วิตามินดี (Calciferol)

วิตามิน D เป็นสารประกอบ secosteroids ที่มีในอาหารไม่กี่ชนิด แต่ร่างกายเราสามารถสร้างวิตามินดีได้เองที่ผิวหนังเมื่อโดนแสงแดด แสง UVB (Ultraviolet B) และความร้อนจะเปลี่ยน 7-dehydrocholesterol ที่ผิวหนังให้เป็น cholecalciferol (vitamin D3) การได้รับแสงแดดจัด ๆ ครั้งละ 5-30 นาที สองครั้ง/สัปดาห์ ก็พอที่จะทำให้ร่างกายสร้างวิตามินดีขึ้นมาใช้โดยไม่จำเป็นต้องได้รับวิตามินดีจากอาหารเลย

วิตามินดีในอาหารส่วนใหญ่อยู่ในรูป ergocalciferol (vitamin D2) อาหารที่ให้วิตามินดีสูงได้แก่ ปลาทู ปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน นม นมถั่วเหลือง เต้าหู้ โยเกิร์ต ไข่ และเห็ดชิตาเกะ เนื่องจากเป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน การดูดซึมจะดีขึ้นเมื่อมีอาหารไขมันอยู่ด้วย หากในร่างกายมีวิตามินดีพอแล้ว วิตามินดีส่วนเกินจากอาหารจะถูกขับออกทางน้ำดี

โครงสร้างของวิตามิน D2 และ D3 คล้ายกันมาก ต่างกันเพียง D2 มี double bond ที่ตำแหน่ง C22-23 และมี methyl group ที่ C24 แต่ D3 ไม่มี

ทั้งวิตามิน D2 และ D3 เป็นสารตั้งต้นที่ร่างกายเอาไปสร้างฮอร์โมน 1,25-dihydroxyvitamin D3 (1,25(OH)2D3) โดยขั้นตอนแรกตับจะเปลี่ยน D2 และ D3 เป็น 25-hydroxyvitamin D (25(OH)D หรือ calcidiol) จากนั้นด้วยการสนับสนุนของฮอร์โมนพาราไทรอยด์ ไตจะเติมไฮดอกซี่ลงไปอีก 1 โมเลกุล กลายเป็นฮอร์โมน 1,25-dihydroxyvitamin D3 หรือ calcitriol ฮอร์โมนนี้มีหน้าที่ควบคุมสมดุลของแคลเซียมและฟอสฟอรัสในร่างกาย

หน่วยวัดปริมาณวิตามินดี

ในอาหารเราวัดเป็นไมโครกรัม (mcg) ของ calciferol

ในเลือดเราวัดระดับของ 25(OH)D เป็น nmol/L และ ng/mL (ตามแล็บแต่ละที่)
โดย 1 nmol/L = 0.4 ng/mL หรือ 1 ng/mL = 2.5 nmol/L
(1,25(OH)2D3 มีค่าครึ่งชีวิตสั้น และระดับในเลือดถูกควบคุมโดยฮอร์โมนพาราไทรอยด์ แคลเซียม และฟอสเฟต จึงไม่ใช่ตัวชี้วัดที่ดี)

ส่วนในเม็ดยา ซึ่งมีทั้งวิตามิน D2 และ D3 จะใช้ IU โดย 1 IU = 0.025 mcg หรือ 1 mcg = 40 IU

บทบาทของวิตามินดี

Calcitriol เป็นวิตามินดีที่ออกฤทธิ์เหมือนฮอร์โมน (แต่ไม่ได้สร้างจากต่อมไร้ท่อเหมือนฮอร์โมนอื่น ๆ) มีหน้าที่

