แบคทีเรีย
แบคทีเรียเป็นจุลชีพชั้นต่ำ (Prokaryote) มีขนาด 0.5-10 ไมครอน ไม่มีนิวเคลียส ไมโตครอนเดรีย และไลโซโซม อย่างที่พบในพวกยูคาริโอต แต่มีผนังเซลล์ (cell wall) หุ้มเยื่อหุ้มเซลล์ (cell membrane) อีกชั้นหนึ่งเพื่อต้านทานแรงดันออสโมสิส และบางชนิดยังมีแคปซูลหุ้มผนังเซลล์อีกชั้นหนึ่งด้วย ซึ่งผนังเซลล์แบบแบคทีเรียนี้ไม่พบในพวกยูคาริโอต ผนังเซลล์ของแบคทีเรียมีโครงสร้างที่สลับซับซ้อน แต่สามารถแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ได้เป็น 2 กลุ่มคือ ผนังเซลล์ที่ติดสีกรัม (หรือแกรม หรือ Gram stain ในภาษาอังกฤษ) กับผนังเซลล์ที่ไม่ติดสีกรัม นอกจากนั้นการที่ไม่มีไมโตครอนเดรียทำให้ขบวนการสร้างและใช้พลังงานของแบคทีเรียต่างออกไปจากสัตว์ชั้นสูง สองโครงสร้างหลักที่แตกต่างจากคนนี้จึงเป็นตำแหน่งที่ยาปฏิชีวนะ (antibiotics) ออกฤทธิ์ในการฆ่าแบคทีเรียโดยไม่เป็นอันตรายต่อเซลล์ของคนมากนัก
กาฝากของแบคทีเรียคือไวรัส ไวรัสที่อาศัยอยู่ในเซลล์ของแบคทีเรียเรียกว่า แบคทีริโอฝาจ (bacteriophage) ซึ่งนักวิจัยได้ใช้หาตัวแบคทีเรียที่ก่อโรคในห้องปฏิบัติการ และกำลังอยู่ในระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ที่จะนำมาใช้รักษาและป้องกันโรคติดเชื้อแบคทีเรียในอนาคต
ชนิดของแบคทีเรีย
นักวิทยาศาสตร์ยังไม่แน่ใจในจำนวนสายพันธุ์ของแบคทีเรียที่มีอยู่บนโลก เนื่องจากตัวมันมีขนาดเล็ก ยากที่จะจำแนกความแตกต่าง (ซึ่งมีอยู่มากมายในแง่โครงสร้าง วิธีการใช้พลังงาน และวิธีการดำรงชีวิต) แต่พอจะประมาณได้คร่าว ๆ ว่ามีกว่า 100,000 สายพันธุ์ ในจำนวนนี้มีเพียงร้อยกว่าสายพันธุ์เท่านั้นที่สามารถก่อให้เกิดโรคในคนบางคนได้ แบคทีเรียส่วนใหญ่มีชีวิตอยู่ได้อย่างอิสระในธรรมชาติ และมีประโยชน์อย่างมากในการย่อยสลายของเสีย แบคทีเรียอีกหลายชนิดยังผลิตสารที่จำเป็นต่อร่างกายของมนุษย์ และอีกหลายชนิดที่เรานำมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร
ในกลุ่มของแบคทีเรียที่ก่อโรค เราสามารถจำแนกชนิดของแบคทีเรียขั้นต้นจากการย้อมสีกรัม คือ กรัมบวก (gram positive) เห็นเป็นสีน้ำเงินในกล้องจุลทรรศน์ และกรัมลบ (gram negative) เห็นเป็นสีแดงในกล้องจุลทรรศน์ และยังแยกตามรูปร่างได้อีก เป็นพวกที่มีทรงกลม (coccus), พวกที่มีรูปร่างเป็นแท่ง (bacillus), และพวกที่มีรูปร่างเป็นเกลียว มีผนังเซลล์บิดไปมาได้ (spirochete) การจำแนกในขั้นต้นนี้ช่วยให้แพทย์เลือกกลุ่มของยาปฏิชีวนะที่ควรให้ ก่อนที่ผลการเพาะเชื้อจะกลับมาในอีก 3-7 วันถัดมา
ในสารบัญโรคติดเชื้อของเว็บไซต์นี้ได้แยกแบคทีเรียพวกสไปโรขีทออกไปอยู่ในกลุ่มของเชื้ออื่น ๆ เพราะมีคุณสมบัติหลายอย่างที่แตกต่างจากแบคทีเรียทรงกลมและทรงแท่ง อีกทั้งยังทำให้เกิดโรคที่มีอาการหลายระยะ กินเวลาห่างกันนานเป็นเดือนถึงหลายปี ซึ่งแตกต่างจากโรคของแบคทีเรียโดยทั่วไปที่ทำให้เกิดโรคในลักษณะเฉียบพลันเท่านั้น
นอกจากนั้น แบคทีเรียยังอาจแบ่งกลุ่มตามความต้องการออกซิเจนในการเจริญเติบโตได้เป็น 4 กลุ่ม คือ
- แบคทีเรียที่เจริญได้ในที่มีอากาศเท่านั้น (obligate aerobe) จัดเป็นกลุ่มที่ก่อโรคในคนมากที่สุด
- แบคทีเรียที่เจริญในที่ไม่มีอากาศเท่านั้น (obligate anaerobe) เช่น พวก Clostridium spp.
