โบรอน (Boron, B)

โบรอนเป็นธาตุกึ่งโลหะที่หายากบนพื้นโลก เนื่องจากมันละลายน้ำ สารประกอบของมันจึงอยู่ในรูปเกลือบอเรต (borate, boric acid) เป็นส่วนใหญ่ เมื่อน้ำระเหยไป มันมักรวมอยู่กับสารอินทรีย์ (R) อื่น เกิดเป็น boronic acid และ borinic acid บอเรตที่รวมกับโซเดียมจะได้สารประกอบบอแรกซ์ (borax) หรือน้ำประสานทอง ที่หลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยออกกฎหมายห้ามผสมในอาหาร เพราะเกรงว่าผู้ประกอบการอาจใส่มากจนเกินไปจนผู้บริโภคเกิดพิษสะสมในร่างกาย ปริมาณที่เป็นพิษ (median lethal dose) คือ 2.66 กรัมต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัม ซึ่งใกล้เคียงกับปริมาณที่เกลือแกงจะเกิดเป็นอันตรายต่อร่างกาย

การมีกฎหมายห้ามบริโภคบอแรกซ์นี่เองที่ทำให้ธาตุโบรอนถูกละเลยจากบัญชีสารอาหารจำเป็นของแทบทุกหน่วยงาน

แต่โบรอนเป็นธาตุที่สำคัญสำหรับคน สัตว์ และพืช มันช่วยให้พืชแตกดอก ออกใบ และเพิ่มความแข็งแรงให้ผนังเซลล์ (cell wall) ดินที่ขาดโบรอนจะทำให้ใบพืชเน่า ในคนโบรอนมีส่วนในขบวนการของชีวิตมากมาย ตั้งแต่การเผาผลาญอาหารให้เป็นพลังงาน การสร้างโปรตีนและกรดอะมิโน การกำจัดอนุมูลอิสระ การสร้างและบำรุงรักษากระดูกและเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน การป้องกันและรักษาภาวะข้อเสื่อม เพิ่มระดับฮอร์โมนเพศและวิตามินดี ป้องกันมะเร็งต่อมลูกหมาก กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ช่วยให้ระบบประสาทตื่นตัวและเรียนรู้ได้ดีขึ้น

บทบาทของโบรอนในร่างกาย

บทบาทสำคัญของโบรอน ได้แก่

  1. สร้างกระดูกและเสริมความแข็งแรงให้กระดูก โดยโบรอนลดการสลายแคลเซียมออกจากกระดูกและลดการขับแคลเซียมทิ้งที่ไต [14] บทบาทนี้ยังเกิดได้ในภาวะที่ขาดวิตามินดี โดยเชื่อว่าโบรอนยับยั้งไม่ให้เอนไซม์ 24-hydroxylase ทำลาย 1α,25[OH]2D3 เร็วเกินไป [16-17]
  2. เพิ่มระดับของฮอร์โมนเพศทั้งชายและหญิง มีผู้ทำการทดลองให้สตรีวัยทองรับประทานอาหารที่มีโบรอนต่ำ (0.25 mg/วัน) เป็นเวลา 119 วัน จากนั้นเปลี่ยนเป็นให้โบรอนเสริมขนาด 3 mg/วัน เป็นเวลา 28 วัน พบว่าสามารถเพิ่มระดับฮอร์โมน 17 beta-estradiol และ testosterone ในเลือดได้ [14]
  3. เพิ่มการดูดซึมแมกนีเซียมจากทางเดินอาหารและการสะสมที่กระดูก [5]
  4. รักษาข้อเสื่อม [18] โดยลดระดับของสารเคมีที่ทำให้เกิดการอักเสบ เช่น hs-CRP, TNF-α, IL-6 [5]
  5. เร่งสมานแผล พบว่าการทาน้ำยา 3% boric acid ลงในแผลขนาดใหญ่และลึก ช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น [15] โดยโบรอนไปกระตุ้นเซลล์ไฟโบรบลาส (fibroblast) ให้หลั่งเอนไซม์ elastase, collagenase, alkaline phosphatase ที่ช่วยสร้างคอลลาเจนและแมทริกซ์ให้แผลปิดเร็วขึ้น
  6. สร้างชีวโมเลกุลที่สำคัญ เนื่องจากโบรอนรวมกับสารอินทรีย์อื่นที่มีไฮดร็อกซิล (-OH) อยู่ด้านนอกได้ง่าย สารอินทรีย์เหล่านี้ได้แก่ polysaccharides, pyridoxine, riboflavin, dehydroascorbic acid, pyridine nucleotide, nicotinamide adenine dinucleotide (NAD+), และ nicotinamide adenine dinucleotide phosphate (NADP) ซึ่งแทบทุกตัวมีบทบาทในเมตาบอลิซึมที่สำคัญของร่างกาย การรวมตัวกันของโบรอนกับสารเหล่านี้ทำให้สารเหล่านี้ทำงานได้ดีขึ้น [5, 20]
  7. กระตุ้นการทำงานของสมอง มีการศึกษาทั้งในคนและสัตว์ทดลองพบว่า การขาดโบรอนทำให้คลื่นไฟฟ้าสมองลดลง และการให้โบรอนขนาด 3 mg/วัน ชดเชยเป็นเวลา 3 เดือน ทำให้สมองตื่นตัว รับรู้เร็วขึ้น ความจำดีขึ้น คลื่นไฟฟ้าสมองก็แสดงการทำงานของสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการตื่นตัวมากขึ้น [21-22]
  8. ป้องกันมะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งปากมดลูก มะเร็งปอด, เป็นองค์ประกอบของยารักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองและมะเร็งไขกระดูกตัวใหม่ ๆ, ลดผลข้างเคียงของยาเคมีบำบัดตัวอื่น [5-6]
  9. ต้านพิษโลหะหนัก เช่น arsenic, cadmium, mercury, และตะกั่ว (lead) ในคน [23]
  10. ต้านพิษของยาฆ่าแมลงมาลาไธออน (Malathion) ในหนูทดลอง [19]

