ยากลุ่มทริปแทน (Triptans, serotonin receptor agonists)
ยากลุ่มทริปแทนเป็นยารักษาอาการปวดศีรษะจากโรคคลัสเตอร์ (Cluster) และไมเกรน (Migraine) เท่านั้น ไม่มีผลต่ออาการปวดจากอย่างอื่น และไม่ควรใช้ร่วมกับยากลุ่มเออร์กอต อัลคาลอยด์ เพราะออกฤทธิ์คล้ายกันคือหดหลอดเลือด การใช้คู่กันอาจทำให้เลือดไปเลี้ยงอวัยวะอื่นไม่พอ เกิดภาวะแห้งตายได้
ที่มาและการออกฤทธิ์:
แม้กลไกการเกิดโรคไมเกรนและโรคคลัสเตอร์จะยังไม่เป็นที่เข้าใจดีนัก แต่ที่พบชัดคือยาที่กระตุ้นการหลั่งสารสื่อประสาทซีโรโทนินสามารถบรรเทาอาการปวดของทั้งสองโรคนี้ได้ เมื่อศึกษาลึกเข้าไปถึงตัวรับซีโรโทนิน (หรือ 5-HT receptors) ก็พบว่ามีมากมายหลายชนิด ปัจจุบันพบอย่างน้อย 7 กลุ่มใหญ่, 14 กลุ่มย่อย กระจายอยู่ตามอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกาย การกระตุ้นแต่ละตัวรับทำให้เกิดปรากฏการณ์ทางชีวเคมีในร่างกายแตกต่างกัน ตัวรับซีโรโทนินในสมองส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม 1 (5-HT1 receptors) และที่เกี่ยวข้องกับหลอดเลือดในสมองคือ 5-HT1B1, 1D และ 1F
ขณะที่ยากลุ่มเออร์กอต อัลคาลอยด์ ซึ่งได้จากธรรมชาติ ออกฤทธิ์กระตุ้นตัวรับทั้ง adrenergic, dopaminergic, และ 5-HT1A, 1B, 1D, 1F, 2A, 2C, 3, 4 ยากลุ่มทริปแทนเป็นยาสังเคราะห์ให้ออกฤทธิ์กระตุ้นเฉพาะตัวรับซีโรโทนินกลุ่ม 1 จึงออกฤทธิ์ที่สมองเสียเป็นส่วนใหญ่ (ยกเว้นหลอดเลือดหัวใจที่มีตัวรับ 5-HT1B ด้วยแต่น้อยกว่า 5-HT2A) ทำให้ยากลุ่มทริปแทนมีผลข้างเคียงต่ออวัยวะอื่นน้อยกว่ายากลุ่มเออร์กอต อัลคาลอยด์
ยากลุ่มทริปแทนมีมากมายหลายขนาน ทุกขนานจะมีวงแหวนอินโดล (indole) เหมือนซีโรโทนิน และออกฤทธิ์กระตุ้นที่ตัวรับ 5-HT1B/1D เหมือนกัน ต่างกันที่บางตัวออกฤทธิ์ช้าแต่อยู่ได้นาน ขณะที่บางตัวออกฤทธิ์เร็วแต่มีฤทธิ์เพียงช่วงสั้น ๆ และบางตัวยังกระตุ้นตัวรับซีโรโทนินตัวอื่นด้วย เช่น Frovatriptan กระตุ้น 5-HT7 receptor ด้วย, Almotriptan กระตุ้น 5-HT1F receptor ด้วย ดังนั้นผู้ป่วยไมเกรนและคลัสเตอร์ที่ใช้ยาทริปแทนขนานหนึ่งไม่ได้ผลอาจได้ผลกับอีกขนานหนึ่งก็ได้ นอกจากนั้นยังมีผู้ป่วยอีก 1 ใน 3 ที่ไม่ตอบสนองต่อยากลุ่มนี้เลย ใช้ได้แต่ยากลุ่มเออร์กอต อัลคาลอยด์ ซึ่งไม่ทราบว่าทำไม แต่น่าจะเป็นเพราะเรายังไม่เข้าใจกลไกการกำเริบของโรคทั้งสองนี้ดีนัก
ฤทธิ์ของยากลุ่มทริปแทนที่สำคัญได้แก่
- กระตุ้นตัวรับ 5-HT1B ก่อให้เกิดการหดตัวของหลอดเลือด
- กระตุ้นตัวรับ 5-HT1D ซึ่งจะยับยั้งการหลั่งสารสื่อประสาทนำความเจ็บปวดและดำเนินขบวนการอักเสบ
- ยับยั้งการกระตุ้นเส้นประสาทไตรเจมินัล (Trigeminal nerve) ทำให้ลดความรู้สึกบริเวณหน้าผากและดวงตา
