แมกนีเซียมในเลือดต่ำ (Hypomagnesemia)
แมกนีเซียม (Mg) เป็นธาตุอนุภาคบวกที่มีมากเป็นอันดับสองในเซลล์ และอันดับสี่ของร่างกายทั้งหมด ร้อยละ 50 เป็นองค์ประกอบในกระดูก ที่เหลืออยู่ในเซลล์ ช่วยเอ็นไซม์แทบทุกชนิดทำงาน เป็นตัวกระตุ้นกระบวนการส่งถ่ายพลังงานจากฟอสเฟต ช่วยสร้างโปรตีน ดีเอ็นเอ ช่วยสลายกลูโคสออกมาจากเซลล์ และช่วยในกระบวนการหายใจของไมโตคอนเดรีย มีเพียงร้อยละ 1 เท่านั้นที่อยู่ในเลือด การแลกเปลี่ยนแมกนีเซียมระหว่างในกระดูกกับในเลือดไม่ได้รวดเร็วเหมือนแคลเซียม และการแลกเปลี่ยนแมกนีเซียมระหว่างในเซลล์กับในเลือดก็ไม่ได้รวดเร็วดังเช่นโพแทสเซียม ดังนั้นการตรวจแมกนีเซียมในเลือดจึงไม่สะท้อนระดับของแมกนีเซียมในร่างกายทั้งหมดเท่าไรนัก
แมกนีเซียมในเลือดร้อยละ 70 เป็นไอออนอิสระ (Ionized magnesium, iMg) ทำหน้าที่ช่วยแคลเซียมและโพแทสเซียมในขบวนการหดตัวของกล้ามเนื้อ ช่วยควบคุมไม่ให้ความดันโลหิตสูงเกินไป ร้อยละ 20 จับกับโปรตีน อีกร้อยละ 10 จับกับธาตุหรือสารประกอบอื่น ๆ ในเลือด เช่น ฟอสเฟต ซิเตรต ออกซาเลต สัดส่วนของแมกนีเซียมอิสระอาจขึ้น-ลงได้คล้ายแคลเซียมอิสระ ขึ้นกับระดับโปรตีนและสารประกอบในเลือด
การปรับค่า iMg ตามระดับโปรตีนและภาวะกรดด่างในเลือดไม่นิยมในทางคลินิก เพราะแมกนีเซียมในเลือดจับกับโปรตีนเพียง 20% ไม่ว่าโปรตีนจะมากหรือน้อยก็มีผลเปลี่ยนระดับของ iMg ไม่มาก และแม้ว่าภาวะเลือดเป็นกรดจะเพิ่มสัดส่วนของ iMg แต่ก็กระตุ้นให้ไตขับแมกนีเซียมออกมากขึ้น จึงทำให้ระดับของ iMg ยังคงใกล้เคียงเดิม
สมดุลแมกนีเซียมในร่างกายไม่ได้ขึ้นกับฮอร์โมน เอ็นไซม์ หรือวิตามินตัวใด แต่ขึ้นกับอาหารที่เรารับประทานเข้าไปบวกกับความสามารถของไตในการขับทิ้ง อาหารที่มีแมกนีเซียมสูงได้แก่ ผักใบเขียว พืชตระกูลถั่ว เมล็ดฟักทอง อโวคาโด ปลา ช็อกโกแลต โยเกิร์ต กล้วย เมื่อเข้าไปแล้วจะถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือด แล้วถูกกรองออกทางไต
ปัจจัยที่ลดการดูดซึมแมกนีเซียมจากลำไส้ได้แก่ ยาลดกรด ส่วนปัจจัยที่เร่งการขับแมกนีเซียมออกทางไตได้แก่ ยาขับปัสสาวะ ภาวะเลือดเป็นกรด การขาดโพแทสเซียม การที่มีแคลเซียมหรือแมกนีเซียมในเลือดมากพออยู่แล้ว (ดูรูปข้างบน)
อาการของภาวะแมกนีเซียมต่ำ
ภาวะแมกนีเซียมในเลือดต่ำจะชักนำให้เกิดภาวะโพแทสเซียมและแคลเซียมในเลือดต่ำด้วย จากการที่ทำให้มีการสูญเสียโพแทสเซียมไปจากเซลล์ การขาด ATP ที่ท่อไตส่วนปลายก็ทำให้ท่อไตขับโพแทสเซียมทิ้งมากขึ้น การขาดแมกนีเซียมทำให้ต่อมพาราไทรอยด์ทำงานลดลง จะเกิดการสลายแมกนีเซียมออกจากกระดูกแต่รับแคลเซียมเข้าไปสะสมที่กระดูกมากขึ้น ทำให้ระดับแคลเซียมในเลือดต่ำลง
ดังนั้นอาการของภาวะแมกนีเซียมในเลือดต่ำจึงมักผสมปนเปไปกับอาการของภาวะภาวะแคลเซียมและ/หรือโพแทสเซียมในเลือดต่ำ โดยคนไข้จะมีอาการเหนื่อย กล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นตะคริว มือเท้าจีบ ชารอบปาก ใจสั่น มือสั่น รีเฟล็กซ์ไว กล้ามเนื้อสั่นพริ้ว (muscle fasciculation) สับสน ชัก ลูกตากระตุก (nystagmus) อาจเห็นภาพหลอน มีสิ่งเดียวที่ต่างออกไปหากแมกนีเซียมในเลือดต่ำอย่างเดียวคือความดันโลหิตจะสูงขึ้น
