กลุ่มยาลดความดันโลหิต (Antihypertensives)
ภาวะความดันโลหิตสูงมีเพียงส่วนน้อยที่เป็นผลจากโรคอื่น อาทิ โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดแดงไตตีบ โรคเนื้องอกของต่อมหมวกไต โรคไทรอยด์เป็นพิษ ภาวะครรภ์เป็นพิษ ภาวะเครียด เป็นต้น ซึ่งเมื่อรักษาโรคต้นเหตุได้แล้วภาวะความดันโลหิตสูงก็จะหายไปเอง แต่กว่าร้อยละ 90 หาไม่พบโรคต้นเหตุ ความดันโลหิตสูงที่หาโรคต้นเหตุไม่พบนี้เราเรียกว่า "โรคความดันโลหิตสูง" (Essential hypertension)
โรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคเงียบ ในระยะแรกจะไม่มีอาการ แต่มีความเสี่ยงของโรคหัวใจและอัมพาตสูงกว่ากลุ่มประชากรที่ความดันปกติ เมื่อทิ้งไว้ไม่รักษา อาการแรกมักเป็นการตายจากโรคหัวใจ หรือทุพพลภาพถาวรจากเส้นเลือดสมองแตก วงการแพทย์ทั่วโลกได้ศึกษาจนมีข้อสรุปตรงกันว่า การรักษาโรคความดันโลหิตสูงที่เกิดขึ้นแล้วด้วยการเปลี่ยนแปลงวิถีการดำเนินชีวิต ± ใช้ยาคุมความดันโลหิตในขณะที่โรคยังไม่แสดงอาการเป็นสิ่งที่คุ้มค่ากว่า เพราะสามารถลดภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะอัมพฤกษ์ อัมพาต ภาวะไตพิการ และโรคผนังหลอดเลือดหนา แข็ง เปราะ ตีบตัน ซึ่งเป็นผลมาจากการมีความดันโลหิตสูงติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ ได้อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งความพิการถาวรเหล่านี้มีค่าใช้จ่ายในการดูแลสูงกว่าการควบคุมความดันให้เป็นปกติทุกวันมาก
ประสิทธิภาพของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการรักษาโรคความดันโลหิตสูง
วิธีการ | ประสิทธิภาพของการลดระดับความดันโลหิต |
ลดน้ำหนักในผู้ที่มี BMI > 25 กก./ม.2 | ทุก ๆ น้ำหนักที่ลดลง 1 กก. สามารถลดความดันค่าบนได้เฉลี่ย 1 มม.ปรอท โดยรวมการลดน้ำหนัก 10 กก. สามารถลดความดันค่าบนได้เฉลี่ย 5-20 มม.ปรอท |
การรับประทานอาหารแบบแดช (Dietary Approaches to Stop Hypertension, DASH) | ลดความดันค่าบนได้ 8-14 มม.ปรอท |
การจำกัดเกลือในอาหารน้อยกว่า 2,300 มก. ต่อวัน (เกลือ/ผงชูรสไม่เกินวันละ 5 ช้อนชา น้ำปลา/ซีอิ๊วไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา) | ลดความดันค่าบนได้ 2-8 มม.ปรอท |
การออกกำลังกายแบบแอโรบิกอย่างสม่ำเสมอ วันละ 30 นาที อย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน | ความดันค่าบนลดลงเฉลี่ย 4 มม.ปรอท
ความดันค่าล่างลดลงเฉลี่ย 2.5 มม.ปรอท |
การลดการดื่มแอลกอฮอล์ | ลดความดันค่าบนได้ 2-4 มม.ปรอท |
การหยุดสูบบุหรี่ | ไม่ลดความดันโลหิต แต่ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ |
