การเอกซเรย์พบก้อนในปอดเป็นเรื่องที่น่าหนักใจของแพทย์และผู้จ่ายค่ารักษา เพราะการพิสูจน์ว่าก้อนนั้นเป็นอะไรก็ดูจะเสี่ยงอันตรายและมีค่าใช้จ่ายมากพอควร ปัญหานี้ถ้าผู้ป่วยไม่เข้าใจอาจเกิดความเข้าใจผิดกันได้
ความจริงก้อนในปอดพบได้ค่อนข้างบ่อย ประมาณกันว่าในทุก ๆ 500 ภาพของเอกซเรย์ทรวงอกธรรมดาจะพบลักษณะที่คล้ายก้อนในปอดได้ 1 ภาพ แต่การประเมินรายละเอียดของก้อนและอวัยวะข้างเคียงในปอดต้องอาศัยการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ของทรวงอก ก้อนที่ไม่เห็นโพรงอากาศหรือเงาของหินปูนจากภาพเอกซเรย์ธรรมดาอาจเห็นได้จากภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ซึ่งโพรงอากาศภายในบ่งบอกว่าเป็นฝีหรือการติดเชื้อ ควรสืบหาสาเหตุของการติดเชื้อแทน และหินปูนบ่งบอกว่าเป็นก้อนที่เกิดขึ้นมานานแล้ว ไม่น่าที่จะเป็นเนื้อร้าย ดังนั้นแม้การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ของทรวงอกจะมีราคาแพงแต่ก็เป็นมาตรฐานการตรวจขั้นต้นของก้อนในปอดที่มีขนาดเล็กที่ผู้ป่วยยังไม่มีอาการอะไร ยกเว้นผู้ป่วยจะมีภาพเอกซเรย์ทรวงอกเก่าในระยะเวลา 1-2 ปี แล้วพบว่าก้อนมีขนาดไม่เปลี่ยนแปลง
สำหรับก้อนที่มีขนาดน้อยกว่า 8 มิลลิเมตร แพทย์จะประเมินปัจจัยเสี่ยงจากอายุ ประวัติการสูบบุหรี่ ประวัติการเป็นมะเร็ง แล้วติดตามการเปลี่ยนแปลงของก้อนตามระยะเวลาดังนี้
ส่วนก้อนที่มีขนาด 8-30 มิลลิเมตร ภาพเอกซเรย์ทรวงอกเก่าและการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ทรวงอกในปัจจุบันยิ่งมีความสำคัญในการร่วมประเมินความเสี่ยง ก้อนที่ใช้เวลามากกว่า 1 ปีในการโตขึ้นเป็น 2 เท่า (doubling time > 1 ปี) หรือมีขอบเรียบและภายในเป็นเงาทึบเท่ากันจัดว่ามีความเสี่ยงต่ำ ขณะที่ก้อนที่ขอบขรุขระ ขนาดใหญ่ และเนื้อภายในมีความเข้มไม่เท่ากันมีแนวโน้มจะเป็นเนื้อร้าย การจัดการกับก้อนจะเริ่มเข้มข้นขึ้นเพราะพบว่าร้อยละ 20-30 ของผู้ป่วยมะเร็งปอดมาพบแพทย์ครั้งแรกด้วยก้อนเดี่ยวในปอดในขนาดที่สามารถผ่าตัดให้หายขาดได้ แต่การจัดการยังคงขึ้นกับความเสี่ยง ดังนี้
สำหรับก้อนเดี่ยวที่มีขนาดมากกว่า 30 มิลลิเมตร หรือ 3 เซนติเมตร หลังการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ทรวงอกแล้วพบว่าเป็นก้อนเนื้อจริง ควรทำการตรวจหาเซลล์มะเร็งด้วยวิธีการเหล่านี้
- ตรวจเสมหะอย่างน้อย 3 ครั้ง
- เจาะน้ำในช่องปอด (ถ้ามี)
- ตรวจชิ้นเนื้อของต่อมน้ำเหลืองข้างคอ (ถ้ามี)
- ส่องกล้องในหลอดลม (อาจคีบชิ้นเนื้อมาตรวจด้วย)
- เจาะตรวจชิ้นเนื้อด้วยเข็มผ่านทางทรวงอก (ถ้าก้อนอยู่ใกล้ผนังทรวงอก)
- ผ่าตัดทรวงอก (กรณีที่ประเมินแล้วว่าก้อนรวมทั้งเนื้อปอดสามารถตัดออกได้)
จะเห็นว่า กว่าจะแน่ใจว่าก้อนในปอดนั้นไม่ใช่เนื้อร้ายก็กินเวลาและมีค่าใช้จ่ายมากถ้าไม่มีเอกซเรย์เก่ามาช่วยเปรียบเทียบ ก้อนที่ปอดหากไม่ใช่มะเร็ง มีโอกาสเป็นไปได้ 3 ทาง คือ
เนื้องอกร้ายที่ปอด (Malignant lung tumors)
เนื้องอกร้ายที่ปอดอาจมีกำเนิดมาจากภายในปอดเอง หรือเป็นเนื้อร้ายที่กระจายมาจากอวัยวะอื่น หากเป็นก้อนเดี่ยวก็มักเป็นมะเร็งของปอดเอง หากพบมีหลายก้อนก็มักเป็นมะเร็งที่กระจายมาจากที่อื่น
มะเร็งของปอดส่วนใหญ่ตั้งต้นจากบริเวณเยื่อบุหลอดลม ในประเทศไทยพบมากเป็นอันดับสองรองจากมะเร็งตับ สาเหตุอาจเป็นเพราะยังมีผู้ที่สูบบุหรี่หรือเคยสูบบุหรี่สะสมอยู่มาก ขณะที่ประเทศที่มีการรณรงค์ไม่สูบบุหรี่อย่างได้ผลมีอัตราการเกิดมะเร็งปอดลดน้อยลงเรื่อย ๆ ขณะที่อัตราการเกิดมะเร็งปอดในเพศหญิงค่อย ๆ เพิ่มสูงขึ้นจนเกือบจะเท่าเพศชาย ซึ่งอาจเป็นจากปัจจัยการสูดควันบุหรื่มือสอง หรือปัจจัยจากมลภาวะอื่น ๆ คนที่ไม่สูบบุหรี่ก็มีโอกาสเป็นมะเร็งปอดได้
