วัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบบี (HB Vaccine)

ไวรัสตับอักเสบมี 5 ชนิด คือ ไวรัสตับอักเสบ เอ บี ซี ดี และอี โดยไวรัสที่ทำให้เกิดตับอักเสบเรื้อรัง ตับแข็ง และมีมะเร็งตับตามมาได้แก่ ไวรัสตับอักเสบบีและซี ในประเทศไทยคาดว่ามีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี (ทั้งที่มีอาการและที่เป็นพาหะ) ประมาณร้อยละ 5 ของประชากรทั้งหมด หรือประมาณ 3 ล้านคน! ส่วนผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีมีประมาณร้อยละ 1-2 ของประชากรทั้งประเทศ หรือประมาณ 1 ล้านคน! ผู้ติดเชื้อสามารถแพร่เชื้อได้ทางเลือด น้ำลาย และสารคัดหลั่งเวลามีเพศสัมพันธ์ โชคดีที่เรามีวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีใช้กันแล้ว องค์การอนามัยโลกจัดว่าเป็นวัคซีนป้องกันมะเร็งตัวแรกของโลก

นายแพทย์ Baruch S. Blumberg ค้นพบตัวไวรัสตับอักเสบบีในปี ค.ศ. 1965 (ท่านได้รับรางวัลโนเบลจากการค้นพบนี้) จากนั้นท่านและนักจุลชีววิทยา Irving Millman ได้ร่วมกันพัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีตัวแรก เป็นลักษณะ inactivated vaccine โดยผ่านความร้อนหลายครั้งให้เชื้อตาย แต่วัคซีนนี้ยังไม่ได้รับอนุมัติให้ใช้ในคน

ปี ค.ศ. 1981 วัคซีน Heptavax-B ของบริษัทเมอร์ค (Merck) ซึ่งเป็น inactivated vaccine เช่นกัน โดยใช้สาร formaldehyde และผ่านกระบวนการ "pasteurization" หลายครั้ง ได้รับอนุมัติให้ใช้ในคนได้เป็นครั้งแรก โดยใช้ในผู้ติดยาเสพติด ชายที่มีรักร่วมเพศ หญิงบริการ ทารกที่เกิดจากมารดาที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี และบุคลากรทางการแพทย์

ปี ค.ศ. 1986 เมอร์คได้เปลี่ยนกระบวนการผลิตใหม่ทั้งหมด โดยใช้เทคโนโลยีพันธุวิศวกรรม (genetic engineering) สอดยีนของไวรัสเข้าไปในเซลล์ยีสต์ สร้าง recombinant vaccine ตัวแรกของโลก ชื่อ Recombivax-HB สามปีถัดมาบริษัทสมิธไคลน์บีแชม (SmithKlineBeecham) ก็ออก recombinant hepatitis B vaccine ตัวที่สอง ชื่อ Engerix-B มาแข่งขัน เมอร์คจึงเลิกผลิต Heptavax-B ไปในปี ค.ศ. 1990

ปี ค.ศ. 1990 นี่เอง ที่ CDC ของสหรัฐอเมริกาประกาศให้ต้องฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีแก่เด็กทุกคนก่อนที่จะโตขึ้นมาเป็นผู้มีพฤติกรรมเสี่ยง ตั้งแต่นั้นมาจึงมีการฉีดวัคซีนตัวนี้ในเด็กแรกเกิดทุกคน และแทบทุกประเทศ สำหรับประเทศไทยได้เริ่มฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีแก่เด็กแรกเกิดทุกคนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535

วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี เป็นวัคซีนชนิดน้ำ ผลิตด้วยวิธีทางพันธุวิศวกรรม โดยสอดสารพันธุกรรมที่กำหนดการสร้างโปรตีนผิวนอกของเชื้อ (HBsAg) เข้าในเซลล์บางชนิด เช่น เซลล์ยีสต์ หรือเซลล์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ให้เซลล์เหล่านี้สร้าง HBsAg ออกมา แล้วแยกเอาเฉพาะส่วน HBsAg มาทำให้บริสุทธิ์ จากนั้นมาผสมกับ aluminium hydroxide ซึ่งเป็นสารช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกัน และใช้ thimerosal เป็นสารกันเสีย ประกอบกันเป็นวัคซีน หลังผลิตวัคซีนจะอยู่ได้ประมาณ 2 ปี ถ้าเก็บไว้ในตู้เย็นที่อุณหภูมิ 2-8°C ** ห้ามแช่ช่องแข็ง เพราะวัคซีนจะเสื่อมคุณภาพลงอย่างรวดเร็ว

ผู้ผลิตวัคซีนในประเทศไทยมีหลายบริษัท เช่น GSK, MSD, Sanofi, Heber Biotec แต่ละบริษัทจะมี HBsAg ในความเข้มข้นไม่เท่ากัน ตั้งแต่ 10-20 mcg/mL และขนาดสูง 40 mcg/mL ซึ่งจะใช้ในผู้ป่วยฟอกไตและผู้ใหญ่ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ส่วนปริมาตรวัคซีนในเด็กคือ 0.5 mL/dose ในผู้ใหญ่คือ 1 mL/dose และในผู้ป่วยฟอกไตคือ 1-2 mL/dose นอกจากนี้ยังมีวัคซีนผสมรวมวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีกับวัคซีนในเด็กตัวอื่น ๆ เพื่อให้ฉีดได้ง่ายขึ้น

วิธีฉีดป้องกันก่อนสัมผัสโรค (Pre-exposure)