คลื่นไฟฟ้าหัวใจมีลักษณะไม่จำเพาะ คล้ายกับภาวะโพแทสเซียมต่ำผสมกับภาวะแคลเซียมต่ำ คือ มี Nonspecific T-wave changes หรือเห็น U waves, มี Prolonged QT interval, มี Repolarization alternans, PVC's ไปจนถึง Ventricular tachycardia, Torsade de pointes, และ Ventricular fibrillation ถ้าคนไข้ใช้ยา Digitalis อยู่จะทำให้เป็นพิษจากยาได้ง่ายขึ้น
มีบ่อยครั้งที่ผู้ป่วยมีอาการดังกล่าวแต่เจาะเลือดไม่พบระดับของเกลือแร่ตัวใดผิดปกติเลยแม้จะตรวจเป็น free ions แล้วก็ตาม กรณีเช่นนี้ตำราบอกให้สงสัยภาวะขาดแมกนีเซียมในเซลล์และในกระดูก ซึ่งกว่าแมกนีเซียมในเลือดจะต่ำจนตรวจพบได้อาจใช้เวลาหลายสัปดาห์
ภาวะขาดแมกนีเซียมเรื้อรังยังกระตุ้นให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน โรคกระดูกพรุน นิ่วที่ไต โรคเบาหวาน โรคไมเกรน โรคหอบหืด กลุ่มอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง (Chronic fatigue syndrome) และกลุ่มอาการเสียชีวิตฉับพลันในพวกนักกีฬาอีกด้วย
สาเหตุของการขาดแมกนีเซียม
- ได้รับไม่พอ มักพบในผู้ที่ติดสุรา ขาดอาหาร หรือได้รับอาหารทางหลอดเลือด (Total parenteral nutrition)
- ลำไส้ดูดซึมไม่ได้ ได้แก่ ภาวะลำไส้อักเสบเรื้อรัง มีท่อเชื่อมลำไส้กับส่วนอื่น (Gastrointestinal fistulas) ได้รับการผ่าตัดลำไส้ออกไปมาก ฯลฯ
- แมกนีเซียมเคลื่อนเข้าเซลล์ พบในกลุ่มอาการ Hungry bone syndrome, กลุ่มอาการขาดสุรา (Alcohol withdrawal syndromes), โรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน, การเติมเลือดที่มีสารซิเตรตเป็นส่วนผสม, ภาวะแทรกซ้อนของการรักษา diabetic ketoacidosis, และภาวะแทรกซ้อนของการให้สารอาหารในผู้ป่วยที่ขาดอาหารมานาน (Refeeding syndrome)
- สูญเสียออกทางไตมาก ซึ่งอาจเกิดจาก
ความผิดปกติแต่กำเนิด เช่น กลุ่มอาการ Gitelman, กลุ่มอาการ Bartter type III, Familial hypomagnesemia with hypercalciuria and nephrocalcinosis (FHHNC หรือ HHN), Autosomal-dominant hypocalcemia with hypercalciuria (ADHH หรือ ADRHH), Isolated dominant hypomagnesemia (IDH) with hypocalciuria, Isolated recessive hypomagnesemia (IRH) with normocalcemia
- เกิดขึ้นทีหลัง เช่น จากยาขับปัสสาวะ ยาต้านจุลชีพที่มีผลต่อไต ยาเคมีบำบัด ยากดภูมิคุ้มกัน ยารักษาโรคกรดไหลย้อน แอลกอฮอล์, ภาวะแคลเซียมในเลือดสูง, ภาวะเลือดเป็นกรดเรื้อรัง (Chronic metabolic acidosis) เช่น โรคไตวาย, ภาวะ Primary hyperaldosteronism, ช่วงฟื้นตัวของ Acute tubular necrosis, Postobstructive diuresis เป็นต้น
- โรคของต่อมไร้ท่อ เช่น Hyperthyroidism,
Hyperparathyroidism
แนวทางการวินิจฉัย
จากสาเหตุต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้นจะเห็นว่าภาวะแมกนีเซียมในเลือดต่ำเป็นผลจากโรค/ภาวะหลักที่มีประวัติหรืออาการแสดงเฉพาะอยู่แล้ว หากไม่มีลักษณะเฉพาะให้สงสัยภาวะใดเลยก็ให้ส่งตรวจ Fractional excretion of magnesium (FEMg) เพื่อแยกว่ามีการสูญเสียแมกนีเซียมออกทางไตหรือไม่ โดย...
