วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza Vaccine)

ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่อยู่กับมนุษย์มานานตั้งแต่ก่อนคริสตกาล ฮิปโปเครติสเป็นผู้บรรยายโรคนี้ในหนังสือ 'Book of Epidemics' ตัวโรคดูเหมือนจะไม่รุนแรง แต่เมื่อมีการระบาดทุกครั้งจะมีผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก ศตวรรษที่ผ่านมาเกิด Spanish Influenza, Asian Flu, Hong Kong Flu ระบาด คร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่าสงครามโลกทั้งสองครั้งรวมกัน!

ทั้งนี้เนื่องจากเชื้อไวรัส Influenza มีโฮสต์ที่สามารถอาศัยและเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัยได้โดยโฮสต์ไม่เป็นอันตราย และโฮสต์สามารถถ่ายทอดเชื้อกลับสู่ธรรมชาติได้ โฮสต์เหล่านี้เรียกว่า "reservoir host" สำหรับไวรัส Influenza ได้แก่ นก เป็ด ไก่ สุกร สุนัข แมว วัว ควาย แพะ แกะ ม้า เสือ อูฐ แมวน้ำ ปลาวาฬ ฯลฯ

ไวรัส Influenza ที่ก่อโรคในคนมี 3 ชนิดหลักคือ A, B, C Influenza A และ B จะมีโปรตีน hemagglutinin (HA) และ neuraminidase (NA) อยู่ที่ผิว ส่วน Influenza C จะมีแต่ external spike protein (HEF) จึงก่อโรคได้น้อย พบว่าไวรัสไข้หวัดใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมอยู่เสมอ การเปลี่ยนมีได้ 2 แบบ คือ แบบ drift และ shift

การเปลี่ยนแปลงแบบ drift คือ การกลายพันธุ์เล็ก ๆ น้อย ๆ ตลอดเวลา จนทำให้ภูมิคุ้มกันที่มีอยู่ต่อสายพันธุ์เดิมไม่สามารถป้องกันโรคได้ จึงเกิดการระบาดย่อยของโรคไข้หวัดใหญ่ในแต่ละพื้นที่ทุก 1-3 ปี วัคซีนไข้หวัดใหญ่จึงต้องมีการปรับใหม่ทุกปี

ส่วนการเปลี่ยนแปลงแบบ shift คือ การเปลี่ยนชนิดของ H และ/หรือ N antigen ไปเลย ซึ่งจะพบเฉพาะไวรัส Influenza A การเกิด antigenic shift นี้เกิดได้ไม่บ่อย ระยะห่างของการเกิดแต่ละครั้งมากกว่า 10 ปี แต่หากเกิดขึ้นจะทำให้เกิดการระบาดทั่วโลก และทุกครั้งจะมีผู้คนล้มตายลงเป็นจำนวนมาก

หลังการค้นพบไวรัสไข้หวัดใหญ่ในปี ค.ศ. 1933 วัคซีนไข้หวัดใหญ่รุ่นแรกเป็น live-attenuated vaccine โดยผ่านเชื้อไวรัสเข้า-ออกในไข่ไก่ 30 ครั้งจนเชื้ออ่อนกำลัง Smorodintseff แห่งสถาบันปาสเตอร์ ประเทศรัสเซีย ทำสำเร็จในปี ค.ศ. 1938 แต่มีปัญหาที่คนแพ้โปรตีนจากไข่แม้ได้พยายามทำวัคซีนให้บริสุทธื์แล้ว อีกทั้งมีบ่อยครั้งที่เชื้อมีชีวิตแต่อ่อนกำลังกลับมีกำลังก่อโรคขึ้นมาใหม่ วัคซีนรุ่นที่สองจึงเป็นวัคซีนเชื้อตาย โดยเพาะเชื้อไวรัสในน้ำคร่ำของลูกไก่ แล้วฆ่าให้ตายด้วยฟอร์มาลิน ได้เป็น inactivated monovalent influenza A vaccine