สำหรับวัคซีนนี้ เด็กแรกเกิดถึงวัยรุ่นให้ฉีดครั้งละ 0.5 mL เข้ากล้ามเนื้อ อย่างน้อย 3 เข็ม คือ แรกเกิด, อายุ 1 เดือน, และอายุ 6 เดือน สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทยแนะนำให้ฉีดเพิ่มที่อายุ 2 และ 4 เดือนด้วย รวมเป็น 5 เข็ม โดยใช้วัคซีนผสมกับวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน ในเดือนที่ 2, 4, และ 6

ส่วนผู้ใหญ่จะฉีดก็ต่อเมื่อตรวจไม่พบการติดเชื้อ (HBsAg = negative) และยังไม่มีภูมิต้านทาน (anti-HBs = negative) โดยฉีดครั้งละ 1 mL เข้ากล้าม 3 เข็ม ที่ 0, 1, 6 เดือน (ไม่ควรฉีดในคนที่แพ้ยีสต์อย่างรุนแรง)

ภูมิคุ้มกันจะขึ้นถึงระดับป้องกันโรคหลังฉีดเข็มที่สาม โดยป้องกันโรคได้ 90-95% และภูมิคุ้มกันอยู่ได้นานเกิน 20 ปี จึงไม่จำเป็นต้องกระตุ้นซ้ำอีก ยกเว้นในผู้ป่วยไตวายที่ต้องฟอกไตเป็นประจำ แนะนำให้ฉีดซ้ำอีก 3 เข็ม (ที่ 0, 1, 6 เดือน) ถ้าสุ่มตรวจ HBsAg และ anti-HBs เป็นลบทั้งคู่

วิธีฉีดป้องกันหลังสัมผัสโรค (Post-exposure)

ในกรณีที่มารดาเป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบบี (โดยเฉพาะถ้าพบ HBeAg เป็นบวก) ทารกควรได้รับ hepatitis B immunoglobulin (HBIG) ร่วมกับวัคซีนเข็มแรกด้วย โดยฉีด HBIG ที่ต้นขาคนละข้างกับวัคซีน หากไม่มี HBIG ให้ฉีดวัคซีนเข็มแรกเร็วที่สุด (ภายใน 12 ชั่วโมงหลังคลอด) ซึ่งพบว่าวัคซีนอย่างเดียวก็สามารถป้องกันโรคได้สูงมาก จากนั้นให้ฉีดวัคซีนอีก 4 เข็ม ที่อายุ 1, 2, 4, 6 เดือน จากนั้นให้ตรวจ HBsAg และ anti-HBs เมื่ออายุ 9-12 เดือน เพื่อดูผลของการให้วัคซีน หากพบว่า anti-HBs ยังคงเป็นลบ ควรฉีดซ้ำแล้วติดตาม anti-HBs หลังฉีดวัคซีนแต่ละเข็ม 1 เดือน ถ้าได้ระดับภูมิคุ้มกัน (anti-HBs) ตั้งแต่ 10 mIU/มล. ก็สามารถหยุดฉีดได้ ถ้าพบว่า anti-HBs ยังคงเป็นลบ หรือ HBsAg เป็นบวก แสดงว่าเด็กอาจติดเชื้อจากมารดาตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ควรติดตามการรักษากับกุมารแพทย์ต่อไป

ปัจจุบันมีโครงการกำจัดการติดเชื้อจากแม่สู่ลูก โดยให้ยา TDF แก่มารดาที่เป็นพาหะขณะตั้งครรภ์ เสริมจากการให้วัคซีนในทารก เพื่อให้ลดการถ่ายทอดเชื้อจากแม่สู่ลูก

การให้วัคซีนหลังสัมผัสโรคในกรณีอื่น ๆ เช่น ถูกเข็มที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีตํามือ มีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่เป็นพาหะ สัมผัสเชื้อในห้องปฏิบัติการ

  • ถ้าผู้สัมผัสไม่มีภูมิคุ้มกันมาก่อน ให้ HBIG และวัคซีนภายใน 72 ชั่วโมงหลังสัมผัสโรค ตามด้วยวัคซีนอีก 2 เข็มในสัปดาห์ที่ 2 และ 6
  • ถ้าผู้สัมผัสมีภูมิคุ้มกันน้อย (anti-HBs ≤ 10 mIU/mL) ให้ HBIG และวัคซีนกระตุ้น 1 เข็ม
  • ถ้าผู้สัมผัสมีภูมิคุ้มกันพอแล้ว (anti-HBs > 10 mIU/mL) ไม่ต้องฉีดอะไร

วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีเป็นวัคซีนที่พิสูจน์แล้วว่าสามารถลดอุบัติการณ์ของมะเร็งตับได้ จึงควรส่งเสริมให้ผู้ที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกัน (และไม่ได้เป็นพาหะ) ฉีดวัคซีนตัวนี้ทุกคน

บรรณานุกรม

  1. รศ.นพ.ทวีศักดิ์ แทนวันดี. 2018. "ไวรัสตับอักเสบ มหันตภัยร้ายที่ป้องกันได้." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล. (21 เมษายน 2564).
  2. "Hepatitis B Vaccine History." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Hepatitis B Foundation. (21 เมษายน 2564).
  3. "What is the History of Hepatitis B Vaccine Use in America?" [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา National Vaccine Information Center. (21 เมษายน 2564).
  4. "ตำราวัคซีนและการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา กระทรวงสาธารณสุข. (21 เมษายน 2564).
  5. "ตารางการให้วัคซีนในเด็กไทย." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย. (20 เมษายน 2564).