วัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบเอ (HAV Vaccine)

ไวรัสตับอักเสบเอ (HAV) เป็น positive single-stranded RNA Virus ไม่มีเปลือกหุ้ม จัดเป็น Enterovirus type 72 เพราะไวรัสอาศัยอยู่ในลำไส้และถูกขับถ่ายออกมากับอุจจาระของผู้ป่วย เพิ่งถูกค้นพบ (เพาะแยกเชื้อได้สำเร็จ) ในปี ค.ศ. 1979

โรคไวรัสตับอักเสบเอติดต่อจากคนสู่คนผ่านทางอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ มีระยะฟักตัวประมาณ 1 เดือน ช่วงนี้สามารถแพร่ได้แล้ว อาการเริ่มจากมีไข้ต่ำ ๆ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน เจ็บใต้ชายโครงขวา ปัสสาวะสีเหลืองเข้ม อุจจาระมีสีเหลืองซีด ถ้าตรวจเลือดจะพบเอนไซม์ตับสูงขึ้นเกือบ 1000 U/L หรือกว่านั้น และมี anti-HAV IgM เป็นบวก ในผู้ใหญ่อาจเกิดภาวะตับวายเฉียบพลันได้ร้อยละ 0.01 อาการเหล่านี้เป็นอยู่ประมาณ 2-4 สัปดาห์ เมื่อไข้ลง อาการดีขึ้น จะสังเกตพบว่ามีตัวเหลืองตาเหลืองต่อไปอีกประมาณ 1 เดือน โดยปกติโรคมักหายขาดได้เอง ไม่ทำให้เป็นตับอักเสบเรื้อรังหรือเกิดเป็นพาหะต่อ หลังจากติดเชื้อแล้วจะมีภูมิคุ้มกันตลอดชีวิต

ความชุกของโรคไวรัสตับอักเสบเอลดลงตั้งแต่ที่มีการปรับปรุงสุขอนามัยและสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น องค์การอนามัยโลกได้แบ่งระดับความชุกของโรคตับอักเสบเอในประเทศต่าง ๆ เป็น 3 ระดับคือ

  1. ประเทศที่มีการระบาดสูง (สีแดงในรูปข้างบน) คนส่วนใหญ่จะติดเชื้อแบบไม่มีอาการแล้วตั้งแต่วัยเด็ก จึงไม่มีความจำเป็นต้องให้วัคซีนในวงกว้างในประเทศเหล่านี้
  2. ประเทศที่มีการระบาดลดลง แต่เคยระบาดมาในอดีต ได้แก่ ประเทศที่มีระดับเศรษฐานะปานกลาง (สีส้มและสีเหลืองในรูป) เมื่ออนามัยดีขึ้นการติดเชื้อก็ลดลง แต่จะมีผู้ใหญ่ที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกันจำนวนมาก จึงควรแนะนำให้มีการฉีดวัคซีนสำหรับผู้ที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกัน ประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มนี้
  3. กลุ่มประเทศที่มีการระบาดต่ำ (สีครีมในรูป) ควรแนะนำให้ใช้วัคซีนเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง ซึ่งได้แก่ ผู้ที่จะเดินทางไปในถิ่นระบาด ผู้ที่จะต้องได้รับผลิตภัณฑ์จากเลือดและน้ำเหลืองบ่อย ๆ ชายรักชาย ผู้ที่ต้องสัมผัสลิง (เพราะลิงเป็น reservoir host ของเชื้อ HAV) และผู้ใช้ยาเสพติดฉีดเข้าเส้น รวมทั้งผู้ที่เป็นโรคตับเรื้อรัง

วัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบเอตัวแรกเป็นวัคซีนเชื้อตาย (inactivated vaccine) พัฒนาโดย Dr. Maurice R. Hilleman และทีมงานของบริษัท Merck ท่านทำสำเร็จในปี ค.ศ. 1976 ก่อนที่โลกจะเพาะเชื้อไวรัสตัวนี้ได้สำเร็จด้วยซ้ำ วัคซีนตัวนี้ใช้ชื่อการค้าว่า Vaqta® แต่กว่าจะผ่านการอนุมัติให้ใช้ได้ทั่วไปก็ปี ค.ศ. 1995 หลังปี ค.ศ. 1979 เมื่อรายละเอียดของเชื้อถูกค้นพบ การพัฒนาวัคซีนของอีกหลายบริษัทจึงง่ายขึ้น รวมทั้งมีการพัฒนาวัคซีนเชื้อเป็นแต่อ่อนฤทธิ์จากประเทศจีนด้วย

วัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบเอ ที่มีใช้ในประเทศไทย ได้แก่

  1. วัคซีนชนิดเชื้อตาย อยู่ในรูปน้ำยาแขวนตะกอนของไวรัส (virus suspension) มีอลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ผสมเป็น adjuvant ใช้ฉีดเข้ากล้าม จำนวน 2 เข็ม ปัจจุบันมี 3 ชนิด คือ
    • Havrix® ของบริษัท GSK
    • Vaqta® ของบริษัท MSD
    • Avaxim® ของบริษัท sanofi pasteur
  2. วัคซีนชนิดเชื้อมีชีวิตอ่อนฤทธิ์ ได้แก่ MEVAC-A® ของบริษัท Zhejiang Pukang Biotechnology ประเทศจีน พัฒนามาจากสายพันธุ์ H2 เป็นวัคซีนชนิดผงแห้ง ต้องนำมาละลายน้ำก่อนฉีดเข้าใต้ผิวหนัง เพียงเข็มเดียว
  3. วัคซีนรวมไวรัสตับอักเสบเอและบีชนิดเชื้อตาย อยู่ในรูปยาน้ำแขวนตะกอนของไวรัส มีส่วนผสมของอลูมิเนียมฟอสเฟต และอลูมิเนียมไฮดรอกไซด์เป็น adjuvant ได้แก่ Twinrix® ของ GSK ใช้ฉีดเข้ากล้าม จำนวน 2 เข็มในเด็ก และ 3 เข็มในผู้ใหญ่

