วัคซีนป้องกันโรคจากเชื้อนิวโมคอคคัส (Pneumococcal Vaccine, PCV)

เชื้อ Streptococcus pneumoniae หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า "นิวโมคอคคัส" (pneumococcus) เป็นแบคทีเรียกรัมบวก ทรงกลม มักอยู่เป็นคู่ มีแคปซูลหุ้ม ดูคล้ายเมล็ดถั่วในฝัก อาศัยอยู่ประจำในคอหอยของคน ถูกค้นพบโดยศัลยแพทย์ George Miller Sternberg ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1881 ปัจจุบันพบว่ามีร้อยกว่าสายพันธุ์ แต่ส่วนใหญ่ไม่ก่อโรค สายพันธุ์สำคัญที่ก่อโรคในคนไทย ได้แก่ 6B, 23F, 14, 19F, 6A, 19A เมื่อร่างกายเราอ่อนแอจะทำให้เกิดปอดบวม หูชั้นกลางอักเสบ ไซนัสอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ไปจนถึงติดเชื้อในกระแสเลือด ในระยะหลังพบว่าเชื้อตัวนี้ดื้อต่อกลุ่มยา Penicillins และ Cephalosporins มากขึ้น โดยเฉพาะสายพันธุ์ 19A

ความพยายามในการพัฒนาวัคซีนป้องกันการติดเชื้อนิวโมคอคคัสเริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ. 1911 โดย Sir Almroth Wright นักแบคทีเรียวิทยาและนักภูมิคุ้มกันวิทยาชาวอังกฤษ ผู้พัฒนาวัคซีนป้องกันไข้ไทฟอยด์ชนิดฉีด ท่านทำการศึกษาในประเทศแอฟริกาใต้ขณะยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ โดยใช้ heat-killed whole pneumococci แต่ยังไม่เสร็จท่านก็ถูกเรียกตัวกลับประเทศ ขณะเดียวกันเพื่อนร่วมชาตินายแพทย์ Sir Frederick Spencer Lister ผู้จำแนกสายพันธุ์ของเชื้อนิวโมคอคคัสจากแอนติเจนบนผิวแคปซูล ได้พบว่า heat-killed whole pneumococci กระตุ้นให้เกิดภูมิต่อ capsular antigen แต่ละชนิดไม่สูงพอที่จะป้องกันโรคจากสายพันธุ์นั้น ๆ การพัฒนาวัคซีนเกือบจะยุติลงหลังจากที่ Alexander Fleming นักแบคทีเรียวิทยาชาวสก็อตแลนด์ เจ้าของรางวัลโนเบล ได้ค้นพบยาเพนิซิลลินในปี ค.ศ. 1928 ซึ่งช่วงแรกยาสามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียกรัมบวกได้แทบทุกชนิด แต่เมื่อเชื้อเริ่มดื้อยา ความสนใจวัคซีนป้องกันเชื้อนิวโมคอคคัสจึงกลับมาอีกครั้ง

ปัญหาของการพัฒนาวัคซีนมี 2 ประการ ประการแรกคือการเลือกสายพันธุ์ที่ก่อโรคบรรจุลงในวัคซีน เพราะสายพันธุ์ก่อโรคและก่อโรครุนแรงจะแตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่น สายพันธุ์ที่มีปัญหาของไทย คือ 19A ไม่ได้รับการบรรจุลงในวัคซีนบางรุ่น ประการที่สองคือการทำให้วัคซีนใช้ได้ดีในเด็กเล็ก เพราะในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ ระบบ T-cell ยังจดจำแอนติเจนได้ไม่ดี แต่ปัญหานี้ได้รับการแก้ไขโดยใช้วิธี "conjugate vaccine" เหมือนที่ใช้ในวัคซีนฮิบ

วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสรุ่นแรกยังเป็นโพลีแซคคาไรด์วัคซีน คือมีแต่โพลีแซคคาไรด์แอนติเจนของแคปซูลของเชื้อ S. pneumoniae ตัวแรกที่ออกมาในปี ค.ศ. 1977 ประกอบด้วย 7 สายพันธุ์ แล้วเพิ่มมาเป็น 14 สายพันธุ์ และ 23 สายพันธุ์ในปี ค.ศ. 1983 หลังพบว่าโพลีแซคคาไรด์วัคซีนไม่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันระยะยาวได้ในเด็กเล็ก วัคซีนรุ่นที่สองจึงใช้เทคนิคเชื่อมแอนติเจนกับพาหะโปรตีนจำพวก toxoid ได้เป็นคอนจูเกตวัคซีนตัวแรกในปี ค.ศ. 2000 ประกอบด้วยแอนติเจน 7 สายพันธุ์ สิบปีต่อมาจึงบรรจุเพิ่มเป็น 13 สายพันธุ์ วัคซีนรุ่นล่าสุดได้พัฒนาโดยใช้พาหะโปรตีนที่หลากหลาย และเพิ่มโอลิโกแซคคาไรด์แอนติเจนของสายพันธุ์ 18C เข้ามาด้วย ขณะเดียวกันก็ตัดสายพันธุ์ 3, 6B และ 19A ออกไป

