ยากลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs)
หากพูดถึงยากลุ่ม NSAIDs (Non-steroidal Anti-inflammatory drugs) หรือยาต้านการอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ หลายคนอาจจะไม่รู้จัก แต่ถ้าเอ่ยถึงยาตัวใดตัวหนึ่งในกลุ่มในนี้รับรองว่าต้องมีคนเคยใช้หรือเคยได้ยินชื่อแน่ (อาทิเช่น แอสไพริน พอนสแตน บรูเฟน โวลทาเรน ฯลฯ) ยากลุ่มนี้ใช้กันอย่างแพร่หลายในทางการแพทย์ เนื่องจากสามารถลดไข้ บรรเทาปวด และลดอาการอักเสบได้ดี ยาหลายตัวยังมีรูปแบบฉีด สำหรับใช้ระงับอาการไข้เฉียบพลันหรืออาการปวดที่รุนแรงได้อย่างรวดเร็ว
ที่มาและการออกฤทธิ์:
ตามปกติ เมื่อเนื้อเยื่อของร่างกายผิดปกติ ถูกโจมตี หรือได้รับบาดเจ็บ ร่างกายจะสร้าง Arachidonic acid ขึ้นมาจาก Phospholipids ที่เยื่อหุ้มเซลล์ โดยอาศัยเอ็นไซม์ Phospholipase A2 จากนั้น Arachidonic acid ก็จะถูกเอ็นไซม์ Cyclooxygenase (COX) และ 5-Lipoxygenase (LOX) เปลี่ยนไปเป็น Prostaglandins และ Leukotrienes ตามลำดับ
Prostaglandins นี่เองที่ทำให้เกิดการอักเสบ ปวด บวม และมีไข้ (ดูรูปนิ้วมือทางขวาสุด) ยากลุ่มเอ็นเสดออกฤทธิ์ยับยั้งเอ็นไซม์ Cyclooxygenase จึงทำให้การสร้าง Prostaglandins ลดลง และเป็นที่มาของประสิทธิภาพในการแก้ปวด ลดไข้ และต้านการอักเสบของยากลุ่มนี้
แต่เอ็นไซม์ Cyclooxygenase ที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบมี 2 isoform คือ COX-1 และ COX-2 โดยที่เอ็นไซม์ COX-1 เป็น constitutive form พบในภาวะปกติ มีหน้าที่ดูแลสมดุลของร่างกาย โดยจะเปลี่ยน Arachidonic acid ให้เป็น Thromboxane A2 (TxA2), Prostaglandin E2 (PGE2) และ Prostacyclin (PGI2) ร่วมกันทำหน้าที่ควบคุมการจับกลุ่มกันของเกล็ดเลือดเพื่อมิให้เลือดออกมากเกินไป ควบคุมสมดุลน้ำโดยคุมปริมาณเลือดที่ไปที่ไต และยับยั้งการหลั่งกรดเพื่อไม่ให้ผิวกระเพาะถูกทำลายจากการผิดเวลาอาหาร (ดูตัวอักษรสีเขียว) ในขณะที่เอ็นไซม์ COX-2 เป็น inducible form คือจะทำให้เกิดขบวนการอักเสบเมื่อร่างกายได้รับบาดเจ็บหรือผิดปกติ ยากลุ่มเอ็นเสดดั้งเดิมออกฤทธิ์ยังยั้งทั้ง COX-1 และ COX-2 จึงทำให้ไปทำลายสมดุลของร่างกายด้วย ผลคือทำให้เกิดแผลในกระเพาะและเลือดออกในทางเดินอาหาร ทำให้บวมน้ำ เกิดภาวะไตอักเสบ และต้านการแข็งตัวของเกล็ดเลือด (ดูตัวอักษรสีฟ้า)
ด้วยเหตุนี้ในปลายศตวรรษที่ 20 จึงมีการพัฒนายากลุ่มที่ออกฤทธิ์ยับยั้งเฉพาะเอ็นไซม์ COX-2 ขึ้น โดยหวังจะลดผลข้างเคียงจากยากลุ่มเอ็นเสดเดิม ยากลุ่มใหม่นี้เรียกว่า "ยาต้านค็อกส์ทู" (COX-2 Inhibitors หรือ coxibs) แต่ทว่าภายหลังกลับพบอันตรายต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดจนถูกถอนทะเบียนยาไปหลายตัวหลังจากวางตลาดได้ไม่นาน ยาที่เหลือในกลุ่มต้านค็อกส์ทูนี้จึงถูกเฝ้าระวังความปลอดภัยมากขึ้น
