ยาแอสไพริน (Aspirin)

ยาแอสไพรินเคยเป็นที่นิยมมาก่อนยาพาราเซตามอล เพราะราคาถูก อีกทั้งยังมีฤทธิ์ทั้งแก้ปวด ลดไข้ ต้านการอักเสบ ในขนาดต่ำสามารถต้านการเกาะตัวกันของเกล็ดเลือด ช่วยลดการอุดตันของหลอดเลือดในคนสูงอายุ ป้องกันภาวะครรภ์เป็นพิษในหญิงที่มีความเสี่ยง และในการวิจัยยังพบว่าสามารถลดอัตราการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งมดลูก มะเร็งเต้านม และมะเร็งต่อมลูกหมากด้วย แต่เนื่องจากยาแอสไพรินระคายกระเพาะมากถ้ารับประทานตอนท้องว่าง รวมทั้งอาจเกิดภาวะ Reye syndrome หากใช้ลดไข้ในเด็ก ความนิยมในการใช้เพื่อลดไข้จึงลดลงไปมาก แต่ยังคงมีการใช้เพื่อรักษาอาการปวด บวม จากภาวะอักเสบของข้อ เช่น ไขข้อกระดูกเสื่อม (Osteoarthritis) ไขข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis) และไขข้อกระดูกสันหลังอักเสบ (Ankylosing spondylitis) หรือใช้เพื่อบรรเทาอาการปวดจากสาเหตุอื่น เช่น ปวดประจำเดือน ปวดฟัน ปวดกล้ามเนื้อ และใช้ในขนาดต่ำเพื่อป้องกันหลอดเลือดอุดตันในผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยง

ที่มาและการออกฤทธิ์:

แอสไพริน หรือ Acetyl salicylic acid สกัดมาจากต้นหลิว (willow tree) ผู้ค้นพบเป็นคนแรกเท่าที่มีบันทึกไว้คือ ฮิปโปเครติส (Hippocrates) แพทย์ชาวกรีก ท่านให้สตรีที่กำลังคลอดบุตรดื่มชาจากใบหลิวเพื่อลดความเจ็บปวดตั้งแต่เมื่อ 400 ปีก่อนคริสตกาล ในศตวรรษที่ 18-19 ได้มีการพยายามสกัดสาร salicin จากเปลือกต้นหลิวและดอกมีโดว์สวีท (meadowsweet) แล้วเข้าสู่กระบวนการวิจัยยาทางคลินิก หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง บริษัทไบเออร์ได้รับสิทธิบัตรตัวยา acetyl salicylic acid และผลิตออกจำหน่ายตั้งแต่นั้น

แอสไพรินออกฤทธิ์โดยการยับยั้งเอนไซม์ไซโคลออกซิเจเนส (Cyclooxygenase, COX) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่กระตุ้นให้เกิด Prostaglandin สารนำความเจ็บปวดและขบวนการอักเสบ ขณะที่แอสไพรินขนาดต่ำออกฤทธิ์ยับยั้งการเกิด Thromboxane A2 สารที่ทำให้เกิดการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด ดังนั้น การใช้แอสไพรินเพื่อประโยชน์อันใดต้องคำนึงถึงขนาดยาที่จะได้ผลนั้น ๆ ด้วย

การใช้ยาที่เหมาะสม

  1. ใช้เพื่อลดอาการอักเสบของข้อ
  2. ยาแอสไพรินจัดเป็นยาบรรเทาการข้ออักเสบที่มีประสิทธิภาพและราคาถูก แต่เนื่องจากยาค่อนข้างจะระคายกระเพาะ จึงต้องรับประทานพร้อมอาหารหรือหลังอาหารทันที และควรได้รับการตรวจหาสาเหตุของข้ออักเสบเรียบร้อยแล้ว เพราะบางชนิดรักษาด้วยการผ่าตัด และบางชนิดมียารักษาเฉพาะนอกเหนือไปจากยาแอสไพริน

    ระดับยาในเลือดที่เหมาะสมสำหรับการรักษาโรคข้ออักเสบโดยทั่วไปคือ 150-300 mcg/mL ถ้าเกิน 200 mcg/mL อาจมีพิษจากยา ส่วนระดับยาในเลือดที่เหมาะสมสำหรับการรักษาโรคไข้รูห์มาติก (Rheumatic Fever) คือ 250-400 mcg/mL

    ขนาดยาที่ใช้จะเป็นดังนี้:

