วัคซีนบีซีจี (BCG Vaccine)

วัคซีนบีซีจีเป็นวัคซีนป้องกันวัณโรคเพียงชนิดเดียวในปัจจุบัน คิดค้นโดยนายแพทย์ Albert Calmette และนายสัตวแพทย์ Camille Guerin แห่งสถาบันปาสเตอร์ ประเทศฝรั่งเศส โดยใช้เชื้อ Mycobacterium bovis ซึ่งได้จากฝีที่เต้านมของวัว ซึ่งเพาะเชื้อโดยคนชื่อ Nocard จึงเรียกว่า Nocard strain ทั้งคู่ใช้เวลาศึกษาทดลองอยู่ถึง 13 ปี จึงได้วัคซีนมาใช้ในคนเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1921 และชื่อของท่านทั้งสองได้รับเกียรติตั้งเป็นชื่อวัคซีน "Bacillus Calmette Guerin" หรือเรียกโดยย่อว่า BCG

Calmette และ Guerin ทำให้เชื้อ Nocard strain อ่อนฤทธิ์ลง โดยเพาะเชื้อหลาย ๆ ครั้งในอาหารเพาะเชื้อ ซึ่งประกอบด้วย กลีเซอรอล-มันฝรั่ง-น้ำดี เนื่องจากในขณะนั้นกำลังอยู่ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้การดำเนินการเป็นไปด้วยความยากลำบาก จากความขาดแคลนมันฝรั่งและการหนีภัยสงคราม การเพาะเชื้อซ้ำ ๆ ทำถึง 230 ครั้ง เมื่อสงครามสงบก็เกิดวัณโรคระบาดหนัก หลังจากที่ทดลองในสัตว์แล้ว พบว่าไม่ก่อให้เกิดอันตราย จึงได้นำวัคซีนมาให้ทางปากแก่เด็กแรกเกิดที่มารดาเสียชีวิตจากวัณโรค เมื่อพบว่าเด็กคนนั้นไม่ได้รับอันตรายจากวัคซีน และไม่เป็นวัณโรค จึงได้ให้แก่ทารกแรกเกิดจากแม่ที่เป็นวัณโรครุนแรงคนอื่น ๆ ในประเทศฝรั่งเศสต่อไป (โดยให้แม่ของเด็กเป็นคนตัดสินใจว่าจะให้เด็กรับวัคซีนหรือไม่) ระหว่าง ค.ศ. 1921-1924 มีการให้วัคซีนนี้แก่เด็กทางปากมากกว่า 300 คน จากการประเมินพบว่า เด็กที่ได้รับวัคซีนมีอัตราการติดเชื้อวัณโรคน้อยกว่าเด็กที่ไม่ได้รับวัคซีน ต่อมาจึงมีการให้วัคซีนแก่ทารกในประเทศอื่น ๆ ในและนอกทวีปยุโรป

ภายหลังมีการศึกษาพบว่าการให้วัคซีนโดยฉีดเข้าในผิวหนัง (intradermal) ทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อทูเบอร์คูลิน (ซึ่งขณะนั้นเชื่อว่าเป็นตัวชี้วัดการเกิดภูมิต้านทาน) ได้ดีกว่าการให้ทางปาก และเกิดผลแทรกซ้อนน้อยกว่าวิธีฉีดเข้าใต้ผิวหนัง (subcutaneous) จึงได้เปลี่ยนวิธีการให้วัคซีนเป็นการฉีดเข้าในผิวหนังจนถึงปัจจุบัน

วิธีการผลิตวัคซีนบีซีจีของแต่ละประเทศอาจจะแตกต่างกันไปบ้าง แต่หลักเกณฑ์ที่สำคัญคือ เชื้อที่นำมาทำวัคซีนจะต้องถ่ายทอดต่อเนื่องกันมาจาก Bacillus ของ Calmette และ Guerin เท่านั้น วัคซีนที่ผลิตได้จะต้องมีคุณภาพแรงพอที่จะสร้างภูมิคุ้มกันวัณโรคได้ แต่ไม่แรงเกินไปจนทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ดังนั้นจึงต้องมีการตรวจสอบคุณภาพให้ได้ตามมาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้

