วัคซีนป้องกันอหิวาตกโรค (Cholera Vaccine)

อหิวาตกโรคเกิดจากพิษของเชื้อ Vibrio cholerae ซึ่งเป็นแบคทีเรียกรัมลบ รูปแท่งโค้ง เคลื่อนไหวด้วยหางที่ปลายข้างหนึ่ง ค้นพบครั้งแรกด้วยกล้องจุลทรรศน์ โดยนายแพทย์ชาวอิตาเลี่ยน Filippo Pacini ในปี ค.ศ. 1854 ท่านรายงานลักษณะของโรค การติดต่อ และย้ำว่าอหิวาต์เป็นโรคติดต่อร้ายแรง แต่รายงานของท่านไม่มีคนสนใจจนกระทั่งท่านเสียชีวิต ผู้ที่โลกรับฟังคือนายแพทย์ชาวเยอรมัน Robert Koch เจ้าของรางวัลโนเบล ท่านเริ่มศึกษาแบคทีเรียตัวนี้เมื่อมีการระบาดที่อียิปต์ในปี ค.ศ. 1883 และสามารถเพาะเชื้อได้ในปีเดียวกันเมื่อมีการระบาดที่อินเดีย ภายหลังมีผู้พบเพิ่มเติมว่า V. cholerae มี 2 Serogroup คือ O1 และ O139 Serogroup O1 จะมี 2 Biotype คือ Classical และ EI Tor ซึ่งแต่ละ Biotype มี 3 Serotype คือ Ogawa, Inaba และ Hikojima พิษของเชื้อเหล่านี้ทำให้มีอุจจาระร่วงเฉียบพลันและรุนแรง ส่วนเชื้ออื่่นที่ไม่ใช่ Serogroup O1 และ Serogroup O139 เรียกรวมว่า Vibrio cholerae non O1/non O139 ทําให้เกิดโรคกระเพาะหรือลําไส้อักเสบ

นอกจากอยู่ในลําไส้คนแล้ว V. cholerae สามารถอยู่เป็นอิสระในน้ำกร่อย และขยายพันธุ์ในแพลงตอนและสัตว์ทะเลที่มีเปลือก ถ้าสภาพแวดล้อมไม่ดีจะเปลี่ยนรูปร่างเป็นทรงกลม สร้างพลังงานลดลง ไม่แบ่งตัว และสร้าง biofilm ได้ จึงคงทนในสิ่งแวดล้อมได้นาน เชื้อเข้ามาสู่คนทางอาหารและน้ำที่ปนเปื้อน

ผู้พัฒนาวัคซีนป้องกันอหิวาตกโรคได้เป็นคนแรกในปี ค.ศ. 1885 คือ นายแพทย์ชาวสเปน Jaime Ferrán Clúa เป็น live attenuated vaccine ชนิดฉีด แต่ไม่เป็นที่ยอมรับเพราะมีผลข้างเคียงมาก มีผู้พัฒนาต่อมาอีกหลายท่านจนกลายเป็น killed whole cell polysaccharide-cholera toxin conjugate vaccine โดยใช้ Serogroup O1 มีประสิทธิภาพร้อยละ 50 หลังฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 7-28 วัน ภูมิอยู่นานเพียง 3-6 เดือน และไม่ป้องกัน V. cholerae O139 เนื่องจากประสิทธิภาพของวัคซีนต่ำแต่ผลข้างเคียงสูง ปัจจุบันจึงมีใช้ เพียง 2-3 ประเทศ และไม่ได้เป็นวัคซีนที่องค์การอนามัยโลกแนะนําให้ใช้

อีกสายหนึ่งพัฒนาวัคซีนชนิดกิน ตัวแรกเป็น heat-killed oral cholera vaccine พัฒนาโดย Sawtschenko และ Sabolotny ในปี ค.ศ. 1893 ป้องกันได้แต่ Serogroup O1 ต่อมาพัฒนารวมกับ recombinant cholera toxin B subunit จึงป้องกัน ETEC ได้ด้วย มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคร้อยละ 66-86 ภูมิอยู่นานประมาณ 2 ปี ปัจจุบันจดทะเบียนมีใช้ในกว่า 60 ประเทศ ใช้ชื่อการค้าว่า Dukoral® (WC-rBS) และ Oravacs®

