เนื้องอกที่เยื่อหุ้มปอด (Pleural tumors)
เยื่อหุ้มปอดมี 2 ชั้น ชั้นนอกหนากว่า อยู่ติดผนังทรวงอก ชั้นในบาง หุ้มผิวปอดแต่ละข้างแล้วยังแทรกเข้าไปห่อแต่ละกลีบปอดให้แยกจากกันอีก ระหว่างชั้นนอกกับชั้นในเป็นช่องสุญญากาศเรียกว่า "ช่องเยื่อหุ้มปอด" ช่องซ้าย-ขวาไม่ต่อกัน ช่องนี้ปกติจะมองไม่เห็นในเอกซเรย์ธรรมดา ยกเว้นในภาวะที่มีน้ำ หนอง เลือด อากาศ อยู่ในช่องเยื่อหุ้มปอด หรือมีพังผืด ก้อนเนื้อ ที่เยื่อหุ้มปอดชั้นใดชั้นหนึ่ง
เนื้องอกของเยื่อหุ้มปอดพบได้น้อยและวินิจฉัยค่อนข้างยาก เพราะเยื่อหุ้มปอดทั้งชั้นนอก ชั้นใน และช่องเยื่อหุ้มปอดหนารวมกันเพียง 0.2-0.44 มิลลิเมตร เนื้องอกในบริเวณนี้ระยะเริ่มแรกจึงเล็กมาก อีกทั้งการตัดชิ้นเนื้อก็ทำได้ลำบาก ส่วนใหญ่ต้องผ่าตัดเปิดทรวงอกเข้าไปตัด
เนื้องอกไม่ร้ายที่เยื่อหุ้มปอด (Benign pleural tumors)
เนื้องอกไม่ร้ายที่เยื่อหุ้มปอดส่วนใหญ่ไม่มีอาการ (พวกที่มีอาการมักเป็นน้ำ ฝี หนอง เลือด ที่ขังอยู่ในช่องเยื่อหุ้มปอด ซึ่งในหน้านี้จะไม่รวมเรียกเป็นเนื้องอก) เนื้องอกไม่ร้ายที่เยื่อหุ้มปอดได้แก่
- ก้อนไขมัน (Pleural lipoma) เป็นเนื้องอกไม่ร้ายที่พบบ่อยที่สุด ลักษณะจะเห็นไม่ชัดจากเอกเรย์ทรวงอกธรรมดา แต่ในเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ก้อนจะมีความเข้มเท่ากับเนื้อเยื่อไขมันบริเวณอื่น และไม่มี contrast enhancement ถ้ามี enhancing septa ภายในก้อนให้สงสัย Liposarcoma ต้องทำการตรวจชิ้นเนื้อ
- ก้อนไฟโบรมา (Pleural fibroma) พบ < 5% ของเนื้องอกที่เยื่อหุ้มปอดทั้งหมด ส่วนใหญ่จะเอกซเรย์พบโดยบังเอิญในคนสูงอายุ เพราะไม่มีอาการอะไร ร้อยละ 80 โตมาจากเยื่อหุ้มปอดชั้นใน ประมาณ 2-4% ของเนื้องอกชนิดนี้จะหลั่ง insulin-like growth factor จึงอาจทำให้มีน้ำตาลในเลือดต่ำ และอีกประมาณ 20% จะตรวจพบลักษณะของ hypertrophic osteoarthropathy ด้วย คือมีนิ้วปุ้ม (clubbing) และ periosteal reaction ของเอกซเรย์กระดูกท่อนยาว ซึ่งส่วนใหญ่ก็ไม่เจ็บไม่ปวด หากผลชิ้นเนื้อเป็น pleural fibroma ก็ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดออก ยกเว้นก้อนใหญ่มากจนมีอาการไอ เหนื่อย หรือเจ็บอก
- ก้อนเนื้อม้าม (Pleural splenosis) เป็นเนื้อเยื่อของม้ามซึ่งบางครั้งขึ้นไปฝังอยู่ในเยื่อหุ้มปอดหลังเกิดอุบัติเหตุจนม้ามแตก สามารถวินิจฉัยได้จากการทำ scintigraphy ด้วย 99mTc heat-damaged tagged erythrocytes
- ก้อนเนื้อเทียม (Pleural pseudotumor) เป็นน้ำที่ขังอยู่ระหว่างกลีบปอด มักพบในผู้ป่วยโรคตับแข็ง ไตวาย หัวใจล้มเหลว ลักษณะจะเหมือนเลนส์ ทอดตัวตามแนวกลีบปอด แต่พอให้ยาขับปัสสาวะก้อนก็จะแบนลงจนหายไปในเวลาไม่กี่วัน
เนื้องอกร้ายที่เยื่อหุ้มปอด (Malignant pleural tumors)
