วัคซีนป้องกันโรคไข้เหลือง (Yellow Fever Vaccine)

ไข้เหลืองจัดเป็นโรคในกลุ่มไข้เลือดออกชนิดหนึ่ง เกิดจากเชื้อ Yellow fever virus ซึ่งเป็นไวรัสในกลุ่มฟลาวิไวรัส (Flaviviruses) มียุงลายเป็นพาหะนําโรค สามารถก่อให้เกิดโรคในคนและลิง 2 ใน 3 ของผู้ติดเชื้อไม่มีอาการ ผู้ที่แสดงอาการจะมีไข้สูง ปวดเนื้อปวดตัว คลื่นไส้อาเจียน ตัวเหลืองตาหลือง มีเลือดออกในอวัยวะภายใน ร้อยละ 50 จะเสียชีวิตจากตับวายไตวาย โรคนี้ยังไม่มียารักษา โชคดีที่ยังไม่พบการระบาดในทวีปเอเชียรวมทั้งประเทศไทย

ไข้เหลืองเป็นโรคประจําถิ่นในทวีปแอฟริกาและอเมริกาใต้ ประเทศที่มีความเสี่ยงสูงสุด ได้แก่ โบลิเวีย บราซิล โคลัมเบีย เอกวาดอร์ และเปรู ประมาณว่ามีผู้ป่วย 200,000 ราย และเสียชีวิต 30,000 รายต่อปี ประเทศที่ควรฉีดวัคซีนป้องกันไข้เหลืองก่อนเข้าประเทศได้แก่ประเทศที่ระบายสีเหลืองและสีบานเย็นในรูปข้างต้น สีเทาอ่อนไม่จำเป็น สีเทาเข้มโดยทั่วไปไม่ต้องฉีด แต่อาจยกเว้นในบางกรณี

วัคซีนป้องกันโรคไข้เหลืองที่มีใช้ในปัจจุบันพัฒนาสำเร็จมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1938 โดยนายแพทย์ Max Theiler (ท่านได้รับรางวัลโนเบลในปี ค.ศ. 1951) เป็นวัคซีนชนิดเชื้อเป็นแต่อ่อนฤทธิ์แล้ว (Live attenuated vaccine) ผลิตมาจากเชื้อไวรัสไข้เหลืองสายพันธุ์ 17D ที่เลี้ยงในไข่ไก่ฟักหลายรอบจนอ่อนฤทธิ์ ใช้ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง (subcutaneous) ในขนาด 0.5 mL ครั้งเดียว ถือเป็นความสำเร็จที่แทบไม่ต้องมีการพัฒนาต่อ เพราะเป็นวัคซีนที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคสูง ภูมิคุ้มกันขึ้นเร็วและคงอยู่ยาวนานมาก ร้อยละ 90 จะมีระดับภูมิคุ้มกันที่สามารถป้องกันโรคได้ภายใน 10 วัน และภูมิอยู่นานถึง 20 ปี หรืออาจจะตลอดชีวิต ไม่จำเป็นต้องได้รับการกระตุ้นอีก

ผลข้างเคียงของวัคซีนพบน้อยมาก ส่วนใหญ่จะเกิดในเด็กอายุต่ํากว่า 6 เดือน จึงไม่แนะนําให้ฉีดวัคซีนในเด็กกลุ่มนี้ การแพ้วัคซีนรุนแรง (Anaphylaxis) พบประมาณ 1.8:100,000 โด๊ส ส่วนใหญ่จะเป็นการแพ้สารประกอบในวัคซีนโดยเฉพาะไข่ เพราะวัคซีนไข้เหลืองจะมีปริมาณ ovalbumin เป็นส่วนประกอบมากกว่าวัคซีนตัวอื่น ๆ โดยมีปริมาณ ovalbumin อยู่ระหว่าง 2.43-4.42 μg/mL ผู้ที่มีประวัติแพ้ไข่แต่จำเป็นต้องฉีดวัคซีน แนะนำให้ทำ vaccine skin test (skin prick test หรือ intradermal skin test หรือทำทั้งสองแบบ) หาก skin test เป็นบวก จึงจะให้แบบ intradermal desensitization ครั้งละ 0.1 mL แต่หาก skin test เป็นลบ ผู้ป่วยจะได้รับวัคซีนตามปกติภายใต้การดูแลของทีมแพทย์ที่พร้อมให้ความช่วยเหลือหากเกิดอาการแพ้รุนแรง

ข้อห้ามในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้เหลือง

กระทรวงสาธารณสุขของไทยประกาศรายชื่อประเทศหรือดินแดนที่เป็นเขตระบาดของโรคไข้เหลือง เมื่อปี พ.ศ. 2555 ทั้งหมด 45 ประเทศ ดังนี้

ทวีปอเมริกาใต้ 13 ประเทศ ได้แก่ บราซิล โบลิเวีย โคลอมเบีย เอกวาดอร์ กายอานา เกียนาฝรั่งเศส ปานามา เปรู เวเนซูเอลา ซูรินาเม ตรินิแดดแอนโตเบโก อาร์เจนตินา และปารากวัย