จะทราบได้อย่างไรว่ายาแก้ปวดที่ใช้เป็นยากลุ่มเอ็นเสดหรือไม่
น่าเสียดายที่ชื่อกลุ่มยามิได้ถูกบังคับให้ต้องตีพิมพ์บนบรรจุภัณฑ์ยา บนบรรจุภัณฑ์ยากำหนดไว้แต่ว่าต้องระบุชื่อสามัญของยาไว้คู่กับชื่อทางการค้า แต่ผู้ใช้สามารถตรวจสอบได้ในฉลากยาที่อยู่ภายในกล่องก่อนใช้ ชื่อกลุ่มยาเอ็นเสดอาจเขียนเป็น "NSAID" หรือ "Non-steroidal anti-inflamatory drug" หรือเขียนทับศัพท์เป็นภาษาไทยว่า "เอนเสด", "เอนเซด", "เอ็นเสด", "เอ็นเซด", "เอ็นเสดส์" อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือถ้าจะให้ดีควรสอบถามเภสัชกร แพทย์ หรือพยาบาลถึงชื่อกลุ่มยา วิธีใช้ และผลข้างเคียงที่ควรระวังก่อนรับยาแก้ปวดไปใช้ทุกครั้ง
ยาในกลุ่มเอ็นเสดดั้งเดิมมีมากมายหลายขนาน รูปข้างล่างนี้แสดงชื่อกลุ่มย่อยตามสูตรเคมีและชื่อสามัญของยาภายในกลุ่มนั้น ด้วยความหวังว่าจะเป็นข้อมูลบางส่วนให้ผู้ใช้ทราบว่ากำลังใช้ยาในกลุ่มนี้กรณีที่ในฉลากยาไม่ได้ให้รายละเอียดของชื่อกลุ่ม
การใช้ยากลุ่มเอ็นเสดดั้งเดิมที่เหมาะสม
ยาในกลุ่มเอ็นเสดทั้งหมดมีข้อบ่งใช้เหมือนกัน ต่างกันแต่เพียงความแรงในการออกฤทธิ์ (ซึ่งทำให้ขนาดยาแตกต่างกัน) ความยาวในการออกฤทธิ์ (ซึ่งทำให้วิธีใช้แตกต่างกัน) และความรุนแรง/พบบ่อยของผลข้างเคียง หากจะแจกแจงตามกำไร (= [ประโยชน์ - โทษ] / ราคา) จากมากไปหาน้อยแล้ว ยากลุ่มเอ็นเสดจะมีข้อบ่งใช้ดังนี้
- ใช้เพื่อลดการอักเสบ ยากลุ่มนี้ใช้บรรเทาอาการอักเสบทุกชนิดได้ดีมาก ทั้งการอักเสบเฉียบพลันที่เกิดจากการบาดเจ็บ การติดเชื้อ หรือความผิดปกติของภูมิคุ้มกัน และการอักเสบเรื้อรัง โดยเฉพาะการอักเสบของข้อ เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์, โรคข้ออักเสบในเด็ก (Juvenile idiopathic arthritis), โรค Ankylosing spondylitis
- ใช้เพื่อบรรเทาอาการปวด ยากลุ่มเอ็นเสดนี้ลดอาการปวดได้ไม่ดีเท่ากลุ่มนาร์โคติก (Narcotics) แต่ไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงทางสมอง (ง่วง ซึม กดการหายใจ) และการติดยา อย่างไรก็ตาม ฤทธิ์แก้ปวดของมันแรงกว่าของยาพาราเซตามอล โดยมันไปยับยั้งการสร้าง Prostaglandins ทั้งที่บริเวณระบบประสาทส่วนกลางและส่วนปลาย สามารถลดอาการปวดจากข้อเข่าเสื่อม ปวดศีรษะไมเกรน ปวดฟัน ปวดท้องประจำเดือน ปวดท้องจากนิ่ว ปวดจากมะเร็ง ตลอดจนอาการปวดจากบาดแผลต่าง ๆ หากใช้ในรูปฉีดจะยิ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะออกฤทธิ์เร็วและไม่ระคายกระเพาะอาหารเหมือนรูปกิน
