วัคซีนป้องกันโรคงูสวัด (Zoster Vaccine)

โรคงูสวัดเกิดจากเชื้อไวรัส Varicella zoster (ตัวเดียวกับโรคอีสุกอีใส) การติดเชื้อครั้งแรกจะทำให้เป็นโรคอีสุกอีใส โดยจะมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามลำตัว และจะเกิดตุ่มน้ำใสขึ้นทั่วร่างกาย เมื่อหายจากโรคอีสุกอีใส เชื้อไวรัสจะยังอยู่ในร่างกาย โดยหลบอยู่ในปมประสาท และร้อยละ 15 จะเกิดเป็นงูสวัดในหลายปีต่อมา เมื่อภาวะภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลง

อาการของโรคงูสวัดจะปวดแสบปวดร้อนที่ผิวหนังก่อนตุ่มน้ำใสจะขึ้นประมาณ 1-2 วัน จากนั้นจะมีตุ่มน้ำใสเป็นกลุ่มขึ้นเฉพาะที่ ไม่ข้ามกึ่งกลางลำตัว บริเวณนั้นจะยิ่งปวดแสบปวดร้อน อาจมีไข้หรือไม่มีก็ได้ ตุ่มน้ำที่แสบร้อนจะขึ้นอยู่ประมาณ 2 สัปดาห์ แล้วจะค่อย ๆ แห้ง ตกสะเก็ด เมื่อสะเก็ดหลุดออกจะมีรอยแผลเป็นขาว ๆ (ตุ่มของอีสุกอีใสไม่มีแผลเป็น) แผลงูสวัดที่หายแล้วยังอาจกลับมาปวดแสบร้อนได้อีกโดยไม่มีตุ่มน้ำใหม่เกิดขึ้น เรียกว่าภาวะนี้ว่า "post herpetic neuralgia" ซึ่งพบได้ถึงร้อยละ 40-44 อาจปวด-หาย-ปวด-หาย ซ้ำ ๆ อยู่หลายปี สร้างความทุกข์ทรมานให้แก่ผู้ป่วยเป็นอย่างมาก

โรคงูสวัดในเด็กและผู้ใหญ่ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง มักจะเสียชีวิตจากโรคแทรกซ้อนอื่น เช่น สมองอักเสบ ปอดอักเสบ หรือมีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำตรงแผลพุพอง

วัคซีนป้องกันโรคงูสวัดเป็นวัคซีนเชื้อเป็นแต่ทำให้อ่อนฤทธิ์เหมือนวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส แต่มีปริมาณเชื้อสายพันธุ์ Oka มากกว่า 10 เท่า ตัวแรกที่ทำสำเร็จในปี ค.ศ. 2006 คือ Zostavax® ของบริษัท Merck ใช้ฉีดเพียงเข็มเดียวเข้าใต้ผิวหนัง มีฤทธิ์ป้องกันโรคได้ประมาณร้อยละ 50 ในช่วง 3 ปีแรก แต่สามารถป้องกัน post herpetic neuralgia ที่เกิดจากงูสวัดได้ถึงร้อยละ 66

วัคซีนตัวที่สองใช้เพียง glycoprotein E (gE) ที่ผิวของเชื้อไวรัส ซึ่งได้จากการเพาะด้วยวิธีพันธุวิศวกรรมในเซลล์ไข่ของหนูทดลอง และยังมี AS01B suspension เป็น immunological adjuvant สำเร็จในปี ค.ศ. 2017 โดยบริษัท GSK ใช้ชื่อการค้าว่า Shingrix® เป็น recombinant subunit shingles vaccine ใช้ฉีดเข้ากล้าม 2 เข็ม ห่างกัน 2-6 เดือน มีฤทธิ์ป้องกันโรคได้ร้อยละ 96 ในช่วง 5 ปีแรก

สำหรับประเทศไทยแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดในผู้สูงอายุ > 60 ปี โดยไม่ต้องคำนึงว่าเคยเป็นงูสวัดหรืออีสุกอีใสมาก่อนหรือไม่ และสามารถฉีดร่วมกับวัคซีนอื่น ๆ ที่ให้แก่ผู้สูงอายุได้ในเวลาเดียวกัน เช่น วัคซีนป้องกันการติดเชื้อนิวโมคอคคัส วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ โดยฉีดวัคซีนคนละข้างของต้นแขน

ปฏิกิริยาจากวัคซีน

ปฏิกิริยาจากวัคซีน Zostavax® ได้แก่

  • อาการปวด บวม แดงบริเวณที่ฉีดวัคซีน พบร้อยละ 35
  • คันบริเวณที่ฉีด พบร้อยละ 6.9
  • ปวดศีรษะ พบร้อยละ 1.4
  • มีไข้สูงกว่า 38°C พบร้อยละ 0.8
  • อาการแทรกซ้อนรุนแรง เช่น Anaphylaxis, Asthma exacerbation, Polymyalgia rheumatica, Goodpasture’s syndrome, Guillain-Barré syndrome พบน้อยมาก

ปฏิกิริยาจากวัคซีน Shingrix® ได้แก่

  • อาการปวด บวม แดงบริเวณที่ฉีดวัคซีน พบร้อยละ 10
  • ปวดเนื้อตัว ปวดศีรษะ พบร้อยละ 1-8
  • คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ปวดท้อง พบร้อยละ 1-2
  • มีไข้สูงกว่า 38°C พบร้อยละ 0.4
  • อาการแทรกซ้อนรุนแรง พบน้อยมาก

วัคซีนงูสวัดทั้งสองชนิดเป็นวัคซีนผงแห้ง (lyophilyzed) เวลาใช้ต้องผสมในน้ำยาละลาย (diluent) ก่อนฉีด ผสมวัคซีนแล้วต้องใช้ภายใน 30 นาทีสำหรับ Zostavax® และ 6 ชั่วโมงสำหรับ Shingrix®

ต้องเก็บวัคซีนไว้ที่อุณหภูมิ 2-8°C หรือต่ำกว่า ไม่ให้ถูกแสงสว่าง ผงวัคซีนอาจแช่แข็งได้แต่น้ำยาละลายห้ามแช่แข็ง เพราะน้ำยาจะขยายตัว ทำให้ขวดวัคซีนแตกได้ วัคซีนที่ยังไม่ได้ผสมมีอายุใช้ได้นาน 2 ปี

บรรณานุกรม

  1. Charlotte Warren-Gash, et al. 2017. "Varicella and herpes zoster vaccine development: lessons learned." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Expert Rev Vaccines. 2017;16(12):1191–1201. (9 พฤษภาคม 2564).
  2. "Shingles (Herpes Zoster)." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา historyofvaccine.org. (10 พฤษภาคม 2564).
  3. "What is the history of Shingles vaccine in America and other countries?" [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา nvic.org. (10 พฤษภาคม 2564).
  4. "Zoster vaccine." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Wikipedia (10 พฤษภาคม 2564).
  5. "คำแนะนำการให้วัคซีนป้องกันโรคสำหรับผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย (10 พฤษภาคม 2564).
  6. ภก.สิกขวัฒน์ นักร้อง. "วัคซีนอีสุกอีใส และวัคซีนงูสวัด แตกต่างกันอย่างไร." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา วงการแพทย์ (10 พฤษภาคม 2564).
  7. "Hightlights of prescribing information: Zostavax." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Merck (10 พฤษภาคม 2564).
  8. "Shingrix Storage & Dosing." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา GSK MedInfo (10 พฤษภาคม 2564).