ปัจจุบันวัคซีนป้องกันโรคจากเชื้อนิวโมคอคคัสในประเทศไทยมี 3 ชนิด คือ

  1. PPSV23 (Pneumovax 23®) เป็นโพลีแซคคาไรด์วัคซีน (Pneumococcal polysaccharide vaccine) ประกอบด้วยโพลีแซคคาไรด์แอนติเจนของแคปซูลของเชื้อ S. pneumoniae จำนวน 23 สายพันธุ์ ได้แก่ 1, 2, 3, 4, 5, 6B, 7F, 8, 9N, 9V, 10A, 11A, 12F, 14, 15B, 17F, 18C, 19A, 19F, 20, 22F, 23F และ 33F ผลิตโดยบริษัท Sanofi Pasteur ใช้กับกลุ่มเสี่ยงต่อโรคที่อายุ 2 ปีขึ้นไปเท่านั้น เนื่องจากวัคซีนเป็น T-independent ไม่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันโรคในเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปี
  2. PCV13 (Prevnar13®) เป็นคอนจูเกตวัคซีน (Pneumococcal conjugate vaccine) ที่ผลิตโดยบริษัท Pfizer โดยเอาส่วนโพลีแซคคาไรด์แอนติเจนบนแคปซูลของเชื้อ 13 สายพันธุ์ ได้แก่ 4, 6B, 9V, 14, 18C, 19F, 23F, 1, 3, 5, 6A, 7F, และ 19A มาจับกับพาหะโปรตีน คือ Diphtheria toxin CRM197 เพื่อเปลี่ยนแอนติเจนให้เป็น T-dependent ทำให้กระตุ้นภูมิคุ้มกันในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ปีได้ดี ใช้ได้กับเด็กตั้งแต่อายุ 6 สัปดาห์ขึ้นไป
  3. PCV10 (Synflorix®) เป็นคอนจูเกตวัคซีนที่ผลิตโดยบริษัท GSK โดยใช้พาหะโปรตีนเป็นโปรตีน D จากเชื้อ non-typeable Haemophilus influenzae (NTHi) ร่วมกับใช้ oligosaccharide ของเชื้อนิวโมสายพันธุ์ 18C จับกับ toxoid ของเชื้อบาดทะยัก และสายพันธุ์ 19F จับกับ toxoid ของเชื้อคอตีบ PCV10 ประกอบด้วยแคปซูลแอนติเจนของเชื้อ 10 สายพันธุ์เหมือน PCV13 แต่ไม่บรรจุเชื้อสายพันธุ์ 3, 6B และ 19A ไว้

วัคซีนป้องกันโรคจากเชื้อนิวโมคอคคัสทุกชนิดเป็นแบบน้ำ ใช้ฉีดเข้ากล้ามหรือเข้าใต้ผิวหนัง

วัคซีนป้องกันโรคจากเชื้อนิวโมคอคคัส ยังไม่อยู่ในแผนสร้างเสริมภูมิคุ้มกันของกระทรวงสาธารณสุข ผู้ที่ต้องการฉีดจึงต้องชำระเงินเอง กลุ่มเสี่ยงที่ควรฉีดได้แก่

* ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ฉีดชนิด PCV อย่างเดียว หลังจากนั้นฉีดได้ทั้ง PCV และ PPSV แต่จำนวนเข็มจะแตกต่างกันตามอายุที่เริ่มฉีด ดูคำแนะนำในตารางข้างล่าง