    • โรคข้ออักเสบในผู้ใหญ่ (Ankylosing Spondylitis, Osteoarthritis, Rheumatoid arthritis, และ SLE ที่มีข้ออักเสบหรือเยื่อหุ้มปอดอักเสบ) ให้รับประทานวันละ 3 กรัม โดยแบ่งให้หลังอาหารทุกมื้อ
    • โรคข้ออักเสบในเด็ก (Juvenile Rheumatoid Arthritis)
      • อายุ 2-11 ปี หรือน้ำหนัก < 25 kg: ให้ขนาด 60-90 mg/kg/day ในสัปดาห์แรก โดยแบ่งให้หลังอาหารทุกมื้อ จากนั้นเพิ่มเป็น 80-100 mg/kg/day ในสัปดาห์ต่อ ๆ ไป ขนาดยาสูงสุดต่อวันไม่ควรเกิน 5.4 กรัม
      • อายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป หรือน้ำหนัก > 25 kg: ให้รับประทานวันละ 2.4-3.6 กรัมในสัปดาห์แรก โดยแบ่งให้หลังอาหารทุกมื้อ จากนั้นเพิ่มเป็นวันละ 3.6-5.4 กรัมในสัปดาห์ต่อ ๆ ไป
    • โรคไข้รูห์มาติก
      • ในผู้ใหญ่: ให้รับประทาน 80 mg/kg/day ในสัปดาห์แรก จากนั้นลดเหลือ 65 mg/kg/day ในสัปดาห์ที่ 2-6 เมื่ออาการดีขึ้นให้ค่อย ๆ ลดยา (ถอนยา) ในเวลา 1-2 สัปดาห์ ยาควรแบ่งให้ทุก 4-6 ชั่วโมง ขนาดยาสูงสุดต่อวันไม่ควรเกิน 6.5 กรัม
      • ในเด็ก: ให้ขนาด 90-130 mg/kg/day ในสัปดาห์แรก จากนั้นลดเหลือ 65 mg/kg/day ในสัปดาห์ที่ 2-6 เมื่ออาการดีขึ้นให้ค่อย ๆ ลดยา (ถอนยา) ในเวลา 1-2 สัปดาห์ ยาควรแบ่งให้ทุก 4-6 ชั่วโมง ขนาดยาสูงสุดต่อวันไม่ควรเกิน 6.5 กรัม

      และต้องรับยาปฏิชีวนะเพื่อกำจัดเชื้อด้วย

  3. ใช้เพื่อบรรเทาอาการปวดอื่น ๆ ให้รับประทานครั้งละ 325-650 mg (หรือ 10-15 mg/kg ในเด็ก) ซ้ำได้ทุก 4 ชั่วโมงถ้ายังไม่หายปวด ในหนึ่งวันไม่ควรเกิน 4 กรัม ควรใช้ชนิดเม็ดเคลือบเพื่อควบคุมให้มีการปลดปล่อยยาที่ลำไส้เล็ก (enteric-coated tablet) เพื่อลดการระคายเคืองกระเพาะอาหาร และหยุดใช้ยาเมื่ออาการหมดไป
  4. ใช้เพื่อลดไข้   ** ไม่ควรใช้ยาแอสไพรินในเด็กหรือวัยรุ่นที่มีการติดเชื้อไวรัส เนื่องจากอาจทำให้เกิดกลุ่มอาการ Reye syndrome (ตับและสมองอักเสบ) ถึงแม้จะเกิดไม่บ่อยแต่มีความรุนแรงสูงจนอาจเสียชีวิตได้ จึงควรหันไปใช้ยาพาราเซตามอลแทน
  5. ในผู้ใหญ่ให้รับประทานครั้งละ 325-650 mg ซ้ำได้ทุก 4-6 ชั่วโมง ในหนึ่งวันไม่ควรเกิน 4 กรัม

  6. ใช้เพื่อรักษาภาวะหลอดเลือดอุดตันเฉียบพลัน
  7. ไม่ว่าจะเป็นหลอดเลือดสมองหรือหลอดเลือดหัวใจ หากผู้ป่วยไม่เคยได้รับยาแอสไพรินมาก่อน ทันทีที่มีอาการให้ผู้ป่วยเคี้ยวยาแอสไพรินขนาด 300-325 มิลลิกรัม (1 เม็ด) เพื่อให้ระดับยาในเลือดมากพอและเกิดการยับยั้งการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือดอย่างรวดเร็ว จากนั้นจะลดขนาดยาลงเหลือ 160-162.5 mg (ครึ่งเม็ด) วันละครั้ง หลังอาหารเช้า เป็นเวลา 30 วัน แล้วจึงใช้ขนาดเพื่อป้องกันหลอดเลือดอุดตันครั้งใหม่ต่อไป