ขนาดและระยะเวลาในการฉีดวัคซีนแต่ละชนิดดูในรูป ในเด็กสามารถฉีดได้เลย แต่ในผู้ใหญ่ให้เจาะภูมิ anti-HAV IgG ดูก่อน เพราะถ้ามีภูมิแล้วก็ไม่ต้องฉีด

วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอ เป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูง แต่ยังไม่อยู่ในแผนสร้างเสริมภูมิคุ้มกันของกระทรวงสาธารณสุข ผู้ที่ต้องการฉีดจึงต้องชำระเงินเอง กลุ่มที่ควรฉีดได้แก่

  • ผู้ที่เป็นโรคตับอักเสบเรื้อรัง (จากไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี แอลกอฮอล์ ไขมันพอกตับจนมีตับอักเสบ หรือแพ้ภูมิตัวเอง)
  • ผู้ประกอบอาหารและผู้ขายอาหาร
  • ผู้ที่อยู่ในสถาบันที่มีคนอยู่ด้วยกันเป็นจำนวนมาก เช่น เด็กที่อาศัยอยู่รวมกันในสถานเลี้ยงเด็กประจำ โดยเฉพาะเด็กที่มีความพิการทางสมอง ที่อาจเกิดการระบาดของโรคได้บ่อย สถานกักกัน และกองทัพ
  • ชายรักร่วมเพศ
  • ผู้ติดยาเสพติดทั้งชนิดฉีดและไม่ได้ฉีดเข้าเส้น
  • ผู้ที่จะเดินทางไปในที่ที่มีการระบาดหรือมีความชุกของโรคสูง (ควรฉีดวัคซีนเข็มแรกอย่างน้อย 2-4 สัปดาห์ก่อนเดินทาง แล้วให้กลับมารับเข็มสองในอีก 6 เดือนถัดมา)

* วัคซีนป้องกันตับอักเสบเอที่ให้ในเด็กอายุ 6-11 เดือนจะไม่นับเข็มนั้น และจะต้องให้วัคซีนอีก 2 ครั้งที่อายุ 12 เดือนขึ้นไป เพราะเด็กที่อายุต่ำกว่า 1 ปี จะมีภูมิคุ้มกันที่ส่งผ่านมาจากมารดาไปรบกวนการสร้างภูมิคุ้มกันในทารก จึงไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนเชื้อตายในเด็กอายุน้อยกว่า 1 ปี หรือเชื้อมีชีวิตอ่อนฤทธิ์ในเด็กอายุน้อยกว่า 18 เดือน

** ห้ามฉีดวัคซีนชนิดเชื้อมีชีวิตอ่อนฤทธิ์ (MEVAC-A®) ในหญิงมีครรภ์ ผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ป่วยโรคฮีโมฟิเลียเอ และรวมทั้งไม่ควรฉีดภายใน 1 เดือน หลังจากได้รับ IVIG ส่วนวัคซีนเชื้อตายก็ไม่แนะนำให้ฉีดในหญิงมีครรภ์ เพราะยังไม่มีการศึกษาประสิทธิภาพและความปลอดภัยที่เพียงพอ

*** การป้องกันโรคหลังสัมผัสแล้ว ควรใช้แบบวัคซีนเชื้อตาย โดยให้ฉีดเร็วที่สุดภายใน 2 สัปดาห์หลังสัมผัสโรค และฉีดเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 6 เดือนเสมอ ทารกอายุต่ำกว่า 1 ปี ผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง และผู้ป่วยโรคตับเรื้อรัง ควรให้อิมมูโนโกลบุลินขนาด 0.1 มล./กก. ฉีดเข้ากล้ามหลังสัมผัสโรคด้วย

ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้น

วัคซีนเชื้อตายสามารถป้องกันโรคได้ร้อยละ 94-100 หลังฉีดครบ พบว่าภูมิคุ้มกันจากวัคซีนมีระดับสูง น่าจะอยู่นานอย่างน้อย 16-25 ปี

วัคซีนเชื้อมีชีวิตอ่อนฤทธิ์สามารถป้องกันโรคได้ภายใน 2-4 สัปดาห์หลังจากฉีด และอยู่นานอย่างน้อย 15 ปี

วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอทุกชนิดต้องเก็บไว้ในตู้เย็นอุณหภูมิ 2-8°C ห้ามเก็บในช่องแช่แข็ง สำหรับวัคซีนเชื้อมีชีวิตอ่อนฤทธิ์ควรเก็บในที่มืดด้วย หากเก็บอย่างถูกต้องวัคซีนเชื้อตายจะมีอายุประมาณ 3 ปี วัคซีนเชื้อเป็นมีอายุประมาณ 18 เดือน

บรรณานุกรม

  1. "Hepatitis A." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา CDC. (11 พฤษภาคม 2564).
  2. "Hepatitis A vaccine." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Wikipedia. (11 พฤษภาคม 2564).
  3. Daniel Shouval. 2020. "The History of Hepatitis A." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Clin Liv Dis. 2020;16(S1):12-23. (11 พฤษภาคม 2564).
  4. Annemarie Wasley, et al. 2006. "Hepatitis A in the Era of Vaccination." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Epi Rev. 2006;28(1):101–111. (11 พฤษภาคม 2564).
  5. "ตำราวัคซีนและการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา กระทรวงสาธารณสุข. (21 เมษายน 2564).
  6. "ตารางการให้วัคซีนในเด็กไทย." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย. (20 เมษายน 2564).