ทวีปแอฟริกา 32 ประเทศ ได้แก่ แองโกล่า เบนิน บูร์กินาฟาโซ บุรุนดิ แคเมอรูน สาธารณรัฐแอฟริกากลาง คองโก โกตดิวัวร์ เอธิโอเปีย แกมเบีย กาบอง กานา กีนี กินีบิสเซา อิเควทอเรียลกินี เคนยา ไลบีเรีย มาลี มอริเตเนีย ราวันดา เซาโตเมและปรินซิเป เซเนกัล เซียร์ราลิโอน โซมาเลีย ซูดาน ชาด โตโก ยูกันดา สาธารณรัฐแทนซาเนีย ซาอีร์ ไนเจอร์ และไนจีเรีย

โดยผู้ที่จะเดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาดของโรค ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนก่อนเดินทางล่วงหน้าอย่างน้อย 10 วัน เพื่อให้ร่างกายมีเวลาสร้างภูมิคุ้มกันสูงเพียงพอที่จะสามารถป้องกันการติดเชื้อได้

หน่วยงานของรัฐที่ให้บริการวัคซีนป้องกันโรคไข้เหลือง ได้แก่

  1. สถาบันบำราศนราดูร กระทรวงสาธารณสุข ถนนติวานนท์ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี
  2. คลินิกเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคและอายุรศาสตร์การท่องเที่ยว สถานเสาวภา สภากาชาดไทย ถนนพระราม 4 เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ
  3. คลินิกเวชศาสตร์ท่องเที่ยวและการเดินทาง โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ถนนราชวิถี เขตราชเทวี กรุงเทพฯ
  4. คลินิกส่งเสริมภูมิคุ้มกันโรค ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โรงพยาบาลศิริราช ถนนพรานนก แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ
  5. กองเวชศาสตร์ป้องกัน กรมแพทย์ทหารอากาศ แขวงคลองถนน เขตสายไหม กรุงเทพฯ
  6. กองเวชกรรมป้องกัน กรมแพทย์ทหารเรือ ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน แขวงบุคคโล เขตธนบุรี กรุงเทพฯ
  7. ที่ทำการแพทย์ตรวจคนเข้าเมือง แจ้งวัฒนะ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 อาคารบี (ชั้น 2 ด้านทิศใต้) ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ
  8. ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ
  9. ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ท่าอากาศยานดอนเมือง ถนนวิภาวดีรังสิต เขตดอนเมือง กรุงเทพฯ
  10. ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ท่าเรือกรุงเทพ แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพฯ
  11. ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ท่าเรือแหลมฉบัง ตำบลทุ่งสหลา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี
  12. ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ท่าเรือศรีราชา ตำบลทุ่งสหลา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี
  13. ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ท่าเรือมาบตาพุด ตำบลห้วยโปร่ง อำเภอเมือง จังหวัดระยอง
  14. ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ท่าเรือภูเก็ต ตำบลตลาดใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต
  15. ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ท่าอากาศยานภูเก็ต ตำบลไม้ขาว อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต
  16. ท่าอากาศยานหาดใหญ่ ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ตำบลคลองหลา อำเภอคลองหอยโข่ง จังหวัดสงขลา
  17. ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ถนนมหิดล ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
  18. ศูนย์วัณโรค เขต 10 ถนนศรีดอนชัย ตำบลช้างคลาน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

หน่วยงานของเอกชนที่ให้บริการวัคซีนป้องกันโรคไข้เหลือง ได้แก่

  1. โรงพยาบาลกรุงเทพ ซอยศูนย์วิจัย 7 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ
  2. โรงพยาบาลกรุงธน 1 ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน แขวงสำเหร่ เขตธนบุรี กรุงเทพฯ
  3. โรงพยาบาลบีเอ็นเอช ถนนคอนแวนต์ สีลม กรุงเทพฯ
  4. โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์อินเตอร์เนชั่นแนล ซอยสุขุมวิท 3 (ซอยนานาเหนือ) เขตวัฒนา กรุงเทพฯ
  5. โรงพยาบาลสมิติเวชสุขุมวิท ซอยสุขุมวิท 49 แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ

บรรณานุกรม

  1. "วัคซีนป้องกันโรคไข้เหลืองกับการแพ้ไข่ (Yellow fever vaccine and egg allergy) ." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย. (26 พฤษภาคม 2564).
  2. "โรคไข้เหลือง (Yellow fever)." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา กระทรวงสาธารณสุข. (26 พฤษภาคม 2564).
  3. "Yellow fever vaccine." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Wikipedia. (26 พฤษภาคม 2564).
  4. J. Gordon Frierson. 2010. "The Yellow Fever Vaccine: A History." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Yale J Biol Med. 2010; 83(2):77–85. (26 พฤษภาคม 2564).
  5. "Yellow Fever." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Rockefeller Foundation. (26 พฤษภาคม 2564).