ในปี ค.ศ. 1936 ได้มีผู้ค้นพบไวรัส Influenza B วัคซีนรุ่นที่สามที่ผลิตในปี ค.ศ. 1942 จึงเป็น inactivated bivalent vaccine ในปี ค.ศ. 1952 องค์การอนามัยโลกทำการสำรวจสายพันธุ์ของไวรัสไข้หวัดใหญ่ทั่วโลก พบว่ามีความแตกต่างกันมากในแต่ละภูมิภาค ประกอบกับการระบาดของ Asian Flu ระหว่างปี ค.ศ. 1957-1958 วัคซีนรุ่นที่สี่จึงเป็น trivalent vaccine โดยใช้สายพันธุ์ของ Influenza A 2 สายพันธุ์ + Influenza B 1 สายพันธุ์

แต่แม้จะใช้วัคซีน 3 สายพันธุ์ ก็ยังเกิดการระบาดของไข้หวัดใหญ่เป็นระยะ ๆ ปัจจุบันจึงมีการผลิตวัคซีน 4 สายพันธุ์ (quadrivalent vaccine) โดยเพิ่มสายพันธุ์ของ Influenza B เข้ามาอีกหนึ่งสายพันธุ์

กรรมวิธีการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ก็มีการพัฒนาเรื่อยมา จากการใช้ไวรัสทั้งตัวมาใช้เพียงบางส่วนของเชื้อ (split virion) และปัจจุบันยังสามารถแยกให้เหลือเพียงแอนติเจนผิวนอก (H และ A) ที่บริสุทธิ์มาทำวัคซีน วัคซีนชนิดนี้จึงมีผลข้างเคียงต่ำ ที่มีจำหน่ายคือ Agrippal®, Influvac®, Inflexal V®, และ Fluad®

นอกจากนี้ยังมีวัคซีนที่ผลิตโดยอาศัยวิธีทางพันธุวิศวกรรม (recombinant influenza vaccines) โดยสกัดโปรตีน H จากไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่ได้จากธรรมชาติตรงตามสายพันธุ์ที่ต้องการ มาตัดต่อผสมทางพันธุกรรมกับไวรัสที่เจริญเติบโตได้ดีในเซลล์ของแมลง แล้วเพิ่มจำนวนไวรัสชนิดใหม่นี้ในเซลล์ของแมลง หลังจากนั้นจึงทำให้บริสุทธิ์และผลิตเป็นวัคซีนต่อไป จะเห็นได้ว่ากรรมวิธีผลิตนี้ไม่ได้ใช้ไวรัสที่เพาะเลี้ยงในไข่โดยสิ้นเชิง ดังนั้นจึงไม่มีโอกาสเกิดการกลายพันธุ์ของไวรัสไข้หวัดใหญ่ในขณะเพาะเลี้ยง ทำให้วัคซีนมีประสิทธิผลที่ดีกว่า นอกจากนี้ยังไม่มีการปนเปื้อนโปรตีนจากไข่ด้วย

มีผู้พัฒนาวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ 3 สายพันธุ์แบบพ่นจมูกด้วย ใช้ได้ในผู้มีสุขภาพดีที่อายุ 2-49 ปีเท่านั้น ห้ามใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ผู้ที่เป็นโรคหอบหืด โรคปอดเรื้อรัง โรคหัวใจ โรคเรื้อรังอื่น ๆ เด็กและวัยรุ่นที่ต้องรับประทานยาแอสไพรินเป็นประจำ หญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง วัคซีนแบบพ่นจมูกนี้กระตุ้นภูมิคุ้มกันในเยื่อเมือกและในเลือดหลังพ่นประมาณ 4-6 สัปดาห์ ภูมิคุ้มกันในเลือดอยู่นาน 1-2 ปี และภูมิคุ้มกันในเยื่อเมือก (secretory IgA) อยู่นานถึง 30 เดือน วัคซีนชนิดนี้ยังมีราคาแพง และไม่มีจำหน่ายในประเทศไทย

