เนื้องอกที่ลำไส้ใหญ่ (Colorectal tumors)

ลำไส้ใหญ่เป็นอวัยวะภายในช่องท้องที่เป็นทางผ่านของกากอาหารที่ผ่านการย่อยจากลำไส้เล็กและกระเพาะอาหารมีหน้าที่ในการดูดซึมน้ำและเกลือแร่บางส่วนกลับสู่ร่างกาย รวมถึงการขับกากอาหารออกจากร่างกายเป็นอุจจาระทางรูทวารหนัก เนื้องอกที่ลำไส้ใหญ่พบได้ค่อนข้างบ่อย มีทั้งที่เป็นเนื้อร้ายและไม่ร้าย ประมาณกันว่าครึ่งหนึ่งของประชากรโลกตั้งแต่วัยเด็กจนถึงอายุ 70 ปี มีเนื้องอกเกิดขึ้นที่ลำไส้ใหญ่

โพลิปส์ที่ลำไส้ใหญ่ (Colorectal polyps)

โพลิปส์ หรือติ่งเนื้อที่ลำไส้ใหญ่เป็นเนื้องอกไม่ร้ายที่ชั้นเยื่อบุผิว พบได้บ่อย โดยทั่วไปไม่มีอาการอะไร ยกเว้นถ้าโตมากและอุจจาระแข็งอาจมีเลือดออกได้ ติ่งเนื้อเหล่านี้แบ่งตามลักษณะพยาธิและโอกาสกลายเป็นมะเร็งได้ดังนี้

  • Hyperplastic polyps เป็นติ่งเนื้อขนาดเล็ก (< 0.5 cm) มักพบแถวลำไส้ตรงและลำไส้ส่วนซิกมอยด์ โอกาสที่จะกลายเป็นมะเร็งมีน้อย
  • Adenomas เป็นติ่งเนื้อขนาดใหญ่ขึ้นอีกนิด แต่ส่วนใหญ่ก็ยังเล็กกว่า 1 cm มีโอกาสที่จะกลายเป็นมะเร็งได้ 10% โดยเฉพาะชนิด villous adenoma ยิ่งถ้ามีขนาดใหญ่และรูปร่างแบน (ไม่ใช่ก้านเล็ก ๆ ห้อยติ่งเนื้อ) ยิ่งมีโอกาสสูงถึง 25% villous adenoma อาจทำให้เกิดอาการถ่ายเป็นน้ำอย่างรุนแรงได้
  • Polyposis syndromes เป็นความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ที่ทำให้มีติ่งเนื้อเป็นจำนวนมากอยู่ในทางเดินอาหารตั้งแต่เกิด พบได้ไม่บ่อย แต่มีโอกาสกลายเป็นมะเร็งได้สูง
  • Hamartomatous polyps เป็นติ่งเนื้อที่มีเซลล์หลายชนิดปะปนกัน พบได้น้อย และโอกาสกลายจะเป็นมะเร็งก็น้อยเช่นกัน
  • Inflammatory polyps เป็นติ่งเนื้อที่เกิดจากการอักเสบเรื้อรังของลำไส้ใหญ่ โอกาสจะกลายเป็นมะเร็งมีน้อย

ติ่งเนื้อเหล่านี้มักตรวจพบเมื่อมีการส่องกล้องเพื่อหาความผิดปกตืภายในลำไส้ใหญ่ เมื่อตรวจพบแพทย์มักจะตัดออกเสมอ เพราะถ้าดูจากลักษณะภายนอกไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นติ่งเนื้อชนิดใด และได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นโรคมะเร็งแล้วหรือยัง

มะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colorectal cancer)

มะเร็งลำไส้ใหญ่พบมากเป็นอันดับสามรองจากมะเร็งตับและมะเร็งปอด สาเหตุจริง ๆ ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่ 1 ใน 4 พบว่าเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์ เช่น มีประวัติคนในครอบครัวเคยเป็นโรคมะเร็งที่ใดที่หนึ่งมาก่อน ตัวผู้ป่วยเองเป็นกลุ่มโรคที่มีติ่งเนื้อเกิดขึ้นในลำไส้ตั้งแต่เกิด และเชื้อชาติ เช่น คนอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน ชาวยิว และคนยุโรปตะวันออก นอกจากนั้นยังพบว่าเป็นมากขึ้นในคนที่มีอายุมากขึ้น, คนที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่สอง (เบาหวานชนิดที่ไม่ต้องพึ่งอินซูลิน), คนที่สูบบุหรี่, คนที่ดื่มสุรา, คนอ้วน, คนที่ไม่ออกกำลังกาย, และคนที่ชอบรับประทานเนื้อสัตว์ที่มีสีแดง เช่น เนื้อวัว เนื้อแกะ ตับ, เนื้อสัตว์แปรรูป เช่น ไส้กรอก ฮอทดอก โบลอกนา กุนเชียง, และเนื้อสัตว์ที่ผ่านการปิ้ง ย่าง หรือทอด

