ทองแดง (Copper, Cu)

ทองแดงเป็นโลหะอ่อน นิ่มและเหนียว นำไฟฟ้าและความร้อนได้ดีมาก เป็นหนึ่งในโลหะไม่กี่ชนิดที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติในรูปของโลหะที่ใช้งานได้โดยตรง มนุษย์รู้จักใช้ทองแดงทำหลังคา เครื่องประดับ ส่วนผสมของสีทาเครื่องเคลือบ และสารกันเชื้อราในเนื้อไม้ มาหลายพันปีก่อนคริสตกาล

ทองแดงจัดเป็นธาตุที่มีมากมายบนผิวโลก สารประกอบของทองแดงก็มีมากมายในอาหารทั่วไป สารประกอบทองแดงมี 2 รูป คือ

  1. Copper (I) (cuprous, Cu1+) เช่น cuprous oxide (Cu2O), cuprous chloride (Cu2Cl2), และ cuprous sulfide (Cu2S)
  2. Copper (II) (cupric, Cu2+) เช่น cupric oxide (CuO), cupric chloride (CuCl2), และ cupric sulfate (CuSO2)

ส่วน copper (III) (cuprate) และ copper (IV) เป็นสารประกอบตัวกลางที่เกิดขึ้นในปฏิกิริยาเคมี มีสภาพอยู่ไม่นาน ในที่นี้จะไม่กล่าวถึง

cuprous สามารถดูดซึมได้เลย แต่ cupric ต้องถูกรีดิวส์ให้เป็น cuprous ก่อนถึงจะดูดซึมได้ การรีดิวส์ cupric เป็น cuprous ต้องอาศัยวิตามินซี แต่เมื่อดูดซึมเข้าไปแล้ว cuprous จะถูกเปลี่ยนเป็น cupric เพราะจับกับอัลบูมินในเลือดได้ดีกว่าและเสถียรกว่า

ร่างกายไม่สะสมทองแดง จะมีไว้ใช้งานที่ตับเพียง 50-120 mg เท่านั้น เพราะทองแดงที่มากเกินไปจะมีพิษ ร่างกายควบคุมระดับทองแดงในเลือดให้อยู่ในช่วง 10–25 mcmol/L (63.5–158.9 mcg/dL) โดยจำกัดการดูดซึมหากรับประทานมาก และขับทิ้งทางน้ำดีออกมาทางอุจจาระเมื่อใช้งานเสร็จ

บทบาทของทองแดงในร่างกาย

ทองแดงเป็นส่วนประกอบของเอนไซม์มากมาย เรียกว่า "cuproenzymes" ซึ่งมีหน้าที่เผาผลาญอาหารให้เป็นพลังงาน, เกี่ยวข้องกับเมตาบอลิซึมของธาตุเหล็ก (Fe), เปลี่ยน dopamin เป็น norepinephrine, สร้างเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน เม็ดสี เม็ดเลือดขาว หลอดเลือดใหม่, ควบคุมการแสดงออกของยีน, ช่วยพัฒนาสมองของเด็ก ทองแดงยังเป็นส่วนประกอบให้กระดูกแข็งแรงขึ้น

cuproenzymes ที่สำคัญที่สุดคือ ceruloplasmin และ hephaestin ที่ oxidize Fe2+ ให้เป็น Fe3+ Fe3+ เป็นรูปเหล็กที่จับกับโปรตีน transferrin ตัวพาธาตุเหล็กเข้าเซลล์ทางตัวรับ transferrin (TR)

นอกจากนี้ ทองแดงยังเป็นปัจจัยร่วมของเอนไซม์ superoxide dismutase ซึ่งคอยทำลาย superoxide (อนุมูลอิสระ) ให้เป็น hydrogen peroxide (H2O2) แล้วถูก glutathione peroxidase เปลี่ยนให้เป็นน้ำอีกที