  8. ใช้เพื่อป้องกันภาวะหลอดเลือดอุดตันในรายที่มีความเสี่ยง
  9. ในผู้ที่เคยมีหลอดเลือดอุดตันมาก่อน ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดหลอดเลือด ผู้ที่ใส่ลิ้นหัวใจเทียม และผู้ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดหลอดเลือดอุดตันในอนาคต ควรรับประทานแอสไพรินขนาด 75-81 mg วันละครั้งตอนเช้า หรือยาที่ต้านการเกาะกลุ่มกันของเกล็ดเลือดตัวอื่นไปตลอด เว้นแต่จะมีข้อห้ามในการใช้ยา

  10. ใช้เพื่อป้องกันภาวะครรภ์เป็นพิษ (Pre-eclampsia) ในหญิงตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยง
  11. สตรีที่มีความเสี่ยงจะเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษได้แก่ ผู้ที่เคยมีครรภ์เป็นพิษมาก่อน มีครรภ์แฝด มีโรคความดันโลหิตสูงมาก่อนที่จะตั้งครรภ์ เป็นเบาหวาน โรคไต หรือโรคออโต้อิมมูนต่าง ๆ (autoimmune diseases) สตรีมีครรภ์เหล่านี้ควรรับประทานแอสไพรินขนาด 81 mg/day ตั้งแต่อายุครรภ์ได้ 12 สัปดาห์ไปจนกระทั่งคลอด แม้จะไม่สามารถป้องกันภาวะครรภ์เป็นพิษได้ 100% แต่สามารถลดอุบัติการณ์ลงได้

  12. ใช้เพื่อป้องกันมะเร็ง ปัจจุบันยังไม่มีข้อบ่งใช้ที่แน่ชัด

ผู้ที่รับประทานยาแอสไพรินในระยะยาว หากต้องเข้ารับการผ่าตัดหรือทำฟันควรหยุดยาก่อนผ่าตัดหรือทำฟันประมาณ 10 วัน

ผลข้างเคียง พิษของยา และข้อควรระวัง

ผลข้างเคียงที่พบบ่อยจากการใช้ยาแอสไพรินคือการระคายเคืองกระเพาะอาหารและเกิดเลือดออกในทางเดินอาหาร ซึ่งสามารถป้องกันหรือบรรเทาได้โดยการรับประทานหลังอาหารทันที หรือรับประทานยาชนิดเคลือบด้วยสารที่ควบคุมการปลดปล่อยตัวยาที่ลำไส้เล็ก (enteric-coated tablet) ผู้ที่เป็นโรคตับหรือดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำจะเกิดผลข้างเคียงนี้ได้บ่อยขึ้นแม้จะใช้ยาแบบ enteric-coated tablet

ผู้ที่แพ้ยาแอสไพรินอาจมีอาการลมพิษขึ้น ตาบวม ปากบวม หายใจลำบาก ซึ่งมักพบในผู้ที่เป็นโรคหอบหืดอยู่ก่อน

นอกจากนั้นยาแอสไพรินยังอาจทำให้เกิดภาวะไตอักเสบและไตเสื่อม ตับอักเสบและน้ำดีคั่ง หูอื้อ เม็ดเลือดลดลง และเลือดออกในสมองในบางราย

พิษของยาแอสไพรินจะเริ่มเกิดเมื่อรับประทานในขนาดที่มากกว่า 150 mg/kg ขึ้นไป โดยจะมีอาการคลื่นไส้อาเจียน เวียนศีรษะ มีเสียงดังในหู หายใจเร็วและลึก (hyperventilation) หัวใจเต้นเร็ว มีไข้ สับสน ชัก โคม่า และหยุดหายใจ การรับประทานยาแอสไพรินเพื่อรักษาข้ออักเสบเป็นเวลานาน ๆ ควรตรวจระดับยาในเลือดเป็นประจำ และแค่มีอาการคลื่นไส้อาเจียนก็ไม่ควรจะรับประทานยาต่อ

ข้อห้ามในการใช้ยาแอสไพริน

  1. ห้ามใช้อย่างเด็ดขาด
    • กำลังมีแผลในกระเพาะอาหาร
    • เป็นโรคที่มีเลือดออกง่ายอยู่แล้ว
    • มีเกล็ดเลือดต่ำ
    • เคยมีเลือดออกในทางเดินอาหารหรือเลือดออกในสมองมาก่อน
    • ไตเสื่อม
    • เป็นโรคตับรุนแรง
    • แพ้ยาแอสไพริน
  2. ไม่แนะนำให้ใช้
    • ผู้ที่อายุต่ำกว่า 21 ปี (เพราะมีความเสี่ยงจะเกิด Reye syndrome)
    • กำลังใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (Anticoagulants)
    • กำลังใช้ยากลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) ตัวอื่น
    • มีความดันโลหิตสูงที่ยังควบคุมไม่ได้ (เพราะเสี่ยงต่อการเกิดเลือดออกในสมอง)