วัคซีนป้องกันอหิวาต์ชนิดกินตัวถัดมาเป็น bivalent killed oral vaccine serogroup O1 และ O139 แต่ไม่มี B subunit จึงราคาถูก ไม่ป้องกัน ETEC ประสิทธิภาพใกล้เคียงกับ Dukoral® มีใช้ในประเทศอินเดีย เวียดนาม และประเทศที่กำลังพัฒนา ใช้ชื่อการค้าว่า Shanchol® และ mORC-Vax®

วัคซีนป้องกันอหิวาต์ชนิดกิน แบบเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ ก็มีผู้พัฒนาหลายตัว แต่มีผลข้างเคียงสูง (ท้องเสีย ปวดท้อง ไข้ คลื่นไส้ อาเจียน ถึงร้อยละ 50) จึงเลิกผลิตไป เหลือเพียงตัวล่าสุดที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคถึง 90% ผลข้างเคียงต่ำ และรับประทานเพียงโด๊สเดียว คือ Vaxchora®

ปัจจุบันวัคซีนที่ WHO และ CDC รับรอง มีเพียง oral cholera vaccine เชื้อตายและเชื้อเป็นเท่านั้น แต่ไม่แนะนําการให้ใช้วัคซีนป้องกันอหิวาตกโรคก่อนเดินทางออกหรือเข้าประเทศใด ๆ ทั้งสิ้น เนื่องจากโอกาสเกิดโรคน้อย รักษาง่ายด้วยยาปฏิชีวนะและน้ำเกลือ คงแนะนําสําหรับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ที่มีโรคนี้ประจําท้องถิ่นที่เสี่ยงต่อการระบาดเท่านั้น โดยให้ร่วมกับมาตรการควบคุมป้องกันโรควิธี อื่น ๆ

วิธีรับประทานวัคซีน

Monovalent killed- with B subunit

  • Dukoral® ต้องผสมในสารละลาย NaHCO3 buffer และต้องดื่มตอนท้องว่าง
    - ในเด็ก 2-6 ปี ดื่ม 3 ครั้ง ทุก 1-6 สัปดาห์ กระตุ้น 1 โด๊ส ทุก 6 เดือน
    - อายุ > 6 ปี ดื่ม 2 ครั้ง ห่างกัน 1-6 สัปดาห์ กระตุ้น 1 โด๊ส ทุก 2 ปี
  • Oravacs® เป็น Enteric-coated capsule
    - อายุ ≥ 2 ปี กินครั้งละ 1 แคปซูล 3 ครั้ง ในวันที่ 0, 7, 28 กระตุ้น 1 แคปซูล ทุกปี

Bivalent killed-

  • Shanchol®
    - อายุ ≥ 1 ปี กิน 2 โด๊ส ห่างกัน 14 วัน กระตุ้น 1 โด๊ส ทุก 2 ปี
  • mORC-Vax®
    - อายุ ≥ 2 ปี กิน 2 โด๊ส ห่างกัน 14 วัน กระตุ้น 1 โด๊ส ทุก 2 ปี

Monovalent live attenuated

  • Vaxchora® ต้องผสมในสารละลาย buffer NaHCO3 และต้องดื่มตอนท้องว่าง ใช้ในคนอายุ 2-64 ปี เท่านั้น และห้ามใช้ในหญิงมีครรภ์และช่วงให้นมบุตร
    - ดื่ม 1 โด๊ส ครั้งเดียว ก่อนเดินทาง 10 วัน

ผลข้างเคียงของวัคซีนได้แก่ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย เบื่ออาหาร แต่ส่วนใหญ่อาการจะหายไปใน 7 วัน

บรรณานุกรม

  1. Will Sowards. 2017. "History of the Cholera Vaccine ." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา PassportHealth. (29 พฤษภาคม 2564).
  2. "Who first discovered Vibrio cholera?" [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา UCLA. (29 พฤษภาคม 2564).
  3. "Cholera vaccine." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Wikipedia. (29 พฤษภาคม 2564).
  4. Anna Lena Lopez, et al. 2014. "Killed oral cholera vaccines: history, development and implementation challenges." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Ther Adv Vaccines. 2014;2(5):123–136. (29 พฤษภาคม 2564).
  5. "Cholera." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา historyofvaccines.org. (29 พฤษภาคม 2564).