แมกนีเซียม (Magnesium, Mg)
แมกนีเซียมเป็นธาตุโลหะ กลุ่มอัลคาไลน์ มีประจุบวก 2 ตัว พบมากทั้งในดินและในน้ำทะเล ในธรรมชาติมักพบปะปนกับธาตุอื่น เช่น oxide, hydroxide, chloride, carbonate, sulfate ใช้ในอุตสาหกรรมเซรามิก เครื่องสำอาง ปุ๋ย ฉนวน เครื่องฟอกหนัง และการแปรรูปสิ่งทอ แมกนีเซียมบริสุทธิ์เป็นโลหะที่มีน้ำหนักเบา สามารถรีดและตีเป็นรูปง่าย จึงมักผสมกับอลูมิเนียม สังกะสี และแมงกานีส เป็นโลหะเจือ (alloy) ใช้ทำวัสดุที่ต้องการความแข็งแรงแต่น้ำหนักเบา
มหาสมุทรเป็นแหล่งของธาตุแมกนีเซียมที่ใช้ได้ไม่หมด น้ำทะเล 100 แกลลอนสามารถสกัดได้ธาตุแมกนีเซียมประมาณ 1 ปอนด์ แมกนีเซียมเป็นส่วนประกอบของคลอโรฟิลล์ในพืชด้วย พืชจึงเป็นแหล่งของธาตุแมกนีเซียมสำหรับคนและสัตว์ที่ใช้ได้ไม่หมดเช่นกัน
หน่วยวัดปริมาณแมกนีเซียม
ในอาหารเราวัดเป็นมิลลิกรัม (mg) ในเลือดเราวัดเป็นมิลลิกรัมเปอร์เซนต์ (mg%) บางประเทศวัดเป็นมิลลิโมล/ลิตร (mmol/L) หรือ มิลลิอิควิวาเลนต์/ลิตร (mEq/L) โดย 1 mmol/L ของแมกนีเซียมเท่ากับ 2 mEq/L แมกนีเซียม 1 mg% = 0.41 mmol/L หรือ 0.82 mEq/L
บทบาทของแมกนีเซียมในร่างกาย
ในร่างกายคนเรามีแมกนีเซียมอยู่ถึง 25 กรัม ร้อยละ 50-60 อยู่ในกระดูก ร้อยละ 40-50 อยู่ภายในเซลล์ น้อยกว่าร้อยละ 1 เท่านั้นที่อยู่ในเลือด ระดับแมกนีเซียมในเลือดถูกควบคุมให้คงที่เหมือนระดับของแคลเซียมในเลือด ค่าปกติคือ 1.7-2.1 mg% (0.7-0.86 mmol/L)
แมกนีเซียมในร่างกายทำหน้าที่คล้ายตัวประกอบในละครหรือภาพยนตร์ คือไม่โดดเด่น แต่ก็ขาดไม่ได้ แมกนีเซียมเป็นปัจจัยร่วมของเอนไซม์กว่า 300 ตัวในร่างกาย เอนไซม์เหล่านี้ทำหน้าที่สร้างพลังงาน โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน DNA RNA กระดูก, ถ่ายทอดยีน, ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด, ควบคุมความดันโลหิต ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ ฯลฯ
แมกนีเซียมเป็นองค์ประกอบของเยื่อหุ้มเซลล์ ทำหน้าที่พาโพแทสเซียมและแคลเซียมอิออนเคลื่อนเข้า-ออกเซลล์ มันจึงมีส่วนในกระบวนการหดตัวของกล้ามเนื้อ การเต้นของหัวใจ และการส่งกระแสประสาท
แหล่งอาหารที่มีแมกนีเซียมสูง
แมกนีเซียมมีมากในพืช โดยเฉพาะธัญพืช ถั่ว บีตรูท และผักบางชนิด ในเนื้อสัตว์ ไข่ มีน้อย ในผักและผลไม้ก็มีมากเพียงบางชนิด กรมอนามัยแนะนำให้คนไทยรับประทานแมกนีเซียมวันละ 350 มิลลิกรัม
การต้มผักจะทำให้สูญเสียแมกนีเซียมไป 20-30% ส่วนการต้มถั่วจะสูญเสียแมกนีเซียมไป 2-10%
ปัจจัยที่ลดการดูดซึมแมกนีเซียมจากลำไส้ได้แก่ ยาลดกรด ส่วนปัจจัยที่ช่วยเพิ่มการดูดซึมแมกนีเซียมได้แก่ วิตามินดี โปรตีน และสังกะสี (Zinc) ในปริมาณที่ไม่มาก
สังกะสีในปริมาณ > 142 mg/วัน (มักมาจากอาหารเสริม) + แคลเซียม > 500 mg/วัน ลดการดูดซึมแมกนีเซียมในลำไส้ [13]
ภาวะขาดแมกนีเซียม
ภาวะขาดแมกนีเซียมเรียกว่า hypomagnesemia คือระดับแมกนีเซียมในเลือด < 1.7 mg% หรือ < 0.7 mmol/L เนื่องจากแมกนีเซียมอยู่ในเลือดเพียง 1% และถูกควบคุมให้มีระดับคงที่ แมกนีเซียมในเลือดที่ต่ำลงแสดงว่าร่างกายขาดแมกนีเซียมค่อนข้างมาก
