วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส (VZV Vaccine)

โรคอีสุกอีใสเกิดจากเชื้อไวรัส Varicella zoster (ตัวเดียวกับโรคงูสวัด) ในคนปกติอัตราตายต่ำ แต่ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันผิดปกติ หากมีภาวะแทรกซ้อนหรือมีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำ อัตราตายจะสูงขึ้น โรคนี้ติดต่อได้ทั้งจากละอองของน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ และน้ำที่อยู่ในตุ่มน้ำพองใส ผู้ป่วยแพร่เชื้อได้ตั้งแต่ 2 วันก่อนผื่นขึ้น จนกระทั่งตุ่มแห้ง โดยแพร่ได้ทั้งแบบ airborne, droplet และ contact เมื่อหายจากโรคอีสุกอีใส เชื้อไวรัสจะยังอยู่ในร่างกาย โดยหลบอยู่ในปมประสาท และร้อยละ 15 จะเกิดเป็นงูสวัดในหลายปีต่อมา เมื่อภาวะภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลง

วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสตัวแรกพัฒนาโดยศาสตราจารย์นายแพทย์ Michiaki Takahashi แห่งมหาวิทยาลัยโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น ท่านนำเชื้อจากตุ่มน้ำของเด็กชายวัย 3 ขวบที่เป็นอีสุกอีใส เรียกสายพันธุ์ตามนามสกุลของครอบครัวเด็กว่า "Oka strain" มาเพาะใน human embryonic lung fibroblasts 11 ครั้ง แล้วเพาะใน guinea pig embryo fibroblasts อีก 12 ครั้ง จนเชื้ออ่อนฤทธิ์ สำเร็จได้เป็นวัคซีนเชื้อเป็นแต่อ่อนฤทธิ์ (live attenuated chickenpox vaccine) ในปี ค.ศ. 1974 นายแพทย์ทากาฮาชิได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลในปี ค.ศ. 2008

ส่วนประเทศสหรัฐอเมริกา บริษัท Merck ได้ซื้อลิขสิทธิ์สายพันธุ์ Oka ของญี่ปุ่นมาพัฒนาต่อ หลังใช้สายพันธุ์ KMcC แล้วมีผลข้างเคียงมาก วัคซีน Varivax® ของ Merck ออกมาในปี ค.ศ. 1982 เป็นวัคซีนเชื้อเป็นผสมแอนติเจนของเชื้อตาย (จดทะเบียนเป็นวัคซีนเชื้อเป็น) แต่บริษัทยังต้องปรับสูตรการผลิตและสัดส่วนของเชื้อเป็นกับเชื้อตายต่อทุกปี เพื่อให้ได้ความคงทน ความแรง และความอยู่รอดของเชื้อไวรัส จนถึงปี ค.ศ. 1991 จึงได้สูตรที่ดีที่สุด จากนั้นก็มีอีกหลายบริษัทผลิตวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสออกมาแข่ง เช่น Varilrix® ของ GSK, Varicella-GCC® ใช้สายพันธุ์ MAV/06 ของประเทศเกาหลี รวมทั้งวัคซีนรวม MMR+VZV = MMRV ด้วย

สำหรับประเทศไทยวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสยังไม่ได้เข้ารวมอยู่ในแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคสำหรับเด็กทั่วไป เพราะวัคซีนยังมีราคาสูง แต่เป็นวัคซีนทางเลือกให้เด็กและผู้ใหญ่ที่ยังไม่เคยเป็นโรคนี้และสามารถออกค่าใช้จ่ายเองได้

สำหรับเด็กอายุ 1-12 ปี ให้ฉีด 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่ออายุ 12-18 เดือน ครั้งที่ 2 เมื่ออายุ 2-2½ ปี ส่วนผู้ที่อายุมากกว่า 13 ปี ให้ฉีด 2 เข็มห่างกันอย่างน้อย 1 เดือน (ต้องเจาะเลือดตรวจภูมิคุ้มกันก่อน ถ้ามีภูมิแล้วไม่ต้องฉีด) ในเด็กที่ต้องการฉีดวัคซีนอีสุกอีใส และหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม ในเวลาเดียวกัน อาจใช้วัคซีนรวม MMRV ได้ เพราะทั้งสองวัคซีนมีช่วงเวลาและวิธีใช้ที่เหมือนกัน

สำหรับผู้ที่สัมผัสกับผู้ป่วยที่เป็นโรคอีสุกอีใส หากยังไม่เคยเป็นอีสุกอีใสและไม่มีภูมิคุ้มกัน สามารถฉีดวัคซีนป้องกันโรคหลังสัมผัสได้ โดยวัคซีนจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคได้ร้อยละ 62 และป้องกันโรครุนแรงได้ร้อยละ 79 ถ้าฉีดภายใน 3-5 วันหลังจากสัมผัสเชื้อ

เนื่องจากวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสเป็นวัคซีนเชื้อเป็น จึงไม่ควรให้ใน