อาการของมะเร็งลำไส้ใหญ่

ในระยะแรกจะไม่มีอาการ เมื่อก้อนมะเร็งโตขึ้น อาการที่พบบ่อยได้แก่

เมื่อมะเร็งลุกลามมากขึ้นจะมีอาการแน่นท้อง ท้องอืด โตขึ้นอย่างผิดปกติ หรือมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง เพราะก้อนมะเร็งอุดตันทางเดินอาหาร

วิธีตรวจหามะเร็งลำไส้ใหญ่

การตรวจหามะเร็งลำไส้ใหญ่เริ่มจากแพทย์จะตรวจทวารหนักด้วยนิ้วมือเพื่อหาติ่งเนื้อหรือก้อนที่ผิดปกติบริเวณทวารหนัก จากนั้นจะส่งตรวจอุจจาระเพื่อหาว่ามีเลือดออกภายในลำไส้ใหญ่หรือไม่ ทั้งสองวิธีนี้มีความน่าเชื่อถือไม่มาก ถัดไปคือการเอกซเรย์สวนแป้ง (Barium enema) เพื่อหาความผิดปกติภายในลำไส้ใหญ่ วิธีนี้อาจมองไม่เห็นติ่งเนื้อที่มีขนาดเล็กและรอยโรคที่เป็นลักษณะแบน

วิธีที่เห็นได้ชัดและสามารถตัดติ่งเนื้อออกมาตรวจได้ด้วยคือการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscope) แต่การตรวจด้วยวิธีนี้อาจทำให้ลำไส้ใหญ่ที่มีพยาธิสภาพทะลุได้ ซึ่งถ้าเกิดขึ้นแล้วจำเป็นต้องผ่าตัดฉุกเฉินเพื่อซ่อมแซมลำไส้ส่วนที่มีการฉีกขาดนั้น

ระยะของมะเร็งลำไส้ใหญ่

หากผลชิ้นเนื้อออกมาเป็นเนื้อร้าย ในการประเมินระยะของโรคจำเป็นต้องอาศัยการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ของทรวงอก ช่องท้อง และอุ้งเชิงกราน และบางครั้งอาจต้องส่งทำ MRI หรือ PET scan เพิ่มเติม มะเร็งลำไส้ใหญ่มีการแบ่งระยะที่ซับซ้อนกว่ามะเร็งชนิดอื่น ๆ

  • ระยะที่ 0 เซลล์มะเร็งยังอยู่เฉพาะที่เยื่อบุผิว (carcinoma in situ) ยังไม่ผ่านชั้น basement membrane
  • ระยะที่ I มะเร็งกระจายผ่านชั้น basement membrane อาจเลยเข้าไปในชั้นกล้ามเนื้อของผนังลำไส้เล็กน้อย
  • ระยะที่ II เป็นระยะที่ยังไม่พบเซลล์มะเร็งในต่อมน้ำเหลืองของช่องท้อง แบ่งย่อยเป็น 3 ระยะ คือ
    - IIA มะเร็งกระจายไปจนสุดชั้นกล้ามเนื้อแต่ยังไม่ทะลุผนังลำไส้ชั้นนอก
    - IIB มะเร็งทะลุผนังชั้นนอกของลำไส้ แต่ยังไม่ไปถึงอวัยวะข้างเคียง
    - IIC มะเร็งกระจายถึงอวัยวะข้างเคียงแล้ว
  • ระยะที่ III เป็นระยะที่พบเซลล์มะเร็งในต่อมน้ำเหลืองของช่องท้องแล้ว แบ่งย่อยเป็น 3 ระยะ คือ
    - IIIA มะเร็งกินถึงชั้นกล้ามเนื้อและพบมะเร็งในต่อมน้ำเหลือง 1-3 ต่อม หรือ มะเร็งยังไม่กินถึงชั้นกล้ามเนื้อและพบเซลล์มะเร็งในต่อมน้ำเหลือง 4-6 ต่อม
    - IIIB มะเร็งทะลุผนังชั้นนอกของลำไส้และพบมะเร็งในต่อมน้ำเหลือง 1-3 ต่อม หรือ มะเร็งยังไม่ทะลุผนังชั้นนอกของลำไส้และพบมะเร็งในต่อมน้ำเหลือง 4-6 ต่อม หรือ มะเร็งกินชั้นกล้ามเนื้อเข้าไปเล็กน้อยแต่พบมะเร็งในต่อมน้ำเหลือง 7 ต่อมขึ้นไป
    - IIIC มะเร็งทะลุผนังชั้นนอกของลำไส้และพบมะเร็งในต่อมน้ำเหลือง 4-6 ต่อม หรือ มะเร็งยังไม่ทะลุผนังชั้นนอกของลำไส้และพบมะเร็งในต่อมน้ำเหลือง 7 ต่อมขึ้นไป หรือ มะเร็งกระจายเข้าไปในอวัยวะข้างเคียงและพบมะเร็งในต่อมน้ำเหลือง 1-3 ต่อม
  • ระยะที่ IV เซลล์มะเร็งกระจายไปยังอวัยวะอื่นที่อยู่ไกลออกไป เช่น ปอด ตับ ผนังช่องท้อง รังไข่ โดย
    - IVA พบเพียงแห่งเดียว
    - IVB พบมากกว่า 1 แห่ง

การรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่

ลำไส้ใหญ่เป็นอวัยวะที่สามารถตัดออกได้เป็นท่อนยาว ๆ มะเร็งลำไส้ใหญ่จึงมีโอกาสรักษาให้หายขาดได้ถ้าโรคยังไม่แพร่กระจายไปไกล ที่แย่ที่สุดคือกรณีที่ก้อนอยู่ที่ลำไส้ตรง (Rectum) หรือที่ทวารหนัก อาจยากที่จะเย็บลำไส้ส่วนที่เหลือเข้าหากัน ศัลยแพทย์จึงต้องยกลำไส้ขึ้นมาเปิดที่หน้าท้องเป็นทวารเทียม แต่การมีทวารเทียมไม่ใช่เรื่องแปลกหรือผิดปกติ ผู้ป่วยจำนวนมากสามารถใช้ชีวิตได้เป็นปกติโดยมีทวารเทียมอยู่

การรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่มีการพัฒนาไปมากในปัจจุบัน สาเหตุที่มีการแบ่งระยะย่อยออกไปอีกก็เพื่อตอบสนองต่อวิธีการผ่าตัดและการให้ยาแบบต่าง ๆ รวมทั้งการพยากรณ์โรค ในที่นี้จะขอสรุปแนวทางการรักษาอย่างคร่าว ๆ เท่านั้น

  • ระยะที่ 0 การตัดติ่งเนื้อออก หรือตัดรอยโรคพร้อมด้วยเนื้อเยื่อข้างเคียงอีกเล็กน้อย ก็เพียงพอที่จะทำให้หายขาด
  • ระยะที่ I ต้องตัดลำไส้ส่วนนั้นพร้อมกับเนื้อเยื่อทั้งสองข้างออกแล้วต่อใหม่ อัตราการมีชีวิตรอดหลังรักษาแล้ว 5 ปี (5-year survival rate) มีสูงถึง 93%
  • ระยะที่ II-III ต้องตัดลำไส้ที่มีก้อนมะเร็งออกทั้งท่อน และเลาะต่อมน้ำเหลืองที่สงสัยออกให้หมด บวกกับการให้เคมีบำบัด และอาจต้องใช้รังสีรักษาด้วยถ้าเป็นมะเร็งที่ทวารหนัก อัตราการมีชีวิตรอดหลังรักษาแล้ว 5 ปี ในระยะ IIA ยังมีสูงถึง 78%
  • ระยะที่ IV ระยะนี้การรักษาที่ดีที่สุดคือการประคับประคองอาการ ผู้ป่วยอาจมีอาการของระบบอื่นที่มะเร็งกระจายไปด้วย เช่น ท้องมาน ดีซ่าน ไอหรือหอบเหนื่อย ปวดกระดูก กรณีที่เกิดภาวะลำไส้อุดตันเพราะก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่มากอาจต้องได้รับการผ่าตัดเพื่อแก้ไขภาวะดังกล่าว

การป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่

เราอาจไม่สามารถแก้ไขปัจจัยเสี่ยงทางกรรมพันธุ์ และอายุที่มากขึ้นได้ แต่เราสามารถลดปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตได้ เช่น ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มสุรา หมั่นออกกำลังกายอยู่เสมอ ไม่ทานเนื้อสัตว์ที่มีสีแดง, เนื้อสัตว์แปรรูป และเนื้อสัตว์ที่ผ่านการปิ้ง ย่าง หรือทอด มากเกินไปในคนที่อายุมากขึ้น

การผ่าตัด adenomatous polyps หรือโรค ulcerative colitis ออกก็ช่วยป้องกันการเกิดเป็นมะเร็งในภายหลัง

มีหลายการวิจัยพบว่าอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระจะช่วยยับยั้งการกลายพันธุ์ของเซลล์มะเร็งได้ เช่น ธัญพืช ผัก ผลไม้ และกระเทียม

สัดส่วนของอาหารที่เหมาะสมในคนปกติคือ เมื่อแบ่งอาหารในแต่ละมื้อออกเป็น 3 ส่วน

  • 1 ใน 3 ควรเป็นกลุ่มของอาหารที่ให้พลังงานหลัก ได้แก่ ข้าว เผือก มัน เมล็ดธัญพืช และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากธัญพืช เช่น เต้าหู้
  • 1 ใน 3 ควรเป็นผักและผลไม้
  • 1 ใน 3 ควรเป็นกลุ่มของโปรตีนจากเนื้อสัตว์ ปลา ไข่ นม และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อสัตว์ รวมกับกลุ่มของของหวานและไอศกรีม โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มของหวานน้อยกว่า ในมื้อที่ทานโปรตีนจากเนื้อสัตว์มากแล้วก็ไม่ควรจะมีของหวาน