วัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV Vaccine)

เชื้อไวรัส HPV (Human Papillomavirus) เป็น DNA virus ขนาดเล็ก ไม่มีเปลือกหุ้ม มีมากมายหลายสายพันธุ์ แต่แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มที่อาศัยอยู่ในเซลล์ผิวหนัง ทำให้เกิดหูดขึ้นตามผิวหนัง กับกลุ่มที่อาศัยอยู่ในเซลล์เยื่อบุต่าง ๆ เช่น ช่องปาก คอหอย ทางเดินหายใจ ช่องคลอด และทวารหนัก ทำให้เกิดหูดหงอนไก่ขึ้นตามบริเวณนั้น (ทั้งหญิงและชาย) เชื้อกลุ่มหลังนี้จะติดต่อทางเพศสัมพันธ์

ความจริงไวรัสตัวนี้ถูกค้นพบในสัตว์ก่อน โดยนักไวรัสวิทยา Richard Shope ในปี ค.ศ. 1933 เขาสงสัยว่าเขาที่งอกบนหัวของกระต่ายตัวหนึ่งคืออะไร จึงได้ตัดและบดเขานั้น แล้วฉีดเข้าในกระต่ายอีกตัวหนึ่ง ปรากฏว่ากระต่ายตัวนั้นเริ่มมีเขางอกขึ้นมาเช่นกัน ภายหลังการศึกษาพบว่าเขานั้นก็คือหูดที่เกิดจากเชื้อไวรัสตัวหนึ่ง โชปตั้งชื่อมันว่า cottontail rabbit papillomavirus (CRPV) นับเป็นครั้งแรกที่โลกค้นพบว่าไวรัสทำให้เกิดมะเร็งในสัตว์

แต่ตอนนั้นยังไม่มีใครเชื่อว่าไวรัสเป็นสาเหตุของมะเร็ง เพราะก่อนหน้านี้พบเพียงสารเคมีบางชนิดเท่านั้น จนกระทั่งนายแพทย์ Francis Peyton Rous ได้อธิบายผลการติดตามการติดเชื้อแปปิโลมาในไก่ จนเกิดหูดและมะเร็งตามมา รวมทั้งขั้นตอนในการรักษา ท่านได้รับรางวัลโนเบลในปี ค.ศ. 1966 กระนั้นก็ยังไม่มีใครเชื่อว่าสิ่งนี้จะเกิดในมนุษย์ สิบเอ็ดปีถัดมาสูตินรีแพทย์ Dr. Harald zur Hausen ได้เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างการติดเชื้อ HPV ในมนุษย์สู่การเป็นมะเร็งปากมดลูก (ก่อนหน้านี้ท่านสนใจศึกษาการก่อมะเร็งของเชื้อ Epstein-Barr virus ด้วย) โดยร้อยละ 70 ของมะเร็งปากมดลูกพบเชื้อไวรัสเอชพีวี สายพันธุ์ 16 กับ 18 ส่วนร้อย 30 พบสายพันธุ์ที่เหลือ รายงานของท่านละเอียดถึงขั้นระบุได้ว่า ไวรัสชนิดนี้ส่งยีน E6 และ E7 เข้าไปรวมกับ DNA ของเซลล์เยื่อบุปากมดลูก โปรตีนที่สร้างจากยีน E6 และ E7 จะไปยับยั้ง tumor suppressor protein 2 ตัวของคน คือ p53 และ pRb เมื่อขาดตัวยับยั้งเซลล์ก็แบ่งตัวไม่หยุดจนกลายเป็นมะเร็ง ในปี ค.ศ. 1995 องค์การอนามัยโลกจึงยอมรับและประกาศว่าไวรัส HPV-16 และ HPV-18 เป็นไวรัสก่อมะเร็ง นายแพทย์เฮาเซนได้รับรางวัลโนเบลจากผลงานของท่านชิ้นนี้

การพัฒนาวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสเอชพีวีต้องให้เครดิตแก่ท่านทั้งสามนี้ เพราะเชื้อ CRPV ที่โชปค้นพบตั้งแต่ปี ค.ศ. 1933 มีลักษณะที่คล้ายกับเชื้อ HPV ในคนมาก และเขาก็เป็นผู้ริเริ่มวิจัยวัคซีนป้องกันการติดเชื้อแปปิโลมาในสัตว์ ปัญหาของการพัฒนาวัคซีนในระยะแรกคือ DNA ของไวรัสที่ตายแล้วก็ทำให้เกิดมะเร็งได้ ยิ่งกว่านั้นไวรัสแปปิโลมาจากสัตว์แต่ละชนิดจะเพาะขึ้นเฉพาะในเซลล์ของสัตว์ชนิดนั้น ๆ ทำให้เราได้วัคซีนสำหรับสัตว์เท่านั้น แต่ในที่สุด John Kneider ก็พบวิธีเพาะเชื้อ HPV ได้ในหนูทดลอง โดยทำให้ภูมิต้านทานของหนูนั้นเสียไปก่อน เมื่อปลูกถ่ายเนื้อเยื่อปากมดลูกและหนังหุ้มองคชาติลงไปในตัวหนู มันก็ไม่ปฏิเสธเนื่อเยื่อของคน เราได้วัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสเอชพีวีตัวแรกในปี ค.ศ. 2006