แหล่งอาหารที่มีโบรอนสูง

เนื่องจากเป็นธาตุที่หายากในโลก ปริมาณโบรอนในอาหารค่อนข้างแตกต่างกันในภูมิภาคของโลก เพราะดินบางแห่งขาดธาตุโบรอน แผนที่ข้างล่างแสดงบริเวณที่ดินขาดธาตุโบรอน โชคดีที่ดินในประเทศไทยไม่ขาด

ตารางปริมาณโบรอนในอาหารที่เราแสดงจึงเป็นปริมาณเฉลี่ยของข้อมูลจากหลายแหล่ง อาหารที่มีโบรอนสูงได้แก่ ผัก ผลไม้ ถั่ว รวมทั้งผลไม้ตากแห้งทั้งหลาย เพราะธาตุโบรอนไม่เสื่อมไปตามกาลเวลา

ยังไม่มีปริมาณแนะนำต่อวันของโบรอน แต่เชื่อว่าวันหนึ่งคนเราต้องการอย่างน้อย 0.9 mg ปริมาณที่เหมาะสมจึงควรเป็น 2-3 mg/วัน ในผู้ใหญ่ไม่ควรรับประทานเกิน 20 mg/วัน เพราะอาจเกิดพิษสะสมได้

โบรอนดูดซึมเข้าร่างกายได้ดี ส่วนที่เกินความต้องการจะถูกขับออกทางปัสสาวะ เนื่องจากเป็นธาตุที่ละลายน้ำ การหุงต้มอาหารแบบที่เทน้ำทิ้งจะสูญเสียโบรอนไปกับน้ำ

ยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับเมตาบอลิซึมของโบรอนในร่างกายคน

ภาวะขาดโบรอน

ภาวะขาดโบรอนพบได้บ่อยที่สุดในบรรดาธาตุที่จำเป็นทั้งหลาย โดยเฉพาะในภูมิภาคที่ดินขาดธาตุโบรอน จากการศึกษาทางระบาดวิทยาพบว่า ประชากรในประเทศที่ดินขาดโบรอนเกิดโรคข้อเสื่อมมากกว่าประชากรในประเทศที่ดินมีโบรอนอุดมสมบูรณ์ [24]

แต่ยังไม่มีรายงานของอาการขาดโบรอนโดยเฉพาะ เพราะโบรอนเป็นธาตุที่ช่วยการทำงานของสารอื่น ๆ ในร่างกาย อีกทั้งยังไม่มีการศึกษาระดับปกติในเลือด การวินิจฉัยจึงทำไม่ได้

