วัคซีนป้องกันโรคจากเชื้อฮิบ (Hib Vaccine)

เชื้อฮิบ (Hib) คือ เชื้อแบคทีเรีย Haemophilus influenzae type b ที่ก่อโรคในเด็กเล็กเป็นประจำ โดยเป็นสาเหตุหลักของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบในเด็กเล็ก ซึ่งทำให้เด็กพิการได้ นอกจากนั้นยังก่อโรคปอดบวม โรคข้ออักเสบ โรคติดเชื้อในกระแสเลือด และโรคอื่น ๆ

เชื้อ Haemophilus influenzae เป็นแบคทีเรียขนาดเล็กเมื่อเทียบกับแบคทีเรียชนิดอื่น มีรูปร่างกึ่งกลมกึ่งแท่ง (coccobacilli) มักอยู่กันเป็นคู่ ติดสีแดงเมื่อย้อมสี Gram จึงถูกตั้งชื่อว่า "Haemophilus" (haemo หรือ hemo มาจากคำว่า haîma ในภาษากรีก แปลว่า เลือด) H. influenzae ถูกค้นพบครั้งแรกในปี ค.ศ. 1892 ช่วงที่มีการระบาดของไข้หวัดใหญ่พอดี จึงถูกเข้าใจผิดคิดว่าเป็นเชื้อก่อโรคไข้หวัดใหญ่ จนกระทั่งปี ค.ศ. 1933 ถึงจะพบความจริงว่าไวรัส Influenza ต่างหากที่เป็นสาเหตุของโรคไข้หวัดใหญ่ ส่วน H. flu. เป็นแบคทีเรียที่มาติดเชื้อร่วมทีหลัง

องค์ประกอบและคุณสมบัติของเชื้อฮิบได้รับการจำแนกแจกแจงอย่างละเอียดโดย Dr. Margaret Pittman นักแบคทีเรียวิทยาผู้มีชื่อเสียง (ท่านเป็นผู้ศึกษาคุณลักษณะของเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคไทฟอยด์ อหิวาต์ ไอกรน และเยื่อหุ้มสมองอักเสบด้วย ผลงานของท่านทุกตัวเป็นพื้นฐานสำคัญในการผลิตวัคซีนป้องกันโรคเหล่านั้น) ในช่วงทศวรรษ 1930s ดร. พิตแมนพบว่าสายพันธุ์ของเชื้อ H. influenzae แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ พวกที่มีแคปซูลหุ้ม (ซึ่งได้แก่ สายพันธุ์ a, b, c, d, e, และ f) กับพวกที่ไม่มีแคปซูลหุ้ม ในพวกที่มีแคปซูล สายพันธุ์ b พบว่าก่อโรคมากที่สุด โดยเชื้อจะอยู่ในเลือดและในน้ำไขสันหลัง ขณะที่พวกไม่มีแคปซูลจะอยู่บนเยื่อบุผิวของเซลล์ที่มันติดเชื้อ เช่น เยื่อบุตา ไซนัส หูชั้นใน ถุงลมปอด และหลอดลม พวกที่ไม่มีแคปซูลก่อโรคไม่รุนแรง

ในช่วงนั้น โรคติดเชื้อฮิบที่เป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบได้คร่าชีวิตเด็กถึง 1 ใน 50 ถึง 1 ใน 30 ของเด็กแรกเกิดทุกคนเลยทีเดียว เด็กที่ป่วยมีอัตราตายสูงถึง 10% และ 30% ของเด็กที่รอดชีวิตจะมีอาการชัก หูหนวก หรือปัญญาอ่อนต่อไป ยาปฏิชีวนะที่ฆ่าเชื้อฮิบก็มีอัตราการดื้อยาสูง วัคซีนป้องกันโรคจึงเป็นเรื่องเร่งด่วน

แคปซูลของเชื้อฮิบเป็น polysaccharide (polyribosyl-ribitol-phosphate, PRP) ที่มีโครงสร้างต่างกันในแต่ละสายพันธุ์ และสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้จดจำมันได้ วัคซีนในช่วงแรกจึงเลือกใช้เพียงแคปซูลของเชื้อ H. influenza type b แทนที่จะใช้ตัวเชื้อทั้งหมด แต่การพัฒนาวัคซีนค่อนข้างล่าช้า เพราะเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง

ในปี ค.ศ. 1985 วัคซีนฮิบรุ่นแรกที่ใช้ purified polysaccharide ของเชื้อฮิบไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นหลังฉีดกลับลดลงอย่างรวดเร็ว แม้จะฉีดซ้ำอีกหลายเข็มก็ได้ผลเช่นเดียวกัน ทั้งนี้เนื่องจาก B cells ที่จดจำ PRP antigen และสร้างแอนติบอดีย์ในระยะแรก (IgM) ไม่สามารถส่งต่อภาพไปให้ T cells สร้างแอนติบอดีย์ในระยะยาว (IgG) ได้ เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า "T-independent (TI)" ภายหลังพบว่าปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นเฉพาะวัยทารก เพราะที่ประเทศฟินแลนด์ได้นำวัคซีนนี้ไปฉีดในเด็กอายุ 18 เดือนขึ้นไปพบว่าได้ผลดี แต่โรคจากเชื้อฮิบจะรุนแรงในช่วงขวบปีแรก วัคซีนรุ่นนี้ถูกเรียกว่า "Polysaccharide vaccine" จึงถือว่ายังใช้ไม่ได้

