วัคซีนป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่น (Meningococcal Vaccine, MCV)

โรคไข้กาฬหลังแอ่นเกิดจากเชื้อเมนิงโกคอคคัส หรือ Neisseria meningitides เป็นแบคทีเรียกรัมลบ รูปร่างกลมคล้ายเมล็ดถั่ว อยู่กันเป็นคู่ มีแคปซูลหุ้ม ถูกพบเป็นครั้งแรกในน้ำไขสันหลังของผู้ป่วยเยื่อหุ้มสมองอักเสบ โดยนักพยาธิวิทยาชาวออสเตรีย Anton Weichselbaum ในปี ค.ศ. 1887 เชื้อตัวนี้พบอยู่ในคอหอยของคนทั่วไปร้อยละ 5-10 โดยไม่ทำให้เกิดโรค ติดต่อทางการไอ จาม การสัมผัสกับน้ำมูก น้ำลาย ผู้ติดเชื้อที่แสดงอาการมักเป็นผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ไม่มีม้าม, มีภาวะ hypogammaglobulinemia, มีภาวะขาดสารคอมพลีเมนต์, ได้รับยากดภูมิต้านทาน, ทารกแรกเกิด อาการของโรคจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว คือมีไข้สูง ปวดศีรษะมาก คลื่นไส้ อาเจียน คอแข็ง ชัก มีจุดเลือดออกที่ผิวหนัง มีจ้ำเลือดขนาดใหญ่หรือผื่นแดงใต้ผิวหนัง ความดันโลหิตต่ำ หมดสติ และเสียชีวิตภายใน 6-24 ชั่วโมง

โรคนี้เป็นโรคประจำถิ่นบริเวณทวีปแอฟริกาใต้ต่อทะเลทรายซาฮารา (sub-Saharan Africa) เรียกบริเวณนี้ว่า "Meningitis belt" คือตั้งแต่ประเทศแกมเบียไปจนถึงเอธิโอเปีย (สีส้มในรูป) และพบระบาดเป็นพัก ๆ ในประเทศซาอุดิอาระเบีย ซึ่งเป็นที่ประกอบพิธีฮัจญ์ ชาวมุสลิมที่เดินทางไปร่วมพิธีก็อาจกลับมาเกิดโรคในประเทศของตนเอง ผู้ที่จะเดินทางไปในประเทศที่ระบายสีส้มและสีเหลือง (ประเทศลิบยา) ต้องได้รับวัคซีนป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่นก่อนเข้าประเทศ ส่วนประเทศที่ระบายสีอื่น ๆ ต้องได้รับวัคซีนก่อนเข้าไปชุมนุมในบริเวณที่ประกอบพิธีฮัจญ์

สำหรับประเทศไทยพบโรคไข้กาฬหลังแอ่นประปราย (sporadic) เพียง 8-34 ราย/ปี ไม่ถือเป็นการระบาด แต่เป็นโรคติดต่อที่ต้องแจ้งสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ภายใน 24 ชั่วโมง วัคซีนโรคไข้กาฬหลังแอ่นจึงไม่ได้อยู่ในแผนสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของไทย แต่จะแนะนำให้ฉีดในกลุ่มเสี่ยง และกลุ่มที่จะเดินทางไปยังดงของโรค ซึ่งได้แก่

นักเรียน นักศึกษา ที่จะเข้าเรียนในประเทศสหรัฐอเมริกา หรือบางประเทศในยุโรป และกลุ่มที่จะเข้าอยู่ในหอพัก หากไม่เคยได้รับวัคซีนตั้งแต่อายุ 16 ปีขึ้นไปมาก่อนหน้านี้ เขาจะให้ฉีดวัคซีนก่อนเข้าประเทศ

เชื้อเมนิงโกคอคคัสที่ก่อโรคในคนมี 6 สายพันธุ์ คือ A, B, C, W, X, และ Y ของไทยส่วนใหญ่เกิดจากสายพันธุ์ B