- ยับยั้งการขยายตัวของหลอดเลือดที่เยื่อหุ้มสมอง
การใช้ยาที่เหมาะสม
ดังได้กล่าวแล้วว่ายากลุ่มทริปแทนมีข้อบ่งใช้ในการบรรเทาอาการปวดศีรษะจากโรคคลัสเตอร์และไมเกรนเท่านั้น ขนาดยาและวิธีใช้จะแตกต่างกันตามชนิดของยาดังนี้
ตัวยา | รูปยา | วิธีใช้ |
Almotriptan | เม็ด ขนาด 6.25, 12.5 มิลลิกรัม | รับประทานครั้งละ 6.25-12.5 มิลลิกรัม ซ้ำได้ทุก 2 ชั่วโมงถ้ายังไม่หายปวด สูงสุดไม่เกิน 25 มิลลิกรัม/วัน
|
Eletriptan | เม็ด ขนาด 20, 40 มิลลิกรัม | รับประทานครั้งละ 20-40 มิลลิกรัม ซ้ำได้ทุก 2 ชั่วโมงถ้ายังไม่หายปวด สูงสุดไม่เกิน 80 มิลลิกรัม/วัน |
Frovatriptan | เม็ด ขนาด 2.5 มิลลิกรัม | รับประทานครั้งละ 1 เม็ด ซ้ำได้ทุก 4 ชั่วโมงถ้ายังไม่หายปวด สูงสุดไม่เกิน 3 เม็ด/วัน |
Naratriptan | เม็ด ขนาด 1, 2.5 มิลลิกรัม | รับประทานครั้งละ 1-2.5 มิลลิกรัม ซ้ำได้ทุก 4 ชั่วโมงถ้ายังไม่หายปวด สูงสุดไม่เกิน 5 มิลลิกรัม/วัน |
Rizatriptan | เม็ด ขนาด 5, 10 มิลลิกรัม | รับประทานครั้งละ 5-10 มิลลิกรัม ซ้ำได้ทุก 2 ชั่วโมงถ้ายังไม่หายปวด สูงสุดไม่เกิน 30 มิลลิกรัม/วัน |
Sumatriptan | - เม็ด ขนาด 25, 50, 100 มิลลิกรัม - สเปรย์พ่นจมูก ขนาด 5, 20 มิลลิกรัม/การพ่น 1 ครั้ง - ยาฉีด ขนาด 4, 6 มิลลิกรัม/หลอด - แผ่นแปะผิวหนัง ขนาด 6.5 มิลลิกรัม/แผ่น | - ยาเม็ด รับประทานครั้งละ 25-100 มิลลิกรัม ซ้ำได้ทุก 2 ชั่วโมงถ้ายังไม่หายปวด สูงสุดไม่เกิน 200 มิลลิกรัม/วัน - สเปรย์พ่นจมูก พ่นครั้งละ 5-20 มิลลิกรัม ซ้ำได้ทุก 2 ชั่วโมงถ้ายังไม่หายปวด สูงสุดไม่เกิน 40 มิลลิกรัม/วัน - ยาฉีด ฉีดเข้าใต้ผิวหนังครั้งละ 4-6 มิลลิกรัม ซ้ำได้ทุก 1 ชั่วโมงถ้ายังไม่หายปวด สูงสุดไม่เกิน 12 มิลลิกรัม/วัน - แผ่นแปะ แปะครั้งละ 1 แผ่น อยู่ได้ประมาณ 4 ชั่วโมง หรือจนกว่าแสง LED ที่แผ่นจะหายไป แผ่นที่สองอาจเริ่มได้หลังแปะแผ่นแรกไปแล้ว 2 ชั่วโมงแต่ยังปวดมากอยู่ สูงสุดไม่ควรเกิน 2 แผ่น/วัน |
Zolmitriptan | - เม็ด ขนาด 2.5, 5 มิลลิกรัม - สเปรย์พ่นจมูก ขนาด 5 มิลลิกรัม/การพ่น 1 ครั้ง | - ยาเม็ด รับประทานครั้งละ 2.5 มิลลิกรัม ซ้ำได้ทุก 2 ชั่วโมงถ้ายังไม่หายปวด สูงสุดไม่เกิน 10 มิลลิกรัม/วัน - สเปรย์พ่นจมูก พ่นครั้งละ 5 มิลลิกรัม ซ้ำได้ทุก 2 ชั่วโมงถ้ายังไม่หายปวด สูงสุดไม่เกิน 10 มิลลิกรัม/วัน |
ยากลุ่มนี้ใช้ได้เฉพาะในผู้ใหญ่เท่านั้น ยังไม่มีการรับรองความปลอดภัยในเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี
ผลข้างเคียง พิษของยา และข้อควรระวัง