ในกรณีที่ความดันโลหิตเมื่อเริ่มวินิจฉัยค่อนข้างสูง ควรเริ่มใช้ยาลดความดันไปพร้อม ๆ กับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม แต่หากความดันโลหิตเริ่มต้นไม่สูงมาก เช่น ความดันค่าบนประมาณ 120-139 มม.ปรอท และ/หรือ ความดันค่าล่างประมาณ 80-89 มม.ปรอท เมื่อวัดซ้ำหลาย ๆ วัน อาจรักษาด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดังกล่าวไปก่อนประมาณ 2-4 สัปดาห์ ถ้าไม่ลงมาต่ำกว่า 130/80 มม.ปรอท ถึงค่อยเริ่มใช้ยา
ชนิดของยาลดความดันโลหิต
ยาลดความดันโลหิตแบ่งใหญ่ ๆ ได้เป็น 10 กลุ่ม ในบางกลุ่มยังแบ่งต่อเป็นกลุ่มย่อยอีกตามการพัฒนาของยาใหม่ ๆ ดังนี้
- กลุ่มยาขับปัสสาวะ (Diuretics) ออกฤทธิ์โดยการขับน้ำออกจากร่างกายทางปัสสาวะ ยาขับปัสสาวะกลุ่ม Thiazide และ Loop diuretics มีข้อเสียคือยาจะขับเกลือแร่โดยเฉพาะโพแทสเซียมออกไปด้วย ทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย แต่ก็มีกลุ่ม K-sparing diuretics ที่ขับปัสสาวะแต่ไม่ขับโพแทสเซียม กับกลุ่มที่ต้านฮอร์โมน Aldosterone (Mineralocorticoid receptor antagonists, MRAs) ที่ช่วยขับน้ำในผู้ป่วยตับแข็งโดยเฉพาะ โดยทั่วไปยาขับปัสสาวะจะเหมาะกับผู้ที่มีภาวะน้ำเกินในร่างกาย เช่น ผู้ป่วยไตเสื่อม ผู้ที่มีภาวะหัวใจโต หัวใจล้มเหลว ซึ่งอาจมีหรือไม่มีความดันโลหิตสูงก็ได้
- กลุ่มยาต้านเอซ (Angiotensin Converting Enzyme Inhibitors, ACEIs) ออกฤทธิ์โดยการยับยั้งเอ็นไซม์ที่เปลี่ยน Angiotensin I เป็น Angiotensin II (ตำแหน่งที่ 2 ของรูป) ตัว Angiotensin II นี้เองที่ทำให้หลอดเลือดส่วนปลายหดตัว และกระตุ้นการหลั่งของฮอร์โมน Aldosterone ทำให้น้ำและโซเดียมคั่งในร่างกาย ส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้น การยับยั้งเอนไซม์ตัวนี้จึงไม่ทำให้หลอดเลือดหดตัวมากเกินไป และยังช่วยให้ไตขับน้ำและเกลือออกจากร่างกายได้ดีขึ้น แต่กลุ่มยาต้านเอซมักมีผลข้างเคียงทำให้เกิดการไอบ่อย ผู้ป่วยบางรายจึงไม่ชอบ
- กลุ่มยาต้านแองจิโอเทนซิน (Angiotensin Receptor Blockers, ARBs) ออกฤทธิ์โดยยับยั้งตัวรับการกระตุ้น Angiotensin II ที่ผนังหลอดเลือดและที่หัวใจโดยตรง (ตำแหน่งที่ 3 ในรูป) ทำให้เกิดผลเหมือนกลุ่มยาต้านเอซ แต่ไม่มีผลข้างเคียงเรื่องไอ
- กลุ่มยาต้านเรนิน (Direct Renin Inhibitors, DRIs) ออกฤทธิ์ยับยั้งเอ็นไซม์เรนิน (ตำแหน่งที่ 1 ในรูป) ยากลุ่มนี้ปัจจุบันยังมีเพียงตัวเดียวคือ Aliskiren