วัคซีนป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่นรุ่นแรกเป็นชนิดโพลีแซคคาไรด์ ตัวแรกที่ทำสำเร็จในปี ค.ศ. 1968 ป้องกันได้เฉพาะสายพันธุ์ C จากนั้นมาพัฒนาสายพันธุ์ A และได้ bivalent polysaccharide vaccine สำหรับสายพันธุ์ A และ C ในปี ค.ศ. 1974, tetravalent polysacharride vaccine ครอบคลุมสายพันธุ์ A, C, W, Y ในปี ค.ศ. 1981 ใช้ชื่อว่า Menomune®

วัคซีนรุ่นที่สองเป็นชนิดคอนจูเกต โดยนำ Menomune® มาผสมกับ diphtheria toxoid เพื่อเป็นพาหะโปรตีนไปกระตุ้น T-cell ในเด็กเล็ก สำเร็จในปี ค.ศ. 2005 ใช้ชื่อว่า Menactra® อีก 5 ปีถัดมามีผู้พัฒนาโดยใช้โปรตีน CRM197 ที่ไม่มีพิษของ diphtheria toxoid แทนเพื่อลดผลข้างเคียง ใช้ชื่อว่า Menveo® ในปี ค.ศ. 2017 บริษัท Sanofi Pasteur ตัดสินใจเลิกผลิต Menomune® เพราะมีคอนจูเกตวัคซีนที่กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้นานกว่า

วัคซีนสายพันธุ์ที่ผลิตยากที่สุดคือสายพันธุ์ B เนื่องจาก Capsular B antigen มีโครงสร้างคล้ายเซลล์ประสาทของมนุษย์มาก หากใช้ ภูมิที่เกิดขึ้นอาจไปทำลายเซลล์ประสาทของตนเองได้ ดังนั้นจึงต้องหาแอนติเจนอื่นบนแคปซูลที่คล้าย B แต่ไม่เหมือนเซลล์ประสาท สุดท้ายก็ได้วัคซีนป้องกันสายพันธุ์ B สองตัวออกมาในเวลาใกล้เคียงกัน คือ Trumenba® ของบริษัท Wyeth ออกมาในปี ค.ศ. 2014 และ Bexsero® ของบริษัท Novartis ออกมาในปี ค.ศ. 2015

ยังไม่มีวัคซีนป้องกันสายพันธุ์ X ที่พบเคสน้อยเกินกว่าที่จะพัฒนาวัคซีน

คำแนะนำในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่น

  1. ทารกวัย 2-23 เดือน ที่ภูมิคุ้มกันผิดปกติ
  2. ให้ฉีด Menveo® 4 เข็ม ที่อายุ 2, 4, 6 และ 12 เดือน (หากเริ่มฉีดหลังอายุ 6 เดือน ให้ฉีด 2 เข็ม ห่างกันอย่างน้อย 3 เดือน) แล้วกระตุ้นหลังอายุ 3 ปี และกระตุ้นซ้ำทุก 5 ปี

    หรือฉีด Menactra® 2 เข็ม ที่อายุตั้งแต่ 9 เดือนขึ้นไป ห่างกันอย่างน้อย 3 เดือน แล้วกระตุ้นซ้ำทุก 5 ปี (ควรฉีดก่อนหรือพร้อมกับ DTaP เนื่องจากมีข้อมูลพบว่าการได้รับ Menactra® 1 เดือนตามหลัง DTaP ทำให้ระดับแอนติบอดีต่อเชื้อเมนิโกคอคคัสลดลง)

  3. วัย 2-55 ปี ที่ภูมิคุ้มกันผิดปกติ
  4. ให้ฉีด Menactra® หรือ Menveo® 2 ครั้ง ห่างกันอย่างน้อย 2 เดือน (Menactra® รบกวนการสร้างภูมิคุ้มกันของ PCV13 ควร ห่างจาก PCV13 อย่างน้อย 4 สัปดาห์) และกระตุ้นซ้ำทุก 5 ปี