  1. หญิงมีครรภ์
  2. ผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง
  3. ผู้ที่กำลังรับรังสีรักษา เคมีบำบัด หรือกำลังรับประทานยากดภูมิคุ้มกัน เช่น Prednisolone ในขนาดตั้งแต่ 20 มก./วัน นานเกิน 2 สัปดาห์
  4. เพิ่งได้รับผลิตภัณฑ์ของเลือดมา เพราะอาจมีแอนติบอดีย์ต่อเชื้ออีสุกอีใสในผลิตภัณฑ์นั้น ซึ่งอาจรบกวนการสร้างภูมิคุ้มกันโรคจากวัคซีน ภาพขวามือแสดงระยะเวลาที่ควรรอหลังให้ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นไปแล้ว
  5. ผู้ที่กำลังมีไข้
  6. ผู้ที่ได้รับยาแอสไพรินเป็นประจำ เพราะมีอาจความเสี่ยงต่อภาวะ Reye syndrome และควรงดการใช้ยาแอสไพรินหลังรับวัคซีนแล้วนาน 6 สัปดาห์
  7. ผู้ที่แพ้เจลาตินรุนแรง เพราะมีเจลาตินผสมในวัคซีนด้วย
  8. ผู้ที่แพ้ neomycin หรือยาปฏิชีวนะอื่นที่บรรจุในวัคซีน

มารดาที่ติดเชื้ออีสุกอีใสในขณะตั้งครรภ์ระหว่างสัปดาห์ที่ 8-20 มีโอกาสที่ทารกจะเกิดโรคอีสุกอีใสแต่กําเนิด โดยทารกจะมีแผลเป็นตามตัว มีความผิดปกติทางตาและทางสมอง แขนขาลีบเล็ก ดังนั้นจึงควรมั่นใจว่ามีภูมิต้านทานโรคตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ หรือในระหว่างตั้งครรภ์ห้าเดือนแรกไม่ควรไปตามโรงเรียนหรือสถานเลี้ยงเด็ก

เด็กที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวและเด็กที่ติดเชื้อเอชไอวี เมื่อเป็นโรคอีสุกอีใสจะมีอาการรุนแรงมาก อาจพิจารณาให้วัคซีนเชื้อเป็นนี้ 2 เข็ม ห่างกัน 3 เดือน ถ้ามีภาวะดังนี้ครบถ้วน

  1. อยู่ในระยะที่โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวสงบมาแล้วอย่างน้อย 1 ปี
  2. ต้องมีเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ ≥ 700 ตัว/ลบ.มม. และเกล็ดเลือด ≥ 100,000 ตัว/ลบ.มม. ก่อนที่จะให้วัคซีน
  3. ต้องงดยาเคมีบำบัดรักษาอย่างน้อย 1 สัปดาห์ก่อนและ 1 สัปดาห์หลังการให้วัคซีนโด๊สแรก และห้ามให้ยาสเตียรอยด์หลังจากให้วัคซีนเป็นเวลา 4 สัปดาห์
  4. ต้องยังไม่มีอาการของภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง
  5. ต้องมี CD4 มากกว่าร้อยละ 15

การให้วัคซีนหลังสัมผัสเชื้อ (Post exposure)

หากเป็นคนปกติที่ยังไม่เคยเป็นอีสุกอีใสและตรวจเลือดไม่มีภูมิคุ้มกัน (anti-VZV IgG = negative) ให้ฉีดวัคซีนภายใน 4 วันหลังสัมผัสโรค และซ้ำอีก 1 เข็ม ในเดือนถัดไป ระหว่างนั้นถ้าป่วยเป็นอีสุกอีใสก็ใหเรักษาด้วยยา Acyclovir

หากเป็นผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ควรให้ VZIG (Varicella immunoglobulin) ภายใน 96 ชั่วโมงแทน ถ้าไม่มี VZIG ให้ใช้ IVIG แทน ถ้าเกิน 96 ชั่วโมงพิจารณาให้ยา Acyclovir ขนาด 80 mg/kg/day (สูงสุดไม่เกิน 3200 mg/day) เป็นเวลา 7 วันแทน

ปฏิกิริยาจากวัคซีน

ปฏิกิริยาจากวัคซีนในเด็กปกติพบว่า มีค่อนข้างน้อย ได้แก่

  • อาการปวด บวม แดงบริเวณที่ฉีดวัคซีน พบร้อยละ 20
  • มีผื่นบริเวณที่ฉีด พบร้อยละ 3-5
  • มีไข้สูงกว่า 38°C พบร้อยละ 10
  • ตุ่มน้ำหรือตุ่มแดงคล้ายอีสุกอีใส > 10 ตุ่ม พบร้อยละ 1.4, > 100 ตุ่ม พบเพียงร้อยละ 0.1 ส่วนใหญ่ตุ่มจะเกิดในวันที่ 5-26 หลังฉีดและมักเป็นตุ่มแดงเหมือนยุงกัดมากกว่าตุ่มน้ำใสเหมือนอีสุกอีใสทั่วไป
  • อาการแทรกซ้อนรุนแรง เช่น Anaphylaxis, Stevens-Johnson syndrome, เกล็ดเลือดต่ำ, Guillain-Barré syndrome พบน้อยมาก
  • เกิดโรคงูสวัดหลังการฉีดวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส พบได้บ้าง แต่มีอุบัติการณ์น้อยกว่าหลังการเป็นอีสุกอีใสตามธรรมชาติ