- กลุ่มยาปิดกั้นช่องแคลเซียม (Calcium Channel Blockers, CCBs) ออกฤทธิ์ยับยั้งแคลเซียมเข้าเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจและเซลล์ผนังหลอดเลือด ส่งผลให้หัวใจบีบตัวเบาลง เต้นช้าลง และหลอดเลือดขยายตัว ยากลุ่มนี้แบ่งเป็น 2 กลุ่มย่อย คือ กลุ่ม Dihydropyridines, กลุ่มที่ไม่ใช่ Dihydropyridines (non-DHP)
- กลุ่มยาเปิดช่องโพแทสเซียม (Potassium Channel Openers, PCOs) ออกฤทธิ์โดยการเปิด ATP-sensitive potassium channels ที่ผนังหลอดเลือดให้โพแทสเซียมเข้าเซลล์ เกิดศักย์ไฟฟ้าเกิน (hyperpolarized) ที่ผิวเซลล์ ส่งผลให้ช่องแคลเซียมปิด แคลเซียมเข้าเซลล์น้อยลง เซลล์กล้ามเนื้อเรียบที่ผนังหลอดเลือดจึงคลายตัว ความดันเลือดส่วนปลายจึงลดลง แต่จะมีรีเฟล็กซ์ทำให้หัวใจให้เต้นเร็วขึ้น
- กลุ่มยาปิดตัวรับเบตา (β-blockers, BBs) ออกฤทธิ์โดยแข่งกับ Norepinephrine ในการจับกับ β-adrenergic receptors ที่กล้ามเนื้อหัวใจ (β1) ผนังหลอดลม (β2) และที่ผนังลำไส้ (β2) ทำให้หัวใจเต้นช้าลง บีบตัวเบาลง หลอดลมหดตัว และลำไส้บีบตัว ดังนั้นนอกจากจะลดความดันแล้วยายังอาจทำให้คนไข้โรคหืดมีอาการหอบกำเริบ หรืออาจมีผลข้างเคียงให้ปวดท้อง แต่ผู้ผลิตก็พัฒนายาในกลุ่มนี้ให้มีกลุ่มย่อยที่ออกฤทธิ์ยับยั้งเฉพาะที่กล้ามเนื้อหัวใจ (Cardioselective β1-blockers)
- กลุ่มยาปิดตัวรับอัลฟา (α-blockers) ออกฤทธิ์โดยแข่งกับ Norepinephrine ในการจับกับ α1-adrenoceptors ที่ผนังหลอดเลือดส่วนปลาย ทำให้ Norepinephrine ไม่สามารถทำงานได้ ความดันโลหิตจึงลดลง แต่จะมีรีเฟล็กซ์กลับมาทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น จึงไม่นิยมใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง เพราะคนไข้จะรู้สึกใจสั่นหลังรับประทานยาตลอด ยากลุ่มนี้ช่วยคลายกล้ามเนื้อหูรูดของกระเพาะปัสสาวะด้วย จึงช่วยบรรเทาอาการปัสสาวะออกยากในผู้ป่วยที่มีต่อมลูกหมากโตได้
- กลุ่มยาสลายสารสื่อประสาท (Central sympatholytics) ยาในกลุ่มนี้เป็นยาลดความดันโลหิตกลุ่มแรก ๆ ที่มีใช้ในวงการแพทย์ ตัวที่รู้จักกันดีคือ Methydopa, Reserpine, Clonidine แต่ในระยะหลังถูกยากลุ่มใหม่ ๆ ที่วิจัยพบว่าเหมาะกับผู้ป่วยในสภาวะต่าง ๆ ที่มักเป็นร่วมกับโรคความดันโลหิตสูงแซงหน้าความนิยมไป
- กลุ่มยาขยายหลอดเลือด (Peripheral vasodilators) เป็นยาที่ออกฤทธิ์ขยายหลอดเลือดส่วนปลายโดยตรง จึงอาจทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำเมื่อลุกยืน (Postural hypotension) ยากลุ่มนี้ที่ขยายหลอดเลือดแดงได้แก่ Hydralazine, Minoxidil ที่ขยายหลอดเลือดดำได้แก่ยากลุ่ม Nitrates