ปัจจุบันวัคซีน HPV ใช้เพียงชิ้นส่วนของเชื้อไวรัสในกระบวนการผลิต มี 3 ชนิด ได้แก่

  1. ชนิด 2 สายพันธุ์ (bivalent) ประกอบด้วยสายพันธุ์ 16 และ 18 ซึ่งใช้เซลล์ baculovirus ในขบวนการผลิต มีส่วนประกอบของโปรตีนชนิด L1 ของเชื้อ HPV สายพันธุ์ 16 และ 18 อย่างละ 20 ไมโครกรัม, aluminium hydroxide 500 ไมโครกรัม และ 3-desacylated monophosphoryl lipid A (MPL) เป็น adjuvant 50 ไมโครกรัม ชื่อการค้าคือ Cervarix® ผลิตโดยบริษัท GSK
  2. ไวรัส HPV ชนิดก่อมะเร็งมี 14 สายพันธุ์ สายพันธุ์ 16 และ 18 เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกมากที่สุด รองลงมาคือสายพันธุ์ 45, 31 และ 33

  3. ชนิด 4 สายพันธุ์ (quadrivalent) ประกอบด้วยสายพันธุ์ 6,11,16 และ 18 ซึ่งใช้เซลล์ของยีสต์ชนิด Saccharomyces cerevisiae ในขบวนการผลิต มีส่วนประกอบของโปรตีนชนิด L1 ของเชื้อ HPV สายพันธุ์ 6, 11, 16 และ 18 ในปริมาณ 20, 40, 40 และ 20 ไมโครกรัม ตามลำดับ และมี aluminium hydroxyphosphate sulfate เป็น adjuvant ชื่อการค้าคือ Gardasil® ผลิตโดยบริษัท MSD
  4. ไวรัส HPV ชนิดไม่ก่อให้เกิดมะเร็ง แต่เป็นสาเหตุของหูดหงอนไก่บริเวณอวัยวะเพศ คือ สายพันธุ์ 6 และ 11

  5. ชนิด 9 สายพันธุ์ (nonavalent) ประกอบด้วยสายพันธุ์ 6, 11, 16, 18, 31, 33, 45, 52 และ 58 ซึ่งใช้เซลล์ของยีสต์ชนิด Saccharomyces cerevisiae ในขบวนการผลิตเช่นเดียวกับชนิด 4 สายพันธุ์ มีส่วนประกอบของโปรตีนชนิด L1 ของเชื้อ HPV สายพันธุ์ 6, 11, 16, 18, 31, 33, 45, 52 และ 58 ในปริมาณ 30, 40, 60, 40, 20, 20, 20, 20 และ 20 ไมโครกรัม ตามลำดับ และมี aluminium hydroxyphosphate sulfate เป็น adjuvant ชื่อการค้าคือ Gardasil 9® ผลิตโดยบริษัท MSD สายพันธุ์ในวัคซีนนี้จะครอบคลุมเชื้อที่เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกได้เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 70 เป็นร้อยละ 90

สำหรับประเทศไทยอุบัติการณ์ของมะเร็งปากมดลูกสูงถึง 10,000 คน/ปี และมีผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกเสียชีวิตประมาณ 5,000 คน/ปี หรือประมาณ 14 คน/วัน กระทรวงสาธารณสุขจึงบรรจุวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อ HPV เข้าเป็นวัคซีนบังคับในเด็กหญิงไทยเมื่อเข้าชั้นประถมปีที่ 5 แต่องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ฉีดวัคซีนทั้งหญิงและชายในช่วงอายุ 9-26 ปี โดยฉีด 3 เข็มในเดือนที่ 0, 1-2, และ 6 ยกเว้นเริ่มเข็มแรกก่อนอายุ 15 ปี ให้ฉีด 2 เข็มได้ ในเดือนที่ 0 และ 6-12

ที่สำคัญควรรับวัคซีนก่อนเริ่มมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก เพราะวัคซีน HPV ทุกชนิดไม่มีประสิทธิภาพในการรักษาหรือกำจัดการติดเชื้อ HPV ที่เกิดขึ้นมาก่อน (ผู้ที่เคยมีเพศสัมพันธ์แล้วก็สามารถฉีดวัคซีนได้ แต่วัคซีนอาจมีประสิทธิภาพป้องกันโรคได้ลดลง)