ผู้ป่วยที่ใช้ยากลุ่มทริปแทนมักบ่นเรื่องง่วงนอน คิดช้า รู้สึกมีอะไรมาไต่ตามตัว ความดันโลหิตสูงขึ้น ใจเต้นเร็ว คลื่นไส้ หน้าแดง วิงเวียน และรู้สึกแน่นหน้าอก ซึ่งอาจเป็นจากการที่มันหดหลอดเลือดที่หัวใจและที่อื่นที่มีตัวรับซีโรโทนินตรงกับที่มันออกฤทธิ์ด้วย จึงห้ามใช้ยานี้ในผู้ที่มีโรคหัวใจล้มเหลว โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคความดันโลหิตสูงที่ยังควบคุมไม่ได้ โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบตัน และควรเลี่ยงในผู้ป่วยเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง อ้วน สูบบุหรี่ หรือเป็นอัมพรึกครึ่งซีกมาก่อน เพราะหลอดเลือดของผู้ป่วยเหล่านี้มักตีบแคบอยู่ก่อนแล้ว
นอกจากนั้นยังต้องระวังการใช้ยากลุ่มนี้ในผู้ป่วยโรคตับระยะรุนแรง โรคไต โรคลมชัก ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ผู้สูงอายุ สตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
ยากลุ่มทริปแทนไม่ควรใช้ร่วมกับยากลุ่มเหล่านี้
- ยากลุ่มเออร์กอต อัลคาลอยด์ เพราะเสริมการหดตัวของหลอดเลือดนอกสมองจนอาจเป็นอันตรายได้ จึงห้ามใช้ยาในกลุ่มนี้ภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากใช้ยา Ergotamine, Dihydroergotamine หรือ Methylsergide
- ยาต้านซึมเศร้าประเภท SSRIs (selective serotonin reuptake inhibitors) หรือ SNRIs (Serotonin—norepinephrine reuptake inhibitor) เพราะยาทั้งสองกลุ่มนี้ก็เพิ่มระดับซีโรโทนินในร่างกาย การใช้ร่วมกันอาจทำให้เกิดภาวะ serotonin syndrome ผู้ป่วยจะปวดศีรษะ ประสาทหลอน มีไข้สูง อาเจียน ท้องเสีย เหงื่อออกมาก หัวใจเต้นผิดปกติ มือสั่น กล้ามเนื้อกระตุก ชัก และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
- ยาต้านซึมเศร้าประเภท MAOIs (Monoamine oxidase inhibitors) เพราะยากลุ่มทริปแทนทุกตัวยกเว้น Naratriptan ถูกกำจัดด้วยเอ็นไซม์ Monoamine oxidase เมื่อเอ็นไซม์ตัวนี้ไม่ทำงานเพราะถูกยาอีกตัวต้านไว้ ก็อาจเกิดพิษของทริปแทนได้ การจะใช้ทริปแทนต้องหยุดยากลุ่ม MAOIs ไปแล้วเป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์
- การใช้ยา Almotriptan ร่วมกับยา Verapamil และ Ketoconazole จะทำให้ระดับยา Almotriptan ในกระแสเลือดเพิ่มมากขึ้นจนอาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียงตามมาได้ หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันควรลดขนาดยา Almotriptan ลงครึ่งหนึ่ง
- การใช้ยา Rizatriptan ร่วมกับยา Propranolol จะทำให้ระดับยา Rizatriptan ในกระแสเลือดสูงขึ้น หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันควรลดขนาดยา Rizatriptan ลงครึ่งหนึ่ง
สิ่งสำคัญที่ควรจำคือ ยากลุ่มทริปแทนออกฤทธิ์บรรเทาปวดเมื่ออาการของไมเกรนหรือคลัสเตอร์กำเริบขึ้นแล้วเท่านั้น ไม่สามารถใช้เพื่อป้องกันอาการที่ยังไม่ปรากฏได้