วัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอี (JE Vaccine)

โรคไข้สมองอักเสบที่พบประปรายในแถบเอเชียแปซิฟิก คือ Japanese encephalitis ซึ่งเกิดจากไวรัสเจอี มียุงรำคาญตระกูล Culex เป็นพาหะนำโรค ยุงเหล่านี้มักเพาะพันธุ์ในทุ่งนาที่มีน้ำเจิ่งนอง และตามแหล่งน้ำขังในเขตชานเมืองหรือชนบท ผู้ที่ได้รับเชื้อมักไม่มีอาการ มีเพียง 1:100 - 1:1000 เท่านั้นที่จะเกิดอาการไข้สมองอักเสบ แต่ถ้าป่วยจะมีอัตราตายสูง ผู้รอดชีวิตก็มักมีความพิการทางระบบประสาท ผู้ใหญ่เป็นโรคนี้น้อยกว่าเด็ก เพราะมักมีภูมิคุ้มกันโรคแล้ว วัคซีนป้องกันโรคสำหรับเด็กจึงจำเป็น

วัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอีมีการพัฒนามาหลายรูปแบบ เริ่มจากใช้สมองลูกหนูมาเพาะเลี้ยงเชื้อ แล้วฆ่าเชื้อไวรัสด้วยฟอร์มาลิน เรียกว่า mouse brain-derived inactivated vaccine หรือ MBD วัคซีนตัวแรกพัฒนาโดยนักแบคทีเรียวิทยา Tenji Taniguchi แห่งมหาวิทยาลัยโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น โดยใช้สายพันธุ์ Nakayama เมื่อสำเร็จในปี ค.ศ. 1954 และด้วยความร่วมมือกับประเทศจีน จึงใช้สายพันธุ์ Beijing-1 ผลิตด้วยวิธีเดียวกัน วัคซีนรุ่นนี้แม้เป็นเชื้อตายและมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคถึง 97.5% แต่ก็มีผลข้างเคียงมาก เพราะมีเนื้อเยื่อของสมองหนูปะปนอยู่ และมีหนึ่งรายที่เกิดไข้สมองอักเสบหลังการฉีดวัคซีน วัคซีนรุ่นนี้จึงเลิกผลิตไป

วัคซีนรุ่นที่สอง ใช้สายพันธุ์ Beijing-3 มาเพาะในเซลล์ไตของหนูแฮมสเตอร์ แล้วฆ่าเชื้อไวรัสด้วย propiolactone จากนั้นทำให้บริสุทธิ์โดยวิธี column chromatography ผลิตโดยบริษัท Liaoning Chengda Biotechnology จากประเทศจีน ใช้ชื่อการค้าว่า JEVAC® ถือเป็นวัคซีนที่ใช้ประจำในประเทศจีน

วัคซีนรุ่นที่สาม ใช้สายพันธุ์ SA-14-14-2 มาเพาะใน Vero cell แล้วฆ่าเชื้อไวรัสด้วยฟอร์มาลิน ผลิตโดยบริษัท Intercell ใช้ชื่อการค้าว่า IXIARO® ขึ้นทะเบียนใช้ในยุโรป ประเทศอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงค์โปร์ อิสราเอล และฮ่องกง

วัคซีนรุ่นที่สี่ เริ่มเป็นวัคซีนเชื้อเป็นแต่ทำให้อ่อนฤทธิ์ (Live attenuated vaccine) โดยใช้เชื้อไวรัสเจอีสายพันธุ์ SA-14-14-2 ที่ได้จากลูกน้ำมาผ่านเข้าออกในเซลล์ไตของหนูแฮมสเตอร์ 100 กว่าครั้ง จนอ่อนฤทธิ์ ผลิตโดยบริษัท Chengdu Institute of Biological Products จากประเทศจีน ใช้ชื่อการค้าว่า CD.JEVAX® ปัจจุบันวัคซีนนี้มีใช้ในประเทศไทย

วัคซีนรุ่นที่ห้า เริ่มใช้เทคนิคพันธุวิศวกรรม (chimeric virus vaccine) โดยการตัดยีนส์ส่วน PrM และ E ของไวรัสเจอี สายพันธุ์ SA 14-14-2 ใส่เข้าไปแทนที่ยีนส์ PrM และ E ของไวรัสไข้เหลือง สายพันธุ์ 17D (เป็นสายพันธุ์ของวัคซีนป้องกันโรคไข้เหลืองชนิดเชื้อเป็นแต่อ่อนฤทธิ์) ทำให้ได้ไวรัสตัวใหม่ที่มีโปรตีนส่วนที่เป็น membrane และ envelope เป็นของไวรัสเจอี ส่วน core และ nonstructural protein เหมือนไวรัสไข้เหลือง ผลิตโดยบริษัท Sanofi Pasteur ใช้ชื่อการค้าว่า IMOJEV® ปัจจุบันวัคซีนนี้มีใช้ในประเทศไทย

ตามแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของกระทรวงสาธารณสุข ปัจจุบันแนะนำให้เด็กไทยทุกคนได้รับวัคซีนเชื้อมีชีวิตอ่อนฤทธิ์สายพันธุ์ SA 14-14-2 ชนิดใดก็ได้ (วัคซีน CD.JEVAX® หรือ วัคซีน IMOJEV®) โดยเริ่มฉีดเข็มแรกที่อายุ 9-12 เดือน และฉีดกระตุ้นเข็มที่ 2 เมื่ออายุ 2 ปี หากมีข้อห้ามในการฉีดวัคซีนเชื้อมีชีวิตอ่อนฤทธิ์จึงค่อยให้พิจารณาใช้วัคซีนเชื้อตายแทน