ยากลุ่มที่ 1-3, และ 5 ถือเป็นยาลำดับแรกที่แพทย์จะเลือกใช้คุมความดันโลหิต ยากลุ่มที่เหลือมักใช้เสริมยาหลักในกรณีที่ผู้ป่วยมีสภาวะที่เหมาะสมกับยานั้น ๆ
การเลือกกลุ่มยาที่เหมาะสม
ยาลดความดันโลหิตทุกกลุ่มจัดเป็นยาอันตราย ควรให้แพทย์เป็นผู้เริ่มต้นเลือกให้ โดยแต่ละกลุ่มมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยในสภาวะต่าง ๆ กันดังนี้
สภาวะของผู้ป่วย | กลุ่มยาที่เหมาะสม |
มีหัวใจห้องล่างซ้ายโต (LVH) แต่ยังไม่มีอาการผิดปกติ | ACEIs, CCBs, ARBs |
มีหลอดเลือดแดงใหญ่แข็ง (Atherosclerosis) แต่ยังไม่มีอาการ | CCBs, ACEIs |
มีไมโครอัลบูมินออกมาในปัสสาวะ (30-300 มก./กรัม) แต่ยังไม่มีอาการผิดปกติ | ACEIs, ARBs |
มีไตเสื่อมแต่ยังไม่มีอาการผิดปกติ | ACEIs, ARBs |
มีหรือเคยมีอัมพาตครึ่งซีก | ACEIs, ยาขับปัสสาวะกลุ่ม Thiazide |
เคยมีกล้ามเนื้อหัวใจตาย | BBs, ACEIs, ARBs |
มีอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (Angina pectoris) | BBs, CCBs |
มีหัวใจล้มเหลว | ยาขับปัสสาวะ, BBs (เฉพาะที่รับรองให้ใช้ในภาวะหัวใจล้มเหลว), ACEIs, ARBs |
มีหลอดเลือดแดงเอออร์ตาโป่งพอง (Aortic aneurysm) | BBs |
มีหัวใจเต้นผิดปกติชนิด (Atrial fibrillation) ที่อัตราเต้นยังไม่เกิน 100 ครั้ง/นาที | ARBs, ACEIs, BBs, ยาขับปัสสาวะกลุ่ม MRAs |
มีหัวใจเต้นผิดปกติชนิด (Atrial fibrillation) ที่อัตราเต้นเกิน 100 ครั้ง/นาที | BBs, CCBs กลุ่ม non–DHP |
มีโรคไตที่อัลบูมินในปัสสาวะมากกว่า 300 มก./กรัม | ACEIs, ARBs |
มีโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน (Peripheral artery disease) | ACEIs, CCBs |
มีความดันค่าบนสูงอย่างเดียว (มักพบในคนสูงอายุ) | Diuretics, CCBs |
มีกลุ่มอาการทางเมตะบอลิก (Metabolic syndrome) ได้แก่ ภาวะอ้วน น้ำตาลในเลือดสูง ไขมันในเลือดสูงร่วมด้วย | ACEIs, ARBs, CCBs |
เป็นโรคเบาหวาน | ACEIs, ARBs, CCBs |
เป็นโรคกระดูกพรุน | ยาขับปัสสาวะกลุ่ม Thiazide, CCBs |
เป็นโรคหอบหืด | ยาขับปัสสาวะ, CCBs, ACEIs, ARBs |
เป็นโรคไตวายเรื้อรัง | ยาขับปัสสาวะกลุ่ม Loop diuretics, CCBs |
มีต่อมลูกหมากโต | Alpha-blockers |
สตรีตั้งครรภ์ | Methyldopa, BBs, CCBs |
ในผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตเริ่มต้นค่อนข้างสูง แพทย์มักจะให้ยาพร้อมกัน 2-3 กลุ่มเพื่อลดผลข้างเคียงจากการให้ยาตัวเดียวในขนาดสูง ยาบางกลุ่มเสริมฤทธิ์กันดีเมื่อใช้ร่วมกัน แพทย์บางท่านจึงนิยมใช้ยาผสมเพื่อให้ผู้ป่วยรับประทานได้สะดวกขึ้น แต่ไม่ว่าจะใช้ยากี่ขนาน ยาเดี่ยวหรือยาผสม ผู้ป่วยควรศึกษาข้อควรระวังของยาทุกตัวที่กำลังใช้อยู่รวมทั้งปฏิกิริยาระหว่างยาลดความดันกับยาอื่นด้วย