แหล่งอาหารที่มีทองแดงสูง

แหล่งอาหารที่มีทองแดงสูงได้แก่ โกโก้ ช็อคโกแลต ตับ อาหารทะเล ถั่วทุกชนิด เห็ด มันเทศ หน่อไม้ อะโวคาโด วันหนึ่งเราต้องการเพียง 0.9 มิลลิกรัม

ข้าวขัดสี รวมทั้งที่แปรรูปเป็นแป้ง จะเสียทองแดงไปกว่าครึ่ง อาหารปิ้งย่างจนไหม้เกรียมจะลดการดูดซึมของทองแดง การต้มผักนานเกินไปก็จะสูญเสียทองแดงไปในน้ำต้มผัก

ผู้ที่รับประทานอาหารเสริมที่มีธาตุสังกะสี (Zinc) ในปริมาณมากเป็นประจำจะลดการดูดซึมของธาตุทองแดง เพราะโปรตีน thionein ที่เป็นแหล่งเก็บสะสมสังกะสีจะถูกผลิตเพิ่มขึ้นมารองรับสังกะสีที่กินเข้าไป แต่ทองแดงก็จับกับ thionein ได้และรวดเร็วกว่า เมื่อจับแล้วจะกลายเป็น cuprous-metallothionein อยู่ในเซลล์ของลำไส้เล็ก ดูดซึมเข้ากระแสเลือดไม่ได้ เมื่อไม่มีทองแดง ก็ไม่มี cuproenzymes ธาตุเหล็กก็จะเข้าเซลล์ไปเป็นองค์ประกอบของเม็ดเลือดแดงไม่ได้ด้วย ดังนั้น การรับประทานสังกะสีเป็นอาหารเสริมโดยไม่จำเป็นจะมีโอกาสขาดทั้งธาตุทองแดงและธาตุเหล็ก

ภาวะขาดทองแดง

ภาวะขาดทองแดงมี 2 แบบ คือ

  1. ขาดทองแดงตั้งแต่เกิด จากยีน ATP7A กลายพันธุ์ ทำให้ดูดซึมธาตุทองแดงไม่ได้ ยีนนี้อยู่บนโครโมโซม X จึงพบแต่ในทารกเพศชาย ประมาณ 1 ต่อ 100,000-250,000 คน เกิดกลุ่มอาการที่เรียกว่า Menkes syndrome โดยทารกจะท้องเสียเรื้อรัง อาเจียน เลี้ยงไม่โต เส้นเลือดแตกง่าย ผมขดแข็ง หักง่าย ผิวขาวเผือก กระดูกบาง ปัญญาอ่อน ชัก มี aortic aneurysm มักเสียชีวิตก่อนอายุ 10 ปีแม้จะให้ copper histidine ฉีดตั้งแต่ที่วินิจฉัยได้ (โดยฉีดขนาด 250 mcg เข้าใต้ผิวหนัง วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น จนถึง 1 ขวบ จากนั้นฉีด 250 mcgเข้าใต้ผิวหนัง วันละครั้ง จนถึงอายุ 3 ขวบ หากยังมีชีวิตอยู่ให้เฝ้าระวังการทำงานของไตและปรับขนาดยาตามระดับทองแดงและ ceruloplasmin ในเลือด)
  2. ขาดทองแดงจากโรคหลังคลอด ได้แก่
    • ภาวะขาดอาหารอย่างรุนแรง
    • ท้องเสียเรื้อรัง
    • โรคทางเดินอาหารที่ทำให้ดูดซึมสารอาหารไม่ได้ เช่น Celiac sprue, Cystic fibrosis
    • ถูกตัดกระเพาะอาหารออกไป เพราะทองแดงดูดซึมที่กระเพาะและลำไส้เล็กส่วนต้น (ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักขาดวิตามิน B12 ด้วย)
    • การรับประทานธาตุสังกะสีมากเกินไป