การฉีดวัคซีนในนักท่องเที่ยว แนะนำให้ฉีดถ้าต้องการพำนักในเมืองไทยนานกว่า 4 สัปดาห์ ทั้งนี้ให้พิจารณาระหว่างความเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อ (พฤติกรรมการท่องเที่ยวไปในชนบทและถูกยุงกัด) กับความเสี่ยงที่จะเกิดปฏิกิริยาจากวัคซีน โดยใช้วัคซีนเชื้อตาย JEVAC® หรือ IXIARO® ฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 7-28 วัน

ปฏิกิริยาจากวัคซีน

วัคซีนเชื้อตาย IXIARO®® หลังฉีดอาจมีอาการแดง บวม หรือเจ็บบริเวณที่ฉีดไม่เกินร้อยละ 1 อาจมีปวดศีรษะร้อยละ 26 ปวดกล้ามเนื้อร้อยละ 21 อาการคล้ายหวัดร้อยละ 13 อ่อนเพลียร้อยละ 13 ส่วน JEVAC® หลังฉีดอาจมีอาการปวดบริเวณที่ฉีดน้อยกว่าร้อยละ 4 มีไข้ไม่เกินร้อยละ 18 ส่วนใหญ่เกิดในเข็มแรกภายใน 1-2 วัน

วัคซีนเชื้อเป็น CD.JEVAX® หลังฉีดอาจมีอาการแดง บวม หรือเจ็บบริเวณที่ฉีดน้อยกว่าร้อยละ 3 อาจมีไข้ อาเจียน ปวดกล้ามเนื้อ หรือมีผื่นตามตัวน้อยกว่าร้อยละ 9 ส่วน IMOJEV® หลังฉีดในผู้ใหญ่บริเวณที่ฉีด มีอาการเจ็บร้อยละ 12.4 แดงร้อยละ 4.6 คันร้อยละ 4 มีปวดศีรษะร้อยละ 26 อ่อนเพลียร้อยละ 22.8 ปวดกล้ามเนื้อร้อยละ 16.6 ซึ่งไม่แตกต่างจากการฉีดวัคซีนหลอก ในเด็กมีอาการเจ็บร้อยละ 32 แดงร้อยละ 23 บวมบริเวณที่ฉีดร้อยละ 9 อาจมีไข้ร้อยละ 21 งอแงร้อยละ 28 เบื่ออาหารร้อยละ 26 อาเจียนร้อยละ 20 ง่วงซึมร้อยละ 18 ซึ่งไม่แตกต่างจากกลุ่มควบคุมที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบเอ จากการศึกษาระยะที่ 4 ในอาสาสมัคร 10,000 ราย พบว่าวัคซีนมีความปลอดภัยสูง

ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้น

วัคซีนเชื้อตาย IXIARO® ก่อภูมิคุ้มกันถึงร้อยละ 98 หลังฉีดครบ 1 ปี ยังคงมีภูมิคุ้มกันร้อยละ 83 ส่วน JEVAC® ก่อภูมิได้ถึง 100% เมื่อฉีดครบ

วัคซีนเชื้อเป็น CD.JEVAX® ก่อภูมิคุ้มกันได้ร้อยละ 100 เมื่อฉีดครบ และยังคงอยู่ถึงร้อยละ 96.5 หลังฉีดไปแล้ว 5 ปี ส่วน IMOJEV® ก่อภูมิได้ร้อยละ 96 และ 99.1 ในเด็กและในผู้ใหญ่ ตามลำดับ

ปัจจุบันมีวัคซีนเจอีในชื่อการค้าอื่นเกิดขึ้นมากมาย แต่ยังคงใช้หลักการและสายพันธุ์เดียวกับที่กล่าวมาข้างต้น วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอีทุกชนิดต้องเก็บที่อุณหภูมิ 2-8°C ห้ามแช่แข็ง โดยมีอายุประมาณ 1-3 ปี

บรรณานุกรม

  1. Marc Fischer, et al. 2010. "Japanese Encephalitis Vaccines: Recommendations of the Advisory Committee on Immunization Practices (ACIP)." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา CDC. (3 พฤษภาคม 2564).
  2. Nagendra R. Hegde and Milind M. Gore. 2017. "Japanese encephalitis vaccines: Immunogenicity, protective efficacy, effectiveness, and impact on the burden of disease." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Hum Vaccin Immunother. 2017;13(6):1320–1337. (3 พฤษภาคม 2564).
  3. Vijaya Satchidanandam. 2020. "Japanese Encephalitis Vaccines." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Curr Treat Options Infect Dis. 2020;12:1–12. (5 พฤษภาคม 2564).
  4. Scott Kitchener. "The rise and fall of Japanese Encephalitis vaccination in the ADF – Where to now?" [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา JMVH.Org. (3 พฤษภาคม 2564).
  5. Kriengsak Limkittikul. "Japanese encephalitis and vaccines." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Dept Trop Ped, Mahidol University. (3 พฤษภาคม 2564).
  6. "Japanese encephalitis vaccine." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Wikipedia. (3 พฤษภาคม 2564).
  7. "ตำราวัคซีนและการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา กระทรวงสาธารณสุข. (21 เมษายน 2564).
  8. "ตารางการให้วัคซีนในเด็กไทย." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย. (20 เมษายน 2564).