สำหรับประเทศไทยได้เริ่มผลิตวัคซีนบีซีจีตั้งแต่ พ.ศ. 2496 หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ ๙) ได้ทรงพระราชทานตึกมหิดลวงศานุสรณ์ให้แก่สถานเสาวภา สภากาชาดไทย เพื่อเป็นสถานที่ค้นคว้าและทดลองผลิตวัคซีนบีซีจีขึ้นใช้เองภายในประเทศ ตั้งแต่นั้นได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องทั้งสถานที่ผลิตและเครื่องมือที่ใช้ผลิต รวมทั้งพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตเพื่อให้ได้วัคซีนที่ได้มาตรฐานตามหลักเกณฑ์ของ GMP และมีคุณภาพตามข้อกำหนดขององค์การอนามัยโลก

ประเทศไทยกำหนดให้ฉีดวัคซีนบีซีจีในเด็กแรกเกิดทุกคน โดยภูมิคุ้มกันจะเกิดภายหลังฉีด 4-6 สัปดาห์ และอยู่ได้นานประมาณ 10 ปี หลังจากนั้นไม่ต้องฉีดซ้ำอีกเพราะจะมีภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติเกิดขึ้นเอง ช่วงวัยเด็กวัคซีนจะให้ผลในการป้องกันวัณโรคได้ประมาณ 80% โดยเฉพาะวัณโรคเยื่อหุ้มสมองในเด็กเล็ก

วัคซีนบีซีจีที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นชนิดแห้ง เก็บได้นาน 3 ปี ในที่มีอุณหภูมิ 2-8°C และไม่ให้ถูกแสง เพราะเชื้อบีซีจีที่มีอยู่ในวัคซีนจะตายได้ถ้าถูกความร้อนและแสง ทำให้วัคซีนเสื่อมคุณภาพลง เวลาใช้ให้ละลายวัคซีนด้วยน้ำเกลือนอร์มัล 1 มล. ส่วนของวัคซีนที่ละลายแล้วให้เก็บไว้เพียง 2 ชั่วโมง หลังจากนั้นต้องทิ้งไป

วิธีการฉีด ให้ฉีดเข้าในผิวหนัง (intradermal) ที่ต้นแขนซ้าย จำนวน 0.1 มล. ปฏิกิริยาภายหลังฉีด จะมีตุ่มนูน 6-8 มม. แล้วจะยุบเองในเวลาไม่นาน แต่ราวสัปดาห์ที่ 2 หลังฉีดจะมีตุ่มนูนเกิดขึ้นและแตกออกเป็นแผลเล็ก ๆ มีหนอง ซี่งจะเป็น ๆ หาย ๆ อยู่ประมาณ 6 สัปดาห์ ก็จะหายไปเหลือแต่รอยแผลเป็นขนาดเล็ก ระหว่างนั้นให้ทำความสะอาดแผลด้วยน้ำสะอาด ไม่ต้องใส่ยาหรือปิดแผล และไม่ให้บ่งตุ่มหนอง

ปฏิกิริยาจากวัคซีนบีซีจีที่พบน้อยแต่มีความรุนแรง ได้แก่

  1. ต่อมน้ำเหลืองอักเสบเป็นหนอง เกิดได้ร้อยละ 0.05 มักเป็นที่รักแร้หรือไหปลาร้าของแขนข้างที่ฉีด หากมีขนาดน้อยกว่า 1 cm ไม่ต้องให้การรักษาใด ๆ มันจะหายไปเองใน 2-6 เดือน
  2. หากมีขนาดใหญ่ อาจให้ INH หรือ INH + Rifampicin นาน 1-3 เดือน หรือหากพบว่านุ่มเป็นฝี ให้ทำการเจาะดูดหนองออกด้วย หากไม่ดีขึ้น หรือก้อนใหญ่มาก อาจจำเป็นต้องผ่าตัดออก ซึ่งจะช่วยทำให้ได้พิสูจน์เชื้อด้วย หากผ่าตัดออกหมดไม่จำเป็นต้องให้ยาต่อ