  1. ช่วยฮอร์โมนพาราไทรอยด์เพิ่มระดับแคลเซียมในเลือด โดย
    • เพิ่มการดูดซึมแคลเซียมจากทางเดินอาหาร
    • เพิ่มการดึงแคลเซียมกลับจากทางเดินปัสสาวะ
    • เพิ่มการสลายแคลเซียมออกมาจากกระดูก
    เมื่อระดับแคลเซียมในเลือดเป็นปกติแล้ว ฮอร์โมนพาราไทรอยด์จะหลั่งน้อยลง calcitriol ในเลือดจะลดระดับลงอย่างรวดเร็ว
    ** เราไม่อยากได้ผลข้อสุดท้าย ดังนั้นการรับประทานวิตามินดีแบบเม็ดเสริมการดูดซึมแคลเซียมจึงไม่แนะนำในปัจจุบัน เว้นแต่ผู้ป่วยมีโรคกระดูกพรุน
  2. รักษาสมดุลของฟอสฟอรัสในเลือด โดยเพิ่มการขับฟอสฟอรัสออกทางไตเมื่อมีการสลายแคลเซียมออกจากกระดูก เพราะฟอสฟอรัสจะออกมาด้วย
  3. ช่วยปรับการเจริญเติบโตของเซลล์ โดยควบคุมการแบ่งตัว การเติบโตเป็นเซลล์เฉพาะด้าน และการตายของเซลล์เมื่อหมดอายุขัย โดยเฉพาะเซลล์เม็ดเลือดขาวที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน
  4. ช่วยการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ
  5. ช่วยลดการอักเสบในร่างกาย

แหล่งของวิตามินดีในธรรมชาติ

แสงแดดเป็นแหล่งของวิตามิน D ที่ดีที่สุด ยิ่งตำแหน่งของประเทศไทย (ละติจูดที่ 5-20°) การตากแดดทั้งตัวในช่วงเวลา 10.30 น. จะได้วิตามินดีถึง 2250-2500 IU/นาทีที่ตากแดด! [14] ดังนั้น การได้รับแสงแดดในบางส่วนของร่างกาย นานครั้งละ 5-30 นาที เพียงสองครั้ง/สัปดาห์ ก็พอที่จะทำให้ร่างกายสร้างวิตามินดีขึ้นมาใช้โดยไม่จำเป็นต้องได้รับวิตามินดีจากอาหารเลย

สำหรับผู้ที่ไม่ค่อยมีโอกาสสัมผัสแดด อาหารที่มีวิตามินดีสูงมีเพียงไม่กี่ชนิด ส่วนใหญ่จะอยู่ในเนื้อปลา นม ไข่แดง และเห็ดบางชนิด เช่น เห็ดชิตาเกะ

การปรุงอาหารด้วยความร้อนสูง โดยเฉพาะการทอด อบ เวฟ เป็นเวลานาน จะทำให้วิตามินดีหายไปร้อยละ 20-50

ร่างกายต้องการวิตามินดีรวมวันละ 20 mcg (800 IU) แต่ต้องการจากอาหารเพียงวันละ 5 mcg (200 IU) ในผู้สูงอายุจะต้องการจากอาหารเพิ่มขึ้นเพราะถูกแดดน้อย แนะนำให้ได้จากอาหาร 10-15 mcg (400-600 IU)

ผู้สูงอายุอาจขอรับการตรวจระดับวิตามินดี 25(OH)D ในเลือดดูว่าอยู่ในภาวะขาดหรือไม่ หากไม่ขาดไม่ควรรับประทานวิตามินดีเสริม หากขาดอาจเสริมด้วยวิตามินดีขนาด 400 IU วันละครั้ง

ภาวะขาดวิตามินดี

การขาดวิตามิน D เป็นเวลานาน ๆ จะทำให้เป็นโรคกระดูกอ่อน ในเด็กเรียกโรค Rickets ในผู้ใหญ่เรียกโรค Osteomalacia โรคนี้กระดูกจะค่อย ๆ อ่อนลง (ไม่ใช่บางลง) นานเข้ากระดูกจะโก่งงอผิดรูป เวลาขยับจึงปวดเนื้อปวดตัว อาจมีกล้ามเนื้อต้นขาอ่อนแรง ทำให้ลุกยืนยาก และเดินกางขาเตาะแตะเหมือนเด็ก 1-2 ขวบ กระดูกที่อ่อนลงอาจรับน้ำหนักไม่ไหว ทำให้มีกระดูกหัก โรคนี้มักพบในเด็กที่ขาดอาหาร ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของการดูดซึมอาหาร และในคนสูงอายุที่อยู่แต่ในบ้านหรือมีผิวคล้ำ เพราะคนผิวคล้ำจะผลิตวิตามินดีได้น้อยกว่าคนผิวขาว

