ชนิดของวัคซีนและข้อควรระวัง (Vaccination)

วัคซีนเริ่มมีการพัฒนาในราวปีค.ศ. 1770 โดยเอดเวิร์ด เจนเนอร์ นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ เป็นผู้สกัดเชื้อ cowpox จากวัวมาฉีดในคนเพื่อป้องกันโรคฝีดาษ (small pox) ได้สำเร็จ ต่อมาจึงมีการตื่นตัวเรื่องวัคซีนและมีการผลิตวัคซีนป้องกันโรคต่าง ๆ ขึ้น

วัคซีนในระยะเริ่มแรกเป็นการนำเชื้อมาทำให้ตาย หรือใช้เชื้อที่อ่อนฤทธิ์มาชักนำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันที่จำเพาะต่อจุลินทรีย์ชนิดนั้น ๆ ต่อมามีการผลิตวัคซีนจากพิษของเชื้อ โดยทำให้พิษนั้นหมดพิษไปก่อนที่จะนำมาฉีดกระตุ้นภูมิ เรียกวัคซีนที่เตรียมจากพิษพวกนี้ว่า "toxoid" ในปัจจุบัน ด้วยองค์ความรู้ทางชีววิทยาระดับโมเลกุลและเทคโนโลยีรีคอมบีแนนต์ จะใช้เพียง "ชิ้นส่วน" ของเชื้อมากระตุ้นภูมิต้านทานแทนตัวเชื้อทั้งหมด เรียกวัคซีนพวกนี้ว่า วัคซีนหน่วยย่อย (subunit vaccine) ชิ้นส่วนนี้รวมถึง mRNA และ DNA ของเชื้อหรือสร้างเลียนแบบเชื้อ เพื่อให้ยีนเหล่านี้สร้างโปรตีนที่เป็นแอนติเจนมากระตุ้นภูมิคุ้มกัน นอกจากนั้นยังมีวัคซีนเชื่อมผนึก (conjugate vaccine) โดยใช้วัคซีนหน่วยย่อยมาเชื่อมผนึกกับโปรตีนหรือท๊อกซอยด์ เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันในเด็กเล็ก

วัคซีนส่วนใหญ่เป็นวัคซีนก่อนสัมผัสโรค คือรับก่อนสัมผัสกับโรค วัคซีนบางส่วนเป็นวัคซีนที่ให้หลังสัมผัสโรคแล้ว เช่น วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า วัคซีนป้องกัน/กระตุ้นภูมิคุ้มกันโรคบาดทะยัก

การรับวัคซีนถือเป็นการป้องกันและกำจัดโรคติดเชื้อที่ได้ผลดีมาก ปัจจุบันโรคฝีดาษได้สูญหายไปจากโลกแล้ว ขณะที่อีกหลายโรค เช่น โปลิโอ กาฬโรค พิษสุนัขบ้า ก็พบน้อยลงมาก แต่มิใช่ทุกโรคติดเชื้อจะสามารถผลิตวัคซีนขึ้นมาได้หมด โรคติดเชื้อที่ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน เช่น มาลาเรีย โรคเอดส์ ฯลฯ ประชาชนยังต้องป้องกันด้วยวิธีที่ทางสาธารณสุขแนะนำกันเอง

ข้อควรระวังในการรับวัคซีน

  1. วัคซีนหลายชนิดสามารถให้พร้อมกันในวันเดียวได้แต่ต้องฉีดในตําแหน่งต่างกัน และไม่นําวัคซีนเดี่ยวมาผสมกับวัคซีนอื่น
  2. ผู้ที่มีไข้ต่ำ ๆ สามารถรับวัคซีนได้ แต่ถ้าไข้สูงควรเลื่อนการฉีดวัคซีนไปก่อนเว้นแต่จะมีความจำเป็นรีบด่วน
  3. วัคซีนชนิดมีชีวิตแต่ถูกทำให้เชื้ออ่อนฤทธิ์ (live-attenuated vaccine) เช่น
    • วัคซีนโปลิโอชนิดรับประทาน (OPV)
    • วัคซีนรวมหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน (MMR)
    • วัคซีน อีสุกอีใส (VZV)
    • วัคซีนวัณโรค (BCG)
    • วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี (ชนิด SA 14-14-2, Chimeric virus)
    • วัคซีนตับอักเสบเอ (ชนิดเตรียมจาก H2 attenuated strain ของ HAV)
    • วัคซีนไทฟอยด์ชนิดรับประทาน
    • วัคซีนโรต้า
    • วัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดพ่นจมูก (cold adapted, live attenuated quadrivalent influenza vaccine; LAIV)
    • วัคซีนงูสวัด
    • วัคซีนไข้เลือดออก
    ห้ามใช้ใน
    • หญิงตั้งครรภ์
    • ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือผู้ที่กําลังได้รับ ยากดภูมิคุ้มกันอยู่
    • ผู้ที่เพิ่งได้รับเลือดหรือผลิตภัณฑ์ของเลือดไม่เกิน 3 เดือน
  4. บริษัทผู้ผลิตวัคซีนไข้เลือดออกเพิ่งมีประกาศออกมาว่า "ควรจะฉีดเฉพาะในคนที่เคยเป็นไข้เลือดออกมาแล้วครั้งหนึ่ง ไม่ควรฉีดในผู้ที่ยังไม่เคยเป็นไข้เลือดออกมาก่อนเลย" เพราะโรคไข้เลือดออกจะมีอาการรุนแรงเมื่อเป็นการติดเชื้อครั้งที่สอง ผู้ที่ยังไม่เคยเป็นไข้เลือดออก การรับวัคซีนเสมือนเป็นการได้รับเชื้อครั้งแรก เมื่อติดเชื้ออีกครั้งก็อาจเกิดโรคขั้นรุนแรงขึ้นได้

วัคซีนที่มีใช้ในปัจจุบัน (บางตัวไม่มีในประเทศไทย)

วัคซีนป้องกันโรคจากเชื้อแบคทีเรีย

วัคซีนป้องกันโรคจากเชื้อไวรัส

บรรณานุกรม

  1. "The History of Vaccines." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา historyofvaccines.org. (20 เมษายน 2564).
  2. "ตารางการให้วัคซีนในเด็กไทย." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย. (20 เมษายน 2564).
  3. "คำแนะนำการให้วัคซีนป้องกันโรคสำหรับผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย (19 เมษายน 2564).