มะเร็งปอดแบ่งง่าย ๆ ออกเป็น 2 กลุ่มตามวิธีการรักษา
- กลุ่มเซลล์ขนาดเล็ก (Small cell lung cancer) พบได้ประมาณ 10-15% กลุ่มนี้เซลล์จะเจริญเติบโตและแพร่กระจายได้รวดเร็วกว่ามะเร็งปอดชนิดอื่น ๆ ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว การรักษาจะไม่ใช้วิธีการผ่าตัด ส่วนมากจะตอบสนองดีกับเคมีบำบัด และ/หรือ การฉายรังสี
- กลุ่มไม่ใช่เซลล์ขนาดเล็ก (Non-small cell lung cancer) ได้แก่มะเร็งปอดชนิดอื่น ๆ เช่น squamous cell carcinoma, adenocarcinoma, ฯลฯ กลุ่มนี้พบรวมกันได้บ่อยกว่ามะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก แต่จะแพร่กระจายได้ช้ากว่า และสามารถรักษาให้หายได้โดยการผ่าตัดหากพบตั้งแต่เนิ่นๆ
อาการของมะเร็งปอด
โดยทั่วไปมะเร็งปอดในระยะเริ่มต้นมักไม่แสดงอาการ แต่เมื่อโรคลุกลามแล้ว อาจพบอาการดังต่อไปนี้
- ไอเรื้อรัง ไอมีเลือดปน
- เหนื่อยง่าย หายใจเร็ว หายใจมีเสียงหวีด
- ติดเชื้อในปอดบ่อย ๆ
- น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
- เสียงแหบ
- มีก้อนแข็ง ๆ เกิดขึ้นที่ฐานคอ เหนือกระดูกไหปลาร้า
- เจ็บบริเวณหน้าอกตลอดเวลา
เมื่อโรคลุกลามจนกดทับหลอดเลือดดำใหญ่ในช่องอกจะทำให้เกิดอาการบวมที่ใบหน้า ลำคอ และแขน มักพบเกิดกับแขนขวามากกว่าแขนซ้าย
ระยะของมะเร็งปอด
ระยะของมะเร็งปอดชนิดเซลล์ขนาดเล็ก แบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่
- ระยะจำกัด (Limited stage) เป็นระยะที่เซลล์มะเร็งจำกัดอยู่เฉพาะในบริเวณปอดเท่านั้น
- ระยะแพร่กระจาย (Extensive stage) เป็นระยะที่เซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย
ระยะของมะเร็งปอดกลุ่มไม่ใช่เซลล์ขนาดเล็ก แบ่งเป็น 4 ระยะใหญ่ ๆ คือ
- ระยะที่ I พบมะเร็งเฉพาะที่บริเวณปอดเท่านั้น ไม่พบในต่อมน้ำเหลือง และยังไม่มีการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง
- ระยะที่ II เป็นระยะที่เซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองที่ขั้วปอดหรือที่ผนังทรวงอก
- ระยะที่ III เซลล์มะเร็งมีการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองในบริเวณอื่นที่ห่างจากปอด หรือบริเวณกลางช่องอก (mediastinum) หรือปอดอีกข้างหนึ่ง หรือต่อมน้ำเหลืองเหนือกระดูกไหปลาร้า หรือมีเนื้องอกมากกว่า 1 ก้อนในปอด หรือมีของเหลวที่มีเซลล์มะเร็งอยู่ในช่องอก
- ระยะที่ IV เซลล์มะเร็งได้กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น ตับ กระดูก สมอง
การรักษามะเร็งปอด
แนวทางการรักษามะเร็งปอดคือ ผ่าตัดเมื่อยังผ่าตัดได้ หลังจากนั้นจึงพิจารณารักษาต่อเนื่องด้วยรังสีรักษา และ/หรือยาเคมีบำบัด ถ้าผ่าตัดไม่ได้อาจให้ยาเคมีบำบัด และ/หรือรังสีรักษา เพื่อให้ก้อนยุบลงบ้าง ส่วนเมื่อโรคแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นแล้ว การรักษามักเป็นการประคับประคอง ไม่ให้ชีวิตที่เหลือต้องทุกข์ทรมาณมากจนเกินไป
มะเร็งปอดเป็นมะเร็งที่รุนแรงมากโรคหนึ่ง โอกาสที่จะรักษาให้หายขาดมีน้อยหากไม่ติดตามก้อนในปอดตั้งแต่ยังมีขนาดเล็ก อัตราการมีชีวิตรอดหลังรักษาแล้ว 5 ปี ในระยะที่ I-II มีประมาณ 20-50%, ในระยะที่ III มีเพียง 5-15%, และในระยะที่ IV มักมีชีวิตอยู่ได้อีกประมาณ 1 ปี
การป้องกันมะเร็งปอด
แม้ในปัจจุบันจะไม่มีวิธีใดที่สามารถป้องกันมะเร็งปอดได้ 100% แต่การไม่สูบบุหรี่ก็เป็นวิธีหนึ่งที่ลดอุบัติการณ์ของการเกิดมะเร็งปอดได้มาก