FEMg = [(UrineMg / 0.7 PlasmaMg) / (UrineCr / PlasmaCr)] x 100
ที่ใช้ 0.7 คูณ PlasmaMg เพราะเฉพาะ Ionized magnesium เท่านั้นที่กรองผ่านไตได้
หากค่า FEMg > 3% หรือออกมากกว่า 2 mEq (1 mmol หรือ 24 mg) ต่อวัน แสดงว่ามีการสูญเสียแมกนีเซียมออกทางไต ให้มุ่งไปที่โรคไตเป็นหลัก โดยดูที่ปริมาณแคลเวียมที่ออกทางปัสสาวะ (UCa) ถ้าออกมากแสดงว่าเสียออกทาง Thick ascending limb of Henle's loop ถ้าออกน้อยแสดงว่าเสียออกทางท่อไตส่วนปลาย
หาก FEMg < 3% ให้มุ่งไปที่การได้จากทางเดินอาหารไม่พอ
แนวทางการรักษา
ในผู้ป่วยที่มีอาการชัก หรือหัวใจเต้นผิดปกติ หรือผู้ป่วยที่มีแมกนีเซียมในเลือด < 1.0 mg/dL จำเป็นต้องรีบให้แมกนีเซียมชดเชยในรูปฉีด โดยให้ 50% MgSO4 1-2 กรัม (8-16 mEq ของ elemental Mg) ฉีดเข้าหลอดเลือดดำช้า ๆ ในเวลา 5-10 นาที จนกระทั่งไม่มีอาการ แล้วต่อด้วยขนาด 3-4 กรัม ผสมในสารละลาย 5%D/W หยดเข้าทางหลอดเลือดในเวลา 12-24 ชั่วโมง ติดตามระดับของแมกนีเซียมในซีรั่มเป็นระยะ ให้ซ้ำได้เพื่อคงระดับแมกนีเซียมในซีรั่มให้มากกว่า 1.2 mg/dL ซึ่งอาจต้องหยดติดต่อกันหลายวันเพราะแมกนีเซียมที่ให้เข้าไปจะเข้าไปชดเชยในเซลล์ด้วย เมื่อแมกนีเซียมในซีรั่มคงที่ที่ประมาณ 1.3-1.5 mg/dL จึงเปลี่ยนทดแทนในรูปของยากิน
การให้ Mg ในผู้ป่วยไตวาย ควรลดขนาดลงครึ่งหนึ่ง และเฝ้าติดตามระดับแมกนีเซียมในเลือดอย่างน้อยวันละครั้ง ภาวะพิษจากแมกนีเซียมจะเกิดเมื่อระดับ > 3.5 mg/dL โดยเริ่มแรกจะมีความดันโลหิตต่ำ คลื่นไส้ หน้าแดง จากนั้นจะซึมลง กล้ามเนื้ออ่อนแรง รีเฟล็กซ์ลด ถ้าระดับสูงมาก ๆ อาจหายใจไม่ได้เพราะกล้ามเนื้อกระบังลมไม่ทำงาน หรือกล้ามเนื้อหัวใจหยุดเต้นได้
การรักษาควรแก้ไปพร้อม ๆ กับภาวะแคลเซียมต่ำ และ/หรือ โพแทสเซียมต่ำ แต่ให้ระวัง incompatibility ของสารละลาย MgSO4 กับสารละลาย Ca บางชนิดด้วย
ส่วนในรายที่ไม่มีอาการ หรือแมกนีเซียมในเลือดต่ำไม่มากอาจให้ 5% MgCl2 (0.49 mEq/mL) 15 mL รับประทาน เช้า-เย็น หรือ Magnesium gluconate ขนาด 0.5-1 กรัม รับประทานวันละ 3 เวลา เป็นเวลา 3-4 วัน ข้อเสียคืออาจทำให้มีถ่ายเหลว เพราะแมกนีเซียมเป็นส่วนผสมของยาระบาย และหากเป็นไปได้ควรหยุดยาที่ทำให้เสียแมกนีเซียมออกทางไตด้วย (ในผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวและไตยังปกติ อาจให้ Spironolactone ช่วยป้องกันภาวะ Hypomagnesemia แทน)
นอกจากนั้น ควรหยุดรับประทานยาลดกรดชนิด Proton pump inhibitors (PPIs) เพื่อให้แมกนีเซียมในทางเดินอาหารดูดซึมได้ดีขึ้น
สุดท้ายเมื่อตรวจพบสาเหตุแล้วก็ควรรักษาที่สาเหตุด้วย
บรรณานุกรม
- R Swaminathan. 2003. "Magnesium Metabolism and its Disorders." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Clin Biochem Rev Vol 24 May 2003 (13 มิถุนายน 2560).
- Tibor Fulop. "Hypomagnesemia." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Medscape (13 มิถุนายน 2560).
- Lewis James L III. "Hypomagnesemia." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา MSD MANUAL. (13 มิถุนายน 2560).
- "Hypomagnesemia." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Wikipedia. (13 มิถุนายน 2560).