การวินิจฉัยอาศัยเอกซเรย์และระดับ 25(OH)D ในเลือด <30 nmol/L (<12 ng/mL) ผลอื่นที่ช่วยสนับสนุนโรคนี้ได้แก่ การเพิ่มขึ้นของ alkaline phosphatase และ parathyroid hormone ในเลือด, การลดลงของระดับแคลเซียมและฟอสฟอรัสในเลือด

การรักษาโดยให้วิตามินดีแบบเม็ด ขนาด 800-2000 IU รับประทานทุกวัน เป็นเวลาอย่างน้อย 2 เดือน จากนั้นติดตามระดับ 25(OH)D จนกว่าจะถึงระดับ 50 nmol/L (20 ng/mL) ค่อยลดขนาดลงเหลือสัปดาห์ละครั้ง ระวังอย่าให้ระดับ 25(OH)D >125 nmol/L (>50 ng/mL) เพราะอาจเกิดพิษของวิตามินดี

พิษของวิตามินดี

พิษของวิตามิน D ทำให้เกิดภาวะแคลเซียมสูงในเลือด ซึ่งเป็นอันตรายต่อการทำงานของหัวใจ ไต และระบบประสาท พิษของวิตามินดีพบได้น้อยมาก เพราะการสร้างวิตามินดีของผิวหนังสามารถปรับปริมาณมากน้อยได้เองตามความต้องการของร่างกาย แม้คนที่ทำงานกลางแจ้งทั้งวันก็ไม่เคยมีใครเกิดพิษของวิตามินดี พิษของวิตามินดีมักพบในผู้ที่รับประทานวิตามินดีเสริมในปริมาณสูงทั้งที่ตนเองไม่ได้ขาดวิตามินดี หรือในผู้ที่ชอบรับประทานวิตามินบำรุงซ้อนกันหลายขนานจนวิตามินที่ละลายในไขมัน (เอ ดี อี เค) สะสมในร่างกาย และเกิดพิษในที่สุด

บรรณานุกรม

  1. "Vitamin D." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา British Nutrition Foundation. (10 มีนาคม 2563).
  2. "Nutrition Requirements." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา British Nutrition Foundation. (30 มกราคม 2563).
  3. "Unit Conversions." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา USDA. (1 กุมภาพันธ์ 2563).
  4. "Thai RDI." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา กระทรวงสาธารณสุข. (1 กุมภาพันธ์ 2563).
  5. "Vitamin D." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Wikipedia. (12 กุมภาพันธ์ 2563).
  6. "Vitamin D." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา whfoods.org. (12 กุมภาพันธ์ 2563).
  7. "Vitamin D." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา NIH. (12 กุมภาพันธ์ 2563).
  8. "Vitamin D." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Mayo Clinic. (12 กุมภาพันธ์ 2563).
  9. "Endocrine Control of Calcium and Phosphate Homeostasis." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา VIVO pathophysiology. (16 กุมภาพันธ์ 2563).
  10. "Vitamin D." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Oregon State University. (16 กุมภาพันธ์ 2563).
  11. Daisy Whitbread. 2019. "Top 10 High Vitamin D Foods." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา MYFOODDATA. (31 มกราคม 2563).
  12. Larry E. Johnson. 2019. "Vitamin D Deficiency and Dependency." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา MSD Manual. (12 กุมภาพันธ์ 2563).
  13. Larry E. Johnson. 2019. "Vitamin D Toxicity." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา MSD Manual. (12 กุมภาพันธ์ 2563).
  14. "UV and Vitamin D calculators." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา VitaminDWiki. (16 กุมภาพันธ์ 2563).