    ผู้ป่วยกลุ่มนี้นอกจากจะมีประวัติหรือแสดงอาการของโรคตั้งต้นแล้ว ยังมีโลหิตจางที่ไม่ตอบสนองต่อการให้ธาตุเหล็ก เม็ดเลือดขาวชนิดนิวโตรฟิลต่ำ กระดูกบาง และมีความผิดปกติของสมองและไขสันหลัง (ซึ่งอาจทำให้แยกยากจากภาวะขาดวิตามิน B12 และโฟเลต)

การวินิจฉัยอาศัยการตรวจเลือดดูระดับของทองแดงและเอนไซม์ ceruloplasmin (ค่าปกติ 20-35 mg/dL) การรักษาต้องแก้ที่สาเหตุ และให้ทองแดงเสริมจนกว่าจะแก้สาเหตุได้

อาหารเสริมของทองแดงมีหลายรูป แต่ละรูปให้ปริมาณทองแดงต่างกัน ดังนี้

  • Copper carbonate ให้ทองแดง 57% ของน้ำหนักสาร
  • Cupric chloride ให้ทองแดง 47% ของน้ำหนักสาร
  • Cupric acetate ให้ทองแดง 35% ของน้ำหนักสาร
  • Copper sulfate ให้ทองแดง 25% ของน้ำหนักสาร (แนะนำให้ใช้รูปนี้ ในขนาด 1.5-3 mg/วัน)

Cupric oxide มีทองแดงถึง 80% ของน้ำหนักสาร แต่ดูดซึมไม่ได้เลย เพราะอยู่ในรูป Cu2+ ที่คงทน ไม่ถูกรีดิวส์ แต่ก็ยังมีอาหารเสริมหลายยี่ห้อที่ใช้รูปนี้ขายตามท้องตลาด

พิษของทองแดง

พิษของทองแดงก็มี 2 แบบ คือ

  1. แบบที่เป็นตั้งแต่เกิด ได้แก่ โรควิลสัน (Wilson disease) เป็นโรคพันธุกรรมที่มียีน ATP7B บนโครโมโซมที่ 23 กลายพันธุ์ ทำให้ไม่สามารถใช้งานทองแดงและกำจัดทองแดงออกทางน้ำดีได้ ระดับทองแดงในเลือดจะสูง แต่ ceruloplasmin ในเลือดจะต่ำ และทองแดงที่สะสมในตับมากเข้า ๆ จะทำให้ตับแข็ง ทองแดงที่ท้นจากตับออกมาจะไปทำลายสมอง ไต ระบบสืบพันธุ์ ทำให้เม็ดเลือดแดงแตก ทองแดงที่สะสมที่รอบกระจกตาและที่ม่านตาทั้งสองข้างเกิดเป็นวงแหวนสีทองแดงที่เรียกว่า Kayser-Fleischer ring
  2. โรควิลสันถ่ายทอดแบบ autosomal recessive จึงพบได้ทั้งเพศชายและหญิง อุบัติการณ์ประมาณ 1:30000 คน และมีประชากรประมาณ 1.1% ที่มียีนผิดปกติแต่ไม่แสดงอาการ

    เด็กที่เป็นโรควิลสันจะเริ่มแสดงอาการตั้งแต่อายุ 2 ขวบ (เฉลี่ยที่ 5-6 ขวบ) โดยจะมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง ขาบวม ท้องโต มีจ้ำเลือดออกง่าย เหนื่อย ซีด สั่น พูดลำบาก กลืนลำบาก แขนเกร็ง ขาแข็ง การเคลื่อนไหวผิดปกติไม่สัมพันธ์กัน อาจแสดงอาการสับสนคล้ายผู้ป่วยโรคจิต บางครั้งจะมีปัสสาวะเป็นสีน้ำโคล่าเพราะเม็ดเลือดแดงแตก และมีวงแหวน Kayser-Fleischer ring ที่รอบกระจกตา (ในคนเอเชียอาจสังเกตยาก)

