เนื้องอกจากเซลล์แอสโตรไซต์ (Astrocytic tumors)

แอสโตรไซต์ (astrocyte) เป็นเซลล์เกลียชนิดหนึ่งที่มีรูปร่างคล้ายดาว มีแขนงยื่นไปสัมผัสกับหลอดเหลือดและเซลล์ประสาทที่อยู่โดยรอบ ทำหน้าที่คัดกรองสารต่าง ๆ และป้อนให้กับเซลล์ประสาท เช่น ยา หรือกลูโคส กลูโคสที่เซลล์ประสาทใช้เป็นพลังงานจะถูกส่งมาจากเลือดเข้าเซลล์แอสโตรไซต์ก่อน ถ้ามีมากแอสโตรไซต์จะเปลี่ยนกลูโคสเป็นไกลโคเจน (glycogen) สะสมไว้ในเซลล์ แล้วค่อยป้อนให้เซลล์ประสาทในภายหลัง นอกจากนี้แอสโตรไซต์ยังมีหน้าที่ลดปริมาณสารสื่อประสาทกลูตาเมต (glutamate) เพื่อป้องกันการตายของเซลล์ประสาท และช่วยดูดโปแตสเซียมที่มีปริมาณมากเกินจากการที่เซลล์ประสาทถูกกระตุ้นซ้ำ ๆ ออกไป

ชนิดของแอสโตรไซโตมา

เนื้องอกจากเซลล์แอสโตรไซต์เรียกรวม ๆ ว่า "แอสโตรไซโตมา" (Astrocytoma) เป็นเนื้องอกชนิดที่พบมากที่สุดในสมอง แบ่งความรุนแรงออกได้เป็น 4 เกรด ดังนี้

Grade I Pilocytic astrocytoma เป็นเนื้องอกสมองที่พบมากที่สุดในเด็ก มักเกิดที่ cerebellum hypothalamus, และ optic chiasm แต่ที่อื่น ๆ ก็พบได้หมด ลักษณะเป็นก้อนที่มีทั้งน้ำและเนื้ออยู่ภายใน ขอบเขตชัดเจน แยกจากเนื้อสมองปกติได้ง่าย โตช้า ไม่กลายเป็นมะเร็ง

Grade II Low-grade infiltrative astrocytoma (Diffuse astrocytoma) เป็นเนื้องอกที่พบบ่อยในเด็กและวัยผู้ใหญ่ตอนต้น (ช่วงอายุ 30-40 ปี) มักพบบริเวณ cerebral hemispheres ลักษณะเป็นก้อนที่แทรกซึมอยู่ในเนื้อสมอง ไม่มีผนังห่อหุ้ม จึงระบุขอบเขตได้ยาก ทั้งจากภาพเอกซเรย์ การดูในห้องผ่าตัด และการตรวจทางพยาธิ ก้อนเนื้องอกมีความสามารถในการกลายพันธุ์เป็นเกรดที่ร้ายแรงขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป

Grade III Anaplastic astrocytoma มักพบในช่วงผู้ใหญ่ตอนปลายระหว่าง 40-50 ปี ลักษณะเป็นก้อนที่แทรกซึมอยู่ในเนื้อสมองโดยไม่มีขอบเขตชัดเจนเช่นเดียวกับเกรด II แต่มีเส้นสายที่แสดงถึงการแพร่กระจายเข้าไปในเนื้อสมองข้างเคียง เนื้องอกชนิดนี้ขยายตัวรวดเร็วและมีความสามารถในการกลายพันธุ์เป็นชนิดที่ร้ายแรงมากขึ้นตามระยะเวลา