- แบคทีเรียที่เจริญได้ทั้งที่มีและไม่มีอากาศ (facultative anaerobe) เช่น E. coli, Salmonella enteritidis
- แบคทีเรียที่เจริญได้ดีในที่มีอากาศเล็กน้อย (microaerophile) เช่น Campylobacter spp., Helicobacter pylori เป็นต้น
ความรู้เหล่านี้ช่วยให้แพทย์เลือกวิธีการเพาะเชื้อตามคุณสมบัติของเชื้อต่าง ๆ ที่ต้องสงสัย เพื่อให้ได้ผล "ลบลวง" (false negative) น้อยที่สุด
แบคทีเรียก่อโรคได้อย่างไร
แบคทีเรียทำให้เกิดโรคในคนได้ 3 วิธีคือ
- โดยสารพิษที่มันสร้างขึ้นจากนอกเซลล์ (exotoxin หรือ enterotoxin) สารพิษเหล่านี้จะรบกวนเนื้อเยื่อนอกเซลล์ รวมทั้งยับยั้งสารเคมีที่ส่งผ่านระหว่างเซลล์ ตัวอย่างเช่น เชื้ออหิวาต์ เชื้อดิบทีเรียที่ทำให้เกิดโรคคอตีบ เชื้อคลอสไตรเดียมที่ทำให้เกิดโรคหนังเน่าและโรคโบทูลิซึม เป็นต้น
- โดยสารพิษของมันเมื่อมันแทรกเข้าไปภายในเซลล์ได้แล้ว (endotoxin) สารพิษเหล่านี้จะกระตุ้นปฏิกิริยาทางภูมิคุ้มกันของเซลล์ให้มีการหลั่งสารเคมีต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดภาวะช็อก (ความดันโลหิตต่ำ ระบบแข็งตัวของเลือดเสียไป น้ำภายในเซลล์รั่วออกมาข้างนอก ฯลฯ) หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า "เซ็บติกช็อก" (septic shock) ซึ่งเป็นภาวะที่อันตรายมาก
- โดยตัวแบคทีเรียเองทำหน้าที่เป็นแอนติเจนกระตุ้นให้มีการอักเสบ และเกิดปฏิกิริยาทางภูมิคุ้มกัน (มีการสร้างแอนติบอดีเฉพาะสายพันธุ์ หรือถ้าเคยสร้างแอนติบอดีเฉพาะไว้แล้วก็จะเรียกให้แอนติบอดีมาจับตัวแบคทีเรียสายพันธุ์นั้น) ปฏิกิริยาการอักเสบนี้เองที่ทำให้เรารู้สึกมีไข้ ไม่สบายตัว และเจ็บบริเวณที่ติดเชื้อ
จะเห็นว่าอาการป่วยที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียส่วนใหญ่มาจากปฏิกิริยาการต่อสู้เชื้อโรคของเราเอง แต่ความรุนแรงอาจมากน้อยต่างกันตามแต่ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นในแต่ละคน ด้วยเหตุนี้โรคติดเชื้อแบคทีเรียจึงมักเป็นเฉียบพลัน และเกิดได้กับทุกคนแม้ระบบภูมิคุ้มกันจะเป็นปกติ
วิธีดื้อยาของแบคทีเรีย
การใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาโรคที่เพียงสงสัยว่าอาจเกิดจากการติดเชื้ออย่างใดอย่างหนึ่ง โดยไม่ได้แยกแยะก่อนว่าเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียจริงหรือไม่ รวมทั้งการหยุดรับประทานยาเมื่ออาการป่วยดีขึ้น เพื่อเก็บยาไว้ทานในครั้งต่อไป เหล่านี้ทำให้แบคทีเรียหลายชนิดสามารถปรับตัวเองให้ทนต่อยาปฏิชีวนะได้ และยาไม่สามารถฆ่าแบคทีเรียและรักษาโรคได้อีกต่อไป
กลไกการปรับตัวของแบคทีเรียเมื่อได้รับยาปฏิชีวนะเท่าที่ทราบ มี 4 แบบ คือ
- แบคทีเรียใช้พลังงานจาก ATP ลำเลียงยาปฏิชีวนะที่เข้ามาในเซลล์ให้ออกไปนอกเซลล์ เป็นการลดความเข้มข้นของยาปฏิชีวนะภายในเซลล์ ทำให้ยาไม่สามารถเข้าไปถึงเป้าหมายได้ ตัวอย่างเช่น เชื้อ E. coli, Enterobacteriaceae ที่ดื้อต่อยา Tetracycline และ Chloramphenicol
- แบคทีเรียสร้างเอนไซม์ที่สามารถเปลี่ยนแปลงยาหรือย่อยยา ทำให้ยาปฏิชีวนะไม่สามารถออกฤทธิ์ได้ ตัวอย่างเช่น เชื้อ S. aureus ที่ดื้อต่อยา Penicillin จะเปลี่ยนยาเพนิซิลลินให้เป็นกรด penicilloic ที่ไม่ฤทธิ์ในการทำลายหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย
- แบคทีเรียสร้างผนังเซลล์ที่หนาขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้ยาปฏิชีวนะเข้าไปในเซลล์หรือเข้าไปได้น้อยลง ตัวอย่างเช่น เชื้อ S. aureus สายพันธุ์ที่ดื้อต่อยา Vancomycin
- มีการเปลี่ยนแปลงของสารพันธุกรรมในเซลล์แบคทีเรีย และถ่ายทอดยีนดื้อยานี้ไปสู่ลูกหลาน รวมทั้งแบคทีเรียสายพันธุ์อื่นที่อยู่ในบริเวณเดียวกัน วิธีนี้อันตรายมาก เพราะทำให้เกิดการกลายพันธุ์ของแบคทีเรีย
ดังนั้น การจะใช้ยาปฏิชีวนะทุกครั้งจึงควรได้รับการตรวจจากแพทย์ และแพทย์เป็นผู้สั่งยาเอง (ไม่ใช้ผู้ป่วยเป็นผู้ขอ) และควรรับประทานจนหมดชุดทุกครั้ง