ข้อควรระวังสำหรับยากลุ่มต่าง ๆ
ยาลดความดันโลหิตแต่ละกลุ่มก็มีข้อห้ามใช้หรือข้อควรระวังในภาวะต่าง ๆ ตามผลเสียที่อาจเกิดขึ้นจากการออกฤทธิ์ของมัน ดังนี้
กลุ่มยา | ข้อห้าม/ข้อควรระวัง |
ACEIs, ARBs, DRI | - สตรีตั้งครรภ์ - หลอดเลือดแดงที่ไตตีบ 2 ข้าง หรือตีบข้างเดียวในกรณีที่มีไตข้างเดียว
- ระดับโพแทสเซียมในเลือด > 5.5 มิลลิโมล/ลิตร
- ไตเสื่อมเร็ว (eGFR ลดลงมากกว่าร้อยละ 30 ภายใน 4 เดือน) |
BBs | - AV block (grade 2 หรือ 3) - โรคหอบหืด - โรคหลอดลมอุดตัน
- โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลาย - ยากลุ่มนี้อาจทำให้ไขมันในเลือดผิดปกติ |
CCBs กลุ่ม non-DHP | - AV block (grade 2 หรือ 3)
- ภาวะหัวใจล้มเหลว |
ยาขับปัสสาวะ | - โรคเก๊าท์
- ภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ - ยากลุ่มนี้อาจทำให้ไขมันในเลือดผิดปกติ |
Alpha-blockers | - ภาวะหัวใจล้มเหลว - Orthostatic hypotension |
Methyldopa | ตับอักเสบ |
Reserpine | - โรคซึมเศร้า - มีแผลในกระเพาะ |
Clonidine | อาการที่เกิดจากการหยุดยาฉับพลัน (withdrawal syndrome) |
ปฏิกิริยาระหว่างยาอื่นกันยาลดความดัน
ยาลดความดันโลหิตเป็นยาที่ต้องรับประทานเป็นประจำ จึงพบบ่อยว่าอาจเกิดปฏิกิริยากับยาหรือสารอื่นที่รับประทานเพิ่มเข้ามาเป็นครั้งคราว แม้ส่วนใหญ่จะไม่เกิดผลข้างเคียงอะไรมาก แต่ถ้าเลี่ยงได้ก็จะดีกว่า
ตารางข้างล่างแสดงปฏิกิริยาระหว่างยาลดความดันด้วยกันเอง ยาลดความดันกับยาหรือสารอื่น และผลที่เกิดขึ้น
ยาลดความดันโลหิต | มีปฏิกิริยากับ | ผลที่เกิดขึ้น |
กลุ่ม BBs | ยาลดความดันกลุ่ม CCBs ชนิด non-DHP (Verapamil, Diltiazem) | เสริมฤทธิ์กันยับยั้งการนำไฟฟ้าของหัวใจ เสี่ยงต่อการเกิด A-V block |
ยารักษาเบาหวาน | กดอาการแสดงเวลาที่น้ำตาลในเลือดต่ำ |
ยาขยายหลอดลม | สลายฤทธิ์ของยาขยายหลอดลม |
ยากระตุ้นหัวใจและพยุงความดันโลหิต Dobutamine | สลายฤทธิ์ของยา Dobutamine |
ยาขับปัสสาวะกลุ่ม Thiazide | ยากระตุ้นหัวใจ Digoxin | เกิดพิษของยา Digoxin ได้ง่ายขึ้นจากภาวะขาดโพแทสเซียมที่ยาขับปัสสาวะขับทิ้ง |
Lithium ions | ไตไม่ขับ Lithium ions เกิดการคั่งของสารโลหะหนักนี้ในร่างกาย |
ยากลุ่ม Alpha-blockers | ยา Noradrenaline | ลดฤทธิ์ของยา Noradrenaline |
ยากลุ่ม CCBs ชนิด non-DHP (Verapamil, Diltiazem) | ยาลดความดันกลุ่ม BBs | เสริมฤทธิ์กันยับยั้งการนำไฟฟ้าของหัวใจ เสี่ยงต่อการเกิด A-V block |
