เนื้องอกที่กระเพาะปัสสาวะ (Bladder tumors)

กระเพาะปัสสาวะเป็นถุงเก็บน้ำปัสสาวะที่ขับออกมาจากไต ปัสสาวะเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะทางท่อไต 2 ข้าง ผนังของกระเพาะปัสสาวะเป็นกล้ามเนื้อเรียบที่ยืดหยุ่นได้มาก สามารถเก็บปัสสาวะได้มากถึง ½-1 ลิตร ที่ทางออกของกระเพาะปัสสาวะมีกล้ามเนื้อหูรูดอยู่มัดหนึ่งซึ่งเราควบคุมให้บีบหรือคลายตัวได้ เมื่อน้ำปัสสาวะเพิ่มมากขึ้นจนถึงระดับหนึ่ง (ประมาณ 150-400 มล.) จะทำให้ผนังกระเพาะปัสสาวะตึง เกิดกระแสประสาทส่งไปยังไขสันหลังและสมอง กระตุ้นให้กล้ามเนื้อเรียบหดตัวและเรารู้สึกปวดปัสสาวะ แต่กล้ามเนื้อหูรูดจะยังคอยบีบตัวไว้ถ้าเรายังไม่สามารถที่จะไปห้องน้ำได้ ยิ่งความดันกระเพาะปัสสาวะมากขึ้นก็จะยิ่งทำให้เกิดการอยากถ่ายปัสสาวะมากขึ้น จนถึงจุดที่กล้ามเนื้อหูรูดก็กลั้นเอาไว้ไม่ได้ น้ำปัสสาวะจะไหลออกจากกระเพาะปัสสาวะทางท่อปัสสาวะ

เนื้องอกไม่ร้ายที่กระเพาะปัสสาวะ (Benign bladder tumors)

เนื้องอกไม่ร้ายที่กระเพาะปัสสาวะจะเป็นลักษณะของติ่งเนื้อ (polyp) ที่ผนังชั้นในสุดของกระเพาะปัสสาวะเรียกว่า Papilloma ซึ่งพบเพียง 3% ของเนื้องอกที่กระเพาะปัสสาวะทั้งหมด มักพบในเพศชายที่สูบบุหรี่ ติ่งเนื้อนี้อาจทำให้เกิดอาการปัสสาวะลำบากหรือมีเลือดออกมาในปัสสาวะ ติ่งเนื้อที่มีขนาดเล็กและผิวเรียบมักไม่ใช่เนื้อร้าย แต่ถ้าก้อนใหญ่หรือผิวขรุขระอาจกลายเป็นมะเร็งได้ การวินิจฉัยต้องส่องกล้องเข้าไปแล้วใช้เครื่องมือตัดหรือขูดมันออกมาตรวจ หากไม่ใช่เนื้อร้ายก็ไม่ต้องทำอะไรต่ออีก มีน้อยมากที่อาจเกิดเป็นซ้ำใหม่ ส่วนใหญ่ที่เกิดเป็นซ้ำมักเป็นเนื้อร้ายในภายหลัง

เนื้องอกร้ายที่กระเพาะปัสสาวะ (Malignant bladder tumors)

มะเร็งกระเพาะปัสสาวะพบในผู้ชายมากกว่าในผู้หญิงถึง 3 เท่า ร้อยละ 90 เป็น Transitional cell carcinoma (TCC) ที่เหลือเป็นพวก Squamous cell carcinoma, Adenocarcinoma, Sarcomatoid carcinoma, Small cell carcinoma, Micropapillary bladder cancer, Lymphoepithelioma, Urachal cancer, และ Sarcoma

ปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ ได้แก่ การสูบบุหรี่ การสัมผัสกับสารเคมีบางชนิด (เช่น aromatic amines, polyaromatic hydrocarbons, arsenic, diesel) การได้รับยาเคมีบำบัดบางชนิด (เช่น cyclophosphamide, ifosfamide) การได้รับรังสีรักษาบริเวณอุ้งเชิงกราน การได้รับรังสีนิวเคลียร์ การรับประทานยาแก้ปวด phenacetin เป็นเวลานาน ๆ ภาวะผิดปกติแต่กำเนิดบางอย่าง (เช่น Urachus, Exstrophy) คนที่เคยเป็นมะเร็งของระบบปัสสาวะมาก่อน เป็นต้น