เนื้องอกร้ายที่เยื่อหุ้มปอดอาจมีกำเนิดมาจากเยื่อหุ้มปอดเองหรือเป็นเนื้อร้ายที่กระจายมาจากอวัยวะอื่น ที่พบบ่อยได้แก่
- มะเร็งเมโสเธลิโอมา (Pleural mesothelioma) เป็นมะเร็งของเยื่อหุ้มปอดโดยตรง พบน้อยมาก ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีประวัติสัมผัสกับฝุ่นแร่ใยหิน (asbestos) ซึ่งมาจากวัสดุก่อสร้างและเครื่องใช้ในสมัยก่อนที่มีแร่ใยหินผสม เช่น กระเบื้องมุงหลังคา กระเบื้องแผ่นเรียบและฝ้าเพดาน สเปรย์ฉีดเคลือบโครงสร้างเหล็ก ฉนวนกันความร้อน ท่อน้ำประปาแบบซีเมนต์ พลาสติกขึ้นรูปต่างๆ กระดาษแร่ใยหิน ชุดกันไฟ กระเบื้องยางไวนิลสำหรับปูพื้น ผ้าคลัทช์ ผ้าเบรก วงแหวน แผ่นรองในรถยนต์ สารยึดในยางมะตอย วัตถุดิบในการทำหินเจียร และประเก็น เป็นต้น แต่หลังมีพ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ได้มีการห้ามนำเข้าแร่ใยหิน และห้ามลูกจ้างทำงานที่มีปริมาณฝุ่นแร่ใยหินในบรรยากาศเกินกว่า 5 เส้นใยต่ออากาศ 1 ลูกบาศก์เซนติเมตร โรคนี้จึงพบน้อยลงมาก
อาการของมะเร็งเมโสเธลิโอมาที่เยื่อหุ้มปอด
อาการมักเกิดในช่วงอายุ 60-70 ปี เพราะในระยะเริ่มต้นมักไม่แสดงอาการ เมื่อโรคเป็นมากขึ้นจึงจะพบอาการดังต่อไปนี้
- เหนื่อยง่าย อัตราการหายใจเร็วกว่าคนปกติแม้ในขณะพัก
- เจ็บหน้าอก เจ็บหลัง เจ็บชายโครง
- ไอแห้ง ๆ เรื้อรัง ระยะหลังอาจมีเลือดปน
- น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
- มีไข้เป็น ๆ หาย ๆ มักมีเหงื่อออกตอนกลางคืน
- มีก้อนแข็ง ๆ เกิดขึ้นที่ฐานคอ เหนือกระดูกไหปลาร้า หรือที่หน้าอก
เมื่อโรคลุกลามจนกดทับหลอดเลือดดำใหญ่ในช่องอกจะทำให้เกิดอาการบวมที่ใบหน้า ลำคอ และแขน มักพบเกิดกับแขนขวามากกว่าแขนซ้าย
ความจริงมะเร็งเมโสเธลิโอมาร้อยละ 15 พบได้ที่เยื่อบุช่องท้องอีกแห่งหนึ่ง อาการจะเป็นลักษณะปวดท้อง ท้องโต เบื่ออาหาร การขับถ่ายเปลี่ยนไป ซีดลง มีไข้ น้ำหนักลด
การวินิจฉัยมะเร็งเมโสเธลิโอมา
การวินิจฉัยเริ่มจากเอกซเรย์ทรวงอกพบเยื่อหุ้มปอดหนาและดูเหมือนมีก้อนในปอดแต่ขอบไม่ชัด (รูปซ้ายมือ) เมื่อทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์จะพบเยื่อหุ้มปอดหนาแบบขรุขระ รวมทั้งส่วนที่อยู่ระหว่างกลีบปอด (รูปขวามือ) ถัดไปแพทย์จะทำการตัดชิ้นเนื้อที่เยื่อหุ้มปอด ซึ่งอาจใช้วิธีเจาะเข้าทางผิวหนังหรือผ่าตัดเปิดทรวงอก หากมีน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอดก็จะส่งตรวจเซลล์วิทยา (cytology) ด้วย ผลชิ้นเนื้ออาจใช้เวลานานกว่า 1 สัปดาห์เพราะต้องย้อมพิเศษ ถ้าเป็นสถาบันการแพทย์ขนาดใหญ่แพทย์อาจตรวจเลือดหาระดับของ soluble mesothelin related peptides (SMRPs) ซึ่งเป็น tumor marker ของมะเร็งชนิดนี้
พยาธิวิทยาของมะเร็งเมโสเธลิโอมาแบ่งเป็น Epithelioid, Sarcomatoid, และ Biphasic mesothelioma Epithelioid เป็นชนิดที่ดีที่สุด Sarcomatoid เป็นพวกที่ไม่ค่อยตอบสนองต่อการรักษา