วัคซีนอีสุกอีใสสายพันธุ์ MAV/06 พบปฏิกิริยาทั่วไปหลังฉีดน้อยมาก ไม่ต่างจากสายพันธุ์ OKA ไม่มีรายงานการเกิดอาการแทรกซ้อนรุนแรง

สำหรับผู้ที่ใช้วัคซีนรวม MMRV ในการฉีดครั้งแรกเมื่ออายุน้อยกว่า 2 ปี พบว่าปฏิกิริยาจากวัคซีนจะทำให้เกิดไข้ และชักจากไข้มากกว่าการฉีดแยก MMR และอีสุกอีใส แต่ถ้าฉีด MMRV เป็นเข็มที่ 2 ในเด็กอายุ 4 ขวบขึ้นไปไม่พบว่ามีปฏิกิริยาแตกต่างจากการฉีดแยกกัน

ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้น

ในเด็กพบว่า ภายหลังการให้วัคซีน 1 ครั้ง จะมีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นร้อยละ 76-85 และจะเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 100% หลังได้รับวัคซีนครั้งที่ 2 สามารถป้องกันโรคอีสุกอีใสได้ร้อยละ 70-85 และป้องกันโรคอีสุกอีใสรุนแรงได้มากกว่าร้อยละ 95 ภูมิคุ้มกันอยู่ได้นานถึง 20 ปี หลังจากฉีดวัคซีนแล้วยังมีโอกาสเป็นอีสุกอีใสได้ 1-4% ต่อปี แต่อาการจะน้อย (มีตุ่มขึ้นน้อยกว่า 50 ตุ่ม)

เด็กที่ได้รับวัคซีนอีสุกอีใสมีโอกาสเป็นโรคงูสวัดต่ำกว่าเด็กที่ไม่ได้รับวัคซีน จากการศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีที่ไม่ได้รับวัคซีนอีสุกอีใส เกิดงูสวัดได้ 230 ต่อ 100,000 person-years ในขณะที่เด็กที่ได้รับวัคซีนอีสุกอีใส เกิดงูสวัดเพียง 48 ต่อ 100,000 person-years ** วัคซีนอีสุกอีใสของเด็กไม่สามารถป้องกันงูสวัดในผู้สูงอายุได้

การให้วัคซีนอีสุกอีใสในเวลาเดียวกับการให้วัคซีนหัด (Measles vaccine) หรือวัคซีนหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน (MMR) ถ้าไม่ฉีดพร้อมกัน ควรฉีดแยกห่างจากกันอย่างน้อย 1 เดือน มิฉะนั้นจะเกิดการรบกวนการสร้างภูมิคุ้มกันโรคได้ ปัจจุบันมีวัคซีนรวม อีสุกอีใส-หัด-คางทูม-หัดเยอรมัน (MMRV) สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันทุกตัวได้ดี แต่วัคซีน MMRV อาจทำให้เกิดไข้และชักจากไข้ได้บ่อยกว่าการฉีดแยกชนิดในเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี ส่วนในเด็กอายุ 4-6 ปี ไม่พบปัญหานี้

วัคซีนอีสุกอีใสเป็นวัคซีนผงแห้ง (lyophilyzed) เหมือนวัคซีน MMR มีปริมาณไวรัสอยู่ระหว่าง 1,000-2,000 pfu มียาปฏิชีวนะ neomycin ผสมอยู่เล็กน้อย เวลาใช้ต้องผสมในน้ำยาละลาย (diluent) ก่อนฉีดเข้ากล้าม ผสมวัคซีนแล้วต้องใช้ภายใน 30 นาที

ต้องเก็บวัคซีนไว้ที่อุณหภูมิ 2-8°C หรือต่ำกว่า ไม่ให้ถูกแสงสว่าง ผงวัคซีนอาจแช่แข็งได้แต่น้ำยาละลายห้ามแช่แข็ง เพราะน้ำยาจะขยายตัว ทำให้ขวดวัคซีนแตกได้ วัคซีนที่ยังไม่ได้ผสมมีอายุใช้ได้นาน 2 ปี

บรรณานุกรม

  1. Charlotte Warren-Gash, et al. 2017. "Varicella and herpes zoster vaccine development: lessons learned." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Expert Rev Vaccines. 2017;16(12):1191–1201. (9 พฤษภาคม 2564).
  2. Michiaki Takahashi, et al. 2008. "Development of Varicella Vaccine." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา J Inf Dis. 2008;197(Suppl 2):S41–S44. (9 พฤษภาคม 2564).
  3. "What is the history of Chickenpox vaccine use in America and other countries?" [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา nvic.org. (9 พฤษภาคม 2564).
  4. "Varicella vaccine" [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Wikipedia (9 พฤษภาคม 2564).
  5. "ตำราวัคซีนและการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา กระทรวงสาธารณสุข. (21 เมษายน 2564).
  6. "ตารางการให้วัคซีนในเด็กไทย." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย. (20 เมษายน 2564).