วัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก (Dengue Vaccine)

โรคไข้เลือดออกเกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี่ (Dengue virus) มี 4 สายพันธุ์ คือ DEN-1, DEN-2, DEN-3 และ DEN-4 พาหะนำโรคคือยุงลาย (Aedes aegypti) ซึ่งจะหากินเวลากลางวันและวางไข่ในน้ำใสนิ่ง หลังการติดเชื้อสายพันธุ์ใดจะเกิดภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์นั้นไปตลอด แต่จะมีภูมิต่อสายพันธุ์อื่นเพียงชั่วคราว ทำให้มีโอกาสติดเชื้อจากสายพันธุ์อื่นได้อีก ปัจจุบันยังไม่มียาฆ่าเชื้อไวรัสเดงกี่ วัคซีนก็ยังไม่พัฒนาเต็มที่ การกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายจึงถือเป็นหัวใจในการควบคุมโรค

การพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกเริ่มตั้งแต่ทศวรรษที่ 1920 แต่ปัญหาคือเรายังไม่ทราบกลไกการทำให้เกิดโรคของไวรัสตัวนี้อย่างดีพอ อีกทั้งโครงสร้างของไวรัสเดงกี่ซับซ้อน ขนาดเพียง 50 นาโนเมตร แต่มีถึง 11644 nucleotides ที่สามารถสร้างทั้ง Capsid protein, Envelop protein, Membrane protein และ Nonstructural glycoproteins (NS1, NS2a, NS2b, NS3, NS4a, NS4b, NS5) โปรตีนเหล่านี้เป็นแอนติเจนได้หมด และยังแตกต่างกันในแต่ละสายพันธุ์ โปรตีนที่เราใช้ตรวจวินิจฉัยโรคมีเพียง NS1 antigen

วัคซีนที่พัฒนาได้ในช่วงแรกเป็น Monovalent vaccine คือป้องกันได้เพียงสายพันธุ์เดียว แต่องค์การอนามัยโลกต้องการให้วัคซีนป้องกันได้ทั้ง 4 สายพันธุ์ ปัจจุบันจึงมีวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกอย่างน้อย 7 ตัวที่กำลังอยู่ในการศึกษาวิจัย และมีเพียงตัวเดียวที่ได้รับอนุมัติให้ใช้ได้ในคนตั้งแต่ปี ค.ศ. 2015 คือ Dengvaxia® ของบริษัท Sanofi Pasteur ซึ่งเป็นวัคซีนชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ (live, attenuated) โดยใช้เทคโนโลยี recombinant DNA นำส่วน Pre-Membrane (prM) และ envelope gene ของไวรัสเดงกี่ทั้ง 4 สายพันธุ์ มาใส่ในไวรัส Yellow fever สายพันธุ์ 17D จากนั้นนำไปเพาะเลี้ยงใน Vero cell เพื่อให้ได้วัคซีน Chimeric Yellow fever Dengue Tetravalent Dengue Vaccine (CYD-TDV)

Dengvaxia® ได้รับการรับรองให้ใช้ในผู้ป่วยอายุ 9-45 ปี ที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่มีการระบาดของโรค โดยจะต้องทำการฉีดวัคซีนทั้งหมด 3 เข็มเข้าใต้ผิวหนัง (Subcutaneous Injection) บริเวณต้นแขน แต่ละเข็มฉีดห่างกัน 6 เดือน เมื่อฉีดครบ 3 เข็มแล้วจะสามารถป้องกันไข้เลือดออกได้เป็นระยะเวลา 5-6 ปี สำหรับประสิทธิภาพโดยรวมในการป้องกันเชื้อของทั้ง 4 สายพันธุ์จะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 65 ลดความรุนแรงของโรคได้ร้อยละ 93.2 และลดอัตราการนอนโรงพยาบาลได้ร้อยละ 80.8 อย่างไรก็ตาม จากงานวิจัยด้านความปลอดภัยเพิ่มเติมเมื่อพิจารณาเฉพาะกลุ่มที่ไม่เคยเป็นไข้เลือดออกมาก่อนนั้น การได้รับวัคซีนจะเพิ่มโอกาสการนอนโรงพยาบาล รวมทั้งเพิ่มความเสี่ยงการเกิดไข้เลือดออกรุนแรง ดังนั้น ทางอย.ประเทศไทยจึงได้ประกาศเพิ่มเติมว่าไม่แนะนำให้ฉีด Dengvaxia® ในผู้ที่ไม่เคยติดเชื้อไวรัสเดงกี่มาก่อน

