หลักการตรวจสุขภาพ (Health screening)

การตรวจสุขภาพ หมายถึง การตรวจคัดกรองผู้ที่ยังไม่มีอาการหรือการเจ็บป่วยใด ๆ เพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยงหรือโรคในระยะเริ่มแรก อันจะนำไปสู่การป้องกันและรักษาโรคตั้งแต่เนิ่น ๆ รวมทั้งการรับวัคซีนป้องกันโรคที่เหมาะสม และการรับข้อมูลในการดูแลสุขภาพที่ถูกต้อง

การตรวจสุขภาพในแต่ละช่วงวัยนั้นแตกต่างกัน การนัดตรวจสุขภาพในวัยเด็กจะเน้นที่การประเมินพัฒนาการด้านต่าง ๆ และการฉีดวัคซีนตามกำหนด มากกว่าการตรวจเลือดและเอกซเรย์เหมือนในผู้ใหญ่ การตรวจสุขภาพก่อนแต่งงานหรือก่อนมีบุตรจะตรวจทั้งสามีและภรรยา เพื่อคัดกรองโรคทางพันธุกรรมและโรคติดเชื้อที่อาจถ่ายทอดสู่ทารก การตรวจสุขภาพในหญิงมีครรภ์ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า "การฝากครรภ์" ก็จะเฝ้าระวังปัญหาแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์และการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์

ส่วนการตรวจสุขภาพในผู้ใหญ่จะเน้นที่การคัดกรองโรคที่พบบ่อยตามวัยแต่ยังไม่แสดงอาการ การคัดกรองโรคมะเร็งบางชนิด และการตรวจหา 7 ปัจจัยเสี่ยงที่แก้ได้ของโรคหลอดเลือด ได้แก่ ภาวะอ้วน ภาวะก่อนเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง การสูบบุหรี่ การไม่ออกกำลังกาย การรับประทานพืชผักน้อย เนื่องจากโรคหลอดเลือดไม่ว่าที่ใด เมื่อเกิดขึ้นแล้วไม่มีโอกาสครั้งที่สอง อาทิ หลอดเลือดสมองตีบหรือแตกก็จะเป็นอัมพาตถาวร หลอดเลือดหัวใจอุดตันส่วนหนึ่งจะเสียชีวิตระหว่างทาง ส่วนที่มาถึงแพทย์ แม้ได้รับการรักษาแล้วก็ยังจะมีกล้ามเนื้อหัวใจพิการบางส่วน หากเป็นหลอดเลือดที่นิ้วมือนิ้วเท้าตีบตัน นิ้วนั้นจะแห้งตายใช้การไม่ได้อีก ดังนั้น การแก้ไขปัจจัยเสี่ยง 7 ข้อข้างต้นก็จะช่วยลดอุบัติการของผู้ใหญ่ที่พิการลงได้

"การตรวจสุขภาพ" จะไม่รวมถึงการตรวจผู้ที่มาขอปรึกษาแพทย์ด้วยอาการผิดปรกติอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือตรวจผู้ที่มีโรคหรือภาวะเรื้อรังอยู่แล้วเพื่อหาภาวะแทรกซ้อนจากโรคที่เป็นอยู่เดิม การตรวจทั้งสองลักษณะดังกล่าวถือเป็น "การตรวจรักษาโรค" ซึ่งต้องพบแพทย์เพื่อซักประวัติและตรวจร่างกายเป็นลำดับแรกก่อนถึงจะส่งตรวจแล็บ และ/หรือ เอกซเรย์ให้ตรงกับอาการที่มีอยู่ (ขณะที่ "การตรวจสุขภาพ" จะได้พบแพทย์เป็นลำดับสุดท้าย หรือถ้าผลการคัดกรองไม่มีความผิดปกติก็อาจไม่ต้องพบแพทย์เลย)

อนึ่ง ในยุคแห่งการส่งเสริมสุขภาพ บ่อยครั้งที่ผู้ป่วยที่มีแพทย์รักษาโรคประจำตัวอยู่แล้วอาจต้องการตรวจสุขภาพของระบบอื่น เพื่อให้ทราบการทำงานของร่างกายโดยรวม หรือศัลยแพทย์อาจต้องการทราบสุขภาพทั่วไปของผู้ป่วยก่อนเข้ารับการผ่าตัด หรือบริษัท/สถาบันการศึกษา/วัด อาจต้องการให้ตรวจโรคติดต่อบางอย่างที่ไม่แสดงอาการก่อนรับเข้าทำงาน/เรียนต่อ/บรรพชา กรณีเหล่านี้ก็อาจจัดอยู่ในส่วนของ "การตรวจสุขภาพ" ที่ภาครัฐและเอกชนส่วนใหญ่ไม่ให้เบิกค่าใช้จ่ายคืน

การตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมในชุมชน

ระหว่างปีพ.ศ. 2556-2559 กระทรวงสาธารณสุข แพทยสภา สภาวิชาชีพ สถาบันวิชาการ และหน่วยงาน/องค์กรที่เกี่ยวข้องกับการประกันสุขภาพทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ได้ร่วมกันพัฒนาแนวทางการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับคนไทย โดยใช้กระบวนการทางวิชาการที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ ประกอบการเลือกแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย จนได้บทสรุปดังนี้

การตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับกลุ่มวัยเด็กและวัยรุ่น (อายุ 0-18 ปี)


การตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับกลุ่มวัยทำงานและวัยเกษียณ (อายุ 19-80 ปี)

จะเห็นได้ว่าการตรวจสุขภาพประจำปีหรือตามกำหนดนัดหมายไม่จำเป็นต้องมีการตรวจเลือดหรือเอกซเรย์ทุกครั้ง หากแต่มาประเมินน้ำหนักตัว วัดชีพจร วัดความดันโลหิต สอบถามถึงปัญหาและอาการเตือนของโรคที่มักจะเกิดขึ้นในแต่ละวัย ใช้แบบประเมินสุขภาพเพื่อคัดกรองความเสี่ยงของโรคต่าง ๆ รายที่พบปัญหาหรือความเสี่ยงแล้วจึงเข้าสู่กระบวนการรักษาหรือติดตามความเสี่ยงต่อไป

บทสรุป

ตรวจสุขภาพเป็นพื้นฐานสำคัญของการสาธารณสุขของทุกประเทศ มีประโยชน์ในการสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค แต่ทั้งนี้ต้องทำเท่าที่มีหลักฐานยืนยันว่ามีประสิทธิภาพและได้ผลคุ้มค่า จึงจะทำให้ระบบสุขภาพของประเทศดำเนินไปอย่างสมเหตุสมผล ไม่สิ้นเปลืองและสูญเปล่า

ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการประเมินสุขภาพของตนเองและคนในครอบครัวได้ โดยศึกษาแผนการประเมินสุขภาพในวัยต่าง ๆ ใต้เมนู "แนวทางการตรวจสุขภาพ"

บรรณานุกรม

  1. กระทรวงสาธารณสุข. 2559. "แนวทางการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับประชาชน." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา คณะกรรมการพัฒนาการตรวจสุขภาพ พฤษภาคม ๒๕๕๙. (19 พฤศจิกายน 2560).