การคัดเลือกสายพันธุ์เพื่อผลิตวัคซีน

ไวรัสสายพันธุ์ที่จะนำมาเตรียมผลิตวัคซีน คือ สายพันธุ์ที่พบการระบาดหลายแห่งทั่วโลกในระยะเวลานั้น และคาดการณ์ว่าจะเป็นเชื้อที่จะระบาดในปีถัดไป องค์การอนามัยโลกได้ตั้งศูนย์ไข้หวัดใหญ่แห่งชาติในประเทศต่าง ๆ 106 ประเทศทั่วโลก เพื่อทำการศึกษาระบาด วิทยาและติดตามเฝ้าระวัง พร้อมทั้งแยกเชื้อจากผู้ป่วยนำส่งห้องปฏิบัติการแยกเชื้อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย โดยจะมีการประชุมผู้เชี่ยวชาญเพื่อพิจารณาคัดเลือกสายพันธุ์ไวรัสร่วมกันปีละ 2 ครั้ง ในเดือนกุมภาพันธ์สำหรับวัคซีนที่จะใช้ในซีกโลกเหนือ และในเดือนกันยายนสำหรับวัคซีนที่ใช้ในซีกโลกใต้ เพื่อให้แต่ละบริษัทนำไปผลิตเป็นวัคซีน ทั้งนี้ขบวนการผลิตใช้เวลาประมาณ 6 เดือน

ที่ผ่านมาพบว่า สายพันธุ์ไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นส่วนประกอบของวัคซีนนี้ ตรงกับสายพันธุ์ที่พบในประเทศไทยประมาณร้อยละ 70

สำหรับประเทศไทยพบไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A ประมาณ ¾ และสายพันธุ์ B ประมาณ ¼ ของเชื้อที่แยกได้ทั้งหมด ตามแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของกระทรวงสาธารณสุข ปัจจุบันแนะนำให้เด็กไทยทุกคนได้รับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ชนิดเชื้อตาย ตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป 2 เข็ม ห่างกัน 1 เดือน จากนั้นให้กระตุ้นทุกปี ปีละ 1 เข็ม รวมทั้งเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว กลุ่มเป้าหมายที่ควรฉีดเป็นอย่างยิ่งคือ

  1. ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคไข้หวัดใหญ่ ได้แก่
    • เด็กอายุ 6 เดือน - 2 ปี
    • ผู้ที่มีอายุ 65 ปี ขึ้นไป
    • เด็กและผู้ใหญ่ที่มีโรคปอดเรื้อรัง โรคหอบหืด โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคไตวายเรื้อรัง โรคเบาหวาน โรคธาลัสซีเมีย
    • ผู้ป่วยเรื้อรังที่อยู่ในสถานบริบาลหรือสถานพักฟื้น
    • ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องจากสาเหตุต่าง ๆ รวมทั้งจากยากดภูมิ
    • เด็กและวัยรุ่นที่ต้องได้รับยาแอสไพรินเป็นเวลานาน ซึ่งจะเสี่ยงต่อการเกิด Reye syndrome ภายหลังเป็นไข้หวัดใหญ
    • หญิงตั้งครรภ์ที่ไตรมาส 2 ขึ้นไป
    • คนอ้วนมาก (BMI > 35)
  2. บุคคลที่มีโอกาสแพร่เชื้อให้แก่ผู้ที่มีความเสี่ยงสูง
    • บุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงนักศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการดูแลรักษาผู้ป่วย
    • เจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องกับการกำจัดสัตว์ปีก
    • บุคลากรในสถานพักฟื้นคนชรา หรือสถานบริบาลผู้ป่วยเรื้อรัง รวมถึงผู้ที่ดูแลเด็กอายุน้อยกว่า 6 เดือนในบ้าน
    • เด็กและผู้ใหญ่ที่อยู่บ้านเดียวกับผู้ที่มีความเสี่ยงสูง
  3. บุคคลกลุ่มอื่น ๆ ได้แก่
    • ผู้ที่ต้องเดินทางเป็นประจำ นักทัศนาจร
    • ผู้ที่ต้องพบปะผู้คนจำนวนมาก หรืออาศัยร่วมกับคนจำนวนมาก
    • ผู้ใดก็ตามที่ไม่ต้องการป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ และประสงค์จะได้รับวัคซีน

วัคซีนไข้หวัดใหญ่สามารถให้พร้อมกับวัคซีนอื่นได้ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นเชื้อตายหรือเชื้อมีชีวิต แต่ไม่ควรฉีดวัคซีนในผู้ที่กำลังป่วยเฉียบพลัน เช่น มีไข้