อาการของโรค

เกือบร้อยละ 90 มีอาการปัสสาวะเป็นเลือดโดยไม่มีอาการเจ็บปวด อาจเป็นเลือดสด ๆ หรือปนมากับปัสสาวะ และอาจเป็น ๆ หาย ๆ อาการอื่นที่อาจมีได้แก่ ปัสสาวะบ่อยและรีบเร่ง ปวดแสบเวลาปัสสาวะ ปัสสาวะลำบากเนื่องจากเลือดที่ออกจับตัวเป็นลิ่ม เมื่อโรคลุกลามไปมากขึ้นจะมีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด มีไข้เป็น ๆ หาย ๆ มีก้อนในอุ้งเชิงกราน ปวดท้องน้อย ขาบวม ถุงอัณฑะบวม ถ้ามีการอุดตันของท่อไตทำให้ไตบวมและปวดหลัง

การวินิจฉัย

แพทย์จะซักถามประวัติ อาการ และตรวจร่างกายโดยละเอียด จากนั้นจะตรวจปัสสาวะ (เพาะเชื้อในปัสสาวะ และส่งปัสสาวะเพื่อหาเซลล์มะเร็ง) ตรวจเลือด และส่งทำเอกซเรย์ IVP เพื่อดูระบบทางเดินปัสสาวะทั้งหมด แล้วจึงทำการส่องกระเพาะปัสสาวะและตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ หากผลเป็นเนื้อร้ายผู้ป่วยจะได้รับการตรวจทางรังสีวิทยาเพื่อประเมินระยะของโรคต่อไป

ระยะของโรค

  • ระยะที่ I เซลล์มะเร็งอยู่เฉพาะบริเวณเยื่อเมือกบุกระเพาะปัสสาวะ
  • ระยะที่ II เซลล์มะเร็งลุกลามเข้าสู่ชั้นกล้ามเนื้อของกระเพาะปัสสาวะ
  • ระยะที่ III เซลล์มะเร็งกินถึงชั้นไขมันก่อนถึงเยื่อบุช่องท้อง แต่ยังไม่ไปที่ต่อมน้ำเหลือง
  • ระยะที่ IV โรคลุกลามไปไกลกว่านั้น ถึงต่อมลูกหมาก มดลูก ช่องคลอด ผนังช่องท้อง ต่อมน้ำเหลือง หรืออวัยวะไกล ๆ เช่น ปอด กระดูก ตับ

แนวทางการรักษา

ในระยะที่ I จะสอดเครื่องมือเข้าทางท่อปัสสาวะแล้วใช้กระแสไฟฟ้าจี้ที่ก้อนมะเร็งให้หมดไป ในผู้ป่วยบางรายแพทย์อาจป้องกันไม่ให้โรคกลับเป็นใหม่ด้วยการใส่ยาเคมีบำบัดเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะ แล้วกักเก็บไว้เป็นเวลา 1-2 ชั่วโมง แล้วจึงให้ถ่ายปัสสาวะทิ้ง

ในระยะที่ II-III จะใช้วิธีผ่าตัดร่วมกับเคมีบำบัดและรังสีรักษา ในการผ่าตัด แพทย์อาจตัดก้อนและกระเพาะปัสสาวะบางส่วนออก แล้วเย็บผนังของกระเพาะปัสสาวะที่เหลือเข้าหากัน โดยผู้ป่วยยังคงปัสสาวะได้ตามปกติหลังจากนั้น หรืออาจผ่าตัดเอากระเพาะปัสสาวะพร้อมกับอวัยวะข้างเคียงออกจนหมด แล้วนำลำไส้บางส่วนมาทำเป็นกระเพาะปัสสาวะใหม่แทน ซึ่งผู้ป่วยจะสามารถปัสสาวะได้ผ่านทางลำไส้นี้ ทั้งนี้การจะผ่าตัดชนิดใดขึ้นกับขนาดและตำแหน่งของก้อนมะเร็ง

การให้ยาเคมีบำบัดและการฉายรังสี แพทย์อาจพิจารณาให้ยาเคมีบำบัดหรือฉายรังสีก่อนการผ่าตัดเพื่อให้ก้อนมะเร็งยุบลงก่อนการผ่าตัด หรือจะให้หลังการผ่าตัดในผู้ป่วยที่ผลชิ้นเนื้อกลับมาว่ามีความรุนแรงมากกว่าที่คิดก็ได้

ในระยะที่ III ที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ หรือในระยะที่ IV ที่มีการกระจายไปอวัยวะอื่น ๆ แล้ว จะใช้รังสีรักษาและเคมีบำบัดเป็นหลัก แต่หากผู้ป่วยไม่แข็งแรงพอ แพทย์อาจให้การรักษาเพื่อบรรเทาอาการต่าง ๆ ให้ผู้ป่วยเท่านั้น