  5. วัย 2-55 ปี ที่ภูมิคุ้มกันปกติ แต่เสี่ยงต่อการสัมผัสโรค
  6. ให้ฉีด Menactra® หรือ Menveo® 1 เข็ม ไม่ต้องกระตุ้น

  7. นักศึกษาที่จะไปเรียนในประเทศที่ต้องฉีดวัคซีนตัวนี้ก่อนเข้าประเทศ
  8. ให้ฉีด Menactra® หรือ Menveo® 1 เข็ม ที่อายุ 11-12 ปี แล้วกระตุ้นอีก 1 เข็ม ที่อายุ 16 ปี หากเริ่มฉีดครั้งแรกหลังอายุ 16 ปี ไม่ต้องฉีดกระตุ้น

  9. วัย ≥ 10 ปี ที่ภูมิคุ้มกันปกติ แต่เสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อสายพันธุ์ B
  10. ให้ฉีด Bexsero® 2 เข็ม ห่างกันอย่างน้อย 1 เดือน

    หรือฉีด Trumenba® 3 เข็ม ที่ 0, 1-2, 6 เดือน

* วัคซีนเข็มกระตุ้นสามารถใช้ Menactra® หรือ Menveo® ทดแทนกันได้

** ไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่นทุกชนิดในหญิงตั้งครรภ์หรือระหว่างการให้นมบุตร

ปฏิกิริยาจากการฉีดวัคซีน

ผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนที่พบบ่อยได้แก่ ปวดบริเวณที่ฉีด หงุดหงิด งอแง ปวดหัว และอ่อนเพลีย แต่ส่วนใหญ่มีอาการน้อยและหายได้เองภายใน 3 วัน อาจพบมีไข้ได้ร้อยละ 2-5 และพบกลุ่มอาการ Guillain-Barré syndrome (GBS) จากการฉีดวัคซีนได้แต่น้อยมาก

สำหรับวัคซีนป้องกันสายพันธุ์ B มีผลข้างเคียงคล้ายกันแต่พบได้บ่อยกว่าและอาจรุนแรงกว่า

ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้น

การศึกษาเปรียบเทียบวัคซีน Menveo® และ Menectra® พบว่าในเด็กเล็ก Menveo® จะให้ระดับแอนติบอดีที่สูงกว่า Menectra® แต่หลังฉีดไป 3 ปี ทั้งสองวัคซีนจะมีการลดลงของแอนติบอดีพอ ๆ กัน ส่วนในวัยรุ่นและในผู้ใหญ่พบว่ากระตุ้นภูมิคุ้มกันไม่ด้อยไปกว่ากัน โดยระดับแอนติบอดีจะอยู่ได้นาน 6 ปี

ส่วนวัคซีนป้องกันสายพันธุ์ B ทั้งสองตัวสามารถป้องกันโรคจากสายพันธุ์ B ได้ร้อยละ 80 ยังไม่มีข้อมูลว่าภูมิคุ้มกันอยู่ได้นานเท่าไร จึงยังไม่มีคำแนะนำในการฉีดกระตุ้น

วัคซีนป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่นทุกชนิดต้องเก็บไว้ในตู้เย็นอุณหภูมิ 2-8°C และไม่ให้ถูกแสง วัคซีนที่ผสมแล้วควรใช้ภายในเวลา 30 นาที

บรรณานุกรม

  1. "Meningococcal Disease ." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา CDC. (17 พฤษภาคม 2564).
  2. "Meningococcal vaccine." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Wikipedia. (17 พฤษภาคม 2564).
  3. "What is the history of Meningococcal vaccine use in America?" [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา nvic.org. (17 พฤษภาคม 2564).
  4. "Meningococcal Disease" [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา historyofvaccines.org. (22 พฤษภาคม 2564).
  5. "ตำราวัคซีนและการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา กระทรวงสาธารณสุข. (21 เมษายน 2564).
  6. "ตารางการให้วัคซีนในเด็กไทย." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย. (20 เมษายน 2564).