ภาวะแมกนีเซียมในเลือดต่ำจะชักนำให้เกิดภาวะโพแทสเซียมและแคลเซียมในเลือดต่ำด้วย จากการที่ทำให้มีการสูญเสียโพแทสเซียมไปจากเซลล์ การขาด ATP ที่ท่อไตส่วนปลายก็ทำให้ท่อไตขับโพแทสเซียมทิ้งมากขึ้น การขาดแมกนีเซียมทำให้ต่อมพาราไทรอยด์ทำงานลดลง จะเกิดการสลายแมกนีเซียมออกจากกระดูกแต่รับแคลเซียมเข้าไปสะสมที่กระดูกมากขึ้น ทำให้ระดับแคลเซียมในเลือดต่ำลง
ดังนั้นอาการของภาวะแมกนีเซียมในเลือดต่ำจึงมักผสมปนเปไปกับอาการของภาวะภาวะแคลเซียมและ/หรือโพแทสเซียมในเลือดต่ำ โดยคนไข้จะมีอาการเหนื่อย กล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นตะคริว มือเท้าจีบ ชารอบปาก คลื่นไส้อาเจียน ใจสั่น มือสั่น รีเฟล็กซ์ไว กล้ามเนื้อสั่นพริ้ว (muscle fasciculation) หัวใจเต้นผิดปกติ สับสน ชัก ลูกตากระตุก (nystagmus) อาจเห็นภาพหลอน มีสิ่งเดียวที่ต่างออกไปหากแมกนีเซียมในเลือดต่ำอย่างเดียวคือความดันโลหิตจะสูงขึ้น
สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการรับประทานไม่พอ, โรคทางเดินอาหารที่ทำให้ดูดซึมไม่ได้หรือรับประทานยาลดกรดเป็นประจำ, และเสียออกทางไตมากจากยาขับปัสสาวะ ยาเคมีบำบัด ยากดภูมิคุ้มกัน ยารักษาโรคกรดไหลย้อน แอลกอฮอล์ ภาวะแคลเซียมในเลือดสูง ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง และโรคไตวาย
การวินิจฉัยอาศัยการตรวจเลือดและปัสสาวะ ในภาวะที่แมกนีเซียมในเลือดปกติและรับประทานพอ แมกนีเซียมในปัสสาวะจะประมาณ 120 mg/วัน ในภาวะที่แมกนีเซียมในเลือดต่ำ ไตจะขับแมกนีเซียมออกทางปัสสาวะลดลงด้วย ส่วนใหญ่จะ < 20 mg/วัน หากยังมีแมกนีเซียมออกทางปัสสาวะ > 24 mg/วัน ให้หาสาเหตุที่เสียออกทางไต
การรักษาสามารถให้แมกนีเซียมชดเชยในรูปกินหรือหยดเข้าหลอดเลือด พร้อมกับรักษาภาวะแคลเซียมและโพแทสเซียมต่ำด้วย และเมื่อตรวจพบสาเหตุแล้วก็ควรรักษาที่สาเหตุด้วย
ภาวะแมกนีเซียมเกิน
ภาวะแมกนีเซียมเกินเรียกว่า hypermagnesemia คือระดับแมกนีเซียมในเลือด > 2.1 mg% หรือ > 0.86 mmol/L ร้อยละ 90 พบในผู้ป่วยไตวายที่ยังได้รับยาที่มีแมกนีเซียมเป็นส่วนผสม เช่น ยาลดกรด ยาระบาย ยาสวนทวารหนัก อีกร้อยละ 9 พบในผู้ป่วยที่ได้รับยา สารน้ำ หรืออาหารเสริมที่มีแมกนีเซียมเป็นองค์ประกอบมากเกินไป พวกนี้ถ้าไตดี ระดัลแมกนีเซียมในเลือดจะสูงไม่มาก ที่เหลือพบในโรคของต่อมไร้ท่อ เช่น Hypothyroidism, Adrenal insufficiency และโรคทางพันธุกรรม เช่น Familial hypocalciuric hypercalcemia
อาการของภาวะแมกนีเซียมเกินจะเริ่มเมื่อแมกนีเซียมในเลือด >5.0 mg% คือจะมีอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย ผิวหนังแดง ความดันโลหิตต่ำลง กล้ามเนื้ออ่อนแรง รีเฟล็กซ์ลด พูดไม่ชัด สับสน ซึมลง ไปจนกระทั่งเป็นอัมพาตของแขนขาทั้งสี่ข้าง โคม่า และหยุดหายใจ