Grade IV Glioblastoma เป็นเนื้องอกสมองชนิดที่พบมากที่สุดและร้ายแรงที่สุด มักพบในบริเวณ frontal และ temporal lobe ในคนอายุ 50 ปีขึ้นไป บางครั้งเปลี่ยนแปลงมาจากเนื้องอกในเกรดต่ำทำให้ภายในก้อนมีเซลล์ที่มีความรุนแรงหลายเกรดปะปนกัน และบางครั้งก็เกิดขึ้นมาเองทั้งก้อนเป็นเกรด IV ลักษณะที่สำคัญคือก้อนมีขนาดใหญ่มาก ภายในมีช่องว่างและความเข้มของเนื้อต่าง ๆ กัน โดยมีทั้งน้ำ หินปูน หลอดเลือด และเนื้องอกบรรจุอยู่ภายใน เนื้อสมองโดยรอบจะบวมมาก

อาการของโรค

อาการเริ่มต้นที่พบบ่อยคือ ปวดศีรษะ ชัก พฤติกรรมเปลี่ยนแปลง จะอะไรไม่ค่อยได้ ต่อเมื่อก้อนใหญ่ขึ้นจึงมีอาการอ่อนแรงของแขน ขา ใบหน้า หรือกล้ามเนื้อตาให้เห็น

การรักษา

Grade I Pilocytic astrocytoma รักษาด้วยการผ่าตัดเพียงอย่างเดียว รังสีรักษาจะให้เพิ่มในรายที่ไม่สามารถตัดออกจนหมดเท่านั้น

Grade II Diffuse astrocytoma ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาที่เป็นมาตรฐาน อย่างไรก็ตามแพทย์ส่วนใหญ่มักจะแนะนำให้ทำผ่าตัดเพื่อลดจำนวนเซลล์เนื้องอกลงให้น้อยที่สุด โดยมีความเชื่อว่าเมื่อจำนวนเซลล์เนื้องอกลดน้อยลงจากการผ่าตัดแล้วจะทำให้ชะลอระยะเวลาที่เนื้องอกจะกลายพันธุ์เป็นเนื้องอกชนิดร้ายแรง แต่เนื่องจากเนื้องอกชนิดนี้แทรกกระจายอยู่ในเนื้อสมองโดยไม่มีขอบเขตที่ชัดเจนจึงไม่สามารถผ่าตัดออกหมดได้อย่างแท้จริง หลังผ่าตัดจะยังคงมีเซลล์เนื้องอกหลงเหลืออยู่ แพทย์อาจจะแนะนำให้สังเกตอาการต่อโดยไม่ทำการฉายแสงหรืออาจจะแนะนำให้ทำการฉายแสงตามความเหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย

Grade III Anaplastic astrocytoma การรักษาต้องใช้วิธีผ่าตัด ฉายแสง และให้ยาเคมีบำบัดร่วมกัน โดยจะเริ่มต้นจากการผ่าตัดออกให้มากที่สุดก่อน หลังจากนั้นจะทำการฉายแสงร่วมกับให้ยาเคมีบำบัด

Grade IV Glioblastoma การรักษาจะ ใช้ทั้งวิธีผ่าตัด ฉายแสง และให้ยาเคมีบำบัด

พยากรณ์โรค

Grade I Pilocytic astrocytoma เนื่องจากเป็นเนื้องอกไม่ร้าย ผลการผ่าตัดจึงมีโอกาสหายขาดเกือบทั้งหมด และผู้ป่วยส่วนใหญ่มักอายุยังน้อย การฟื้นตัวของสมองหลังผ่าตัดจะเป็นไปได้ค่อนข้างดี

Grade II Diffuse astrocytoma ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 6-8 ปีหลังจากที่เริ่มมีอาการของโรค สาเหตุการเสียชีวิตส่วนใหญ่มักเกิดจากเซลล์เนื้องอกกลายพันธุ์เป็นชนิดที่ร้ายแรงมากขึ้น

Grade III Anaplastic astrocytoma ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 2-3 ปีหลังจากที่เริ่มมีอาการของโรค

Grade IV Glioblastoma คนไข้ส่วนใหญ่มักจะเสียชีวิตภายใน 1 ปี