อายุที่เริ่มฉีดจำนวนครั้งที่ฉีด
2-6 เดือนPCV 3 เข็ม ห่างกัน 6-8 สัปดาห์ แล้วกระตุ้นอีก 1 เข็มที่อายุ 12-15 เดือน
7-11 เดือนPCV 2 เข็ม ห่างกัน 6-8 สัปดาห์ แล้วกระตุ้นอีก 1 เข็มที่อายุ 12-15 เดือน
12-23 เดือนPCV 2 เข็ม ห่างกัน 6-8 สัปดาห์ (ไม่ต้องกระตุ้นอีก)
2-5 ปีPCV10 2 เข็ม ห่างกัน 6-8 สัปดาห์
PCV13 1 เข็ม (ไม่ต้องกระตุ้นอีก)
2-5 ปี (กลุ่มเสี่ยง)PCV10 2 เข็ม ห่างกัน 8 สัปดาห์ แล้วกระตุ้นด้วย PPSV23 อีก 2 เข็ม เข็มแรกห่างจาก PCV เข็มสุดท้าย 8 สัปดาห์ เข็มที่สองห่างจากเข็มแรก 5 ปี
2-6 ปี (กลุ่มเสี่ยง)PCV13 2 เข็ม ห่างกัน 8 สัปดาห์ แล้วกระตุ้นด้วย PPSV23 อีก 2 เข็ม เข็มแรกห่างจาก PCV เข็มสุดท้าย 8 สัปดาห์ เข็มที่สองห่างจากเข็มแรก 5 ปี
7-18 ปี (กลุ่มเสี่ยง)PCV13 1 เข็ม แล้วกระตุ้นด้วย PPSV23 2 เข็ม เข็มแรกห่างจาก PCV เข็มสุดท้าย 8 สัปดาห์ เข็มที่สองห่างจากเข็มแรก 5 ปี
19-64 ปี (กลุ่มเสี่ยง)PCV13 1 เข็ม ไม่ต้องกระตุ้น
หรือ PPSV23 2 เข็ม ห่างกัน 5 ปี
ตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปPCV13 1 เข็ม หรือ PPSV23 1 เข็ม ไม่ต้องกระตุ้น

** แม้ว่าจะยังไม่มีรายงานผลของวัคซีนต่อการพัฒนาของทารกในครรภ์ก็ตาม ยังไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนทั้ง PCV และ PPSV23 แก่หญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร

ปฏิกิริยาจากการฉีดวัคซีน

วัคซีน PPSV เป็นวัคซีนที่มีความปลอดภัย ร้อยละ 50 มีอาการเฉพาะที่ เช่น ปวด บวม แดง บริเวณที่ฉีด อาการมักเป็นเพียงเล็กน้อยและหายไปเองภายใน 48 ชั่วโมง อาการไข้และปวดกล้ามเนื้อพบได้น้อยกว่าร้อยละ 1 อาการข้างเคียงที่รุนแรงพบได้น้อยมาก ในเด็กอาจพบอาการบวมแดงเฉพาะที่อย่างมาก (Arthus-like reaction) หลังการฉีดวัคซีนซ้ำภายใน 2 ปี จึงแนะนำให้ซ้ำในอีก 5 ปีถัดมา

วัคซีน PCV พบอาการข้างเคียงคล้ายกันทั้ง PCV13 และ PCV10 อาจพบมีปวด (ร้อยละ 48) บวม (ร้อยละ 35) แดง (ร้อยละ 46) บริเวณที่ฉีดวัคซีน มีไข้ร้อยละ 37 แต่มีไข้สูงเกิน 39°C พบเพียงร้อยละ 5 เด็กอาจหงุดหงิดร้องกวนร้อยละ 70 อาการข้างเคียงรุนแรงพบน้อยมาก

ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้น

วัคซีน PPSV23 สามารถครอบคลุมสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดโรคปอดบวม เยื่อหุ้มสมองอักเสบ การติดเชื้อในกระแสเลือด ในเด็กและผู้ใหญ่ได้ร้อยละ 85-90 แต่ไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันในเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี และพบว่า PPSV23 ไม่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อในหูชั้นกลางและไซนัสในเด็กได้ดีพอ

วัคซีน PCV10 และ PCV13 มีประสิทธิภาพดีในการป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสเฉพาะสายพันธุ์ที่มีบรรจุได้กว่าร้อยละ 90 และสามารถสร้าง herd immunity ได้ด้วย

วัคซีนป้องกันโรคจากเชื้อนิวโมคอคคัสทุกชนิดต้องเก็บไว้ในตู้เย็นอุณหภูมิ 2-8°C ห้ามเก็บในช่องแช่แข็ง

บรรณานุกรม

  1. "Pneumococcal Disease." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา CDC. (14 พฤษภาคม 2564).
  2. "Pneumococcal vaccine." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Wikipedia. (14 พฤษภาคม 2564).
  3. "What is the history of Pneumococcal vaccine use in America?" [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา nvic.org. (14 พฤษภาคม 2564).
  4. Robert Austrian. 1999. "A Brief History of Pneumococcal Vaccines." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Drugs & Aging. 1999;15( Suppl. 1):1-10. (14 พฤษภาคม 2564).
  5. J.D. Grabenstein, et al. 2012. "A century of pneumococcal vaccination research in humans." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Clinical Microbiology & Infection. 2012;18(Suppl. 5):15–24. (14 พฤษภาคม 2564).
  6. "Ask the Experts: Pneumococcal Vaccines (PCV13 and PPSV23)." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Immunize.Org. (16 พฤษภาคม 2564).
  7. "ตำราวัคซีนและการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา กระทรวงสาธารณสุข. (21 เมษายน 2564).
  8. "ตารางการให้วัคซีนในเด็กไทย." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย. (20 เมษายน 2564).