การวินิจฉัยอาศัยการตรวจเลือด การรักษาในรายที่มีอาการไม่มากอาจให้ยาขับปัสสาวะฟูโรซีไมด์ (Furosemide) ฉีด พร้อมกับให้น้ำเกลือเพื่อเร่งการขับแมกนีเซียมออกทางปัสสาวะ หรือให้กลูโคส + อินสุลินเพื่อให้แมกนีเซียมเคลื่อนเข้าเซลล์ให้มากขึ้น แต่ถ้าไตวายทั้งสองวิธีนี้จะไม่ได้ผล ต้องใช้วิธีล้างไต
เฉพาะในรายที่มีอาการทางหัวใจหรือทางการหายใจแล้วเท่านั้นที่จะใช้ 10% Calcium gluconate 10-20 ml หยดเข้าหลอดเลือดดำเพื่อไปต้านฤทธิ์แมกนีเซียม
** แมกนีเซียมแบบยาเม็ดเสริมอาหารสามารถจับกับยาปฏิชีวนะ เช่น tetracyclines, doxycycline, ciprofloxacin, levofloxacin กลายเป็นสารประกอบที่ไม่ละลายน้ำและไม่ดูดซึม หากจะรับประทานคู่กันต้องเว้นระยะห่างกัน 4-6 ชั่วโมง
บรรณานุกรม
- "Magnesium." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา British Nutrition Foundation. (4 เมษายน 2563).
- "Nutrition Requirements." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา British Nutrition Foundation. (30 มกราคม 2563).
- "Thai RDI." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา กระทรวงสาธารณสุข. (1 กุมภาพันธ์ 2563).
- "Magnesium." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Oregon State University. (4 เมษายน 2563).
- "Magnesium." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา NIH. (4 เมษายน 2563).
- "magnesium." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา whfoods.org. (4 เมษายน 2563).
- "13.5 Magnesium." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Nutrition Flexbook. (4 เมษายน 2563).
- "- Elements - 28: MAGNESIUM." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา apjcn.nhri.org.tw. (4 เมษายน 2563).
- "Magnesium." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Wikipedia. (4 เมษายน 2563).
- James L. Lewis, III. 2018. "Overview of Disorders of Magnesium Concentration." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา MSD Manual. (4 เมษายน 2563).
- Daisy Whitbread. 2019. "Top 10 Foods Highest in Magnesium." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา MYFOODDATA. (4 เมษายน 2563).
- "Chapter 4 – Magnesium: The Soothing Mineral." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา AlgaeCal. (4 เมษายน 2563).
- Spencer H, et al. 1994. "Inhibitory effects of zinc on magnesium balance and magnesium absorption in man." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา J Am Coll Nutr. 1994;13(5):479-84. (5 เมษายน 2563).
- James L. Lewis, III. 2018. "Hypomagnesemia." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา MSD Manual. (5 เมษายน 2563).
- James L. Lewis, III. 2018. "Hypermagnesemia." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา MSD Manual. (5 เมษายน 2563).
- "แมกนีเซียม (Magnesium)." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Greenclinic. (5 เมษายน 2563).