พิษของโบรอน

ยังไม่พบพิษของโบรอนจากอาหาร แต่พบในผู้ที่บังเอิญกินกรดบอริกซึ่งเป็น antiseptics > 20 กรัมทีเดียว หรือกินอาหารที่ผสมบอแรกซ์ > 500 mg เป็นประจำทุกวัน โดยจะเกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง ท้องร่วง เลือดออกในทางเดินอาหาร วิงเวียน ความดันโลหิตต่ำ ในผู้ที่ไตเสื่อมอยู่แล้วอาจเกิดภาวะไตวายได้

ก๊าซบอเรน (borane) เป็นก๊าซพิษที่ติดไฟง่าย หากสูดดมเข้าไปจะเกิดอาการหายใจติดขัด รู้สึกแน่นในลำคอหรือแน่นหน้าอก อาจเกิดลมพิษ คัน หรือบวมตามใบหน้า หนังตา และปาก

บรรณานุกรม

  1. "Other trace elements." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา British Nutrition Foundation. (30 มีนาคม 2563).
  2. "Nutrition Requirements." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา British Nutrition Foundation. (30 มกราคม 2563).
  3. "Thai RDI." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา กระทรวงสาธารณสุข. (1 กุมภาพันธ์ 2563).
  4. "Boron." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Wikipedia. (27 มีนาคม 2563).
  5. Lara Pizzorno. 2015. "Nothing Boring About Boron." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Integr Med (Encinitas). 2015;14(4):35–48. (28 มีนาคม 2563).
  6. "Boron." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา advance-health.com. (28 มีนาคม 2563).
  7. "Boron." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Green Clinic. (27 มีนาคม 2563).
  8. "น้ำประสานทอง." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา th.wikipedia.org. (28 มีนาคม 2563).
  9. "Top Health Benefits of Boron." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา AlgaeCal. (27 มีนาคม 2563).
  10. "The Top Boron-Rich Food Sources." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา AlgaeCal. (27 มีนาคม 2563).
  11. "Boron in Food." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Green Facts. (27 มีนาคม 2563).
  12. "16 Food Sources To Get All the Boron You Need!" [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Daily Hunt. (27 มีนาคม 2563).
  13. Mohammad R Naghii, et al. 1997. "The boron content of selected foods and the estimation of its daily intake among free-living subjects." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา J Am Coll Nutrition 15(6):614-9. (27 มีนาคม 2563).
  14. Nielsen FH, et al. 1987. "Effect of dietary boron on mineral, estrogen, and testosterone metabolism in postmenopausal women." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา FASEB J. 1987;1(5):394-7. (29 มีนาคม 2563).
  15. Blech MF, et al. 1990. "Treatment of deep wounds with loss of tissue: value of a 3 percent boric acid solution." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Presse Med. 1990;19(22):1050-2. (29 มีนาคม 2563).
  16. Miljkovic D, et al. 2009. "Calcium fructoborate: plant-based dietary boron for human nutrition." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา J Diet Suppl. 2009; 6(3):211-26. (29 มีนาคม 2563).
  17. Miljkovic D, et al. 2004. "Up-regulatory impact of boron on vitamin D function -- does it reflect inhibition of 24-hydroxylase?" [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Med Hypotheses. 2004;63(6):1054-6. (29 มีนาคม 2563).
  18. Newnham R. 2004. "Discovering the cure for arthritis." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Nutr Health. 2004;17(4):281–284. (29 มีนาคม 2563).
  19. Coban FK, et al. 2014. "Boron attenuates malathion-induced oxidative stress and acetylcholinesterase inhibition in rats." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Drug Chem Toxicol. 2014;38(4):391–399. (30 มีนาคม 2563).
  20. Dessordi R & Navarro MA. 2014. "Boron action in bone health." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Rheumatol Orthop Med. 2017;2(1):1-3. (30 มีนาคม 2563).
  21. Penland JG. 1998. "The importance of boron nutrition for brain and psychological function." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Biol Trace Elem Res. 1998;66(1-3):299-317. (30 มีนาคม 2563).
  22. Penland JG. 1994. "Dietary boron, brain function, and cognitive performance." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Environ Health Perspect. 1994;102(Suppl 7): 65–72. (30 มีนาคม 2563).
  23. Turkez H, et al. 2012. "The effects of some boron compounds against heavy metal toxicity in human blood." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Exp Toxicol Pathol. 2012;64(1-2):93-101. (30 มีนาคม 2563).
  24. "Boron deficiency." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Science Direct. (30 มีนาคม 2563).