ยา Digoxin | เกิดพิษของยา Digoxin ได้ง่ายขึ้น |
ยารักษาโรคเอดส์กลุ่ม Protease inhibitors | ลดการสลายยาที่ตับ เกิดการสะสมของยาลดความดันกลุ่มนี้ |
ยารักษาโรคกระเพาะ Cimetidine | ลดการสลายยาที่ตับ เกิดการสะสมของยาลดความดันกลุ่มนี้ |
ยากลุ่ม CCBs ชนิด Dihydropyridine | ยาลดความดันกลุ่ม BBs | ลดอาการใจสั่นจากยากลุ่ม CCBs ชนิด Dihydropyridine (เป็นผลดี) |
ยาลดความดัน Felodipine (กลุ่ม CCBs) | น้ำส้มคั้น | ยับยั้งเอ็นไซม์ Cyt.L450 ทำให้เกิดการสะสมของยา Felodipine ในร่างกาย |
ยากลุ่ม ACEIs | ยาขับปัสสาวะกลุ่ม Thiazide | เสริมฤทธิ์กันในการลดความดันโลหิต |
ยาขับปัสสาวะกลุ่ม K-sparing | เกิดภาวะโพแทสเซีมในเลือดสูง |
ยาต้านอักเสบกลุ่ม NSAIDs รวมทั้งยาแอสไพรินในขนาดสูง | เกิดการคั่งของเกลือโซเดียมและน้ำ ลดฤทธิ์ของยาลดความดัน |
Lithium ions | ไตไม่ขับ Lithium ions เกิดการคั่งของสารโลหะหนักนี้ในร่างกาย |
ยากลุ่ม Centrally acting | ยาที่มีฤทธิ์ทำให้ง่วงทุกชนิด (ยาแก้แพ้ ยาคลายเครียด ยานอนหลับ ยาต้านซึมเศร้า ยากันชัก ยารักษาโรคทางจิต ฯลฯ) รวมทั้งเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ | เสริมฤทธิ์กัน ทำให้อ่อนเพลียและง่วงมากขึ้น |
ยา Methyldopa | ธาตุเหล็ก | ลดการดูดซึมของยา Methyldopa ทำให้ลดความดันได้น้อยลง |
ยา Clonidine | ยาต้านซึมเศร้าชนิด TCAs | ต้านฤทธิ์ของยาลดความดัน |
การติดตามระดับความดันโลหิตด้วยตนเองที่บ้าน
ปัจจุบันเครื่องวัดความดันแบบดิจิตอลมีราคาถูกลงมาก จัดเป็นอุปกรณ์การแพทย์ที่สมควรจะมีติดบ้านไว้เช่นเดียวกับปรอทวัดไข้ การวัดความดันโลหิตเป็นการประเมินสัญญาณชีพที่สำคัญเวลาที่เราเจ็บป่วย นอกจากนั้นในผู้ที่รับประทานยาลดความดัน ค่าความดันโลหิตที่วัดด้วยตนเองที่บ้านเป็นค่าที่เป็นชีวิตจริงมากกว่าการวัดที่สถานบริการสุขภาพเพียงอย่างเดียว เพราะพบว่าความดันที่วัดได้ที่สถานบริการมักสูงกว่าที่วัดได้ที่บ้าน ถ้าผู้ป่วยมีข้อมูลความดันโลหิตที่วัดเองที่บ้านให้แพทย์ดูด้วยก็จะช่วยให้แพทย์พิจารณาปรับ/เพิ่มยาได้ถูกต้องยิ่งขึ้น
เป้าหมายของความดันโลหิตเมื่อรักษาโรคความดันโลหิตสูงจะเป็นดังนี้
- ในผู้ป่วยทั่วไปให้ความดันไม่เกิน 140/90 มม.ปรอท
- ในผู้ป่วยอายุน้อย, ผู้เป็นเบาหวาน, ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง, ผู้ป่วยหลังกล้ามเนื้อหัวใจตาย, และผู้ป่วยหลัง
เป็นอัมพฤกษ์/อัมพาตให้ความดันไม่เกิน 130/80 มม
- ในผู้สูงอายุตั้งแต่ 80 ปีขึ้นไป ให้ความดันไม่เกิน 150/90 มม.ปรอท