    เกณฑ์วินิจฉัย ต้องมี 3 ใน 6 ข้อ

    1. ประวัติการมีโรคตับในครอบครัวตั้งแต่อายุยังน้อย
    2. ตรวจพบ Kayser-Fleischer ring จาก slit-lamp
    3. ปริมาณทองแดงในปัสสาวะ 24 ชั่วโมง > 100 mcg/day (ปกติ ≤ 30 mcg/day)
    4. Serum ceruloplasmin < 5 mg/dL หรือ < 20 mg/dL ร่วมกับมีอาการตับแข็งและอาการทางระบบประสาท
    5. ตรวจชิ้นเนื้อตับพบทองแดงสะสมเป็นจำนวนมาก
    6. ตรวจ DNA พบยีนกลายพันธุ์ ATP7B บนโครโมโซมที่ 23 (ไม่สามารถใช้เป็นข้อวินิจฉัยเดี่ยวได้เพราะบางคนมียีนผิดปกติแต่ไม่แสดงอาการ)

    การรักษาต้องให้ยาขับทองแดงออกทางปัสสาวะ เช่น penicillamine (Cuprimine), trientine dihydrochloride (Syprine) และยาลดการดูดซึมของทองแดง เช่น Zinc Acetate (Galzin), tetrathiomolybdate ยาตัวหลังช่วยจับทองแดงในกระแสเลือดเพื่อลดพิษด้วย รายที่ตับวายและอายุยังน้อยอาจพิจารณาทำการปลูกถ่ายตับใหม่

    อาหารของผู้ป่วยโรควิลสันต้องงดอาหารที่มีธาตุทองแดงสูงดังตารางข้างต้น

  3. แบบที่เป็นพิษจากการกินเข้าไป
  4. อุบัติเหตุจากการรับประทานอาหารที่เป็นกรดบรรจุในภาชนะทองแดง หรืออุ่นอาหารในภาชนะทองแดง หรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนธาตุทองแดงเข้าไป อาจเกิดพิษของทองแดงได้ แต่ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง เป็นแค่คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ไม่นาน

    ที่รุนแรงกว่าคือพวกที่ตั้งใจกิน copper sulfate ที่เป็นอาหารเสริมเป็นจำนวนมากเพื่อฆ่าตัวตาย พวกนี้จะมีตับวาย เม็ดเลือดแดงแตก และอาจถึงขั้นเสียชีวิตถ้ารักษาไม่ทัน

    การรักษาต้องล้างท้อง (ถ้าเพิ่งกินมาไม่นาน), ให้ยาขับทองแดง หรืออาจใช้วิธีฟอกเลือด (hemodialysis) ถ้าทำได้

บรรณานุกรม

  1. "Copper." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา British Nutrition Foundation. (26 มีนาคม 2563).
  2. "Nutrition Requirements." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา British Nutrition Foundation. (30 มกราคม 2563).
  3. "Thai RDI." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา กระทรวงสาธารณสุข. (1 กุมภาพันธ์ 2563).
  4. "Copper." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Oregon State University. (26 มีนาคม 2563).
  5. "Copper." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา NIH. (29 มีนาคม 2563).
  6. "copper." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา whfoods.org. (29 มีนาคม 2563).
  7. "12.9 Copper." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Nutrition Flexbook. (26 มีนาคม 2563).
  8. "- Elements - 33: COPPER." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา apjcn.nhri.org.tw. (26 มีนาคม 2563).
  9. "Copper." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Wikipedia. (26 มีนาคม 2563).
  10. Larry E. Johnson. 2018. "Copper." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา MSD Manual. (26 มีนาคม 2563).
  11. Larry E. Johnson. 2018. "Wilson Disease." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา MSD Manual. (26 มีนาคม 2563).
  12. George J. Brewer, et al. "Wilson Disease." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา NORD. (27 มีนาคม 2563).
  13. Daisy Whitbread. 2019. "Top 10 Foods Highest in Copper." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา MYFOODDATA. (26 มีนาคม 2563).