แมกนีเซียมในเลือดสูง (Hypermagnesemia)

แม้ค่าปกติของแมกนีเซียมในเลือดจะอยู่ในช่วงแคบ แต่ภาวะแมกนีเซียมในเลือดสูงมีช่วงกว้างมาก กว่าจะแสดงอาการก็ต้องเลยระดับ 5.0 mg/dL ขึ้นไป และพบไม่บ่อยนัก ร้อยละ 90 พบในผู้ป่วยไตวายที่ยังได้รับยาที่มีแมกนีเซียมเป็นส่วนผสม เช่น ยาลดกรด, ยาระบาย, ยาสวนทวารหนัก อีกร้อยละ 10 พบในภาวะอื่นดังจะกล่าวต่อไป

แมกนีเซียมในเลือดที่สูงมาก ๆ จะกดการหลั่งสารอะเซทิลโคลิน (Acetylcholine) ที่ปลายประสาท ทำให้กล้ามเนื้อของระบบต่าง ๆ ไม่ทำงาน อาการจะเริ่มจากท้องอืด อาหารไม่ย่อย คลื่นไส้อาเจียน ผิวหนังแดง ความดันโลหิตต่ำลง กล้ามเนื้ออ่อนแรง รีเฟล็กซ์ลด พูดไม่ชัด สับสน ซึมลง ไปจนกระทั่งเป็นอัมพาตของแขนขาทั้งสี่ข้าง โคม่า และหยุดหายใจ

คลื่นไฟฟ้าหัวใจมักแสดงลักษณะ PR interval ยาวขึ้น, QRS complex กว้างขึ้น, T-wave สูงขึ้น, heart blocks, atrial fibrillation และสุดท้าย asystole

สาเหตุของภาวะแมกนีเซียมในเลือดสูง

  1. ภาวะไตวาย เพราะไตเป็นแหล่งกำจัดแมกนีเซียมที่สำคัญที่สุด ภาวะไตวายมักมีแคลเซียมต่ำ โพแทสเซียมสูง และแมกนีเซียมสูงเล็กน้อย แต่ถ้าได้ยาที่มีแมกนีเซียมผสม หรือยาที่ยับยั้งท่อไตไม่ให้ขับแมกนีเซียมออก แมกนีเซียมในเลือดก็จะสูงขึ้นมาก
  2. ยา เช่น ยาลดกรด, ยาระบาย, พวกยาจับฟอสฟอรัสที่มีแมกนีเซียมผสม, ยาลิเธียม, ยากันชักที่สูติแพทย์ให้ในภาวะครรภ์เป็นพิษ, พิษจากยา Theophylline เป็นต้น แต่ถ้าไตปกติแมกนีเซียมในเลือดจะคั่งไม่มาก
  3. โรคของต่อมไร้ท่อ เช่น Hypothyroidism, Adrenal insufficiency
  4. โรคทางพันธุกรรม เช่น Familial hypocalciuric hypercalcemia

แนวทางการวินิจฉัย

การวินิจฉัยสาเหตุของภาวะแมกนีเซียมในเลือดสูงค่อนข้างจะตรงไปตรงมา เริ่มจากซักประวัติการรับยาก่อน จากนั้นให้ตรวจดูการทำงานของไต หากไตปกติถึงค่อยตรวจหาภาวะ Hypothyroidism, Adrenal insufficiency หากเป็นในเด็กให้ตรวจหาภาวะ Familial hypocalciuric hypercalcemia ก่อนโดยตรวจระดับแคลเซียมในเลือดและในปัสสาวะ

แนวทางการรักษา

เฉพาะในรายที่มีอาการทางหัวใจหรือทางการหายใจแล้วเท่านั้นที่จะใช้ 10% Calcium gluconate 10-20 ml หยดเข้าหลอดเลือดดำเพื่อไปต้านฤทธิ์แมกนีเซียม รายที่ยังไม่มีอาการอาจแค่หยุดยาและรักษาที่สาเหตุเดิมก่อน รายที่มีอาการไม่มากอาจให้ยาขับปัสสาวะฟูโรซีไมด์ (Furosemide) ฉีด พร้อมกับให้น้ำเกลือเพื่อเร่งการขับแมกนีเซียมออกทางปัสสาวะ หรือให้กลูโคส + อินสุลินเพื่อให้แมกนีเซียมเคลื่อนเข้าเซลล์ให้มากขึ้น แต่ถ้าไตวายทั้งสองวิธีนี้จะไม่ได้ผล ต้องใช้วิธีล้างไต

บรรณานุกรม

  1. Tibor Fulop. "Hypermagnesemia." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Medscape (30 มิถุนายน 2560).
  2. Lewis James L III. "Hypermagnesemia." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา MSD MANUAL. (30 มิถุนายน 2560).
  3. "Hypermagnesemia." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Wikipedia. (30 มิถุนายน 2560).