  3. กระดูกอักเสบ (BCG osteitis) เกิดได้ร้อยละ 0.03 การรักษาต้องให้ยาแก้ปวด ยาต้านการอักเสบ และให้ยาต้านวัณโรค 3-4 ตัวขึ้นไป แต่ไม่ใช้ Pyrazinamide เพราะเชื้อ M. bovis ดื้อยา ระยะเวลารักษานาน 12 เดือน พยากรณ์โรคดี ร้อยละ 97 หายโดยสมบูรณ์ ไม่มีความพิการเกิดขึ้น
  4. เกณฑ์วินิจฉัย BCG Osteitis

    1. มีประวัติเคยได้รับวัคซีนบีซีจีมาก่อน
    2. ไม่มีประวัติสัมผัสกับคนที่เป็นวัณโรค
    3. มีอาการ อาการแสดง และภาพถ่ายรังสีเข้าได้กับ osteitis
    4. มีข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้
      • แยกเชื้อ M. bovis สายพันธุ์ BCG ได้จากตําแหน่งที่ติดเชื้อ
      • ตําแหน่งติดเชื้อ ย้อมพบเชื้อ AFB +ve
      • ผลชิ้นเนื้อจากตําแหน่งติดเชื้อเข้าได้กับการติดเชื้อวัณโรค (epithelioid cell granuloma)

  5. BCG แพร่กระจาย (disseminated BCG) อัตราการเกิดเพียง 2 ในล้านคน มักพบในเด็กที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องอย่างรุนแรง (Severe combine immune deficiency syndrome) ซึ่งต้องรักษาเหมือนเป็นวัณโรค ร้อยละ 70 จะเสียชีวิตแม้รักษาอย่างเต็มที่
  6. เกณฑ์วินิจฉัย Disseminated BCG

    1. มีอาการทาง systemic อื่นที่เข้าได้กับการติดเชื้อวัณโรค เช่น ไข้ น้ำหนักลด ซีด หรือตาย
    2. มีข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้
      • พบเชื้อ “บีซีจี” จากการเพาะเชื้อในเลือด หรือในไขกระดูก และตรวจสอบยืนยันโดยวิธีทางชีวเคมี
      • มีการติดเชื้อ “บีซีจี” ที่ตําแหน่งอื่นอย่างน้อย 2 ตําแหน่งนอกจากตําแหน่งที่ฉีดวัคซีน เช่น ต่อมน้ำเหลือง กระดูก ตับ ปอด สมอง

เด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี ที่ไม่เคยฉีดวัคซีนบีซีจีมาก่อน และไม่มีแผลเป็นให้เห็น ฉีดได้ 1 เข็มทันที ส่วนในผู้ใหญ่ไม่แนะนำให้ฉีด เพราะจะมีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นตามธรรมชาติจากการอาศัยอยู่ในประเทศที่มีวัณโรคชุกชุมอยู่แล้ว และวัณโรคในผู้ใหญ่อาการไม่รุนแรงเหมือนในเด็ก

บรรณานุกรม

  1. "วัคซีนบีซีจี คือ วัคซีนอะไร." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา สถานเสาวภา สภากาชาดไทย. (20 เมษายน 2564).
  2. "History of BCG vaccine - Calmette, Guerin, Lubeck." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา TBFACTS.ORG. (20 เมษายน 2564).
  3. "BCG vaccine." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Wikipedia. (20 เมษายน 2564).
  4. "ตำราวัคซีนและการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา กระทรวงสาธารณสุข. (21 เมษายน 2564).
  5. "ตารางการให้วัคซีนในเด็กไทย." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย. (20 เมษายน 2564).