ระยะของมะเร็งเมโสเธลิโอมา
- ระยะที่ I พบมะเร็งเฉพาะที่เยื่อหุ้มปอดข้างใดข้างหนึ่ง ถ้ากินแค่เยื่อหุ้มปอดชั้นนอกเป็นระยะ IA ถ้ากินถึงเยื่อหุ้มปอดชั้นในแล้วจะเป็นระยะ IB โดยต้องไม่พบเซลล์มะเร็งในต่อมน้ำเหลือง และยังไม่มีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น
- ระยะที่ II พบมะเร็งที่เยื่อหุ้มปอดข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง แต่กินเข้าถึงเนื้อปอดหรือกล้ามเนื้อกระบังลม โดยไม่พบเซลล์มะเร็งในต่อมน้ำเหลือง และยังไม่มีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น
- ระยะที่ III พบมะเร็งที่เยื่อหุ้มปอดและในต่อมน้ำเหลืองของทรวงอก หรือมะเร็งลามไปถึงอวัยวะอื่นในทรวงอก (หลอดลม เมดิแอสตินัม ผนังทรวงอก หัวใจ)
- ระยะที่ IV เซลล์มะเร็งได้กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น กระดูกซี่โครง กระดูกสันหลัง เยื่อบุช่องท้อง เส้นประสาท หรือพบเซลล์มะเร็งในน้ำหุ้มหัวใจ (pericardial effusion)
การรักษามะเร็งเมโสเธลิโอมา
มะเร็งเมโสเธลิโอมาไม่ค่อยตอบสนองต่อการรักษา แนวทางการรักษาคือ ผ่าตัดเมื่อยังผ่าตัดได้ หลังจากนั้นจึงพิจารณารักษาต่อเนื่องด้วยรังสีรักษา และ/หรือยาเคมีบำบัด ถ้าผ่าตัดไม่ได้พยากรณ์โรคจะไม่ดี แพทย์อาจให้ผู้ป่วยเลือกที่จะรับรังสีรักษาหรือยาเคมีบำบัด หากผู้ป่วยไม่มีปัญหาสุขภาพด้านอื่นแพทย์อาจแนะนำยายับยั้งการเจริญของหลอดเลือด (Anti-angiogenesis) ตัว bevacizumab (Avastin®) โดยหวังให้เซลล์มะเร็งขาดเลือดไปเลี้ยง ถ้าโรคแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นแล้ว การรักษามักเป็นการประคับประคอง ไม่ให้ชีวิตที่เหลือต้องทุกข์ทรมาณมากจนเกินไป ยากระตุ้นภูมิคุ้มกัน (Immunotherapy) เป็นอีกทางเลือกหนึ่งเพื่อให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น แต่ในปัจจุบันยังมีราคาแพงมาก ทางเลือกอื่น ๆ เช่น Gene Therapy, Photodynamic Therapy ยังมีผู้ทดลองใช้กับมะเร็งชนิดนี้ไม่มาก และผลการรักษาก็ยังไม่ค่อยดี
มะเร็งเมโสเธลิโอมาเป็นมะเร็งที่รุนแรงมากโรคหนึ่ง โอกาสที่จะรักษาให้หายขาดมีน้อย อัตราการมีชีวิตรอดหลังรักษา ระยะที่ I - 2 ปี, ระยะที่ II - 20 เดือน, ระยะที่ III - 17 เดือน, ระยะที่ IV - 15 เดือน ผู้ป่วยที่จะรอดชีวิตอยู่ได้เกิน 3 ปีมีเพียง 10%
การหลีกเลี่ยงไม่ใช้หรือเกี่ยวข้องกับวัสดุที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบจะลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคนี้ได้