- ใช้เพื่อลดไข้ ฤทธิ์ในการลดไข้เป็นผลจากการยับยั้งการสร้าง PGE2 ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นศูนย์ควบคุมอุณหภูมิร่างกายที่อยู่บริเวณ Hypothalamus ส่วนหน้า แต่การลดไข้เล็ก ๆ น้อย ๆ ดูจะไม่คุ้มกับผลข้างเคียงและราคายา อีกทั้งควรหลีกเลี่ยงการใช้ยากลุ่ม Salicylates โดยเฉพาะแอสไพรินในเด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปี เพราะอาจเกิดกลุ่มอาการ Reye (ตับและสมองอักเสบ) จนถึงขั้นเสียชีวิตได้
- ใช้เพื่อต้านเกล็ดเลือด ยากลุ่มเอ็นเสดที่มีฤทธิ์ยับยั้งการจับกลุ่มกันของเกล็ดเลือด
(platelet aggregation) อย่างถาวรมีเพียงตัวเดียวคือแอสไพริน ดังนั้นจึงไม่สามารถใช้ยาอื่นในกลุ่มนี้แทนแอสไพรินเพื่อป้องกันหลอดเลือดอุดตันได้ รายละเอียดของยาแอสไพรินในการป้องกันและรักษาภาวะภาวะหลอดเลือดอุดตันดูได้ ที่นี่
- ใช้เพื่อปิด Ductus arteriosus ยาเอ็นเสด 2 ตัวที่พบว่าสามารถปิด Ductus arteriosus ในทารกได้คือ Indomethacin และ Ibuprofen ในรูปฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ แต่ได้ผลประมาณ 70-80% หากไม่ได้ผลแพทย์จะพิจารณาผ่าตัดต่อไป
ผลข้างเคียง พิษของยา และข้อควรระวัง
ประโยชน์ที่ได้รับจากการใช้ยากลุ่มเอ็นเสดมาพร้อม ๆ กับโทษที่เกิดจากการยับยั้ง Prostaglandins ที่ควบคุมสมดุลของร่างกาย ผลข้างเคียงที่พบบ่อยสุดตามลำดับได้แก่
- ผลข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหาร พบได้ถึง 1 ใน 5 ผู้ที่ใช้ยากลุ่มนี้ แม้จะรับประทานหลังอาหารทันทีแล้ว อาการมีตั้งแต่แสบกระเพาะ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องอืด อาหารไม่ย่อย เรอเปรี้ยว ถ่ายเหลว
เกิดแผลในกระเพาะและลำไส้ อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายเป็นเลือดหรือเป็นสีดำ ไปจนถึงกระเพาะและลำไส้ทะลุ ผลข้างเคียงเหล่านี้จะพบมากขึ้นใน
- คนสูงอายุ
- ผู้ที่เคยมีแผลในกระเพาะหรือลำไส้เล็กมาก่อน หรือเคยมีเลือดออกในทางเดินอาหารมาก่อน
- มีการติดเชื้อ Helicobactor pylori ในกระเพาะหรือลำไส้เล็กส่วนต้น
- ผู้ที่มีโรคอื่นที่รุนแรงร่วมด้วย เช่น ตับแข็ง ไตเสื่อม โรคเลือดอื่น ๆ
- ใช้ยาเอ็นเสดร่วมกันตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไป หรือใช้ยาในขนาดสูง
- ใช้ยาเอ็นเสดร่วมกับยาสเตียรอยด์
- ใช้ร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือดกลุ่มอื่น ๆ