ปฏิกิริยาจากวัคซีน

วัคซีนเชื้อตายจะพบปฏิกิริยาเฉพาะที่ ได้แก่ อาการปวดบริเวณที่ฉีดวัคซีน มักมีอาการไม่เกิน 2 วัน อาจมีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว พบร้อยละ 4-11 บางคนอาจแพ้ส่วนประกอบของวัคซีน เกิดลมพิษ ปากบวม หอบหืด แต่พบน้อยมาก

วัคซีน Fluad® ที่มี adjuvant จะมีปฏิกิริยาเฉพาะที่มากกว่าวัคซีนชนิดอื่น วัคซีน Intanza® ที่ฉีดเข้าในหนัง (intradermal) จะมีปฏิกิริยาทั่วไปน้อยกว่าที่ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ แต่จะเกิดอาการคันเจ็บบริเวณผิวหนังที่ฉีดมากกว่า และนานกว่า

วัคซีนเชื้อเป็นอาจทำให้มีไข้ต่ำ ๆ คัดจมูก น้ำมูกไหลเล็กน้อย อาจเกิดผื่นลมพิษ นอกจากนี้อาจทำให้เกิดอาการหลอดลมตีบคล้ายหอบหืดได้ โดยเฉพาะถ้าให้วัคซีนในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี แต่พบได้น้อย

ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้น

วัคซีนเชื้อตาย ภูมิคุ้มกันจะเกิดขึ้นหลังฉีดวัคซีนในเวลา 7–14 วัน แต่มักจะอยู่ในระดับสูงพอที่จะป้องกันโรคได้ไม่เกิน 1 ปี จึงต้อง มีการฉีดวัคซีนกระตุ้นทุกปี แม้บางปีจะเป็นสายพันธุ์เดียวกันกับปีก่อน วัคซีนมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่จากสายพันธุ์เดียวกับวัคซีนได้ร้อยละ 70-90 แต่จะป้องกันการติดเชื้อจากสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์ได้น้อยลง แต่ทำให้ความรุนแรงลดลงได้

วัคซีนเชื้อเป็น มีประสิทธิภาพประมาณร้อยละ 70-95 ขึ้นกับว่าเชื้อตรงกับสายพันธุ์ในวัคซีนมากน้อยเพียงใด นอกจากนั้นวัคซีนยังมีประสิทธิผลต่ำในการป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A (H1N1) pdm09 ปัจจุบันสหรัฐอเมริกาจึงไม่แนะนำวัคซีนชนิดนี้

วัคซีนไข้หวัดใหญ่ในคนไม่สามารถป้องกันไข้หวัดนก (Avian flu) ได้

วัคซีนไข้หวัดใหญ่ต้องเก็บที่อุณหภูมิ 2-8°C ห้ามแช่แข็ง และไม่ให้ถูกแสง มีอายุการใช้งานสั้น ไม่เกิน 1 ปี

บรรณานุกรม

  1. "Influenza Historic Timeline." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา CDC. (6 พฤษภาคม 2564).
  2. I. Barberis, et al. 2016. "History and evolution of influenza control through vaccination: from the first monovalent vaccine to universal vaccines." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา J Prev Med Hyg. 2016;57(3):E115–E120. (6 พฤษภาคม 2564).
  3. Claude Hannoun. 2013. "The Evolving History of Influenza Viruses and Influenza Vaccines." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Expert Rev Vaccines. 2013;12(9):1085-1094. (6 พฤษภาคม 2564).
  4. "Influenza." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา historyofvaccines.org. (6 พฤษภาคม 2564).
  5. "What is the History of Influenza Vaccine Use in America?" [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา nvic.org (6 พฤษภาคม 2564).
  6. "Influenza vaccine." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Wikipedia. (6 พฤษภาคม 2564).
  7. "ตำราวัคซีนและการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา กระทรวงสาธารณสุข. (21 เมษายน 2564).
  8. "ตารางการให้วัคซีนในเด็กไทย." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย. (20 เมษายน 2564).