- มะเร็งระบบน้ำเหลืองที่เยื่อหุ้มปอด ร้อยละ 20 ของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด non-Hodgkin's lymphoma จะมีน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด ซึ่งเราแค่รักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองด้วยยาเคมีบำบัด น้ำในช่องเยื่อหุ้มปอดก็จะลดลงไปเอง อีกประเภทหนึ่งคือก้อนมะเร็งของระบบน้ำเหลืองที่เยื่อหุ้มปอดโดยตรง (Primary pleural lymphoma) หายากมาก มักพบในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น เป็นโรคเอดส์ เป็นวัณโรคปอด ลักษณะเอกซเรย์จะคล้ายมะเร็งเมโสเธลิโอมา แยกจากกันโดยการตัดชิ้นเนื้อดูพยาธิวิทยา การรักษาเช่นเดียวกับมะเร็งต่อมน้ำเหลืองทั่วไป
- มะเร็งเยื่อหุ้มปอดชนิดซาร์โคมา เป็นมะเร็งที่กลายพันธุ์มาจากเนื้องอกไม่ร้าย เช่น Lipoma กลายมาเป็น Liposarcoma, Fibroma กลายมาเป็น Fibrosarcoma, และพวก Synovial sarcoma ที่เยื่อหุ้มปอด ทั้งหมดนี้พบไม่มาก และต้องวินิจฉัยจากการตัดชิ้นเนื้อ การรักษาจะใช้ทั้งเคมีบำบัด ฮอร์โมน Endostatin และยายับยั้งการเจริญของหลอดเลือด Sunitinib รวมกัน
- มะเร็งเยื่อหุ้มปอดที่กระจายมาจากอวัยวะอื่น (Pleural metastasis) เป็นมะเร็งของเยื่อหุ้มปอดที่พบบ่อยที่สุด ส่วนใหญ่กระจายมาจากมะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งกระดูก ลักษณะมักแสดงออกในรูปน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด คนไข้จะมีอาการเหนื่อย เจ็บหน้าอกข้างที่มีน้ำ หากพบเซลล์มะเร็งในน้ำต้องเอกเรย์คอมพิวเตอร์ทั้งทรวงอกและช่องท้องหาอวัยวะตั้งต้นของมะเร็ง การรักษามะเร็งระยะแพร่กระจายคือการให้ยาเคมีบำบัดเป็นหลัก อาจร่วมกับการผ่าตัด (ถ้าผ่าได้) และรังสีรักษา แต่ระยะยาวโรคมักไม่หายขาด
บรรณานุกรม
- Binit Sureka, et. al. 2013. "Radiological review of pleural tumors." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Indian J Radiol Imaging. 2013 Oct-Dec; 23(4): 313–320. (25 ตุลาคม 2561).
- Francoise Galateau-Salle, et. al. 2015. "The 2015 World Health Organization Classification of
Tumors of the Pleura: Advances since the 2004
Classification." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา J Thorac Oncol 11(2): 142-154. (25 ตุลาคม 2561).
- Mary C. Dynes, et. al. 1992. "Imaging manifestations of pleural tumors." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา RSNA.org. (25 ตุลาคม 2561).
- A Churg, et. al. "Tumours of the Pleura." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา iarc.fr. (25 ตุลาคม 2561).
- Jayanth Keshavamurthy, et. al. "Pleural tumours." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Radiopaedia.org. (25 ตุลาคม 2561).
- "Pleural Mesothelioma." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Asbestos.com. (25 ตุลาคม 2561).