การลดผลข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหารส่วนต้นที่ดีที่สุดคือการใช้ยาเอ็นเสดร่วมกับยาลดกรดในกระเพาะชนิด Proton pump inhibitors แต่การใช้ยานี้ไม่สามารถจะ
ป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดแก่ระบบทางเดินอาหารส่วนล่างได้
- ผลข้างเคียงต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด ยากลุ่มเอ็นเสดทุกตัวทำให้เกิดการคั่งของเกลือและน้ำ ในร่างกาย ความดันโลหิตจะสูงขึ้น แต่ส่วนใหญ่ไม่ส่งผลต่อคนปกติมากนัก ผู้ที่จะเกิดอาการบวมน้ำหรือหัวใจวายมักเป็นผู้ที่เป็นโรคหัวใจอยู่ก่อน
- ผลข้างเคียงต่อระบบไตและสมดุลของเกลือแร่ การลดลงของ Prostaglandins ทำให้เลือดไปกรองที่ไตลดลง ค่า creatinine จะสูงขึ้นได้ในวันที่ 3-7 หลังได้รับยา และอาจจะรุนแรงถึงขั้นไตวายเฉียบพลันในผู้ที่มีไตเสื่อมอยู่ก่อน นอกจากนั้นยังอาจเกิดไตอักเสบชนิด interstitial nephritis หรือเกิดกลุ่มอาการ nephrotic syndrome ซึ่งมักจะหายหลังจากหยุดยา
- ผลข้างเคียงต่อตับ ส่วนใหญ่เป็นลักษณะผลเลือดตับผิดปกติ โดยที่ผู้ป่วยไม่มีอาการ และหากหยุดยาผลเลือดตับก็มักจะกลับมาเป็นปกติ
- ผลข้างเคียงต่อระบบทางเดินหายใจ พบว่าประมาณร้อยละ 10-20 ของผู้ป่วยโรคหอบหืดมีอาการหอบหลังได้รับยาแอสไพรินหรือยาในกลุ่มเอ็นเสดดั้งเดิม เรียกกลุ่มอาการนี้ว่า Aspirin-sensitive asthma หรือ
Aspirin-exacerbated respiratory disease (AERD) ซึ่งเชื่อว่าเกิดจากการที่ยาในกลุ่มเอ็นเสดปิดกั้นไม่ให้ Arachidonic acid เปลี่ยนเป็น Prostaglandins จึงทำให้ Arachidonic acid ถูกเปลี่ยนโดยเอ็นไซม์ Lipoxygenase ไปเป็นสารกลุ่ม Leukotrienes ซึ่งมีฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดและหลอดลมหดตัวมากขึ้น
- ผลข้างเคียงต่อระบบผิวหนัง เกิดจากการแพ้ยา มีตั้งแต่เป็นผื่นแดงไปจนถึงผื่นลอกทั้งตัว
- ผลข้างเคียงต่อระบบโลหิต ยาอาจกดไขกระดูกทำให้เกิดไขกระดูกฝ่อ (Aplastic anemia), เม็ดเลือดขาวต่ำและเกล็ดเลือดต่ำได้ แต่ผลข้างเคียงดังกล่าวพบไม่บ่อย
- ผลข้างเคียงต่อระบบประสาทส่วนกลาง พบไม่บ่อย ที่มีรายงานคือทำให้เกิดอาการปวดศีรษะรุนแรง มึนงง สับสน ซึม ซึมเศร้า เห็นภาพหลอน และชัก โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ นอกจากนี้ยังมีรายงานการพบภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบชนิดไม่ติดเชื้อ (Aseptic meningitis) ในผู้ป่วยโรคลูปัสและ Mixed connective tissue ที่ได้รับการรักษาด้วยยากลุ่มเอ็นเสด
ด้วยผลข้างเคียงที่มากมายและมีโอกาสเกิดเพิ่มขึ้นเฉพาะคนดังกล่าว การใช้ยากลุ่มนี้จึงควรให้แพทย์เป็นผู้สั่งจึงจะเหมาะสมที่สุด ไม่ควรซื้อยากลุ่มนี้ใช้เองเพื่อแก้ปวด-ลดไข้ธรรมดา