การประเมินการติดเชื้อมาก่อนอาศัย

  1. ประวัติป่วยเป็นไข้เลือดออก
  2. การตรวจเลือดพบว่ามีแอนติบอดีต่อไวรัสเด็งกี่ (Dengue IgG positive)
  3. อายุของผู้รับวัคซีน (เนื่องจากมีข้อมูลจากการตรวจระดับภูมิคุ้มกันในผู้ใหญ่ พบว่าเคยมีการติดเชื้อไวรัสเดงกีแล้วมากกว่าร้อยละ 90 ดังนั้นผู้ใหญ่อาจพิจารณาฉีดวัคซีนไข้เลือดออกได้เลย)

เนื่องจาก Dengvaxia® เป็นวัคซีนชนิดเชื้อเป็น จึงห้ามฉีดในหญิงมีครรภ์และระยะที่ให้นมบุตร ผู้ที่มีโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง และผู้มีไข้สูงหรือเจ็บป่วยเฉียบพลัน

ปฏิกริยาหลังฉีดวัคซีน ส่วนใหญ่เป็นปฏิกิริยาเฉพาะที่ คือ ปวดบริเวณที่ฉีด ซึ่งมักดีขึ้นภายใน 3 วัน ในเด็กโตและผู้ใหญ่อาจปวดศีรษะและปวดเมื่อยกล้ามเนื้อได้ร้อยละ 6 ในเด็กเล็กอาจพบมีไข้ภายใน 3 วันหลังฉีดวัคซีนร้อยละ 4 พบผื่นแพ้ในช่วง 7 วันแรกหลังได้รับวัคซีนร้อยละ 0.7 โดยพบมากในวัคซีนเข็มแรก

Dengvaxia® อยู่ในรูปวัคซีนผงแห้ง สีขาว พร้อมตัวทำละลาย (0.9% NaCl) ขนาด 0.5 mL ก่อนผสมต้องเก็บในตู้เย็นที่อุณหภูมิ 2-8°C ห้ามแช่แข็งและไม่ให้ถูกแสง เมื่อผสมแล้วควรฉีดภายใน 6 ชั่วโมงโดยต้องเก็บที่อุณหภูมิ 2-8°C และห้ามถูกแสงสว่างเหมือนเดิม

วัคซีน Dengvaxia® ยังไม่สามารถป้องกันโรคได้อย่างสมบูรณ์แม้จะฉีดครบ การป้องกันไข้เลือดออกยังต้องป้องกันยุงกัดและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงด้วย

บรรณานุกรม

  1. "Dengue vaccine research ." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา WHO. (24 พฤษภาคม 2564).
  2. "Updated Questions and Answers related to the dengue vaccine Dengvaxia® and its use ." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา WHO. (24 พฤษภาคม 2564).
  3. "Dengue vaccine." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Wikipedia. (24 พฤษภาคม 2564).
  4. "Guidance for the use of DengvaxiaTM." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย. (24 พฤษภาคม 2564).
  5. Josilene Ramos Pinheiro-Michelsen, et al. 2020. "Anti-dengue Vaccines: From Development to Clinical Trials." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Front. Immunol., 18 June 2020 (24 พฤษภาคม 2564).
  6. "ตำราวัคซีนและการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา กระทรวงสาธารณสุข. (21 เมษายน 2564).
  7. "ตารางการให้วัคซีนในเด็กไทย." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย. (20 เมษายน 2564).