากครั้งเดียว ควรล้างท้องภายใน 6 ชั่วโมง
ปฏิกิริยาระหว่างยา
ยาซัลฟินไพราโซนมีปฏิกิริยาระหว่างยาต่อไปนี้
- ยากลุ่ม NSAIDs และ COX inhibitors ทุกตัว เพราะจะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร
- Aspirin เพราะจะต้านฤทธิ์ของซัลฟินไพราโซน
- ยารักษาเบาหวานกลุ่ม sulfonylurea, - gliptin เพราะจะทำให้น้ำตาลในเลือดลดลง
- กลุ่มยาต้านเกล็ดเลือด กลุ่มยาต้านการแข็งตัวของเลือด และกลุ่มยาละลายลิ่มเลือด เพราะจะทำให้เลือดออกง่ายขึ้น
- Theophylline, Montelukast, Zafirlukast, Verapamil เพราะระดับยารักษาจะลดลง
- ยากลุ่มซัลฟาทุกตัว, ยากันชักส่วนใหญ่, Rifampicin เพราะฤทธิ์ของยาเหล่านี้จะสูงขึ้น
บรรณานุกรม
- Morris J. Brown. 2019. "Drugs for inflammation and joint disease." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Science Direct. (15 ตุลาคม 2565).
- "What form(s) does this medication come in?" [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา MedBroadcast. (15 ตุลาคม 2565).
- "Sulfinpyrazone." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา DrugBank. (15 ตุลาคม 2565).
- "แนวทางเวชปฏิบัติการดูแลรักษาโรคเกาต์
พ.ศ. 2555." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา สมาคมรูมาติสซั่มแห่งประเทศไทย. (13 มกราคม 2565).