วัคซีนรุ่นที่สองได้พัฒนามาเชื่อม purified PRP antigen กับกรดอะมิโน (lysine, glutamic acid, aspartic acid) ด้วยพันธะโควาเลนต์ (covalent bond) แล้วใช้ diphtheria toxoid มาผสม เพื่อให้ T cells จดจำและสร้างภูมิคุ้มกันระยะยาว พบว่าได้ผลดีมาก วัคซีนที่ผลิตโดยวิธีนี้เรียกว่า "Conjugated vaccine" ผลงานของนพ. John Robbins และพญ. Rachel Schneerson ได้วางตลาดในปี ค.ศ. 1987 จากนั้นวัคซีนอีกหลายตัวก็พัฒนาตามอย่างวิธีนี้ เช่น วัคซีนป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่น วัคซีนป้องกันโรคปอดบวมจากเชื้อนิวโม

วัคซีนรุ่นที่สามหันมาใช้ tetanus toxoid มาผสมแทน เพราะวัคซีนป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่นใช้วิธีนี้แล้วได้ผลดีกว่ามาก และเมื่อพบว่าวัคซีนคอตีบ-คางทูม-บาดทะยักสามารถใช้ร่วมกับวัคซีนฮิบได้ดี วัคซีนรุ่นที่สี่จึงเป็นวัคซีนรวมหลายวัคซีนเข้าด้วยกัน โดยมี Hib กับ DTaP เป็นตัวยืนหลัก

สำหรับประเทศไทยเริ่มกำหนดให้วัคซีนฮิบเป็นวัคซีนขั้นพื้นฐานของเด็กไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 (ก่อนหน้านี้เป็นวัคซีนทางเลือก) โดยเด็กทุกคนจะได้รับวัคซีนฮิบ 3 เข็ม เมื่ออายุ 2, 4, 6 เดือน ส่วนเข็มกระตุ้นที่อายุ 12-18 เดือน จะฉีดหรือไม่ก็ได้ แต่แนะนำให้ฉีดในเด็กกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง และเด็กที่ไม่มีม้าม

หากเลยวัยแล้วก็ยังฉีดได้ถึงอายุ 2 ปี แต่จำนวนเข็มจะลดลง เลยอายุ 2 ปีไปแล้วไม่จำเป็นต้องฉีด ยกเว้นเด็กในกลุ่มเสี่ยงข้างต้น

ปัจจุบันวัคซีนฮิบทุกชนิดให้ภูมิต้านทานที่สูงมาก พบปฏิกิริยาจากการฉีดวัคซีนได้เล็กน้อย เช่น ปวดบวม แดง ร้อนบริเวณที่ฉีด อาการเหล่านี้ไม่รุนแรงและหายได้เองภายใน 24 ชั่วโมง เด็กบางคนอาจมีไข้สูง กระสับกระส่าย หรือมีผื่นบ้าง แต่พบไม่บ่อย วัคซีนรวมที่มีฮิบร่วมกับคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน (DTP) ตับอักเสบบี (HB) และโปลิโอ (IPV) ไม่ทำให้ปฏิกิริยาเพิ่มขึ้นแม้จะรวมหลายชนิด

ควรเก็บวัคซีนไว้ที่อุณหภูมิระหว่าง 2-8°C ห้ามเก็บในช่องแช่แข็ง ส่วนใหญ่วัคซีนจะมีอายุประมาณ 2-3 ปี

บรรณานุกรม

  1. "What is the History of Hib in America and Other Countries?" [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา National Vaccine Information Center. (28 เมษายน 2564).
  2. "What is the History of Hib Vaccine in America?" [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา National Vaccine Information Center. (28 เมษายน 2564).
  3. Adi Essam Zarei, et al. 2016. "Hib Vaccines: Past, Present, and Future Perspectives." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา J Immunol Res. (28 เมษายน 2564).
  4. "Women of Discovery: Margaret Pittman." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Discovery West. (29 เมษายน 2564).
  5. "Hib vaccine." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Wikipedia. (28 เมษายน 2564).
  6. "Haemophilus influenzae type b Vaccines." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา CDC. (28 เมษายน 2564).
  7. "ตำราวัคซีนและการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา กระทรวงสาธารณสุข. (21 เมษายน 2564).
  8. "ตารางการให้วัคซีนในเด็กไทย." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย. (20 เมษายน 2564).