ผู้ที่เคยได้รับวัคซีนชนิด 2 หรือ 4 สายพันธุ์ ไม่ว่าจะครบหรือไม่ครบ หากต้องการสามารถเปลี่ยนมารับชนิด 9 สายพันธุ์ เพิ่มได้อีก 2 เข็ม ห่างกัน 6-12 เดือน

หากตั้งครรภ์ในช่วงที่ยังฉีดไม่ครบให้เลื่อนไปฉีดต่อหลังคลอด แต่ยังไม่มีหลักฐานว่าวัคซีนมีอันตรายต่อทารกในครรภ์

ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องสามารถรับวัคซีนได้ เพราะมิใช่วัคซีนชนิดเชื้อมีชีวิต ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีจะมีความเสี่ยงที่จะเกิด persistent infection และเป็นมะเร็งหลังจากติดเชื้อได้สูงกว่าคนปกติ จึงสมควรรับวัคซีนอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในวัยรุ่นที่ติดเชื้อเอชไอวีจากมารดา โดยควรให้ในช่วงอายุ 11-12 ปี ทั้งหญิงและชาย หรือให้ก่อนเริ่มเพศสัมพันธ์

ผู้ที่แพ้ยีสต์รุนแรง ไม่ควรฉีดแบบ 4 และ 9 สายพันธุ์

ผลข้างเคียงของวัคซีนอาจเกิดปฏิกิริยาเฉพาะที่ได้ประมาณหนึ่งในสี่ คือมีอาการปวด บวม ผื่นแดงและคัน บริเวณที่ฉีด อาจมีไข้ได้ประมาณร้อยละ 10 มักหายได้เอง ไม่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง การฉีดวัคซีนในวัยรุ่นมีรายงานอาการหน้ามืด เป็นลม หลังได้รับวัคซีนพร้อมกันหลายคน เป็นลักษณะ mass psychogenic response จึงควรสังเกตอาการหลังให้วัคซีนประมาณ 30 นาที

หากไม่เคยติดเชื้อมาก่อน วัคซีนชนิด 2 และ 4 สายพันธุ์สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ร้อยละ 100 และ 98 ตามลำดับ หากเคยติดเชื้อมาก่อนประสิทธิภาพจะลดลงเหลือร้อยละ 46 และ 44 ตามลำดับ แต่ก็ยังสูงกว่าการติดเชื้อตามธรรมชาติ ซึ่งไม่ค่อยกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกัน ระดับแอนติบอดีย์จากวัคซีนคาดว่าจะคงอยู่อย่างน้อย 30 ปี

หากวัดประสิทธิภาพในการป้องกัน carcinoma in situ ระดับ 3 ขึ้นไป รวมทั้งมะเร็งองคชาติในเพศชาย วัคซีนทุกชนิดมีประสิทธิภาพในการป้องกันได้มากกว่าร้อยละ 90 หากฉีดตั้งแต่ที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ ทั้งนี้หญิงที่ได้รับวัคซีนยังจำเป็นต้องได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเหมือนหญิงที่ไม่ได้รับวัคซีน

วัคซีนทั้งสามชนิดเป็นน้ำแขวนตะกอน บรรจุกล่องละ 1 โด๊ส อยู่ในรูปเข็มฉีดยาพร้อมใช้ (pre-filled syringe) ปริมาณ 0.5 mL ต้องเก็บที่อุณหภูมิ 2-8°C ห้ามแช่แข็ง และไม่ให้ถูกแสง

บรรณานุกรม

  1. José Veríssimo Fernandes, et al. 2013. "Biology and natural history of human papillomavirus infection." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Open Access J of Clinical Trials. (7 พฤษภาคม 2564).
  2. "Human papillomavirus (HPV)." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา animalresearch.info. (7 พฤษภาคม 2564).
  3. "Peyton Rous." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา nobelprize.org. (7 พฤษภาคม 2564).
  4. "Harald zur Hausen." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา nobelprize.org. (7 พฤษภาคม 2564).
  5. "Human papillomavirus infection" [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Wikipedia (7 พฤษภาคม 2564).
  6. "HPV... ไวรัสร้ายใกล้ตัวที่ควรป้องกันตั้งแต่วัยรุ่น." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา โรงพยาบาลรามาธิบดี. (7 พฤษภาคม 2564).
  7. "ตำราวัคซีนและการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา กระทรวงสาธารณสุข. (21 เมษายน 2564).
  8. "ตารางการให้วัคซีนในเด็กไทย." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย. (20 เมษายน 2564).